จัดการงานนอกสั่ง

จาก วิกิตำรา
(เปลี่ยนทางจาก Awsa)



จัดการงานนอกสั่ง (agency without specific authorisation,[ก] voluntary agency,[ข] management of business of another,[ฃ] undertaking formed without agreement[ค] หรือ management of affairs without mandate[ฅ] หรือภาษาละตินว่า negotiorum gestio) เป็นนิติเหตุประเภทหนึ่ง โดยเป็นกรณีที่บุคคลคนหนึ่งเข้าทำบางสิ่งบางอย่างแทนอีกบุคคลหนึ่งโดยที่เขามิได้มอบหมายเลยก็ดี หรือโดยที่ไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นเลยก็ดี เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองนี้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้อันที่จริงแล้ว เขาอาจไม่ประสงค์จะผูกความสัมพันธ์กันในทางกฎหมายเลยก็ตาม

สำหรับกฎหมายไทย กฎหมายอันว่าด้วยการจัดการงานนอกสั่งปรากฏปรากฏอยู่ใน ป.พ.พ. บ. 2 ล. 3 ซึ่งบางตำราเรียกว่า "กฎหมายลักษณะจัดการงานนอกสั่ง" (law of agency without specific authorisation หรือ law of negotiorum gestio)

กฎหมายลักษณะจัดการงานนอกสั่งนั้นมีขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่บุคคลทั้งสองดังกล่าว เพราะเมื่อบุคคลมีน้ำใจช่วยเหลือกิจการของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแล้ว ก็ไม่ควรให้เขาเสียแรงเปล่า จึงกำหนดให้มีสิทธิมีหน้าที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นในระหว่างเขาเหล่านั้น แต่ก็ไม่ควรให้กิจการของผู้เป็นเจ้าของตัวจริงต้องเสียหาย จึงกำหนดให้บุคคลผู้เข้ามาจัดการต้องระวังรักษาประโยชน์ของตัวการ เป็นต้น[1]

ลักษณะ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การจัดการงานนอกสั่งโดยทั่วไป[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ท่านว่า บุคคลนั้นจะต้องจัดการงานไปในทางที่จะให้สมประโยชน์ของตัวการ ตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ
ป.พ.พ. ม. 395

ป.พ.พ. ม. 395 ว่า การจัดการงานนอกสั่ง คือ การที่บุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้จัดการ (agent,[ฆ] voluntary agent[ฆ] หรือ manager[ง] หรือภาษาละตินว่า gestor) เข้าทำการงานของบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ตัวการ (principal หรือภาษาละตินว่า dominus) โดยที่ตัวการมิได้มอบหมายให้ทำเช่นนั้น หรือโดยที่ผู้จัดการไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นแต่ประการใด นิยามนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดการงานนอกสั่งต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.   เป็นการเข้าจัดการงานของผู้อื่น ไม่ใช่จัดการงานของตนเอง[2]

2.   การจัดการงานนอกสั่งเป็นไปโดยเจตนา[จ] และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวการ หากผู้จัดการมีเจตนากระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองแล้ว แม้เป็นการจัดการงานของผู้อื่น ก็ไม่เข้าข่ายเป็นการจัดการงานนอกสั่ง[2]

3.   ในการเข้าจัดการงานแทนตัวการนั้น ผู้จัดการมิได้รับมอบหมายจากตัวการเลย หรือมิได้มีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นเลย[2] หากทำไปโดยได้รับมอบหมาย เช่น โดยสัญญาตั้งตัวแทน (agency) ก็จะเป็นการจัดการงานตามคำสั่ง หรือหากกระทำไปโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมาย เช่น สิทธิของผู้แทนโดยชอบธรรมในอันที่จะจัดการงานแทนผู้เยาว์ หรือสิทธิตามนิติกรรม เป็นต้นว่า สิทธิตามสัญญาตั้งตัวแทนดังกล่าว ก็จะไม่เข้าลักษณะของการจัดการงานนอกสั่งตามนิยามใน ป.พ.พ. ม. 395 เพราะชอบที่จะจัดการงานแทนได้

เช่น ร้อยตรีพวงได้รับคำสั่งให้ไปสงครามโลกครั้งที่แปด ระหว่างนั้น รั้วเหล็กบ้านร้อยตรีพวงถูกฝนจนเป็นสนิม จะพังแหล่มิพังแหล่ สาวเขือฟ้าซึ่งอยู่ข้างบ้านและแอบหลงรักร้อยตรีพวงมาตั้งแต่ตนเองยังไม่หย่านมได้เห็นเข้าก็เกรงว่า รั้วนั้นจะล้มลงมาพังบ้านร้อยตรีพวงเสียหาย จึงจ้างนายช่างมาซ่อมแซมให้จนเรียบร้อย เสียค่าใช้จ่ายไปสามแสนบาท กรณีจึงเป็นการที่สาวเขือฟ้าเข้าซ่อมรั้วบ้านร้อยตรีพวงเพื่อประโยชน์ของร้อยตรีพวง โดยที่ร้อยตรีพวงไม่ได้มอบหมาย และโดยที่สาวเขือฟ้าไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นด้วย สาวเขือฟ้าจึงชื่อว่าจัดการงานแทนร้อยตรีพวง

