มรดก/บททั่วไป

จาก วิกิตำรา




1
บททั่วไป


ลักษณะแห่งมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้ง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ป.พ.พ. ม. 138
  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
ป.พ.พ. ม. 1600
  ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
ป.พ.พ. ม. 1601

ทรัพย์สินทั่วไป[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

คำว่า "มรดก" แผลงมาจาก "มฤดก" หรือ "มฤตก" ในภาษาสันสกฤต รากของคำเหล่านี้ คือ "มฤต" แปลว่า ตายแล้ว โดย "มฤตก" (รวมถึง "มฤดก" และ "มรดก") มีความหมายตามตัวอักษรว่า ผู้ตายแล้ว[1]

ในทางกฎหมายนั้น มรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า "กองมรดก" ทรัพย์สินนี้รวมเอาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายด้วย เว้นแต่บรรดาที่ตามกฎหมายแล้ว หรือโดยสภาพแล้ว เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. ม. 1600[2]

กล่าวได้ว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. ม. 1600 มีความหมายตาม ป.พ.พ. ม. 138 คือ เป็นได้ทั้งวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งกฎหมายเรียกว่า "ทรัพย์" และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง แต่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้[2] โดยทรัพย์สินจำพวกที่เป็นสิทธินั้น เช่น ลิขสิทธิ์, สิทธิในผลิตภัณฑ์, สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น[2] ส่วนที่เป็นหน้าที่และความรับผิดนั้น ปรกติคือความผูกพันที่บุคคลจะต้องทำหรือไม่ทำการอย่างใด ๆ ซึ่งเรียกว่า "หนี้"[2] เช่น ผู้ตายขับรถยนต์ชนผู้อื่นบาดเจ็บ มีหนี้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เขา แต่ผู้ตายตายลงเสียก่อน หนี้นั้นก็รวมเข้าเป็นมรดกของผู้ตาย ทายาทผู้รับมรดกส่วนนี้ต้องรับชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายต่อไป แต่ไม่เกินส่วนมรดกที่ทายาทนั้นได้รับ ตาม ป.พ.พ. ม. 1601 ยกตัวอย่างลงไปอีกคือ ถ้าค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวนั้นมีจำนวนหนึ่งล้านบาท และทายาทรับมรดกมูลค่าห้าแสนบาทมา ทายาทจำต้องชำระค่าสินไหมทดแทนเพียงห้าแสนบาทเท่านั้น ที่เหลือผู้เสียหายอาจไปเรียกเอาจากกองมรดกหรือที่อื่น ๆ ตามแต่มีสิทธิต่อไป[3]

ที่ ป.พ.พ. ม. 1600 ว่า "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้" หมายความว่า อาจมีบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าไว้เป็นอื่นได้ ซึ่งถ้ามี ก็ให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นแทน เป็นต้นว่า กรณีภิกษุมรณภาพ ทรัพย์สินของภิกษุอาจตกแก่วัดตาม ป.พ.พ. ม. 1623 โดยไม่เป็นทรัพย์มรดกของภิกษุอันจะตกทอดแก่ทายาท[3]

ทรัพย์สินบางประเภท[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทรัพย์สินเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ป.พ.พ. ม. 1600 ยกเว้นไว้ว่า สิทธิและหนี้ของผู้ตายอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ กล่าวคือ มีแต่ผู้ตายเท่านั้นที่จะใช้สิทธิหรือชำระหนี้นั้น ๆ ได้ หามีบุคคลอื่นต่างผู้ตายได้ไม่ ไม่ว่าเพราะสภาพของมันเป็นอย่างนั้นก็ดี หรือกฎหมายบัญญัติให้เป็นก็ดี จะไม่เป็นมรดกของผู้ตาย และไม่ตกทอดแก่ทายาท[3]

