ทรัพย์สิน/บทที่ 3/ส่วนที่ 1

จาก วิกิตำรา




3
ส่วนประกอบของทรัพย์สิน


3.1 ส่วนควบ


ส่วนควบ (essential part[1] หรือ component part[2] หรือในระบบคอมมอนลอว์เรียก fixture[3]) นั้น ป.พ.พ. ม. 144 ว. 1 นิยามว่า เป็นทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของทรัพย์อีกชิ้นหนึ่ง และตามสภาพก็ดี หรือตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น (local custom) ก็ดี ถือกันว่า ทรัพย์ชิ้นแรกนั้นมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของทรัพย์ชิ้นหลัง ถึงขนาดที่แยกจากกันไม่ได้ เว้นแต่จะทำให้ทรัพย์ไม่ชิ้นใดก็ชิ้นหนึ่งต้องแปรสภาพไป[4] เช่น ไส้เป็นส่วนควบของซาลาเปา และล้อเป็นส่วนควบของรถยนต์

ลักษณะของส่วนควบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

  เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

ป.พ.พ. ม. 144

จากนิยามใน ป.พ.พ. ม. 144 ว. 1 อธิบายได้ว่า ส่วนควบมีลักษณะสองประการ คือ[5]

1.   ส่วนควบของทรัพย์ใดย่อมมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น เมื่อว่ากันตามสภาพของทรัพย์หรือตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นแล้ว และ

2.   ส่วนควบของทรัพย์ใดย่อมไม่อาจแยกจากทรัพย์นั้นได้ เว้นแต่จะทำให้ส่วนควบก็ดี หรือทรัพย์ก็ดี ต้องแปรสภาพไป

ส่วนควบมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของทรัพย์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ส่วนควบต้องมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของทรัพย์อื่น หรือที่ ป.พ.พ. ม. 144 ว. 1 พรรณนาว่า "เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์" (essential to the existence of a thing) ความสำคัญที่ว่านี้แบ่งเป็นสองกรณี คือ

1.   ความสำคัญตามสภาพของทรัพย์ เช่น หน้าจอย่อมเป็นส่วนควบของคอมพิวเตอร์ เพราะตามสภาพแล้วคอมพิวเตอร์จะขาดหน้าจอมิได้

2.   ความสำคัญตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หมายความว่า ตามสภาพแล้ว ทรัพย์สองสิ่งที่มาอยู่ด้วยกันไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของกัน แต่เมื่อว่ากันตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นแล้ว มีความสำคัญต่อกัน[6] ตัวอย่างที่ยกกันมากที่สุด คือ เรือกับพาย พายเป็นส่วนควบของเรือตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น[6]

จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หมายความว่า ให้พิจารณาจารีตประเพณีในท้องที่เกิดเหตุ เพราะแต่ละท้องที่ย่อมมีคติและสภาพแวดล้อมแตกต่างกันไป นอกจากนี้ จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย จึงต้องใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่เกิดเหตุ ณ เวลาเกิดเหตุด้วย

ส่วนควบไม่อาจแยกจากทรัพย์ได้[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ส่วนควบกับทรัพย์ต้องรวมกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ นอกจากจะทำให้ส่วนควบหรือทรัพย์นั้นแปรสภาพไป หาไม่แล้ว แม้สำคัญต่อความเป็นอยู่ของกัน ก็ไม่เป็นส่วนควบของกัน[7]

เช่น เครื่องชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็นส่วนควบของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะแม้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องอาศัยเครื่องดังกล่าวเติมพลังงานในแบตเตอรี่ แต่เครื่องกับตัวโทรศัพท์สามารถแยกกันได้โดยไม่ส่งผลต่อสภาพของกันและกัน

การรวมกัน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สภาพที่ส่วนควบกับทรัพย์อยู่รวมกันนั้น อาจเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์หรือเป็นผลตามธรรมชาติก็ได้[8] ผลจากการกระทำของมนุษย์ เช่น มีคดีโจทก์ขายรถยนต์ให้แก่จำเลย จำเลยไม่ชำระราคาให้ครบถ้วน กรรมสิทธิ์จึงไม่โอน จำเลยต่อเติมกระบะเข้ากับรถยนต์ กระบะย่อมกลายเป็นส่วนควบของรถยนต์ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกรถยนต์คืน โจทก์จึงขอให้พิพากษาว่า รถยนต์ทั้งคันเป็นของโจทก์ได้ เพราะเมื่อโจทก์ยังเป็นเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ประธานอยู่ โจทก์ย่อมเป็นเจ้าของกระบะซึ่งเป็นส่วนควบทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ. ม. 144 ว. 2 ด้วย[9]

ส่วนผลตามธรรมชาติ เช่น มีคดีจำเลยปล่อยให้มูลแร่ของตนไหลเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์หลายปี จนมูลแร่นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดินตามธรรมชาติ มูลแร่จึงกลายเป็นส่วนควบของที่ดินโจทก์ จำเลยมาขุดกลับไปไม่ได้[10]

การแปรสภาพ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ส่วนควบของทรัพย์นั้น คือ ส่วนซึ่งว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจจะแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย หรือทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง

  ใครเป็นเจ้าของทรัพย์อันใด ย่อมมีกรรมสิทธิในบรรดาส่วนควบทั้งหลายของทรัพย์อันนั้น

ป.พ.พ. ม. 107
ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535

เดิม ป.พ.พ. ม. 107 (ม. 144 ปัจจุบัน) บัญญัติว่า ส่วนควบต้องแยกจากทรัพย์ไม่ได้ นอกจากจะทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนรูปทรง (altering the form) แต่เนื่องจากส่วนควบนั้นมีทั้งที่เป็นไปตามสภาพและตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงมีได้ที่ส่วนควบเมื่อแยกจากทรัพย์ประธานแล้ว ไม่ทำให้สิ่งใดต้องเสียรูปทรงไป เป็นต้นว่าเรือกับพายดังยกตัวอย่างมาแล้ว ในคราวแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. ครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. ม. 107 โดยให้ ว. 1 ครอบคลุมถึงการแปรสภาพ (altering the nature) ของทรัพย์หรือส่วนควบด้วย[11]

ฉะนั้น ทรัพย์ใดจะเป็นส่วนควบของทรัพย์อื่น นอกจากต้องปรากฏว่ามีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของกันแล้ว ยังต้องอยู่รวมกันจนแยกจากกันไม่ได้ เว้นแต่ทำให้ทรัพย์ใดทรัพย์หนึ่งต้องแปรสภาพไป กล่าวคือ เสียความเป็นทรัพย์นั้น ๆ ไปโดยสิ้นเชิง[12] เช่น ตะกั่วในแบตเตอรี่ย่อมเป็นส่วนควบของแบตเตอรี่ เพราะแม้ดึงตะกั่วออกจากแบตเตอรี่แล้วไม่ทำให้แบตเตอรี่เสียรูปทรงไป แต่แบตเตอรี่ก็จะไม่เป็นแบตเตอรี่อีก

เรื่องการรวมกันและการแปรสภาพนี้ นักกฎหมายยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เช่น ในเมืองใหญ่มีอากาศร้อนชื้นอย่างกรุงเทพมหานคร นักกฎหมายบางกลุ่มเห็นว่า ครื่องปรับอากาศเป็นส่วนควบตามจารีตประเพณีในกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันมีการติดตั้งทั่วไป ถ้าขาดเสียก็อยู่ลำบากในสภาพอากาศร้อนตลอดปีเช่นนี้ แต่นักกฎหมายบางกลุ่มเห็นว่า เครื่องปรับอากาศไม่เป็นส่วนควบของอาคารโดยสภาพ เพราะไม่มีเครื่องปรับอากาศ อาคารก็ดำรงอยู่ได้โดยสภาพ และไม่ใช่ของจำเป็นตามจารีตประเพณีในกรุงเทพมหานครด้วย เพราะหลายอาคารไม่ใช้สอยเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศแม้ผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร แต่ก็ถอดออกไปได้โดยไม่ทำให้อาคารหรือเครื่องปรับอากาศเสื่อมสภาพไป[7]

ทรัพย์ประธาน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทรัพย์ที่มีส่วนควบประกอบนั้นเรียก ทรัพย์ประธาน (principal thing หรือ main thing)[13] การแยกว่าทรัพย์ใดทรัพย์ประธาน ทรัพย์ใดส่วนควบ มีหลักเกณฑ์สามประการดังนี้

1.   ทรัพย์ประธานมีลักษณะเด่นเป็นเอก ส่วนควบเป็นรอง กล่าวคือ เมื่อรวมทรัพย์สองสิ่งด้วยกัน และสิ่งหนึ่งถูกอีกสิ่งหนึ่งบดบังความสำคัญ ความโดดเด่น หรือเอกลักษณ์ ดังนี้ สิ่งที่ถูกบดบังเป็นส่วนควบของสิ่งที่บดบัง[14] เช่น ขวดกับฝาขวด ขวดย่อมเป็นทรัพย์ประธาน และฝาเป็นส่วนควบ

2.   ทรัพย์ประธานมีไว้ใช้สอยเป็นหลัก ส่วนควบเป็นรอง[14] เช่น แว่นตาซึ่งประกอบด้วยเลนส์แว่น กรอบแว่น และขาแว่น เลนส์ย่อมเป็นทรัพย์ประธานเพราะเป็นเครื่องใช้หลัก ส่วนกรอบและขาเป็นส่วนควบของเลนส์

3.   ทรัพย์ประธานมีราคาสูงกว่าส่วนควบ[14] เช่น บ้านกับบานประตูในบ้าน บ้านย่อมเป็นทรัพย์ประธาน และบานประตูเป็นส่วนควบ

ทรัพย์ประธานหรือส่วนควบจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แต่แรงงานไม่นับเป็นทรัพย์ จึงไม่อาจเป็นส่วนควบของทรัพย์ใด ๆ ได้[15] เช่น แรงงานที่ใช้ไปในการจอผักกาดหม้อหนึ่ง ไม่เป็นส่วนควบของผักกาดจอหม้อนั้น