แต่ถ้าสาวเขือฟ้าเห็นว่า รั้วของร้อยตรีพวงจะพังลงมาทับบ้านตน จึงจ้างช่างมาซ่อมแซมเสีย ดังนี้ ไม่นับว่า สาวเขือฟ้าจัดการงานแทนร้อยตรีพวง เพราะไม่มีเจตนาทำเพื่อร้อยตรีพวง

การเข้าจัดการงานเพราะสำคัญผิดในตัวการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าผู้จัดการทำแทนผู้หนึ่งโดยสำคัญว่าทำแทนผู้อื่นอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่า ผู้เป็นตัวการคนก่อนผู้เดียวมีสิทธิและหน้าที่อันเกิดแต่การที่ได้จัดทำไปนั้น
ป.พ.พ. ม. 404

โดยปรกติแล้ว การจัดการงานนอกสั่งมีผู้เกี่ยวข้องอยู่สองฝ่าย คือ ผู้จัดการ และตัวการ แต่เป็นไปได้ที่ผู้จัดการเข้าจัดการงานเพราะสำคัญว่า บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวการ ทำให้เกิดตัวละครที่สามในความสัมพันธ์นี้ กรณีเช่นนี้เรียก การเข้าจัดการงานเพราะสำคัญผิดในตัวการ (agency in error with regard to the identity of the principal)[ฉ]

การเข้าจัดการงานของผู้อื่น แม้เป็นไปเพราะสำคัญผิดดังข้างต้น ก็ยังถือเป็นการจัดการงานนอกสั่งอยู่ ไม่ทำให้งานที่จัดการไปกลายเป็นโมฆะตามกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาแต่ประการใด[3] และ ป.พ.พ. ม. 404 บัญญัติว่า ให้ตัวการตัวจริง กล่าวคือ บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการจัดการงานนั้นจริง ๆ เป็นผู้มีสิทธิและหน้าเนื่องในการจัดการงานนั้นแต่ผู้เดียว[4]

เช่น เมื่อบิดาถึงแก่ความตาย นางสาวพจมาร สว่างพวง จึงย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านทรายดองซึ่งบิดาทำพินัยกรรมยกให้แก่ตน นางสาวพจมารเข้าใจว่า บ้านจันทร์ส่องลาบซึ่งอยู่ถัดกันนั้นเป็นของหม่อมพวงนารายณ์ แม่สามี เพราะเห็นหม่อมป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้นเป็นนิตย์ ต่อมา นางสาวพจมารสังเกตเห็นว่า ต้นตะเคียนคู่ซึ่งตั้งอยู่ริมบ้านจันทร์ส่องลาบเริ่มโงนเงนไม่มั่นคง น่าหวาดเสียวว่าจะโค่นทับบ้านจันทร์ส่องลาบเสียเมื่อไรก็ได้ ด้วยความที่สำคัญว่าเป็นบ้านของหม่อมพวงนารายณ์ เกรงแม่สามีจะเป็นอันตราย จึงสั่งให้คนสวนไปตัดต้นตะเทียนทั้งสองต้นออกเสีย แต่ความจริงปรากฏว่า บ้านจันทร์ส่องลาบเป็นของพลทหารทุศีล ชินในวัด ส่วนที่มักเห็นหม่อมพวงนารายณ์อยู่บริเวณบ้านดังกล่าว เพราะหม่อมมักไปขูดไปถูโคนต้นตะเคียนเพื่อขอหวย เป็นเหตุให้ต้นตะเคียนผุกร่อนและโงนเงนดังกล่าว

ดังนี้ แม้นางสาวพจมารสำคัญผิดในตัวบุคคลที่ตนเข้าจัดการงานให้ แต่กรณีก็ครบลักษณะของการจัดการงานนอกสั่งทุกประการ จึงไม่เสียความเป็นการจัดการงานนอกสั่งไป และพลทหารทุศีลซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการนั้นตัวจริงจึงเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่จากการดังกล่าวแต่ผู้เดียว มิใช่หม่อมพวงนารายณ์ซึ่งถูกสำคัญผิด เพราะหม่อมมิได้รับประโยชน์อันใดจากการนั้นเลย

การจัดการงานนอกสั่งเท็จ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

นอกจากความสำคัญผิดในบุคคลผู้เป็นตัวการดังข้างต้นแล้ว ยังเป็นไปได้อีกว่า บุคคลเข้าจัดการงานอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะเห็นว่า งานนั้นเป็นของตน กรณีนี้เรียกว่า การจัดการงานนอกสั่งเท็จ[ช] (false agency without specific authorisation)[ซ] และไม่ถือเป็นการจัดการงานนอกสั่งตามนัยของ ป.พ.พ. ม. 395 เพราะขาดเจตนาทำเพื่อผู้อื่น[5]

การจัดการงานนอกสั่งเท็จแบ่งเป็นสองกรณี คือ (1) การเข้าจัดการงานของผู้อื่นเพราะสำคัญว่างานนั้นเป็นของตน และ (2) การเข้าจัดการงานของผู้อื่นเสมือนงานนั้นเป็นของตนทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ

การเข้าจัดการงานของผู้อื่นเพราะสำคัญว่างานนั้นเป็นของตน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  บทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวมาในสิบมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งเข้าทำการงานของผู้อื่นโดยสำคัญว่าเป็นการงานของตนเอง