เรื่องเฉพาะตัวตามสภาพนั้น เช่น ก หมั้นหมายกับ ข ไว้ ต่อมา ก ไปสงครามแล้วตายลง หนี้ที่ ก ต้องสมรสกับ ข ไม่เป็นมรดกของ ก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ก โดยแท้ เนื่องจากการเลือกคู่ครองนั้นย่อมอาศัยความชอบพอระหว่างบุคคลเป็นพื้น และไม่มีใครสามารถสมรสกับ ข แทน ก ได้ ฉะนั้น หนี้สมรสนั้นก็เป็นอันสิ้นสุดลง ฝ่าย ข เรียกให้ทายาทของ ก มาสมรสกับตนไม่ได้

ส่วนที่กฎหมายให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวนั้น อาจเป็นการบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดหรือไม่ก็ได้ กรณีแจ้งชัด เช่น ป.พ.พ. ม. 1404 ว่า "สิทธิอาศัยนั้น จะโอนกันไม่ได้ แม้โดยทางมรดก" หรือ ป.พ.พ. ม. 1447 ว. 2 ว่า "สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้...ไม่อาจโอนกันได้ และไม่ตกทอดไปถึงทายาท..." และกรณีไม่แจ้งชัด เช่น ป.พ.พ. ม. 606 ว่า "ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง ท่านว่า สัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง" หมายความว่า ความผูกพันในกรณีจ้างแรงงานโดยคำนึงถึงตัวนายจ้างเป็นสำคัญนั้น จะสิ้นสุดเมื่อนายจ้างตาย กล่าวคือ ไม่ทำให้ทายาทของนายจ้างผู้ตายเข้ามาเป็นนายจ้างคนใหม่ในสัญญานั้น และถ้าทายาทต้องการจ้างลูกจ้างคนนั้นอยู่ต่อไป ก็ต้องตกลงทำสัญญากันใหม่เอาเอง[4]

  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1336

ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะตายหรือหลังตาย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะตายหรือหลังตายนั้น คือ ทรัพย์สินที่จะให้แก่กันโดยถือเอาความตายของบุคคลเป็นเหตุ เช่น บำนาญพิเศษที่รัฐจ่ายให้เมื่อข้าราชการตาย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 เป็นต้น[5]

เนื่องจากมรดกคือทรัพย์สินของผู้ตาย ดังนั้น ทรัพย์สินที่จะเป็นมรดกได้ ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในเวลาที่เขาตาย[6]

บุคคลเมื่อตายแล้ว กฎหมายก็ไม่นับว่าเป็นบุคคลอีก เพราะสภาพบุคคลสิ้นสุดลงเมื่อตาย และบุคคลเท่านั้นที่มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้น บุคคลที่ตายแล้วไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ โดยนัยนี้ ทรัพย์สินที่บุคคลได้มาเพราะตนตายหรือเมื่อตนตายแล้วจึงไม่เป็นมรดกของเขา[5]

อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินที่ได้มาหลังตายในบางกรณีไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นทรัพย์สินที่เปลี่ยนรูปหรืองอกเงยมาจากทรัพย์สินเดิม เพราะหาใช่ทรัพย์สินใหม่แต่ประการใดไม่ เช่น ก ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหนึ่งใบ ต่อมา ก ตายลง สลากใบนั้นถูกรางวัลที่หนึ่ง เงินรางวัลที่หนึ่งเป็นมรดกของ ก เพราะเป็นทรัพย์สินซึ่ง ก ได้มาตามสัญญาสลากกินแบ่งที่ทำไว้กับรัฐบาลตั้งแต่ก่อนตาย และเป็นส่วนหนึ่งของสลากที่ ก ได้เป็นเจ้าของอยู่เดิมแล้ว เมื่อ ก ตาย สลากเป็นทรัพย์มรดกของ ก ฉันใด เงินรางวัลย่อมเป็นทรัพย์มรดกด้วยฉันนั้น[7] ตัวอย่างอันชัดเจนของกรณีเช่นว่านี้ คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์สินแม่ และย่อมรวมอยู่ในกองมรดกพร้อม ๆ กับทรัพย์สินแม่[7] แต่ถ้าดอกผลเพิ่มพูนขึ้นมาเมื่อแบ่งมรดกกันเรียบร้อยแล้ว ดอกผลจะตกแก่ทายาทผู้ได้รับทรัพย์สินแม่แทน ตาม ป.พ.พ. ม. 1336 ไม่กลับไปรวมอยู่ในกองมรดก (ซึ่งสิ้นสุดลง เพราะแบ่งกันจบแล้ว) อีก[7]

  ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้ โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะ ให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน โดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้


  ถ้าได้เอาประกันภัยไว้ โดยกำหนดว่า ให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่า เฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

ป.พ.พ. ม. 897

เงินประกันชีวิต[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ป.พ.พ. ม. 897 ว่า ให้ถือว่า เงินประกันชีวิต กล่าวคือ เงินที่ผู้รับประกันพึงจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ ในกรณีที่ผู้ตายซึ่งเอาประกันนั้นไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้ก็ดี หรือเบี้ยประกันที่ผู้ตายส่งไปก่อนตายแล้ว ในกรณีที่เขาได้เจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้ก็ดี เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย อาจชวนสงสัยว่า กฎหมายให้นับเงินประกันชีวิตดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย แต่โดยลักษณะแล้ว เงินประกันชีวิตเช่นว่ามิได้จ่ายให้ผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นมรดก ก็เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ของผู้ตายมิให้เสียหาย เมื่อผู้ตายใช้อุบายเลี่ยงหนี้ด้วยการส่งเงินไปเป็นเบี้ยประกันภัยแทนที่จะส่งใช้ชำระหนี้ ซึ่งปรกติแล้ว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากเงินประกันชีวิต (แต่มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากกองมรดก กฎหมายจึงให้นับว่าเงินประกันชีวิตเป็นมรดก)[8]

เมื่อเงินประกันชีวิตข้างต้นไม่เป็นมรดก จึงไม่ตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย แต่ตกแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้ตายระบุไว้ ตาม ป.พ.พ. ม. 897 นั้น ซึ่งอาจเป็นทายาทของผู้ตายหรือไม่ก็ได้[8]

การตกทอดแห่งมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้


  ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

  (1)   นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

  (2)   นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

  (3)   นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

ป.พ.พ. ม. 61
  บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61
ป.พ.พ. ม. 62
  เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเอง หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่า บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น


  บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ป.พ.พ. ม. 63
  เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท


  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

ป.พ.พ. ม. 1599
  เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท


  ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดั่งระบุไว้ในคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับแก่ทายาทของบุคคลนั้น

ป.พ.พ. ม. 1602

เวลาตกทอด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

มรดกของบุคคลจะตกทอดแก่ทายาทเขาต่อเมื่อเขาตาย ตาม ป.พ.พ. ม. 1599 ว. 1 โดยนัยนี้ เจ้ามรดกจึงเป็นได้แต่บุคคลธรรมดา เพราะนิติบุคคลไม่อาจตายได้ เมื่อนิติบุคคลสิ้นสภาพบุคคล ทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้นจะได้รับการจัดการด้วยวิธีอื่นซึ่งมิใช่วิธีตามกฎหมายลักษณะมรดก[9]

ป.พ.พ. ม. 1599 ว่า มรดกจะตกทอดแก่ทายาทเมื่อเจ้ามรดกตาย แต่ไม่ได้ระบุว่าให้ตกทอดไปเมื่อไร ดังนั้น มรดกย่อมตกทอดทันทีที่เจ้ามรดกตาย[10] และทายาทต้องเป็นบรรดาที่มีสิทธิได้รับมรดกอยู่ในเวลานั้นเอง เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายาทของผู้ตายบ้าง และทายาทคนใดรับมรดกได้หรือไม่ ต้องพิจารณาในเวลาที่เจ้ามรดกตายเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมารู้ภายหลังว่ามีสิทธิ หรือถึงแม้ต่อมาจะสูญสิทธิไปก็ตาม[11] แต่ก็เป็นไปได้ที่ทายาทจะเกิดมีสิทธิขึ้นหลังเจ้ามรดกตายไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น ในกรณีพินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน คือ ระบุว่าให้พินัยกรรมมีผลเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นเสียก่อน[12]