แต่ไม่เสมอไปว่า มีส่วนควบแล้วต้องมีทรัพย์ประธาน เพราะทรัพย์หลายอย่างอาจประสมกันจนแยกไม่ได้ว่าอย่างไหนทรัพย์ประธานและอย่างไหนส่วนควบก็มี[15] เช่น ผักกาดจอทำจากผักกาด หมู หอมแดง กระเทียม มะขามเปียก และน้ำเป็นต้น ย่อมแยกไม่ได้ว่าอะไรเป็นส่วนควบของอะไร

ผลของการเป็นส่วนควบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กรรมสิทธิ์ในส่วนควบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ผู้ใดเป็นเจ้าของทรัพย์ประธาน ย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบด้วย ตาม ป.พ.พ. ม. 144 ว. 2 ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์ประธานกับส่วนควบมีเจ้าของคนเดียวกัน[16] เช่น เป็นเจ้าของโต๊ะตัวหนึ่ง ย่อมเป็นเจ้าของขาโต๊ะ ลิ้นชักโต๊ะ ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนควบของโต๊ะนั้นด้วย

ในกรณีที่ทรัพย์รวมกันอยู่เป็นหนึ่งเดียวจนแยกทรัพย์ประธานแยกส่วนควบไม่ได้ เจ้าของทรัพย์อันเป็นผลลัพธ์แห่งการที่ทรัพย์ทั้งหลายมารวมกันนั้นย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์เหล่านั้นด้วย[17]

เช่น บัวลอยหม้อหนึ่ง ประกอบด้วย น้ำกะทิ ลูกบัวลอย น้ำตาล เกลือ และมะพร้าวขูด ส่วนประสมดังกล่าวมานี้ย่อมแยกไม่ได้ว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์ประธาน สิ่งใดเป็นส่วนควบ ต้องนับว่าต่างเป็นส่วนควบของกันและกัน ถ้าบัวลอยหม้อนี้วางขายอยู่ในตลาด แล้วแม่ทองประศรีไปซื้อมาทั้งหม้อ แม่ทองประศรีย่อมเป็นเจ้าของบัวลอยนั้นทั้งหม้อ ไม่ว่าจะในส่วนน้ำกะทิ ลูกบัวลอย น้ำตาล และอื่น ๆ

แต่ถ้าแม่ทองประศรีลงมือปรุงบัวลอยขึ้นหม้อหนึ่ง โดยใช้ส่วนประสมที่มีเจ้าของต่างกัน เช่น ใช้น้ำกะทิที่ตนเป็นเจ้าของเอง ใช้ลูกบัวลอยของแม่วันทองแท้ ใช้น้ำตาลของแม่พวงทองทา ใช้เกลือของแม่พิณทองชุบ และใช้มะพร้าวขูดของแม่เลี่ยมทองทัน ดังนี้ เป็นการนำทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมกันเป็นทรัพย์ใหม่ขึ้นทรัพย์หนึ่งจนไม่อาจแยกแยะทรัพย์ประธานและส่วนควบได้ บรรดาเจ้าของส่วนประสมทั้งหลาย คือ แม่ทองประศรี แม่วันทองแท้ แม่พวงทองทา แม่พิณทองชุบ และแม่เลี่ยมทองทัน ย่อมเป็นเจ้าของบัวลอยหม้อดังกล่าวร่วมกันตามหลักกรรมสิทธิ์รวมซึ่งจะได้ว่ากันต่อไปข้างหน้า

การแยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ประธานกับส่วนควบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ
ป.พ.พ. ม. 151

เรื่องส่วนควบนี้มีปัญหาควรพิจารณาอยู่ว่า บุคคลสามารถอาศัยหลักอิสระในการทำสัญญาตกลงกันให้เจ้าของทรัพย์ประธานกับเจ้าของส่วนควบเป็นคนละคนกัน ซึ่งเป็นการแตกต่างจากที่ ป.พ.พ. ม. 144 บัญญัติไว้ได้หรือไม่

ข้อนี้ นักกฎหมายเห็นว่า ถ้าทรัพย์ประธานกับส่วนควบรวมกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว จะตกลงกันเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ ป.พ.พ. ม. 144 มุ่งหมายมิให้แยกทรัพย์ออกจากกันอันจะเป็นการทำให้ทรัพย์เสื่อมค่าหรือเสื่อมประโยชน์และเป็นโทษต่อระบบเศรษฐกิจตามมา ม. 144 จึงเป็นบทกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถ้าตกลงกัน ข้อตกลงนั้นย่อมเป็นโมฆะไปตาม ป.พ.พ. ม. 151[18]

แต่ถ้าทรัพย์ประธานกับส่วนควบแยกจากกันได้โดยไม่ทำให้สิ่งใดต้องแปรสภาพไป จะตกลงกันเช่นนั้นก็ได้[19] เช่น ฝาหม้อเป็นส่วนควบของหม้อ เจ้าของหม้อจะขายเฉพาะฝาหม้อให้แก่ผู้อื่น โดยที่ตนเองยังเป็นเจ้าของหม้อใบนั้นอยู่ก็ได้

ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม ป.พ.พ. ม. 144 ว. 1 ย่อมไม่เป็นส่วนควบ แต่ ป.พ.พ. ได้กำหนดให้ชัดเจนไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ทรัพย์สามประเภทต่อไปนี้ไม่ใช่ส่วนควบ ได้แก่ (1) ไม้ล้มลุกและธัญชาติ, (2) ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว และ (3) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกลงบนที่ดินดังกล่าว

ไม้ล้มลุกและธัญชาติ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่

  ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน

ป.พ.พ. ม. 145

ไม้ยืนต้น (plant[20] หรือ tree planted for unlimited period[21]) โดยสภาพแล้วย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินตามนิยามใน ป.พ.พ. ม. 144 ว. 1 และ ป.พ.พ. ม. 145 ว. 1 ได้บัญญัติไว้เช่นนั้นให้ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง[22]

แต่ ป.พ.พ. ม. 145 ว. 2 บัญญัติว่า ไม้ล้มลุก (tree planted for limited period[21]) กับธัญชาติ (seed[20], crop[21] หรือ harvest[23]) ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบุคคลผู้เช่าที่ดินผู้อื่นทำเกษตรกรรม เพราะถ้าไม่บัญญัติไว้ดังนี้แล้ว พืชเกษตรที่ผู้เช่าปลูกย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 144 ว. 1 และเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 144 ว. 2 มิใช่ของผู้เช่าแต่ประการใด[24]

ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก และธัญชาติ กฎหมายไม่ได้นิยามไว้ จึงมีความหมายตามหลักพฤกษศาสตร์[24] ไม้ยืนต้นนั้น คือ พืชที่มีอายุยืนนาน ในทางพฤกษศาสตร์บ่งว่า มีอายุได้มากกว่าสองปี เช่น มะม่วง มะขาม และฝรั่ง[24] ส่วนไม้ล้มลุกก็ตรงกันข้ามกัน คือ พืชที่มีอายุได้ไม่เกินสองปี แต่ไม้ล้มลุกบางประเภทอาจอยู่ได้ถึงสามปี เช่น กล้วย อ้อย หอม ขิง ตำลึง พริกชี้ฟ้า กะเพราะ และกระเทียม[24]

ขณะที่ธัญชาติ ในทางพฤกษศาสตร์หมายถึง พืชที่ใช้ประโยชน์จากเมล็ด[24] เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี ลูกเดือย และถั่ว

ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราว ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย
ป.พ.พ. ม. 146

ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว (thing connected with the land or a building only for a temporary purpose[25]) ป.พ.พ. ม. 146 ว่า ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินหรือโรงเรือนดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะทรัพย์นั้นทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่จะให้เป็นถาวรวัตถุแต่ประการใด[26] เช่น ปลูกอาคารลงบนที่ดินเพื่อใช้จัดนิทรรศการสินค้า สิ้นนิทรรศการแล้วก็รื้อออก อาคารนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน[27]

อนึ่ง มีนักกฎหมายเห็นว่า ป.พ.พ. ม. 146 กล่าวถึงทรัพย์ที่ติดกับ "ที่ดิน" และ "โรงเรือน" เท่านั้น จึงไม่ใช้บังคับถึงทรัพย์ที่ติดกับสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น เช่น สะพาน อนุสาวรีย์ หรือหอนาฬิกาด้วย แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม[28] แต่อันที่จริง คำว่า "โรงเรือน" นั้น คำแปลอย่างเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า "building"[29] ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งก่อสร้าง ถ้าว่ากันตามนัยนี้แล้ว สะพานก็ดี อนุสาวรีย์ก็ดี หรือหอนาฬิกาก็ดี ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างทั้งสิ้น จึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. ม. 146 ด้วยเช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอย่างอื่น

โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินผู้อื่น[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกลงบนที่ดินดังกล่าว (building or other structure connected with a plot of land belonging to another by a person exercising a right over that land[25]) ป.พ.พ. ม. 146 ก็บัญญัติว่า ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งนั้นเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะผู้ปลูกย่อมลงแรงลงทุนของตนไปในการปลูกสร้าง หากปลูกขึ้นมาแล้ไม่อาจใช้สอยได้ เพราะกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินไปเสียอันเนื่องมาจากเป็นส่วนควบของที่ดินนั้น ก็ย่อมเป็นผลให้สิทธิที่ผู้ปลูกมีอยู่เหนือที่ดินดังกล่าวกลายเป็นไร้ประโยชน์ไป ราวกับว่ามีสิทธิแต่ในนามนั่นเอง[30]

สิทธิในที่ดินของผู้อื่นจะเป็นทรัพยสิทธิหรือบุคคลสิทธิก็ได้[30] ตัวอย่างของการอาศัยทรัพยสิทธิปลูกสร้างโรงเรือนลงบนที่ดินผู้อื่น เช่น อาศัยสิทธิเหนือพื้นดินสร้างยุ้งฉางลงบนที่ดินที่มีสิทธิ ยุ้งฉางนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดินและไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ส่วนตัวอย่างของบุคคลสิทธิ เช่น เช่าที่ดินมาสร้างร้านค้า โดยตกลงกันว่า เมื่อสัญญาเช่าหมดอายุแล้วจึงให้ร้านค้านั้นเป็นของผู้ให้เช่า ดังนี้ ร้านค้าย่อมไม่เป็นส่วนควบของที่ดินซึ่งเช่า จนกว่าสัญญาเช่าจะหมดอายุลง