  ถ้าบุคคลใดถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตนเอง ทั้งที่รู้แล้วว่าตนไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นไซร้ ท่านว่า ตัวการจะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับโดยมูลดังบัญญัติไว้ในมาตรา 395, 396, 399 และ 400 นั้นก็ได้ แต่เมื่อได้ใช้สิทธิดังว่ามานี้แล้ว ตัวการจะต้องรับผิดต่อผู้จัดการดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 402 วรรค 1

ป.พ.พ. ม. 405

กรณีที่บุคคลหนึ่งเข้าจัดการงานของผู้อื่นเพราะสำคัญว่างานนั้นเป็นของตน (a person conducts the transaction of another person in the belief that it is his own)

เช่น นางพันธุรัตและพระสังข์ทำสวนมะงั่วไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่อยู่ที่เมืองสามลเหมือนกัน และสวนของทั้งสองก็อยู่ติดกันด้วย ครั้นถึงฤดูฝน ฝนก็กระหน่ำลงไม่เว้นวัน พระสังข์เกรงว่า หากปล่อยไว้ มะงั่วไม่รู้หาวฯ ในสวนตนจะเสียหาย จึงออกมาเก็บเกี่ยวแล้วนำออกขายได้เป็นตัวเงินมาเสร็จสรรพ แต่ความจริงแล้ว สวนที่พระสังข์ลงมือเก็บไปนั้นเป็นสวนของนางพันธุรัต ดังนี้ ไม่ถือว่า พระสังข์จัดการงานนอกคำสั่งของนางพันธุรัต เพราะพระสังข์ขาดเจตนากระทำเพื่อนางพันธุรัต

ในกรณีข้างต้นนี้ ป.พ.พ. ม. 405 ว. 1 ว่า มิให้นำบทบัญญัติสิบมาตราก่อนหน้า คือ ม. 395-404 มาใช้บังคับ บทบัญญัติทั้งสิบนี้จะได้อธิบายกันข้างหน้า

การเข้าจัดการงานของผู้อื่นเสมือนงานนั้นเป็นของตน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ส่วนกรณีที่บุคคลถือเอาการงานของผู้อื่นเสมือนเป็นของตนทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้น (a person treats the business of another person as his own although he knows that he is not entitled to do so)

เช่น อ้ายขวัญทำนาอยู่ในเขตบางกะทิ ริมคลองแสนแหบ ถัดจากสวนมะนาวของอีเกรียม อ้ายขวัญสังเกตเห็นว่า อีเกรียมมีถิ่นพำนักอยู่ในเขตพระขนุนซึ่งห่างไกลจากเขตบางกะทิมาก เป็นเหตุให้อีเกรียมไม่ค่อยเข้ามาดูแลสวนเลย วันดีคืนดี อ้ายขวัญจึงเข้าไปบำรุง ดูแล และเก็บเกี่ยวในสวนของอีเกรียม ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่า ตนไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น เสร็จแล้ว อ้ายขวัญนำมะนาวที่เก็บเกี่ยวได้มานั้นออกเร่ขายที่ตลาดจตุหัก ได้เงินเป็นกอบเป็นกำก็เอาเข้ากระเป๋าตนเอง การกระทำของอ้ายขวัญย่อมไม่เป็นการจัดการงานแทนอีเกรียมในความหมายของการจัดการงานนอกสั่ง เพราะอ้ายขวัญขาดเจตนาที่จัดการงานของอีเกรียมเพื่อประโยชน์ของอีเกรียม

กรณีนี้มีข้อสังเกตว่า การที่ผู้จัดการรู้ว่า กิจการนั้นเป็นของผู้อื่น และตนไม่มีสิทธิเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังฝ่าฝืนเข้าไปข้องเกี่ยว อาจเป็นการทำละเมิดต่อตัวการด้วย และอาจส่งผลให้ตัวการมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามกฎหมายลักษณะละเมิดได้[6]

อย่างไรก็ดี แม้การจัดการงานของผู้อื่นในกรณีข้างต้นไม่เข้าข่ายเป็นการจัดการงานนอกสั่ง แต่ความจริงผลประโยชน์ที่ได้สุดท้ายก็ตกเป็นของตัวการอยู่ดี กับทั้งคงก่อประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะผู้จัดการคงไม่สร้างความเสียหายต่อกิจการที่เข้าถือเอาเป็นของตน[7] ป.พ.พ. ม. 405 ว. 2 จึงยอมให้นำหลักบางประการในเรื่องจัดการงานนอกสั่งมาใช้บังคับได้ดังนี้

1.   ตัวการสามารถเรียกให้ผู้จัดการจัดการงานให้สมประโยชน์และสมประสงค์ของตัวการได้ตาม ป.พ.พ. ม. 395

2.   ถ้าผู้จัดการจัดการงานออกมาไม่สมประสงค์ของตัวการ โดยที่ผู้จัดการรู้หรือควรรู้เช่นนั้นอยู่แล้ว ตัวการสามารถเรียกให้ผู้จัดการรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. ม. 396

3.   ตัวการสามารถเรียกให้ผู้จัดการแถลงบัญชี ให้โอนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดการงานนั้นให้แก่ตัวการ หรือให้ชำระดอกเบี้ยแก่ตัวการได้ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 809, 810 หรือ 811

