ข้ามไปเนื้อหา

เทคนิคการถ่ายภาพ/พื้นฐานการถ่ายภาพ

จาก วิกิตำรา

พื้นฐานการถ่ายภาพ

ความเร็วชัตเตอร์ (S,TV)

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
ความเร็วชัตเตอร์
เป็นการกำหนดระยะเวลาในการบันทึกภาพ ซึ่งกลไกของกล้องจะมีแผ่นเลื่อนเปิดปิดอยู่หน้าฟิล์ม (หรือแผ่นรับแสง CCD ในกรณีของกล้องดิจิตอล) เรียกว่าชัตเตอร์ สามารถเปิดและปิดเพื่อเปิดให้แสงเข้าไปบันทึกภาพตามระยะเวลาที่เราตั้งความเร็วชัตเตอร์ เราต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ โดยทั่วไปจะพิจารณาจากสภาพแสง เช่น การถ่ายภาพจากแหล่งแสงที่มีแสงน้อย เช่น แสงเทียน ต้องเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์หลายวินาที ส่วนการถ่ายภาพกลางแจ้ง มีแดดจัด ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า เช่น 1/500 วินาทีเป็นต้น

ปัจจัยอื่นที่สำคัญคือ ความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุ เช่น การถ่ายภาพรถยนต์เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ต้องการให้ภาพคมชัด ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่ทำได้ โดยสัมพันธ์กับขนาดรูรับแสงที่เลือก เช่น ตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/4000 วินาที เป็นต้น

ขนาดรูรับแสง (A,AV)

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
ขนาดรูรับแสง
กล้องส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์บังคับให้แสงผ่านเลนส์มากหรือน้อย โดยใช้แผ่นกลีบโลหะซึ่งติดตั้งอยู่ในตัวเลนส์เป็นการกำหนดปริมาณแสงผ่านเลนส์ได้มากหรือน้อย โดยวิธีเปิดรูเล็กสุด เช่น f/22 และค่อยๆใหญ่ขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเปิดเต็มที่ เช่น f/1.4 แต่ขนาดเปิดเต็มที่จะขึ้นกับขนาดชิ้นเลนส์ด้วย เลนส์ราคาสูงที่มีเลนส์ชิ้นหน้าขนาดใหญ่ จะรับแสงได้มากกว่า ซึ่งหมายถึงเปิดรูรับแสงเต็มที่ได้กว้างกว่า เช่น f/1.2 สำหรับการถ่ายภาพจะเลือกใช้ขนาดรูรับแสงใด โดยทั่วไปจะพิจารณาจากสภาพแสง ถ้าแสงมากมักจะใช้ขนาดรูรับแสงเล็ก เช่น f/11 ถ้าแสงน้อยมักจะใช้ขนาดรูรับแสงใหญ่ เช่น f/2 เป็นต้น

ปัจจัยอื่นที่สำคัญ คือ ความชัดลึก

ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วชัตเตอร์กับขนาดรูรับแสง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การตั้งความเร็วชัตเตอร์และขนาดรูรับแสง ต้องมีความสัมพันธ์กัน เพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่พอเหมาะในการบันทึกภาพ ซึ่งในสภาพแสงเดียวกัน และเลือกค่าความไวแสงเท่ากัน สามารถตั้งค่าที่เหมาะสมได้หลายค่า ตามตัวอย่าง เช่น


ความเร็วชัตเตอร์ ขนาดรูรับแสง
1/4000 f/1.4
1/2000 f/2
1/1000 f/2.8
1/500 f/4
1/250 f/5.6
1/125 f/8
1/60 f/11
1/30 f/16
1/15 f/22

การตั้งความเร็วชัตเตอร์และขนาดรูรับแสง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การเลือกคู่ที่เหมาะสมตามตัวอย่างในหัวข้อ ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วชัตเตอร์กับขนาดรูรับแสง ให้พิจารณาได้จากปัจจัยต่างๆดังนี้

1. ความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุที่จะถ่าย
วัตถุที่เคลื่อนที่เร็ว แต่เราต้องการภาพชัด ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่กล้องจะทำได้ แต่ถ้าเป็นวัตถุที่อยู่นิ่งนั้น สามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์เท่าไรก็ได้
2. ความชัดลึกของวัตถุที่จะถ่าย
ขนาดรูรับแสงเล็ก เช่น f/22 จะให้ความชัดลึกมากกว่าขนาดรูรับแสงกว้าง เช่น f/1.4 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากในการถ่ายภาพระยะใกล้ หรือใช้เลนส์ถ่ายไกลในการถ่ายภาพ

การชดเชยแสง (EV+/-)

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
การชดเชยแสง
เป็นการปรับปริมาณแสงในการบันทึกภาพให้แตกต่างไปจากค่าที่ได้จากเครื่องวัดแสง เช่น การถ่ายภาพย้อนแสงนั้น ค่าที่ได้จากเครื่องวัดแสง มักจะได้ค่าที่ทำให้วัตถุค่อนข้างมืด การชดเชยแสง โดยเพิ่มแสงมากกว่าที่วัดแสงได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ การถ่ายภาพวัตถุที่อยู่หน้าฉากหลังสีดำ ค่าที่ได้จากเครื่องวัดแสงมักจะได้ค่าที่ทำให้วัตถุค่อนข้างสว่างเกินไป การชดเชยแสงทำได้โดยลดแสงให้น้อยกว่าที่วัดแสงได้ เป็นต้น

โดยทั่วไปกล้องมีระบบชดเชยแสงสำเร็จรูป หรือเรียกว่าการปรับ EV อยู่แล้ว โดยตามหลักการกล้องจะไปปรับ ความเร็วชัตเตอร์ หรือปรับรูรับแสง เพื่อให้ภาพสว่าง หรือมืดลงกว่าที่วัดแสง หรือเราสามารถไปปรับที่ parameter ดังกล่าวได้โดยตรง

การเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์และขนาดรูรับแสงเพื่อชดเชยแสง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ในการชดเชยแสงนั้น นิยมปรับเปลี่ยน เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งคือความเร็วชัตเตอร์ หรือ ขนาดรูรับแสง หลักการชดเชยแสงก็มีเพียงสองทาง คือ เพิ่มแสง หรือลดแสง

การเพิ่มแสง
การปรับที่ความเร็วชัตเตอร์ คือ การลดความเร็วชัตเตอร์ลง เช่น วัดแสงได้ 1/500 วินาที เพิ่มแสง 1 ระดับก็ต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/250 ยึดหลักว่าถ้าชัตเตอร์ปิดช้าลงก็จะต้องได้แสงมากขึ้นแน่นอน หากเพิ่มแสงโดยปรับที่ขนาดรูรับแสงก็ต้องเพิ่มขนาดรูรับแสงให้ใหญ่ขึ้น เช่น วัดแสงได้ f/4 เพิ่มแสง 1 ระดับก็ต้องเปลี่ยนเป็น f/2.8
การลดแสง
การปรับที่ความเร็วชัตเตอร์ คือ การเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ เช่น วัดแสงได้ 1/500 วินาที ลดแสง 1 ระดับ ก็ต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/1000 คือให้ชัตเตอร์ปิดเร็วขึ้นเท่าตัวนั่นเอง หากลดแสงโดยปรับที่ขนาดรูรับแสง ก็ต้องลดขนาดรูรับแสงให้เล็กลง เช่น วัดแสงได้ f/4 ลดแสง 1 ระดับ ก็ต้องเปลี่ยนเป็น f/5.6

การเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของวัตถุนั้น ให้พิจารณาดังนี้

ทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุ
แบ่งทิศทางการเคลื่อนที่เป็น 2 ลักษณะ คือเคลื่อนที่เข้าหา/ออกห่างกล้อง หรือ เคลื่อนที่ผ่านกล้องจากซ้ายไปขวาหรือกลับกัน โดยที่การเคลื่อนที่เข้าหาหรือออกห่างจากกล้องนั้นสามารถเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำว่าการเคลื่อนที่ผ่านกล้อง เช่น รถยนต์ที่ขับด้วยความเร็วด้วยความเร็ว 60 กม./ชม.เท่ากัน ที่เคลื่อนที่เข้าหากล้อง อาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/125 แต่ถ้าเคลื่อนที่ผ่านกล้อง อาจต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ถึง 1/500
ความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุ
วัตถุที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น รถแข่ง ควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่กล้องสามารถทำได้ ส่วนคนเดิน สามารถใช้ความเร็วที่น้อยกว่าได้ อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนที่ ควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่สภาพแสงอำนวย
ผลลัพธ์หยุดนิ่งหรือดูแล้วเคลื่อนไหว
การสร้างสรรค์ภาพบางแบบ นิยมให้ภาพดูแล้วมีลักษณะเบลอแบบเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ชมภาพมีความรู้สึกว่า มีความเคลื่อนไหวในภาพ อาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่าปกติได้ เช่น รถแข่ง อาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/15 พร้อมกับเล็งกล้องติดตามรถแข่งไปด้วยขณะที่กดปุ่มชัตเตอร์ หากฝึกให้ดีแล้วจะได้ภาพที่รถแข่งชัดบางส่วน ส่วนฉากหลังจะมีลักษณะเป็นลายทางให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว

ความชัดลึก

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อันนี้เป็นคุณสมบัติเรื่องของเลนส์เป็นหลักเลยครับ ปัจจัยที่มีผลต่อเรื่องนี้คือ

ขนาดรูรับแสง
ขนาดรูรับแสงที่เล็กจะชัดลึกกว่า ขนาดรูรับแสงใหญ่ เช่น ถ้าเราถ่ายภาพระยะใกล้ เช่น ถ่ายดอกชบา 1 ดอกแบบเต็มภาพทางด้านหน้า เราจะเห็นว่าเกสรดอกจะอยู่ใกล้กล้องมากที่สุด กลีบดอก และก้านดอกจะอยู่ลึก หรือไกลกล้องออกไป หากเราต้องการถ่ายภาพให้ชัดทั้งหมดตั้งแต่เกสรดอกจนถึงก้านดอก นี่แหละคือสิ่งที่เราเรียกว่าความชัดลึก ซึ่งต้องใช้รูรับแสงขนาดเล็กไว้ ในทางกลับกันหากเราใช้รูรับแสงใหญ่ จะเรียกว่าชัดตื้น มักใช้ในกรณีที่เราต้องการให้ฉากหลังมีความคมชัดน้อยกว่าวัตถุ เพื่อเน้นให้วัตถุเด่นขึ้นมา มักจะพบบ่อยในการถ่ายภาพแฟชั่น หรือการถ่ายบุคคลเฉพาะใบหน้า
ขนาดความยาวโฟกัสของเลนส์
เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสน้อย เช่น 28 มิลลิเมตร จะมีความชัดลึกมากกว่าเลนส์ 300 มิลลิเมตร ดังนั้นใครที่ต้องการถ่ายภาพให้ชัดลึกก็ต้องเลือกความยาวโฟกัสให้น้อยเข้าไว้ เช่นการถ่ายภาพทิวทัศน์ ส่วนงานถ่ายภาพแฟชั่น มักจะใช้ขนาดความยาวโฟกัสมาก ทำให้ฉากเบลอเน้นที่นางแบบให้เด่นครับ
ระยะห่างระหว่างกล้องถึงวัตถุ
ระยะห่างมากจะชัดลึกกว่า ระยะห่างน้อย เราจะเห็นว่าเวลาเราถ่ายภาพวิว ซึ่งเป็นระยะไกลๆ ภาพมักจะชัดทั้งภาพ แต่ถ้าเราถ่ายภาพดอกไม้ในระยะใกล้ๆ ภาพมักจะไม่ชัดทั้งภาพ จะชัดเพียงบางส่วน ตามที่เราตั้งโฟกัสไว้ พอรู้อย่างนี้แล้ว ครั้งต่อไปที่ถ่ายภาพดอกไม้ระยะใกล้อย่าลืมใช้ขนาดรูรับแสงแคบๆนะครับ ซึ่งกล้องสมัยนี้ สามารถถ่ายได้อยู่แล้วในโหมดที่เรียกว่า Macro(มาโคร)

การวัดแสงเพื่อการถ่ายภาพ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เทคนิคการวัดแสงขั้นพื้นฐาน ให้พิจารณาจากปัจจัยสำคัญดังนี้

