ให้/บทที่ 3

จาก วิกิตำรา




3
การให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพัน


ดังได้ศึกษามาแล้วว่า การให้เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน เพราะเป็นการให้เปล่า คู่สัญญาไม่มีหน้าที่ต้องตอบแทนกัน แต่ก็มีการให้อยู่ประเภทหนึ่งซึ่งกฎหมายรับรองไว้ และมีลักษณะก่อภาระให้แก่คู่สัญญาฝ่ายผู้รับ ทำนองว่า รับแล้วต้องมีหน้าที่ หรือให้แต่ให้ไม่เต็มร้อย การให้เช่นนี้คือ "การให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพัน"

ในบทสุดท้ายนี้จะได้ศึกษากันว่า อะไรคือค่าภาระติดพัน และเมื่อทรัพย์สินที่ให้นั้นมีค่าภาระติดพันจะเกิดผลอย่างไร

ค่าภาระติดพัน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภาระติดพัน และผู้รับละเลยเสียไม่ชำระค่าภาระติดพันนั้นไซร้ ท่านว่า โดยเงื่อนไขอันระบุไว้ในกรณีสิทธิเลิกสัญญาต่างตอบแทนกันนั้น ผู้ให้จะเรียกให้ส่งทรัพย์สินที่ให้นั้นคืนตามบทบัญญัติว่าด้วยคืนลาภมิควรได้นั้นก็ได้ เพียงเท่าที่ควรจะเอาทรัพย์นั้นไปใช้ชำระค่าภาระติดพันนั้น

  แต่สิทธิเรียกคืนอันนี้ย่อมเป็นอันขาดไป ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิจะเรียกให้ชำระค่าภาระติดพันนั้น

ป.พ.พ. ม. 528
  ถ้าทรัพย์สินที่ให้มีราคาไม่พอกับการที่จะชำระค่าภาระติดพันไซร้ ท่านว่า ผู้รับจะต้องชำระแต่เพียงเท่าราคาทรัพย์สินเท่านั้น
ป.พ.พ. ม. 529

การให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพัน (donation subject to conditions,[ก] encumbered gift[ข] หรือ gift with burden[ข]) คือ การให้ทรัพย์สินที่มีภาระติดมาด้วย[1]

เช่น นางสาวติ่งหูให้ที่ดินสามไร่แก่นายเกรียนโดยเสน่หา แต่ที่ดินไร่ที่หนึ่งอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอาศัยของคุณหญิงสลิ่มเป็นเวลาสามสิบปี กล่าวคือ คุณหญิงสลิ่มมีสิทธิอาศัยอยู่ในที่ดินไร่ที่หนึ่งในจำนวนสามไร่นั้นเป็นเวลาสามสิบปี ดังนี้ เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพัน

ค่าภาระติดพันอาจชวนสับสนกับภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ (charge on immovable property) ตามกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน และนักกฎหมายบางคนอธิบายว่าเป็นอันเดียวกัน[ฃ] แต่ก็มีนักกฎหมายบางคนเห็นต่างว่า ทรัพย์สินซึ่งมีค่าภาระติดพันจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ค่าภาระติดพันจึงเป็นคนละเรื่องกับภาระติดพันดังกล่าว[2][3]

อนึ่ง ค่าภาระติดพันต้องมีอยู่แล้วในเวลาให้[4] และต้องเป็นประโยชน์ที่ผูกพันอยู่กับตัวทรัพย์สินซึ่งให้เท่านั้น[5] เช่น ผู้ให้ให้ทรัพย์สิน และผู้รับตกลงจะเลี้ยงดูผู้ให้ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ การเลี้ยงดูไม่เป็นค่าภาระติดพัน

ภาระของผู้รับ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การชำระค่าภาระติดพัน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ตาม ป.พ.พ. ม. 528 ถ้าทรัพย์สินมีค่าภาระติดพัน ผู้รับก็ต้องนำทรัพย์สินนั้นเองออกชำระค่าภาระติดพันจนเสร็จสิ้น เช่น ในกรณีนางสาวติ่งหูข้างต้น นายเกรียนต้องยอมให้คุณหญิงสลิ่มอาศัยอยู่ในที่ดินไร่ที่หนึ่งนั้นตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ ในกรณีเช่นนี้ นายเกรียนคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามไร่นั้นอยู่ เพียงแต่นายเกรียนยังไม่สามารถใช้กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินไร่หนึ่งได้อย่างเต็มที่ จนกว่าค่าภาระติดพันจะหมดลง

อนึ่ง ถ้าทรัพย์สินที่ได้มานั้นไม่พอจะชำระค่าภาระติดพัน ผู้รับก็เพียงต้องชำระค่าภาระติดพันเท่าราคาทรัพย์สินนั้นตาม ป.พ.พ. ม. 529[6]