4.   เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย มิใช่ให้ตัวการได้ประโยชน์แต่ผู้เดียว ตัวการจึงมีหน้าที่คืนลาภมิควรได้ให้แก่ผู้จัดการด้วยตาม ป.พ.พ. ม. 402 ว. 1

ผลต่อผู้จัดการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การจัดการงานนอกสั่งนั้นส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ทางกฎหมายขึ้นในระหว่างผู้จัดการและตัวการ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีทั้งในรูปแบบสิทธิเรียกร้อง หรือความรับผิด และหนี้

หนี้ของผู้จัดการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แม้การจัดการงานนอกสั่งอาจเป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น แต่กฎหมายก็จำต้องเข้ามาควบคุมให้ความปรารถนาดีนั้นอยู่ในขอบเขตที่เป็นประโยชน์แก่ตัวการอย่างแท้จริง มิใช่ปล่อยปละให้บุคคลเข้าไปก้าวก่ายกิจการของผู้อื่นแล้วอ้างว่าปรารถนาดี แต่ผลที่เกิดกลับเป็นความเสียหายแก่ผู้อื่นได้

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้จัดการมีหนี้หรือหน้าที่สามประการ คือ (1) ต้องจัดการงานให้สมประโยชน์ของตัวการ, (2) ต้องบอกกล่าวตัวการโดยเร็วที่สุด และ (3) ต้องปฏิบัติการอย่างตัวแทน

หน้าที่จัดการงานให้สมประโยชน์ของตัวการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ป.พ.พ. ม. 395 ว่า เมื่อเข้าไปจัดการงานของตัวการแล้ว ผู้จัดการมีหน้าที่ต้องจัดการงานให้สมประโยชน์ของตัวการ ตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ (in such a way as the interests of the principal require in view of the real or presumed will of the principal)

เหตุผลที่กำหนดเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการให้บุคคลเข้าไปจัดการงานของผู้อื่น โดยที่แม้หวังดี แต่ผลลัพธ์ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตัวการตามที่คาดหมายได้หรือที่ควรจะคาดหมายได้ หาไม่แล้ว แทนที่ตัวการจะได้รับประโยชน์ ก็กลับได้รับความเสียหายแทน[8]

เช่น แม่วันทองแท้เห็นว่า ขณะที่แม่พวงทองทาไปเยี่ยมขุนแผนแสนสะเทิ้มซึ่งติดคุกอยู่ที่สุพรรณบุรี น้ำเหนือได้ไหลมาท่วมสวนทุเรียนของแม่พวงทองทา หากปล่อยไว้ เกรงสวนแม่พวงทองทาจะเสียหายได้ จึงสั่งให้แม่พิณทองชุบ บุตรสาว เกณฑ์คนเข้าไปช่วยเก็บทุเรียนขายให้แทน จะเห็นได้ว่า การกระทำของแม่วันทองแท้ย่อมสมประโยชน์ของแม่พวงทองทา ตามความประสงค์ของแม่พวงทองทาเท่าที่จะพึงคาดหมายได้

แต่หากปรากฏว่า แม่วันทองแท้ให้คนเข้าไปช่วยเก็บทุเรียนได้ครู่หนึ่งแล้วก็เกิดเกียจคร้านขึ้นมา จึงสั่งละทิ้งการไว้เท่านั้น เป็นเหตุให้ทุเรียนเน่าเสีย หรือปรากฏว่า แม่วันทองแท้ทราบแก่ใจดีอยู่แล้วว่า แม่พวงทองทาปลูกทุเรียนไว้แจกญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น ไม่ได้ปลูกไว้ขาย ย่อมเห็นได้ว่า การจัดการงานแทนในกรณีทั้งสองนี้ไม่สมประโยชน์ของแม่พวงทองทา และอาจทำให้แม่พวงทองทามีสิทธิเรียกให้แม่วันทองแท้รับผิดได้

หน้าที่บอกกล่าวตัวการโดยเร็วที่สุด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ผู้จัดการต้องบอกกล่าวแก่ตัวการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ว่า ตนได้เข้าจัดการงานแทน และต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตัวการ เว้นแต่ภัยจะมีขึ้นเพราะการที่หน่วงเนิ่นไว้ นอกจากนี้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 809 ถึง 811 อันบังคับแก่ตัวแทนนั้นมาใช้บังคับแก่หน้าที่ของผู้จัดการด้วยโดยอนุโลม
ป.พ.พ. ม. 399

ตามความใน ป.พ.พ. ม. 399 เมื่อเข้าจัดการงานของตัวการแล้ว ผู้จัดการมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวตัวการโดยเร็วที่สุด และรอฟังว่า ตัวการจะให้ทำประการใดต่อไป แต่ถ้าปล่อยช้าอยู่ต่อไปจะมีภัยเกิดขึ้น ผู้จัดการอาจไม่รอฟังคำสั่งของตัวการก็ได้ หน้าที่ในกรณีนี้เรียกว่า หน้าที่ฟังคำสั่ง (ancillary duties)[ฌ]