แหล่งต้นกำเนิดแสง
กล้องปัจจุบันสามารถปรับสมดุลย์สีขาว (White balance) ได้อัตโนมัติ ผู้ใช้กล้องทั่วไปจึงไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้ แต่แท้จริงแล้วเป็นส่วนสำคัญที่จะได้ภาพที่มีสีสรรถูกต้อง เนื่องจากฟิล์มถูกผลิตมาให้เหมาะสมกับอุณหภูมิสีของแสงตามที่ออกแบบมา เช่น แสงอาทิตย์ (Daylight) หรือแสงจากหลอดไส้ หรือแสงจากหลอดนีออน เป็นต้น หากเป็นกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ มักจะออกแบบมาให้สามารถปรับเปลี่ยนชนิดแหล่งต้นกำเนิดแสงได้ แม้ว่ากล้องจะมีปุ่มปรับสมดุลย์สีขาวอัตโนมัติ (Auto White balance) มาแล้วก็ตาม แต่บางครั้งการทำงานของระบบอัตโนมัติก็ไม่ถูกต้องนัก ซึ่งเราจะเห็นได้จากจอ LCD ว่าสีเพี้ยน หากเป็นเช่นนี้เราก็ต้องปรับตั้งแหล่งต้นกำเนิดแสงด้วยตนเอง เช่น แสงอาทิตย์ / แสงอาทิตย์มีเมฆมาก / แสงอาทิตย์ใต้อาคาร / แสงจากหลอดไส้ / แสงจากหลอดนีออน / ตั้งสมดุลย์สีขาวเอง (Custom) หากเราลองเปลี่ยนสมดุลย์สีขาวชนิดต่างๆในกล้องแล้วยังได้สีไม่ตรงตามความเป็นจริง เราต้องใช้วิธีตั้งสมดุลย์สีขาวเอง ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันไปในกล้องแต่ละยี่ห้อ ซึ่งวิธีการโดยทั่วไปจะต้องใช้กระดาษสีขาวมาวางไว้ภายใต้สภาพแสงขณะนั้น แล้วเลือกตั้งสมดุลย์สีขาวเอง จากนั้นส่องกล้องให้เห็นกระดาษสีขาวเต็มจอ กดปุ่ม Set เพื่อให้กล้องอ่านอุณหภูมิสีขณะนั้น กล้องจะปรับแก้ให้เราเห็นกระดาษขาวเป็นสีขาวจริงๆ ผ่านจอ LCD เป็นเสร็จพิธี แล้วก็ถ่ายภาพที่มีสีถูกต้องในสภาพแสงนั้นได้ตลอด หากออกจากสภาพแสงนั้นแล้วอย่าลืมเปลี่ยนสมดุลย์สีขาว หรือตั้งค่าใหม่ด้วยนะครับ
ทิศทางของแสง
การถ่ายภาพแบบพื้นฐานนั้น เราจะเน้นแต่แสงธรรมชาติกับแสงจากแฟลช แบ่งเป็น
  1. แสงส่องวัตถุคือแสงส่องหน้าแบบของเรา ซึ่งแสงจากแฟลชก็เป็นแสงแบบนี้
  2. แสงหลังหรือที่เรียกว่าย้อนแสง
  3. แสงข้าง
  4. แสงบนเช่นตอนเที่ยงวัน