ความที่ต้องชำระค่าภาระติดพันนี้ ไม่ทำให้สัญญาให้กลายเป็นสัญญาต่างตอบแทนไป กล่าวคือ ไม่ได้กลายเป็นว่า ผู้รับมีหน้าที่ต้องทำสิ่งใดตอบแทนผู้ให้ขึ้นมา เพราะผู้รับสามารถนำทรัพย์สินที่ได้มานั้นออกชำระค่าภาระติดพันอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องควักเนื้อแต่ประการใด[7]

การไม่ชำระค่าภาระติดพัน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เนื่องจากการชำระค่าภาระติดพันมิใช่หน้าที่ ผู้รับจึงไม่จำต้องปฏิบัติ และผู้ให้ก็ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้ต้องปฏิบัติด้วย[8] แต่ผู้ให้มีสิทธิเรียกทรัพย์สินคืนได้เท่าที่จะนำไปใช้ชำระค่าภาระติดพันตาม ป.พ.พ. ม. 528 ว. 1 และการเรียกคืนนี้จะเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้[6]

เช่น คุณชายกางยกบ้านสามหลัง คือ บ้านทรายดอง บ้านทรายฟอง และบ้านทรายนอง ให้แก่พจมาร ชินในวัด โดยเสน่หา ทว่า หม่อมพวงนารายณ์มีสิทธิเช่าบ้านทรายดองชั่วชีวิตหม่อมอยู่ก่อนแล้ว พจมานจึงได้รับบ้านทั้งสามหลังมาโดยมีค่าภาระติดพัน แต่พจมารไม่ประสงค์จะให้หม่อมพวงนารายณ์เช่าต่อ จึงให้ข้าทาสบริวารขับไล่หม่อมออกไป ดังนี้ คุณชายกางมีสิทธิเรียกบ้านทรายดองคืนเพื่อนำมาให้หม่อมพวงนารายณ์เช่า แต่ที่เหลืออีกสองหลัง คือ บ้านทรายฟอง และบ้านทรายนอง จะเรียกคืนมิได้

การเรียกทรัพย์สินคืน (return of the gift[ค]) ในกรณีเช่นนี้ต่างจากการถอนคืนซึ่งการให้ ตรงที่การเรียกคืนมีผลแก่ทรัพย์สินเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าภาระติดพัน ขณะที่การถอนคืนมีผลล้มล้างการให้ไปโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงตั้งอยู่บนความระมัดระวัง อย่าสับสนระหว่างกัน

ทั้งนี้ ผู้รับที่ไม่ชำระค่าภาระติดพันอาจดูเหมือนว่าไม่รู้จักบุญคุณผู้ให้ แต่ไม่ถือว่า ผู้รับประพฤติเนรคุณอันจะเป็นเหตุแห่งการถอนคืนซึ่งการให้ เพราะ "เนรคุณ" ดังกล่าวไม่ใช่ศัพท์ทั่วไป แต่เป็นศัพท์กฎหมายที่มีนิยามแน่นอนและเจาะจงดังศึกษามาแล้ว ประกอบกับการเรียกคืนกับการถอนคืนเป็นคนละกรณีกัน กฎหมายบัญญัติไว้แยกกัน[9] อย่างไรก็ดี ถ้ามีทรัพย์สินเหลือจากการเรียกคืน การให้ทรัพย์สินส่วนนี้ก็อาจถูกถอนคืนได้อยู่ เมื่อเข้าข่ายที่จะถอนคืนได้[10]

ความรับผิดของผู้ให้[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าการให้นั้นมีค่าภาระติดพัน ท่านว่า ผู้ให้จะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ขาย แต่ท่านจำกัดไว้ว่า ไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพัน
ป.พ.พ. ม. 530

ป.พ.พ. ม. 530 กำหนดว่า ถ้าผู้รับทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพันไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างเต็มที่ เพราะ (1) ทรัพย์สินนั้นชำรุดบกพร่องก็ดี หรือ (2) ผู้รับถูกรอนสิทธิในทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้ให้ต้องรับผิดเสมือนเป็นผู้ขายด้วย แต่ความผิดรับนี้มีขอบเขตไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพัน

ทั้งนี้ ในการให้ตามปรกติแล้ว เมื่อทรัพย์สินบกพร่อง ผู้ให้ก็ไม่มีหน้าที่ต้องชดเชย เพราะสัญญาให้ไม่ก่อหน้าที่ใด ๆ แต่ถ้าทรัพย์สินซึ่งบกพร่องนั้นมีค่าภาระติดพัน ก็จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับ เพราะผู้รับมีหน้าที่ต้องปลดเปลื้องค่าภาระติดพัน แต่ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่เนื่องจากทรัพย์สินบกพร่องหรือถูกรอนสิทธิในทรัพย์สิน กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ให้รับผิดต่อผู้รับในกรณีนี้[2]