หน้าที่ปฏิบัติการอย่างตัวแทน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  เมื่อตัวการมีประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ตัวแทนนั้นในเวลาใด ๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ ตัวแทนก็ต้องแจ้งให้ตัวการทราบ อนึ่ง เมื่อการเป็นตัวแทนนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ตัวแทนต้องแถลงบัญชีด้วย
ป.พ.พ. ม. 809
  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่า ตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

  อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

ป.พ.พ. ม. 810
  ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของตัวการนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่า ตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้
ป.พ.พ. ม. 811

แม้ความจริงแล้วผู้จัดการไม่ใช่ตัวแทน เพราะไม่มีสัญญาตั้งตัวแทนระหว่างตัวการกับผู้จัดการ แต่การจัดการงานนอกสั่งก็มีลักษณะบางประการคล้ายกับความสัมพันธ์ของในสัญญาตั้งตัวแทน[9] ฉะนั้น ป.พ.พ. ม. 399 จึงให้ทำหลักเกณฑ์บางหลักในเรื่องตัวแทนมาใช้บังคับแก่ผู้จัดการดังนี้

1.   ผู้จัดการมีหน้าที่แถลงบัญชีและกิจการ ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 809

2.   ผู้จัดการมีหน้าที่โอนทรัพย์สินที่ได้มาทั้งสิ้นให้แก่ตัวการ ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 810

3.   ในกรณีที่ผู้จัดการได้เอาเงินที่ควรโอนให้แก่ตัวการ หรือควรใช้ในกิจการของตัวการนั้นไปใช้สอยส่วนตัว ผู้จัดการมีหน้าที่จะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ตัวการนับแต่วันที่เอาไปใช้ ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 811

ความรับผิดของผู้จัดการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กรณีที่ผู้จัดการเป็นบุคคลทั่วไป[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อผลของงานขัดกับความประสงค์ของตัวการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ก็ดี และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้ ท่านว่า ผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ที่ได้เข้าจัดการนั้น แม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น
ป.พ.พ. ม. 396
  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดเพื่อประสงค์จะปัดป้องอันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ จะเป็นภัยแก่ตัวก็ดี แก่ชื่อเสียงก็ดี หรือแก่ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่า ผู้จัดการต้องรับผิดชอบแต่เพียงที่จงใจทำผิด หรือที่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น
ป.พ.พ. ม. 398

ถ้าผลของการเข้าจัดการงานแทนนั้นขัดกับความประสงค์ที่แท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นก็ดี ป.พ.พ. ม. 396 ให้ผู้จัดการมีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการสำหรับความเสียหายใด ๆ ที่เกิดเพราะการเข้าจัดการนั้น ถึงแม้ว่า ผู้จัดการ "จะไม่มีความผิดอย่างอื่นอีกเลยก็ตาม" (even if he is not otherwise at fault)

เช่น จากตัวอย่างแม่วันทองแท้กับแม่พวงทองทาข้างต้น ถ้าในการที่แม่วันทองแท้เข้าเก็บเกี่ยวทุเรียนออกขายแทนแม่พวงทองทานั้น แม่วันทองแท้ทราบอยู่แล้วว่า แม่พวงทองทาปลูกทุเรียนไว้เพียงเพื่อหย่อนใจและเอาผลไว้แจกจ่ายเพื่อนฝูงเท่านั้น เพราะแม่พวงทองทาเล่าให้ฟังเช่นนี้เสมอ ๆ เป็นเหตุให้ในโอกาสถัดมาแม่พวงทองทาไม่มีทุเรียนไปแจกเพื่อน และต้องไปซื้อมาแจกแทน ดังนี้ แม้เป็นที่สันนิษฐานได้ว่า คนทั่วไปย่อมปลูกผลไม้เอาผลไว้ขาย แต่ก็เป็นที่ปรากฏชัดแจ้งว่า แม่พวงทองทาไม่ได้ปลูกทุเรียนไว้ขาย การที่แม่วันทองแท้เข้าเก็บเกี่ยวทุเรียนออกขายจึงขัดกับความประสงค์ที่แท้จริงของแม่พวงทองทา และขัดกับความประสงค์ของแม่พวงทองทาตามที่แม่วันทองแท้สามารถหยั่งทราบได้ด้วย เมื่อแม่พวงทองทาต้องเสียเงินซื้อทุเรียนเพิ่ม แม่พวงทองทาอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแม่วันทองแท้ได้

เมื่อการจัดการงานเป็นการละเมิดผู้อื่น[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ถ้าการที่ผู้จัดการเข้าจัดการงานเพื่อปัดป้องอันตรายที่มีมาใกล้ตัวการ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของตัวการ ซึ่งเรียกว่าเป็น การจัดการเพื่อปัดป้องอันตราย (agency to ward off danger)[ญ] นั้น ส่งผลเป็นการละเมิดต่อผู้อื่นแล้ว ผู้จัดการต้องรับผิดต่อผู้ถูกละเมิด หากว่าผู้จัดการจงใจให้เขาเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเขาเสียหาย ตามความใน ป.พ.พ. ม. 398