การวัดแสงควรวัดแสงที่วัตถุเท่านั้นจะได้ค่าการวัดแสงที่ถูกต้องที่สุด ในกรณีแสงข้าง ควรวัดแสงเฉลี่ยด้านมืดกับด้านสว่าง แต่ถ้าเราต้องการภาพเชิงศิลป์ออกโทนมืดๆหน่อย ให้วัดแสงที่ด้านสว่าง กรณีนี้ต้องใช้กล้องที่สามารถปรับวิธีวัดแสงแบบเฉพาะจุด (Spot) จะได้ไม่ต้องเข้าใกล้ขนาดจ่อหน้านางแบบมาก ขอเสริมเทคนิคให้สำหรับกล้องที่ไม่สามารถปรับวิธีวัดแสงแบบเฉพาะจุดได้ ให้ใช้วิธีวัดแสงกับมือของตากล้องนี่แหละครับ ดูแปลกๆหน่อยแต่ก็ช่วยให้วัดแสงได้แม่นยำขึ้นนะครับ โดยหลักการแล้ว กล้องแบบนี้จะวัดแสงเฉลี่ย ดังนั้นช่างภาพยกมือเราขึ้นมาทำให้แสงที่ตกบนมือเราเหมือนกับที่หน้านางแบบ เช่น แสงข้าง ก็ต้องกำมือปรับมุมข้อมือให้แสงตกบนหลังมือเราเหมือนแสงที่หน้านางแบบ แล้วเอากล้องจ่อที่มือเราแล้ววัดแสง เราอาจเน้นด้านสว่าง ก็จ่อกล้องที่ด้านสว่าง หรือเน้นที่ด้านมืด ก็จ่อกล้องที่ด้านมืด แต่ถ้ากล้องของเราทำการตั้งระยะชัดพร้อมกับวัดแสงด้วย แบบนี้ใช้ไม่ได้นะครับ เพราะระยะชัดไม่ถูกต้องครับ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ยังไม่หมดหนทางครับ แต่เราต้องเตรียมกระดาษสีเทาใบใหญ่กว่า A4 ก็ดีครับ ให้นางแบบถือไว้โดยปรับมุมของกระดาษสีเทานี้แสงตกกระทบในมุมเดียวกับหน้านางแบบ แล้ววัดแสงที่กระดาษสีเทาก็ได้จะได้ค่าแสงที่เหมาะสมครับ

ความเปรียบต่างของแสงส่องวัตถุกับแสงหลัง
เช่นกรณีการถ่ายย้อนแสงโดยที่นางแบบอยู่ในร่มเงา ฉากหลังเป็นหาดทรายสีขาว แบบนี้ถ้าวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ ผลลัพธ์ก็จะออกมามืดไป เพราะเครื่องวัดแสงของกล้องจะโดนหลอกจากแสงหลังที่มาจากหาดทรายว่าแสงมาก จึงให้ค่าการวัดแสงที่ต่ำเกินไปคือถ่ายออกมาแล้วมืดไป เราต้องใช้วิธีวัดแสงเฉพาะจุดที่หน้านางแบบ แต่วิธีนี้ก็ให้ผลเสียคือ ฉากหลังจะขาวเกินไปจนอาจมองไม่ออกเลยว่าถ่ายที่ไหน วิธีนี้แนะนำให้เปิดแฟลชเพื่อลบเงาที่หน้านางแบบ แฟลชที่ติดมากับกล้องจะได้ผลน้อย แต่ก็ดีกว่าไม่เปิด ท่านที่มีแฟลชเสริมขอให้หยิบมาใช้เลยครับ ภาพแจ่มทั้งนางแบบและฉากหลังเลยครับ การวัดแสงมีเรื่องให้กล่าวถึงมากมายครับ ขอให้ติดตามต่อในเรื่องของการถ่ายภาพแบบพิเศษ แล้วจะพูดถึงต่อไปครับ

การเคลื่อนกล้อง(Movement Camera )