เช่น แม่ศรีประจันยกเรือนสองหลังที่จังหวัดสุพรรณบุรีให้แก่แม่วันทองแท้ แต่เรือนหลังที่สองนั้นแม่พวงทองทามีสิทธิอาศัยเป็นเวลาสามสิบปีมาแต่เดิมแล้ว แม่วันทองแท้ทราบแล้วก็ยินดีให้แม่พวงทองทาอาศัยอยู่ได้ ต่อมาไม่นาน แม่พิณทองชุบฟ้องเรียกเรือนทั้งสองหลังจากแม่วันทองแท้ เพราะปรากฏว่า แม่ศรีประจันขายเรือนให้แก่ตนก่อนแล้ว กลับมายกให้แก่แม่วันทองทาเสียได้ และศาลพิพากษาให้แม่พิณทองชุบชนะคดี ดังนี้ แม่วันทองแท้ย่อมถูกรอนสิทธิในเรือนทั้งสองหลังถึงขนาดที่หมดสิทธินั้นทีเดียว และแม่วันทองแท้สามารถเรียกค่าทดแทนจากแม่ศรีประจันได้ แต่ค่าทดแทนนี้จะไม่เกินราคาเรือนหลังที่สองซึ่งแม่วันทองแท้เคยต้องนำออกให้แม่พวงทองทาใช้อาศัย

ปัญหาบางประการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ค่าภาระติดพันกับสภาพต่างตอบแทน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อทรัพย์สินมีค่าภาระติดพัน การให้จะกลายเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันขัดกับลักษณะปรกติของการให้ (ที่ไม่ก่อหนี้ให้คู่สัญญาต้องตอบแทนกัน) หรือไม่ ปัญหานี้ถกเถียงกันมายาวนานในวงการนิติศาสตร์ และมีความเห็นต่างกันเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายแรกเป็นเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า เป็น[ฅ] ฝ่ายที่สองเห็นแย้งว่า ไม่เป็น เพราะมีค่าภาระติดพัน ไม่ได้หมายความว่า ผู้รับมีหน้าที่ตอบแทนผู้ให้ เพียงแต่ผู้รับมีภาระอันเป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างเต็มที่เท่านั้น[ฆ]

ศาลฎีกาเองเคยวินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกับฝ่ายที่สองว่า ในสัญญาให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพันนี้ ผู้รับไม่ได้ต้องเสียค่าตอบแทนการให้แต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ให้สงวนผลประโยชน์บางส่วนอันเกิดจากทรัพย์สินนั้นไว้[11]

ค่าภาระติดพันกับเงื่อนไขบังคับหลัง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ปัญหาที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพันเป็นสัญญาที่ตกอยู่ในเงื่อนไขบังคับหลังหรือไม่ ข้อนี้ ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ไม่ โดยให้เหตุผลว่า[12]

1.   ถ้ามีเงื่อนไขบังคับหลัง ก็หมายความว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้นั้นโอนไปยังผู้รับแล้ว ต่อมา เกิดเหตุการณ์อันไม่แน่นอนตามเงื่อนไขนั้น เงื่อนไขจึงสำเร็จ กรรมสิทธิ์จึงโอนจากผู้รับกลับมายังผู้ให้ แต่การชำระค่าภาระติดพันเป็นเรื่องที่ต้องเกิด ไม่ใช่เหตุการณ์อันไม่แน่นอนเหมือนเงื่อนไข

2.   ประกอบกับถ้าเป็นเงื่อนไข กรรมสิทธิ์ย่อมโอนกลับมาเองโดยอัตโนมัติและโดยแน่แท้ แต่กรณีให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพัน เมื่อผู้รับไม่ชำระค่าภาระติดพัน กรรมสิทธิ์มิได้โอนกลับมาจนกว่าผู้ให้จะฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน และการฟ้องนี้เป็นสิทธิของผู้ให้ กล่าวคือ ผู้ให้จะเรียกคืนหรือไม่ก็ได้

ค่าภาระติดพันเป็นการจำนอง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กรณีที่พบบ่อยที่สุด คือ การให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดจำนอง ซึ่งส่งผลสองประการ คือ (1) ทรัพย์สินอาจถูกบังคับจำนองได้ ถ้าผู้ให้หรือผู้รับไม่ชำระหนี้ และ (2) ถ้าผู้รับอยากได้กรรมสิทธิ์ในเต็มที่ ผู้รับต้องไปปลดจำนองเอง