กรณีทายาทมีสิทธิอยู่แล้ว แต่สูญสิทธิไปภายหลัง เช่น ฮ ตาย และในเวลานั้น ฮ มีทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกอยู่สามคน คือ ห, ฬ และ อ ทั้งสามจึงได้รับมรดกเป็นส่วนเท่า ๆ กัน สองปีต่อมา พนักงานอัยการฟ้องว่า อ ฆ่า ฮ ตาย และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ดังนี้ ฮ จึงกลายเป็นผู้ไม่สมควรรับมรดก และต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก โดยมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ ฮ ตาย กล่าวคือ สิทธิทั้งหลายที่ อ เคยมีเมื่อสองปีก่อนเป็นอันว่าถูกลบล้างไป และเท่ากับว่า อ ไม่เคยเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ฮ เลย ตาม ป.พ.พ. ม. 1606 (1)

ความตาย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

บุคคลตายได้สองกรณี คือ ตายตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า "ตายจริง" และตายเพราะกฎหมายสันนิษฐาน ซึ่งเรียกว่า "ตายโดยสันนิษฐาน" หรือ "ตายเพราะเป็นผู้ไม่อยู่"[9]

การตายโดยสันนิษฐานนั้น คือ เมื่อศาลสั่งว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญ กฎหมายจะสันนิษฐานว่าบุคคลนั้นตายในวันที่ครบกำหนดห้าปี นับตั้งแต่เขาละภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ไป แล้วไม่มีใครทราบข่าวคราวเลยเป็นเวลาติดต่อกัน หรือครบกำหนดสองปี นับตั้งแต่เขาหายไปในสงคราม อุบัติเหตุ หรือภยันตรายอื่น ๆ (มิใช่ตายเมื่อศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ) ตาม ป.พ.พ. ม. 62 ประกอบ ม. 61[13] การตายกรณีนี้จึงต่างจากการตายจริงตรงที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าบุคคลตายแล้ว ส่วนเขาจะตายจริงหรือไม่ไม่ทราบ[9] แต่การตายทั้งสองกรณีมีผลไม่ต่างกัน คือ บุคคลย่อมสิ้นสภาพบุคคล และมรดกของเขาจะตกทอดแก่ทายาทต่อไป[14]

สำหรับบุคคลที่ตายโดยสันนิษฐานนั้น ป.พ.พ. ม. 1602 ว. 2 ประกอบ ม. 63 ว. 1 ว่า ถ้าปรากฏภายหลังว่าเขายังไม่ตาย ศาลจะได้ถอนคำสั่งให้เขาเป็นคนสาบสูญ อันจะมีผลให้มรดกที่ได้ตกทอดแก่ทายาทต้องกลับสู่สถานะเดิม คือ กลับไปเป็นทรัพย์สินของบุคคลที่เคยสันนิษฐานว่าตายแล้วนั้นดังเดิม ราวกับไม่เคยตกทอดแก่ผู้ใด[14] ถ้าเขาตายคนละเวลากับที่กฎหมายสันนิษฐาน ศาลก็จะถอนคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่ทำให้มรดกกลับสู่สถานะเดิม มรดกคงตกทอดอยู่ เพราะถึงอย่างไรเขาก็ตายแล้ว เพียงจะตกทอดแก่ทายาทผู้มีสิทธิอยู่ในเวลาที่เขาตายจริง ซึ่งอาจไม่ใช่ทายาทคนเดียวกับที่ได้รับมรดกไปแล้วก็ได้[14]