เช่น หลวงเจ๊ตากจีวรหลายผืนทิ้งไว้ที่เฉลียงกุฏิแล้วรับนิมนต์ไปฉันอร่อยจนลืมกลับวัด ระหว่างนั้น ฝนตกหนัก สมีกรรมไชโยแห่งวัดจานบินธุดงค์ผ่านมาเห็นเข้าก็มีใจกรุณา จึงเข้าไปเก็บจีวรเหล่านั้นให้ แต่สมีกรรมไชโยสูบบุหรี่จัด ขี้บุหรี่ตกลุกไหม้กุฏิหลวงเจ๊ ลามไปถึงบ้านสวนทีละนิดของอาชามอุบล และตำหนักแก้กรรมของแม่ชีทศพวง ดังนี้ สมีกรรมไชโยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่หลวงเจ๊ อาชามอุบล และแม่ชีทศพวง

เมื่อการจัดการงานเป็นไปเพื่อทำหน้าที่บางประการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ในกรณีที่ตัวการมีหน้าที่ต้องทำการใด ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ (duty whose fulfilment is in the public interest) หรือเพื่อบำรุงรักษา (อุปการะเลี้ยงดู) ผู้อื่นตามกฎหมาย (statutory maintenance duty) แต่ตัวการไม่ยอมทำหน้าที่ดังกล่าว และบุคคลเข้าทำหน้าที่นั้นแทนอย่างทันท่วงที ดังนี้ ป.พ.พ. ม. 397 ห้ามมิให้ฟังว่า การจัดการงานแทนตัวการนั้นขัดกับความประสงค์ของตัวการ กล่าวคือ แม้จะขัดกับความประสงค์ของตัวการ ผู้จัดการก็ไม่ต้องรับผิด เพราะย่อมเห็นได้ว่า ถ้าไม่จัดการ ก็อาจเกิดผลเสียต่อสาธารณชน หรือต่อบุคคลซึ่งต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดู[10]

เช่น นายฉลาม อยู่บำเรอ เป็นบิดาของเด็กชายปื๊ด ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเลี้ยงดูอุ้มชูเด็กชายปื๊ด แต่นายฉลามละเลยไม่เอาใจใส่และไม่ให้ข้าวปลาอาหารแก่เด็กชายปื๊ดเลย นางจักกระเพาะ เพ็ญแถ ซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง จึงพาไปรับประทานอาหารและพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ แม้นายฉลามได้เที่ยวพูดต่อทุกคนในหมู่บ้านว่า เด็กชายปื๊ดดื้อด้าน ต้องปล่อยให้อดตาย ตัดหางปล่อยวัดแล้ว แต่กฎหมายก็ไม่ให้อ้างเช่นนั้นได้ นางจักกระเพาะสามารถเข้าดูแลเด็กชายปื๊ดแทนนายฉลามโดยขัดกับความประสงค์ของนายฉลามได้ และนางจักกระเพาะไม่ต้องรับผิดใด ๆ ด้วย

กรณีที่ผู้จัดการเป็นคนไร้ความสามารถ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าผู้จัดการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ท่านว่า จะต้องรับผิดชอบแต่เพียงตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด และว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้เท่านั้น
ป.พ.พ. ม. 400

ผู้ไร้ความสามารถ (incapacitated person) กล่าวคือ ผู้เยาว์ หรือเป็นคนวิกลจริต ไม่ว่าจะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถเข้าจัดการงานของผู้อื่นได้ แต่ ป.พ.พ. ม. 400 บัญญัติว่า ไม่ว่าผลการจัดการจะออกมาเป็นเช่นไร ก็ให้ผู้จัดการซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นรับผิดเฉพาะกรณีละเมิดและลาภมิควรได้

กล่าวคือ ไม่ว่าผลงานจะออกมาสมหรือไม่สมประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการที่เป็นผู้ไร้ความสามารถก็ไม่ต้องรับผิด เพราะเขาย่อมมีความสามารถต่ำกว่าบุคคลทั่วไปในอันที่จะพิจารณาว่า ทำเช่นนี้สมประสงค์ของการ ทำเช่นนี้ไม่สมประสงค์ของตัวการ[11] แต่หากการจัดการนั้นส่งผลให้ผู้อื่นถูกละเมิด ผู้จัดการยังต้องรับผิดตามหลักเรื่องละเมิดอยู่ และหากผู้จัดการได้ลาภงอกเงยจากการจัดการนั้น เขาก็ต้องคืนลาภให้แก่ตัวฐานอย่างเดียวกับการคืนลาภมิควรได้[11]

เช่น เด็กชายเท่งและเด็กชายโหน่งนั่งดูรายการ 'ชิงสร้อยชิงทรัพย์' อยู่ที่บ้านของเจ๊หม่ำในซอยเปิดเปิง เห็นเพลิงลุกไหม้จนควันคละคลุ้งที่หลังบ้าน และขณะนั้นเจ๊หม่ำไม่อยู่ จึงชวนกันขนน้ำขนท่าเข้าไปดับเพลิง แต่อันที่จริงแล้ว เจ๊หม่ำติดเพลิงขึ้นเองเพื่อเผาเครื่องปั้นสำหรับส่งให้ลูกค้าในวันพรุ่งนี้ เป็นเหตุให้เผาเครื่องปั้นไม่ทันส่งตามกำหนด เจ๊หม่ำเสียหาย กระนั้น แม้การเข้าจัดการแทนเจ๊หม่ำจะขัดกับความประสงค์ของเจ๊หม่ำ แต่เด็กชายเท่งกับเด็กชายโหน่งก็ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของเจ๊หม่ำ