เช่น อนิจจา ทาทา หยัง ซาบซึ้งพี่ม้าที่ตัดสินให้ตนชนะเลิศการประกวดร้องทุกข์ในรายการเดอะสตอ จึงยกที่ดินมูลค่าสิบล้านบาทให้พี่ม้าโดยเสน่หา แต่เผอิญว่า ที่ดินนั้นอนิจจาจำนองไว้กับมอด ปากติดพาน ปัดซะหวีกาง เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้แปดล้านบาทอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น ถ้าอนิจจาไม่ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว มอดก็อาจบังคับจำนองแก่ที่ดินโดยนำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ได้ หรือถ้าพี่ม้าประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเต็มทีโดยไม่ต้องรีรออนิจจาชำระหนี้อีก พี่ม้าก็อาจเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนอนิจจา เพื่อจะได้ปลดที่ดินออกจากการจำนอง กรณีจึงเป็นการที่พี่ม้าได้รับที่ดินมาโดยมีค่าภาระติดพัน และค่าภาระติดพันของพี่ม้า คือ การปลดจำนอง

ดังนี้ จะถือว่า การให้ทรัพย์สินติดจำนองอันเป็นเหตุให้ผู้รับต้องปลดจำนองนั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนหรือไม่ ปัญหานี้นักกฎหมายเห็นว่า การปลดจำนองก็เช่นเดียวกับค่าภาระติดพันประเภทอื่น คือ มิใช่หน้าที่ ผู้รับจะทำหรือไม่ก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน[13]

ส่วนความเสี่ยงที่ว่า ถ้าผู้ให้ไม่ชำระหนี้แล้ว ผู้รับจำนองอาจมาบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินก็ได้นั้น นักกฎหมายเห็นว่า ผู้รับไม่ได้เสียประโยชน์อันใดอยู่แล้ว เพราะเดิมก็ได้ทรัพย์สินมาเปล่า ๆ ไม่ได้หมายความว่า ผู้รับตกอยู่ในฐานะจำเป็นต้องทำ หากแต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้รับเองมากกว่า เช่น ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า[14]

"...เงินที่ผู้รับต้องไปปลดจำนองนี้ หากนำมาหักออกแล้ว คือ ส่วนที่ผู้ให้ไม่ได้ให้...ไม่ทำให้ผู้รับต้องควักเนื้อของตนมาตอบแทนอะไรกับผู้ให้

"...สิ่งที่ต้องเข้าใจด้วยก็คือว่า ถ้าทรัพย์สินนั้นติดจำนองแล้วเรายกให้ใคร ก็หมายความว่า ผู้ให้ได้ยกให้ตามสภาพที่ทรัพย์สินเป็นอยู่ คือ มีภาระติดอยู่ ผู้รับเองก็รับไปตามสภาพที่ทรัพย์สินเป็นอยู่ด้วยความเข้าใจและคาดหมายได้ถึงภาระนี้มาตั้งแต่รับการให้แล้ว...หากไม่ต้องการให้มีภาระติดมา ก็อาจปฏิเสธไม่รับการให้ได้อยู่แล้ว"

เชิงอรรถ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 400.
  2. 2.0 2.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 402.
  3. ปรีชา สุมาวงศ์, 2532: 735.
  4. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 398-399.
  5. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 402-403.
  6. 6.0 6.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 401-402.
  7. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 401.
  8. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 405.
  9. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 406.
  10. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 405-406.
  11. อ้างถึงใน ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 400.
  12. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 404-405.
  13. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 404.
  14. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 403-404.

หมายเหตุ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 525 ว่า

"Section 525 Donation subject to conditions

"(1)   Anyone who makes a donation subject to a condition may demand that the condition is fulfilled if he himself has performed.

"(2)   If fulfilment of the condition is in the public interest, then the competent public authority may also demand fulfilment after the death of the donor. "

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ม. 553 ว่า

"Article 553 (Encumbered Gifts)

"With respect to gifts with burden, in addition to the provisions of this Section, the provisions regarding bilateral contracts shall apply mutatis mutandis, to the extent those provisions are not inconsistent with the nature of gifts with burden. "

เช่น พระวรภักดิ์พิบูลย์, 2511: 481.

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 527 ว่า

"Section 527 Non-fulfilment of the condition

"(1)   If fulfilment of the condition fails to occur, the donor may demand the return of the gift under the conditions determined for the right of revocation of reciprocal contracts under the provisions on return of unjust enrichment to the extent that the gift would have had to be used to fulfil the condition.

"(2)   The claim is excluded if a third party is entitled to demand fulfilment of the condition."

เช่น โพยม เลขยานนท์, 2499: 101; ปรีชา สุมาวงศ์, 2532: 655.

เช่น ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 403. .



บทที่ 2 การถอนคืนซึ่งการให้ ขึ้น