เช่น ก ถูกศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ และกฎหมายสันนิษฐานว่าเขาตายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ในวันนั้น ทายาทของ ก มีอยู่สามคน คือ ข, ค และ ง ทั้งสามได้รับมรดกของ ก เป็นส่วนเท่า ๆ กัน ต่อมา พนักงานอัยการพิสูจน์ทราบว่า ก ตายจริงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ขณะที่ ง ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 และศาลถอนคำสั่งให้ ก เป็นคนสาบสูญในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ดังนั้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 จึงมีทายาทของ ก อยู่สองคน คือ ข และ ค ในการนี้ ทายาทของ ง ต้องส่งทรัพย์มรดกคืนเข้ากองมรดกเพื่อให้ตกทอดแก่ ข และ ค ต่อไป แต่มีข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 1602 ว. 2 ประกอบ ม. 63 ว. 1

ข้อยกเว้นดังกล่าวนั้น มีอยู่ว่า การทั้งหลายที่ได้ทำลงไปโดยสุจริต ตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ จนถึงเวลาที่ศาลถอนคำสั่งนั้น กล่าวคือ ได้ทำลงโดยไม่รู้ว่าคนสาบสูญยังไม่ตายจริง ๆ หรือไม่รู่ว่าเขาตายคนละเวลากับที่กฎหมายสันนิษฐาน การนั้นคงสมบูรณ์อยู่ ไม่เสียไป[10] จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าก่อน ง ประสบอุบัติเหตุตาย ง ได้ขายทรัพย์มรดกที่ตนได้รับมา แล้วนำเงินที่ขายได้ไปเล่นพนันจนหมด โดย ง ไม่รู้เลยว่า ก ตายผิดเวลากับที่กฎหมายสันนิษฐาน ดังนี้ ทายาทของ ง ก็ไม่ต้องคืนทรัพ์มรดกเข้ากองมรดก เพราะได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. ม. 1602 ว. 2 ประกอบ ม. 63 ว. 1 นั้น

  ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกัน จนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้
ป.พ.พ. ม. 1745

กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อมรดกตกทอดแก่ทายาท ถ้ามีทายาทคนเดียวคงไม่เป็นปัญหา เพราะเขาย่อมได้รับมรดกทั้งหมดไปแต่ผู้เดียว[12] แต่ถ้ามีหลายคน ป.พ.พ. ม. 1745 ว่า ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกัน จนกว่าจะแบ่งกันเสร็จเรียบร้อย โดยให้นำ ป.พ.พ. ม. 1356-1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 6 (มรดก) ด้วย[15]

ป.พ.พ. ม. 1356-1366 ดังกล่าว เป็นกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน ซึ่งว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม และตามบทบัญญัติเหล่านี้ เมื่อทายาทคนใดได้ทรัพย์มรดกชิ้นใดไปแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกนั้นเป็นเด็ดขาด[2] แต่ถ้ายังไม่ได้แบ่ง ทายาททุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นร่วมกัน แต่ละคนมีสิทธิอย่างเป็นเจ้าของรวม จนกว่าจะแบ่งทรัพย์มรดก เว้นแต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ว่าไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งก็มีอยู่ เป็นต้นว่า เจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนในทรัพย์สินรวมนั้นเท่ากันตาม ป.พ.พ. ม. 1357 ทว่า ทายาทแต่ละคนอาจมีส่วนในทรัพย์มรดกไม่เท่ากัน อาจได้รับคนละมากคนละน้อยต่างกันไป, หรือเจ้าของรวมอาจขอให้แบ่งทรัพย์สินรวมนั้นเมื่อไรก็ได้ ไม่มีอายุความตาม ป.พ.พ. ม. 1363 แต่ถ้าทายาทจะขอให้แบ่งทรัพย์มรดก ต้องเรียกร้องภายในอายุตาม ป.พ.พ. ม. 1754 เท่านั้น[2]

ทายาท[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม


  ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”


  ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”