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า ในการเข้าไปดับเพลิงนั้น เด็กชายเท่งกับเด็กชายโหน่งเหยียบย่ำเครื่องปั้นดินเผาใบอื่น ๆ ซึ่งเรียงรายไว้ข้างเคียงเสียหายหมด เครื่องปั้นเหล่านี้ลุงปัญญาสั่งซื้อเป็นของขวัญให้แก่ป้ามยุราโดยชำระราคาจำนวนแปดล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เด็กชายเท่งกับเด็กชายโหน่งจึงก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของลุงปัญญา เป็นการละเมิดต่อลุงปัญญา และเด็กชายเท่งเด็กชายโหน่งต้องรับผิดในการละเมิดนั้น โดยบิดามารดาของเด็กชายทั้งสองอาจต้องร่วมรับผิดด้วยตามหลักเรื่องละเมิด

สิทธิของผู้จัดการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการ และต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่า ผู้จัดการจะเรียกให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติมาตรา 816 วรรค 2 นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

  อนึ่ง ในกรณีที่กล่าวมาในมาตรา 397 นั้น แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับความประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่

ป.พ.พ. ม. 401
  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้นตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่า ตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้

  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่า ตัวแทนจะเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้

  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่า ตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้

ป.พ.พ. ม. 816

หากว่าการเข้าจัดการงานแทนตัวการนั้นมีลักษณะสองประการ คือ (1) สมประโยชน์ของตัวการ และ (2) ต้องตามความประสงค์ของตัวการ ไม่ว่าจะเป็นความประสงค์ที่แท้จริงก็ดี หรือความประสงค์ที่พึงสันนิษฐานได้ก็ดี ผู้จัดการย่อมมีสิทธิเรียกให้ตัวการใช้เงินที่ตนออกไปในการนั้นได้ตาม ป.พ.พ. ม. 401 ว. 1

อนึ่ง ป.พ.พ. ม.401 ว. 1 ยังให้นำหลักเรื่องตัวการตัวแทนตาม ป.พ.พ. ม. 816 ว. 2 มาใช้แก่กรณีข้างต้นด้วยโดยอนุโลม ฉะนั้น ถ้าในการจัดการงานแทนตัวการนั้น ผู้จัดการต้องเป็นหนี้อย่างใด ๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นหนี้ที่จำเป็น ผู้จัดการมีสิทธิเรียกให้ตัวการชำระหนี้นั้นแทนตนได้ หรือถ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ก็มีสิทธิเรียกให้ตัวการจัดหาประกันการชำระหนี้ตามที่สมควรก็ได้

เช่น อิเหนากับอิเน่าอยู่บ้านติดกันบนภูเขาวิลิศมาหรา อิเหนาเดินทางลงเขาไปสู่ขอนางจินตหราที่เมืองพูนลาบ ระหว่างนั้น ฝนโบกขรพรรษลงหนัก ลูกเห็บตกทะลุหลังคาบ้านอิเหนาเป็นรูใหญ่โต อิเน่าเห็นจึงจ้างช่างมาซ่อมแซมให้เสร็จสรรพ ที่อิเน่าซ่อมบ้านแทนอิเหนานี้ย่อมนับว่าสมประโยชน์ของอิเหนา อิเน่ามีสิทธิเรียกให้อิเหนาชดใช้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เสียไปในการนั้นได้

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า ในการซ่อมแซมดังกล่าว อิเน่าไม่มีเงินพอจ่ายค่าวัสดุที่สั่งซื้อมา จึงกู้ยืมเงินจากท้าวกระหนุงกระหนิง ครั้นอิเหนากลับมาแล้ว อิเน่าสามารถเรียกให้อิเหนาชำระเงินกู้นั้นและดอกเบี้ยได้ เพราะพิเคราะห์แล้วก็เป็นหนี้ที่จำเป็นและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของอิเหนาเองอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เฉพาะกรณีเข้าจัดการงานแทนเพื่อทำหน้าที่ทางสาธารณประโยชน์หรือหน้าที่บำรุงรักษาผู้อื่นตามกฎหมายตามความใน ป.พ.พ. ม. 397 นั้น แม้ขัดกับความประสงค์ของตัวการ ป.พ.พ. ม. 401 ว. 2 ก็ให้ผู้จัดการมีสิทธิเรียกร้องตาม ว. 1 อยู่

ผลต่อตัวการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

หนี้ของตัวการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

หน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้จัดการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ถ้าผู้จัดการมิได้มีบุรพเจตนาจะเรียกให้ตัวการชดใช้คืน ผู้จัดการก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้น

  การที่บิดามารดาปู่ย่าตายายบำรุงรักษาผู้สืบสันดานเป็นทางอุปการะก็ดี หรือกลับกันเป็นทางปฏิการะก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ไม่มีเจตนาจะเรียกให้ผู้รับประโยชน์ชดใช้คืน

ป.พ.พ. ม. 403

เมื่อการที่ผู้จัดการทำแทนตนนั้นสมประโยชน์ของตน ตัวการก็มีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้จัดการ ตาม ป.พ.พ. ม. 401 ดังอธิบายมาแล้ว แต่ก็มีสองกรณีที่กฎหมายยกเว้นว่าไม่ต้องชดใช้ค่าใช้จ่าย คือ