ปลูกสร้างบนที่ดินผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ แต่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ก็เข้า ป.พ.พ. ม. 146 ที่สิ่งปลูกสร้างนั้นจะไม่เป็นส่วนควบของที่ดินเช่นกัน[31] ความยินยอมดังกล่าวอาจมีขึ้นโดยแจ้งชัดหรือโดยปริยายก็ได้[31][32] เช่น มีคดีผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน แล้วร่วมกันปลูกเรือนบนที่ดินพิพาท แสดงว่า ผู้ร้องยินยอมให้จำเลยใช้ที่ดินพิพาทปลูกเรือนแล้ว จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 146 เรือนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินผู้ร้อง[33]

แต่ถ้าปลูกสร้างบนที่ดินผู้โดยไม่มีสิทธิ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินด้วย ผลจะเป็นไปตาม ป.พ.พ. ม. 131 และ 1311 ซึ่งจะได้ศึกษากันข้างหน้า[34]

ฎ. บางฉบับ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

# เลขที่ ใจความ หมายเหตุ
ลักษณะของส่วนควบ
1 1026/2475   โรงมหรสพและครัวไฟซึ่งปลูกติดต่อกับโฮเต็ลนั้นมีฝากั้นแยกกันเป็นคนละส่วน ทั้งยังแยกจากโฮเต็ลได้โดยไม่โฮเต็ลไม่เสียหายจนเสียรูปทรง โรงมหรสพและครัวไฟจึงไม่เป็นส่วนควบของโฮเต็ล
2 723/2490   ได้ความว่า จำเลยได้เช่าบ้านโจทก์อยู่โดยไม่มีหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน จำเลยได้ทำถนนซีเมนต์โดยจำเลยออกทรัพย์ทำเองทั้งสิ้นและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ต่อมา โจทก์จำเลยเลิกการเช่าต่อกัน จำเลยให้คนไปขุดกระทุ้งพื้นถนนซีเมนต์แล้วขนเอาซีเมนต์ไป โจทก์หาว่าจำเลยทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย

  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถนนที่จำเลยทำขึ้นในที่ซึ่งเช่าโจทก์เช่นนี้ กฎหมายถือว่าเป็นส่วนควบ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. ม. 107 [ปัจจุบันคือ ม. 144] แต่เพราะจำเลยเป็นออกทรัพย์ทำขึ้นเอง เมื่อเลิกสัญญาเช่าและต้องการขนเอาซีเมนต์ไป จำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ เพื่อโจทก์จะได้เลือกว่า จะให้จำเลยรื้อถนนไปเสีย หรือโจทก์จะเอาถนนไว้แล้วใช้ราคาให้ตาม ป.พ.พ. ม. 1311 ประกอบ ม. 1314 จำเลยจะรื้อไปโดยพลการไม่ได้ เมื่อจำเลยรื้อไป จึงเป็นการละเมิดโจทก์ ให้โจทก์ชนะคดี

3 86/2493   ครัวไฟซึ่งต่อเติมติดกับเรือนย่อมเป็นส่วนควบของเรือน ขายฝากเรือนจึงหมายความรวมถึงขายฝากครัวด้วย แม้ในสัญญาขายฝากจะระบุรายการไว้แต่ตัวเรือนก็ตาม
4 1603/2518   เครื่องปรับอากาศเป็นเพียงอุปกรณ์ในโรงงาน หาใช่ส่วนควบของโรงงานไม่ ประกันภัยโรงงานจึงไม่คุ้มถึงเครื่องปรับอากาศ และเมื่อโรงงานกับเครื่องปรับอากาศไหม้ไปในเพลิง ก็จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนเครื่องปรับอากาศมิได้
5 372/2500   ฝากั้นห้องจะเป็นส่วนควบของอาคารหรือไม่ ต้องพิจารณาตามสภาพของทรัพย์หรือตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นว่า ฝานั้นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารหรือไม่

  ตามสภาพ ฝากั้นห้องแยกออกจากตัวอาคารได้โดยไม่ส่งผลให้อาคารถูกทำลาย บุบสลาย หรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงแต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นด้วย ฝากั้นห้องนั้นจึงไม่เป็นส่วนควบของอาคาร

6 716/2505   เมื่อหนังสือสัญญาระบุขายฝากเรือนหลังหนึ่ง ก็ย่อมหมายความรวมถึงส่วนควบของเรือนหลังนั้นด้วย และเมื่อเรือนหลังเล็กเป็นส่วนควบของเรือนหลังใหญ่โดยสภาพอยู่แล้ว จะขอสืบพยานบุคคลว่าได้ตกลงกัน

ไว้ก่อนขายว่าไม่ได้ขายหลังเล็กด้วยนั้นไม่ได้

7 648/2506   ตามธรรมดาโรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] หรือ ม. 1312