ป.พ.พ. ม. 1603

ลักษณะและประเภทแห่งทายาท[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กฎหมายไม่ได้นิยาม "ทายาท" ไว้โดยตรง แต่พิจารณาบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว (เช่น ป.พ.พ. ม. 1599 และ ม. 1602) เข้าใจได้ว่า ทายาท คือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดก และสิทธินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วเท่านั้น[16] ส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่า ทายาทประเภทนี้มีลำดับอย่างนี้อย่างนั้นเป็นต้น เป็นแต่วางตำแหน่งผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังกัน เพราะตราบที่เจ้ามรดกยังไม่ตาย ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้อยู่ในลำดับเหล่านั้นมีสิทธิรับมรดก[16] เช่น เมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรก็เป็นเพียงผู้สืบสันดานเท่านั้น ยังไม่เป็นทายาทของบิดา

ทายาทมีสองประเภทตาม ป.พ.พ. ม. 1603 ได้แก่ ทายาทโดยธรรม คือ ผู้มีสิทธิรับมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติ และ ผู้รับพินัยกรรม คือ ผู้มีสิทธิรับมรดกตามที่พินัยกรรมกำหนด[17]

ทายาทโดยธรรมนั้นเป็นได้แต่บุคคลธรรมดา เพราะไม่มีกฎหมายให้นิติบุคคลรับมรดกได้[17] ส่วนวัดและแผ่นดินซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิรับทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ไม่ใช่กรณีกฎหมายให้วัดและแผ่นดินเป็นทายาทโดยธรรม แต่กฎหมายมีเหตุผลเฉพาะจึงบัญญัติเช่นนั้น กับทั้งวัดและแผ่นดินก็ไม่ได้รับทรัพย์สินในฐานะเป็นทายาทด้วย[17] อย่างไรก็ดี นิติบุคคลเป็นผู้รับพินัยกรรมได้[17]

ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมอาจเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวกันหรือไม่ก็ได้[17] เช่น ก มีทรัพย์สินหลายอย่าง และมีบุตรสามคน คือ ข, ค และ ง โดย ก ทำพินัยกรรมว่า ขอยกรถยนต์เก๋งให้แก่ ข ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ไม่ได้ว่าไว้อย่างไรในพินัยกรรม ดังนี้ นอกจาก ข จะได้รับรถยนต์เก๋งในฐานะที่เป็นผู้รับพินัยกรรมแล้ว ข ยังมีสิทธิในทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งต้องจัดการตามกฎหมายเพราะพินัยกรรมไม่ได้ว่าไว้ ในฐานะที่ ข เป็นทายาทโดยธรรมด้วย เว้นแต่ ข หมดสิทธิโดยธรรมไป เป็นต้นว่า ก ทำพินัยกรรมระบุว่า ให้ ข รับแต่รถยนต์เก๋งนั้นอย่างเดียว ซึ่งแสดงว่า มิให้ ข ได้ทรัพย์สินอย่างอื่นอีก

สิทธิตามพินัยกรรมสำคัญกว่าสิทธิโดยธรรม เพราะสิทธิตามพินัยกรรมเกิดจากเจตนาของผู้ตาย ส่วนสิทธิโดยธรรมเกิดเพราะกฎหมายสั่งแทนผู้ตายโดยอ้างอิงเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ฉะนั้น ทายาทโดยธรรมจะได้รับทรัพย์มรดกก็แต่ที่ไม่มีพินัยว่าไว้เป็นประการใด และต้องยอมให้ผู้รับพินัยกรรมได้ส่วนแบ่งของผู้รับพินัยกรรมเสียก่อน[17]

  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย


  ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

ป.พ.พ. ม. 15
  บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคล หรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย


  เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่า เด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

ป.พ.พ. ม. 1604

การเป็นทายาท[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

จะเป็นทายาทได้ อันดับแรกสุดต้องเป็นบุคคล กล่าวคือ มีสภาพบุคคล เพราะเมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจึงสามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ แล้วจึงเป็นทายาทได้ ต่างจากสัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ที่ไม่มีสภาพบุคคล ไม่มีสิทธิและไม่มีหน้าที่ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จึงไม่อาจเป็นทายาท[18] แม้เคยปรากฏเนือง ๆ ว่า มีผู้ทำพินัยกรรมยกมรดกให้สัตว์ ก็เป็นแต่ให้บุคคลอื่นใช้ทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของสัตว์นั้นเท่านั้น ตัวสัตว์หาอาจใช้ทรัพย์มรดกได้เองไม่

