ภาษาไทย/ไวยากรณ์/ชนิดของคำ/คำสรรพนาม

จาก วิกิตำรา

คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้กล่าวแล้ว หรือเป็นที่เข้าใจระหว่างผู้ฟังและผู้พูด เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำ ประเภทของสรรพนามมีดังนี้

  • บุรุษสรรพนาม ใช้แทนคำชื่อของคนที่สนทนากัน คือ
แทนชื่อผู้พูด เช่น ฉัน ดิฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า
แทนชื่อผู้ที่พูดด้วย เช่น คุณ เธอ ท่าน ใต้เท้า
แทนชื่อผู้ที่เราพูดถึง เช่น เขา เธอ ท่าน มัน
  • นิยมสรรพนาม (นิ-ยะ-มะ) ใช้แทนคำชื่อที่กล่าวมาแล้วเพื่อชี้ระยะ มีคำว่า นี่ นั่น โน่น ฯลฯ
  • วิภาคสรรพนาม ใช้แทนคำชื่อที่กล่าวมาแล้วเพื่อแบ่งหรือรวมประโยค มีคำว่า บ้าง กัน ต่าง ฯลฯ
ชาวบ้านแถบนี้บ้างก็ทำไร่อ้อยบ้างก็ปลูกมันสำปะหลัง
เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ
ทุกคนต่างก็ตั้งใจทำงานเต็มที่
  • ประพันธสรรพนาม ใช้แทนคำชื่อเพื่อเชื่อมประโยคที่มีคำว่า ที่ ซึ่ง อัน ฯลฯ เช่น
ฉันชอบหนังสือที่อ่านแล้วให้ความรู้
คนเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
การกระทำอันขาดสติย่อมเกิดผลเสียแก่ตนเองและผู้อื่น
  • อนิยมสรรพนาม ใช้แทนคำชื่อที่ไม่เฉพาะเจาะจง มีคำว่า ใคร อะไร ไหน ฯลฯ เช่น
พูดเสียงอู้อี้ ๆ ใครจะไปฟังรู้เรื่อง
อะไร ๆ ก็ทำไม่เป็น
เธอจะเอาอย่างไหนกันแน่นะ

สารบัญ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]