  จำเลยมาได้บุตรสาวของผู้ร้องเป็นภรรยา และได้เข้าอยู่ร่วมในเรือนของผู้ร้องซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ร้อง ต่อมา เรือนนั้นทรุดโทรม จึงรื้อลงสร้างหลังใหม่แทน แม้ฟังว่าจำเลยออกเงินค่าก่อสร้างเรือนหลังใหม่นี้ แต่มีเรือนมีลักษณะถาวร ติดที่ดิน และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับสิทธิหรืออำนาจที่จะปลูกเรือนนี้ลงในดินของผู้ร้องแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ม. 109 และไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปลูกเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ร้องตาม ม. 1312 จึงต้องถือว่า เรือนนี้เป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูกเรือนและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ม. 107 เจ้าหนี้ผู้ชนะคดีของจำเลยจะยึดเรือนนี้เพื่อขายเอาชำระหนี้ของจำเลยไม่ได้

8 399/2509   เครื่องจักรโรงสี แม้มีน้ำหนักหรือราคามากสักเท่าใด แต่ก็มิใช่ทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ทั้งโดยสภาพแล้วถอดถอนโยกย้ายออกจากโรงสีได้โดยไม่ต้องทำลายหรือทำให้ตัวโรงสีนั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง ฉะนั้น แม้เครื่องจักรจะเป็นสาระสำคัญ แต่ก็มิใช่ส่วนควบ เป็นแต่ของใช้ประจำโรงเท่านั้น
9 378/2522   สัญญาเช่าว่า ทรัพย์ใด ๆ ที่ผู้เช่าดัดแปลงต่อเติมลงในที่เช่า ให้ตกเป็นของผู้ให้เช่าทันที

  ทรัพย์ที่ต่อเติมเข้ากับที่เช่าดังกล่าว ย่อมหมายถึง ทรัพย์ที่ต่อเติมมาจนกลายเป็นส่วนควบของที่เช่า แต่เครื่องปรับอากาศซึ่งติดเข้ากับที่เช่า ไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่เช่าจนไม่อาจแยกออกจากกันได้เว้นแต่ทำให้ที่เช่าเสียรูปทรง ฉะนั้น เครื่องปรับอากาศจึงไม่เป็นส่วนควบ และไม่ตกเป็นของผู้ให้เช่า

10 2531/2523   โจทก์ขายรถยนต์ซึ่งมีแต่โครงและเครื่องให้จำเลย โดยมีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์โอนก็ต่อเมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่ระหว่างที่ยังชำระไม่ครบ จำเลยต่อเติมกระบะเข้ากับรถยนต์ แล้วไม่ชำระราคาอีก โจทก์จึงอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ดังกล่าวคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ในการนี้ โจทก์มีสิทธิขอให้พิพากษาว่า รถยนต์ทั้งคันเป็นของโจทก์ได้ เพราะกระบะย่อมกลายเป็นส่วนควบของตัวรถแล้ว
11 147/2532   จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท โจทก์เช่าซื้อรถยนต์นั้นแล้วต่อตัวถังขึ้นติดกับรถ กรณีจึงเป็นการเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้าด้วยกันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ ตัวรถยนต์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธาน จำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานที่รวมเข้าด้วยกันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น ๆ ตาม ป.พ.พ. ม. 1316 ว. 2 เพราะฉะนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อตัวถังรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์
ผลของการเป็นส่วนควบ
1 1096-1097/2510   เรือนสามหลังปลูกต่อเนื่องกัน ล้อมรั้วเดียวกัน และเจ้าของได้อาศัยอยู่เสมอเป็นหลังเดียวกันมาหลายสิบปี ฟังได้ว่า เรือนทั้งสามหลังเป็นส่วนควบซึ่งกันและกัน
2 1995/2522   ซื้อขายที่ดินโดยที่มีเรือนปลูกอยู่ด้วย แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรือนนั้นด้วย เรือนก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อที่ดิน เพราะเป็นส่วนควบของที่ดิน
3 1055/2534   โรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดิน ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] หรือ ม. 1312

  โจทก์ซื้อที่ดินซึ่งมีบ้านพิพาทปลูกอยู่ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 107 ว. 2 [ปัจจุบันคือ ม. 144 ว. 2] โดยที่จำเลยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทให้แก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นของตนเอง จึงไม่ใช่การคอบคองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. ม. 1382

ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ
1 312/2498   ฝาเรือนทำขึ้นจากไม้ตีเข้าด้วยกัน แต่ตีผิดธรรมดา คือ ตีตะปูหัวกระดานและท้ายกระดานข้างละตัว ไม้ที่ตีก็เหลื่อมยาวออกนอกเสาข้างละศอกเศษ บางด้านทำเป็นฝาช้อน ฝาก็ตีไม่ชิดหรือซ้อนกัน (ทับเกล็ด) ตีห่างเป็นช่องเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เท่ากัน ทั้งเป็นไม้ที่ยังใหม่และยังไม่ไสกบ แสดงว่า ฝาดังกล่าวมีเจตนาทำขึ้นชั่วคราว จะฟังว่าเป็นส่วนควบของเรือนยังไม่ได้
2 372/2498   พลูเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์