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การเคลื่อนกล้องในการถ่ายทำต่างๆนั้นมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการทำให้งานที่ถ่ายออกมานั้นดูไม่น่าเบื่อ ดูลูกเล่น มีมุมมอง ที่แตกต่าง ซึ่งการเคลื่อนกล้องในรูปแบบต่างๆนั้นมีความหมายแตกต่างกัน โดยการเคลื่อนกล้องนั้นแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้ 1. การแพน(Panning) เป็นการเคลื่อนกล้องในแนวนอนหรือแนวราบไปทางซ้าย (Left) หรือไปทางขวา(Right) เพื่อให้เห็นภาพในแนวกว้างหรือเมื่อผู้ถ่ายต้องการนำผู้ชมไปสู่จุดที่น่าสนใจ โดยขณะการถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า"Panright"ส่ายไปทางขวาหรือ"Panleft"ส่ายไปทางซ้าย 2. การทิ้ลท์(Tilting) เป็นการเคลื่อนกล้องในแนวตั้งหรือแนวดิ่งไปทางขึ้น(Up) หรือไปทางลง(Down) เพื่อให้เห็นภาพในแนวตั้ง เช่น สิ่งก่อสร้างสูงๆ เป็นต้น โดยขณะการถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า "Tilt up" เงยกล้องขึ้น หรือ "Tilt down" ก้มกล้องลง 3. การซูม (Zooming) เป็นการเปลี่ยนความยาวโฟกัสของเลนส์ในขณะที่ถ่ายทำโดยการใช้เลนส์ซูม ทำให้มุมภาพเปลี่ยนไป ถ้าเปลี่ยนความยาวโฟกัสสั้นลง (โดยหดกระบอกเลนส์ให้สั้นเข้า) มุมจะกว้าง แต่ถ้าปรับความยาวโฟกัสให้ยาวขึ้น (โดยดึงกระบอกเลนส์ให้ยาวออกไป) มุมภาพจะแคบลง โดยขณะการถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า "Zoom in" เมื่อต้องการดึงภาพเข้ามาใกล้ ๆ "Zoom out" เมื่อต้องการปล่อยมุมรับภาพให้กว้างออกไป 4. การดอลลี่ (Dolling) การเคลื่อนกล้องติดตาม ความเคลื่อนไหวของสิ่งที่ถ่าย หรือฉากที่มีระยะทางยาวในทิศทางตรง หรือทางอ้อมไปรอบๆสิ่งที่ถ่าย โดยตั้งกล้องถ่ายบนล้อเลื่อนเข็น มักจะเคลื่อนกล้องไปในทิศทางตรงมักจะใช้รางผลของการดอลลี่ (Dolly) จะคล้ายซูม (Zoom) คือขนาดของวัตถุจะเปลี่ยนแปลงไปตาระยะของการดอลลี่ แต่จะแตกต่างกันตรง ส่วนประกอบต่างๆในภาพเกี่ยวกับระยะทางระหว่างวัตถุกับฉากหน้าและฉากหลัง จะเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนไหวของกล้อง คนดุจะสามารถรู้ถึงมิติของความลึกมากกว่าภาพที่เกิดจากการซูม โดยขณะที่ถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า "Dolly in" เป็นการเคลื่อนกล้องเข้าหาวัตถุและ "Dolly out"เคลื่อนออกไปจากวัตถุ 5. การทรัค (Trucking) การเคลื่อนกล้องไปด้านซ้ายให้ขนานกับวัตถุไปทางซ้าย หรือไปทางขวา ซึ่งผลจะคล้ายกับการแพน แต่การทรัคจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมิติเรื่องความลึกของ ภาพได้ดีกว่า เสมือนกับความรู้สึกของเราที่มองออกไปนอกหน้าต่างรถขณะที่เคลื่อนที่ไป โดยขณะถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า "Truck right" สำหรับการเคลื่อนไปทางขวาและ"Truck left" สำหรับการเคลื่อนไปทางซ้ายการ 6. การอาร์ค (Arking) การเคลื่อนกล้องในแนวเฉียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ไปทางซ้าย (Left) หรือ ไปทางขวา (Right) เพื่อเปลี่ยนมุมกล้องไปทางด้านข้างของวัตถุ โดยขณะถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า “Ark left”สำหรับการเคลื่อนไปทางซ้ายและ “Ark right”สำหรับการเคลื่อนไปทางขวา 7. การเครน (Craning) การเคลื่อนกล้องขึ้น(Up) และลง(Down) โดยใช้เครน วัตถุประสงค์เพื่อต้องการคงมุมกล้องที่ต้องการจากมุมสูงและต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยขณะถ่ายทำจะใช้คำสั่งว่า "Crane up" สำหรับการยกคันยกขึ้นและ "Crane down" สำหรับการยกคันยกลง 8. สติลช็อต (Still Shot) การถ่ายทำโดยไม่เคลื่อนกล้อง โดยปกติกล้องจะโฟกัสอยู่บนวัตถุหรือบุคคลที่ต้องการออกอากาศมากที่สุด ในการถ่ายแบบนี้จำเป็นต้องจัดองค์ประกอบภาพให้ดี