สำหรับบุคคลธรรมดา จะเป็นทายาทไม่ว่าประเภทใด ได้ ต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. ม. 1604 ประกอบ ม. 15 คือว่า (1) มีสภาพบุคคลอยู่ ณ เวลาที่เจ้ามรดกตาย กล่าวคือ เมื่อเจ้ามรดกตาย บุคคลผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่, หรือ (2) อย่างน้อยก็สามารถมีสิทธิได้อยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย กล่าวคือ เมื่อเจ้ามรดกตาย บุคคลผู้นั้นเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา และต่อมาเมื่อคลอดแล้วก็มีชีวิตรอดด้วย[19] แต่เพราะพิสูจน์ยากว่า เด็กคนนี้คลอดมาหลังเจ้ามรดกตายแล้ว ได้อยู่ในครรภ์มารดาตอนเจ้ามรดกตาย หรือเพิ่งมาอยู่เมื่อเจ้ามรดกตายไปแล้ว เป็นต้น กฎหมายจึงบัญญัติไว้เสียเลยใน ป.พ.พ. ม. 1604 ว. 2 ว่า ถ้าเด็กคลอดมาภายในสามร้อยสิบวันหลังเจ้ามรดกตาย ก็ให้ถือว่า เด็กนั้นได้อยู่ในครรภ์มารดา ณ เวลาที่เจ้ามรดกตาย ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ว่า ทารกสามารถอยู่ในครรภ์มารดาได้ไม่เกินสามร้อยสิบวัน[19]

อย่างไรก็ดี ธรรมชาติเป็นสิ่งลี้ลับ ก็อาจมีได้ที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาตอนเจ้ามรดกตาย และมารดาก็อุ้มท้องนานกว่าสามร้อยสิบวัน ในกรณีเช่นนี้ ผู้เกี่ยวข้องสามารถกล่าวอ้างและนำสืบเพื่อพิสูจน์ได้ ไม่มีกฎหมายห้าม แต่จะฟังขึ้นหรือไม่ มีเหตุผลหรือไม่ ประการใด ศาลย่อมใช้ดุลพินิจเอง[19]

ส่วนนิติบุคคลนั้น จะเป็นทายาท (ประเภทผู้รับพินัยกรรม) ได้ ก็ต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตายเช่นกัน กล่าวคือ ได้ตั้งนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อเจ้ามรดกตาย นิติบุคคลนั้นยังไม่สิ้นสุดลง มิฉะนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับนิติบุคคลจะไร้ผลไป[19] และด้วยนัยนี้ เมื่อพินัยกรรมสั่งตั้งมูลนิธิซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง ป.พ.พ. ม. 1678 จึงรับรองไว้เป็นพิเศษว่า ให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเป็นของมูลนิธิดังกล่าวได้ (มูลนิธิตั้งตามพินัยกรรม จึงไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย)[19]

เชิงอรรถ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน; 2551, 7 กุมภาพันธ์: ออนไลน์.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 29.
  3. 3.0 3.1 3.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 30.
  4. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 31.
  5. 5.0 5.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 38.
  6. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 37-38.
  7. 7.0 7.1 7.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 40.
  8. 8.0 8.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 39.
  9. 9.0 9.1 9.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 25.
  10. 10.0 10.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 27.
  11. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 27-28.
  12. 12.0 12.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 28.
  13. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 25-26.
  14. 14.0 14.1 14.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 26.
  15. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 28-29.
  16. 16.0 16.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 41.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 42.
  18. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 42-43.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 43.

ขึ้น การเสียสิทธิรับมรดก