  เจ้าของที่ดินตัดฟันต้นพลูซึ่งผู้เช่าปลูกอยู่ในที่ดินของตน ก็เท่ากับทำลายทรัพย์ของตนเอง จึงไม่มีความผิดฐานทำลายทรัพย์ [ปัจจุบันคือ ฐานทำให้เสียทรัพย์]

3 1355/2508   โจทก์ปลูกต้นพลูบนที่ดินของจำเลย ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินนั้น ต้นพลูจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดิน แม้จำเลยจะตัดต้นพลูทิ้ง ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
4 370-371/2511   เช่าที่ดินมีกำหนดสิบห้าปีเพื่อใช้ปลูกตึกแถว โดยตกลงกันว่า สัญญาสิ้นอายุแล้วจะให้ตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบอายุ ตึกพิพาทจึงยังไม่เป็นส่วนควบ และกรรมสิทธิ์ยังไม่เป็นของเจ้าของที่ดิน
5 610/2514   ผู้ร้องซื้อที่ดินมีโฉนดจากจำเลย แม้แต่จำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ผู้ร้องก็ได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินนั้นตั้งแต่ซื้อตลอดมา และได้ปลูกเรือนลงบนที่ดินดังกล่าวด้วย ต่อมา จำเลยถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินแปลงนี้ จะยึดเรือนของผู้ร้องไปด้วยไม่ได้ เพราะกรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] ซึ่งไม่ถือว่า เรือนของผู้ร้องเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย ผู้ร้องใช้สิทธิครอบครองที่ดินจำเลยปลูกเรือนลงบนที่ดินนั้น เรือนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 146
6 1134/2514   ปลูกบ้านบนที่ดินเช่า บ้านนั้นไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ที่บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เพราะปลูกขึ้นโดยอาศัยสิทธิที่มีเหนือที่ดินนั้น เข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. ม. 146
7 2208/2519   ผู้ร้องปลูกเรือนพิพาทในที่ดินของมารดาโดยได้รับความยินยอมของมารดา ผู้ร้องจึงชื่อว่าปลูกเรือนลงบนที่ดินผู้อื่นโดยอาศัยสิทธิมีอยู่เหนือที่ดินนั้น เรือนจึงไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146]
8 2210/2526   จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินซึ่งเช่าจากโจทก์ เป็นการปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นโดยมีสิทธิ โรงเรือนนั้นจึงไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดิน
9 1772/2531   จำเลยผู้อาศัยอยู่กับโจทก์ได้ปลูกบ้านบนที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์รู้เห็นยินยอม บ้านพิพาทย่อมเป็นของจำเลย และไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ จำเลยก็ต้องรื้อบ้านออกไป
10 151/2532   ส. สามีของจำเลย ปลูกบ้านลงบนที่ดินของผู้ร้องทั้งสาม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันกับผู้ร้องทั้งสาม ในขณะที่ผู้ร้องทั้งสามมีอายุไม่เกินเจ็ดปี ไม่มีรายได้ และต้องอยู่ในอุปการะของ ส. กับจำเลยผู้เป็นมารดา นอกจากนี้ เงินที่ใช้ปลูกบ้านก็เป็นของ ส. กับจำเลย จึงพอจะถือได้ว่า บ้านนั้นปลูกโดยผู้ร้องทั้งสามยินยอมแล้ว กรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] บ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินอันจะถือว่าเป็นของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
11 1380/2532   ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกไม้นั้นตาม ป.พ.พ. ม. 108 ว. 1 [ปัจจุบันคือ ม. 145 ว. 1] แต่ถ้าไม้ยืนต้นนั้น ผู้ปลูกเจตนาปลูกไว้ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด ย่อมถือได้ว่า เป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราว และไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146]

  จำเลยตกลงให้ผู้ร้องปลูกต้นสนลงในที่ดินของจำเลย เมื่อต้นสนโตเต็มที่ จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน

12 46/2539   ถนนพิพาทสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ตินที่สร้างถนน กรณีจึงเข้าย้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 146 ที่จะไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน

เชิงอรรถ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 93 ว่า

    "Section 93 Essential parts of a thing

    "Parts of a thing that cannot be separated without one or the other being destroyed or undergoing a change of nature (essential parts) cannot be the subject of separate rights."

  2. เป็นคำที่ใช้ใน ป.พ.พ. เช่น คำแปลอย่างเป็นทางการของ ม. 144 (Kamol Sandhikshetrin, 2007: 37) ว่า

    "Section 144

    "A component part of a thing is that which, accoding to its nature or local custom, is essential to its existence and cannot be separated without destroying, damaging or altering its form or nature.

    "The owner of a thing has ownership in all its component parts."

  3. Bruce Ziff, 2006: 102.
  4. มานิตย์ จุมปา, 2551: 79.
  5. มานิตย์ จุมปา, 2551: 79-80.
  6. 6.0 6.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 80.
  7. 7.0 7.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 81.
  8. มานิตย์ จุมปา, 2551: 82.
  9. ดู ฎ. 2531/2523.
  10. ดู ฎ. 712-713/2475 (อ้างถึงใน มานิตย์ จุมปา, 2551: 82; บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 30-31).
  11. มานิตย์ จุมปา, 2551: 82.
  12. มานิตย์ จุมปา, 2551: 82-83.
  13. มานิตย์ จุมปา, 2551: 89.
  14. 14.0 14.1 14.2 มานิตย์ จุมปา, 2551: 90.
  15. 15.0 15.1 บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 29.
  16. มานิตย์ จุมปา, 2551: 89.
  17. มานิตย์ จุมปา, 2551: 90-91.
  18. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) (2502: 367-368) ว่า

    "ควรต้องสังเกตว่า บทบัญญัติข้อนี้ [ป.พ.พ. ม. 144] เป็นบทบัญญัติอันเด็ดขาดเข้าในหลักแห่งมาตรา 114 [ปัจจุบัน คือ ป.พ.พ. ม. 151] นับว่าเป็นบทอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (เนื่องจากหลักแห่งเศรษฐกิจที่จะไม่ให้ทรัพย์ต้องถูกทำลายหรือทำให้เสียหายโดยการที่แยกจากกัน) ซึ่งจะทำสัญญาหรือนิติกรรมเปลี่ยนแปลงลบล้างเสียหาได้ไม่

    "เช่น ก. ซื้อเชื่ออิฐจาก ข. มาก่อตึกโดยมีข้อสัญญาว่า กรรมสิทธิ์ในอิฐยังคงเป็นของ ข. จนกว่า ข. จะได้รับใช้ราคา ถึงกระนั้นก็ดี ถ้า ก. ได้เอาอิฐใช้ก่อตึกเมื่อใด กรรมสิทธิ์ในอิฐก็ขาดจาก ข. เมื่อนั้น เพราะได้รวมเข้าเป็นส่วนควบในตึกของ ก. เสียแล้ว ข. จะมีกรรมสิทธิ์ต่างหากหาได้ไม่ เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติแห่งมาตรา 107 วรรค 2 [ปัจจุบัน คือ ป.พ.พ. ม. 144 ว. 2]

    "...ความข้อนี้มีผลต่อไปว่า ถ้าหาก ก. ขายตึกให้แก่คนที่ 3 ข. จะไปเรียกร้องเอาอิฐคืนโดยอ้างว่า กรรมสิทธิ์ในอิฐยังเป็นของตน หาได้ไม่ หรือแม้ว่า ก. จะยังเป็นเจ้าของตึกอยู่ก็ดี ข. จะฟ้องเรียกเอาอิฐคืนไปก็ไม่ได้ ได้แต่จะฟ้องเรียกราคาเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเท่านั้น"

  19. มานิตย์ จุมปา, 2551: 92.
  20. 20.0 20.1 เป็นคำที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เช่น ม. 94 ว่า

    "Section 94 Essential parts of a plot of land or a building

    "(1)   The essential parts of a plot of land include the things firmly attached to the land, in particular buildings, and the produce of the plot of land, as long as it is connected with the land. Seed becomes an essential part of the plot of land when it is sown, and a plant when it is planted.

    "(2)   The essential parts of a building include the things inserted in order to construct the building."

  21. 21.0 21.1 21.2 เป็นคำที่ใช้ใน ป.พ.พ. เช่น คำแปลอย่างเป็นทางการของ ม. 145 (Kamol Sandhikshetrin, 2007: 37) ว่า

    "Trees when planted for an unlimited period of time are deemed to be component parts of the land on which they stand.

    "Trees which grow only for a limited period and crops which may be harvested one or more times a year are not component parts of the land."

  22. มานิตย์ จุมปา, 2551: 83.
  23. เป็นคำที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส เช่น ม. 520 ว่า

    "Art. 520

    "Harvests standing by roots and the fruit of trees not yet gathered are also immovables.

    "As soon as crops are cut and the fruit separated, even though not removed, they are movables.

    "Where only a part of a harvest is cut, this part alone is movable."

  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 มานิตย์ จุมปา, 2551: 84.
  25. 25.0 25.1 เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 95 ว่า

    "Section 95 Merely temporary purpose

    "(1)   The parts of a plot of land do not include things that are connected with the land only for a temporary purpose. The same applies to a building or other structure that is connected with a plot of land belonging to another by a person exercising a right over that land.

    "(2)   Things that are inserted into a building for a temporary purpose are not parts of the building."

  26. มานิตย์ จุมปา, 2551: 85.
  27. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 32.
  28. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 33.
  29. คำแปล ป.พ.พ. ม. 146 (Kamol Sandhikshetrin, 2007: 37) ว่า

    "Things temporarily fixed to land or to a building do not become component parts of the land or building. The same rule applies to a building or other structure which, in the exercise of a right over another person's land, has been fixed to the land by the person who has such right."

  30. 30.0 30.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 86.
  31. 31.0 31.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 87.
  32. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 34-35.
  33. ดู ฎ. 339/2516.
  34. มานิตย์ จุมปา, 2551: 88.



บทที่ 3 ส่วนประกอบของทรัพย์สิน ขึ้น บทที่ 3 • ส่วนที่ 2 อุปกรณ์