กรณีที่หนึ่ง เมื่อผู้จัดการไม่มี "บุรพเจตนา" จะเรียกให้ชดใช้ (did not intend to demand reimbursement) ภายหลังจะเปลี่ยนใจมาเรียกร้องมิได้อีกตาม ป.พ.พ. ม. 403 ว. 1 คำว่า "บุรพเจตนา" ดังกล่าวแปลว่า เจตนาอยู่ก่อน หรือเจตนาแต่แรก[12] กล่าวคือ ผู้จัดการต้องการจะทำให้เปล่ามาแต่แรกแล้ว

กรณีที่สอง เมื่อบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายอุปการะเลี้ยงดูผู้สืบสันดานซึ่งเรียกว่า "อุปการะ" หรือเมื่อผู้สืบสันดานอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายเป็นการตอบแทน ซึ่งเรียกว่า "ปฏิการะ" (parents or forebears grant their descendants maintenance, or vice versa)[ฎ] ดังนี้ ถ้าเป็นที่สงสัยว่า ผู้อุปการะเลี้ยงดูต้องการเรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือไม่ ป.พ.พ. ม. 403 ว. 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อน[ฏ] ว่า ไม่ เพราะการจัดการแทนในลักษณะเช่นนี้เป็นการช่วยเหลือตามหน้าที่ศีลธรรมมากกว่า ทำนองช่วยเอาบุญ ไม่ได้หวังผลตอบแทนอยู่แล้ว[13]

หน้าที่คืนลาภมิควรได้[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

    ถ้าเงื่อนไขดังว่ามาในมาตราก่อนนั้นมิได้มี ท่านว่า ตัวการจำต้องคืนสิ่งทั้งหลายบรรดาที่ได้มาเพราะเขาเข้าจัดการงานนั้นให้แก่ผู้จัดการตามบทบัญญัติว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้

  ถ้าตัวการให้สัตยาบันแก่การที่จัดทำนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

ป.พ.พ. ม. 402

ป.พ.พ. ม. 402 ว. 1 ว่า ถ้ากรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใน ม. 401 กล่าวคือ

1.   ถ้าการจัดการงานนอกสั่งนั้นไม่สมประโยชน์ของตัวการ และไม่ต้องตามความประสงค์ที่แท้จริงของตัวการ หรือไม่ต้องตามความประสงค์ที่พึงสันนิษฐานได้ของตัวการก็ดี หรือ

2.   ถ้าการจัดการงานนอกสั่งนั้นไม่ใช่การทำหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์หรือเพื่อบำรุงรักษาผู้อื่นตามกฎหมายตามความใน ป.พ.พ. ม. 397 ก็ดี

แม้ตัวการจะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้จัดการเสียไป แต่สิ่งทั้งหลายที่ได้มาเพราะการจัดการงานนอกสั่ง (everything that has been obtained as a result of the voluntary agency) นั้น ตัวการต้องคืนให้แก่ผู้จัดการทั้งสิ้นเสมือนเป็นลาภมิควรได้ หมายความว่า ในกรณีข้างต้น ถ้าการจัดการงานนอกสั่งทำให้ตัวการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ตัวการต้องส่งทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่ผู้จัดการ เพราะถือเป็นลาภมิควรได้[14]

อย่างไรก็ดี ถ้าตัวการให้สัตยาบัน (ratify) แก่การจัดการงานนอกสั่งข้างต้น กล่าวคือ ตัวการยอมรับการจัดการดังกล่าว ป.พ.พ. ม. 402 ว. 2 ก็ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ซึ่งว่าด้วยตัวการตัวแทนมาใช้บังคับแล้วแต่กรณี หมายความว่า ตัวการและผู้จัดการจะกลายเป็นมีความสัมพันธ์กันอย่างในสัญญาตั้งตัวแทน[15]

สิทธิของตัวการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อมีการจัดการงานนอกสั่ง ตัวการย่อมมีสิทธิดังต่อไปนี้[16]

1.   สิทธิที่จะได้รับการบอกกล่าวจากผู้จัดการว่ามีการจัดการงานนอกสั่ง และสิทธิที่จะวินิจฉัยสั่งการผู้จัดการ ตาม ป.พ.พ. ม. 399

2.   สิทธิเรียกให้ผู้จัดการแถลงบัญชี ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 809

3.   สิทธิเรียกให้ผู้จัดการโอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดการงานให้แก่ตัวการ ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 810

4.   สิทธิเรียกให้ผู้จัดการชำระดอกเบี้ยเมื่อเอาเงินของตัวการไปใช้ส่วนตัว ตาม ป.พ.พ. ม. 399 ประกอบ ม. 811

5.   สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. ม. 396 และ 400

ฎ. บางฉบับเกี่ยวกับการจัดการงานนอกสั่ง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

# เลขที่ ใจความ
1 1550/2479   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางตั้งถ้วย และเป็นผู้พิทักษ์ของนางตั้งถ้วย และโจทก์ยังเป็นมารดาของจำเลย จำเลยนำเงินฝากไว้กับนางตั้งถ้วยผู้เป็นยายหลายคราวรวมสี่พันเก้าร้อยบาท เพื่อให้นางนำไปหาผลประโยชน์ต่าง ๆ นางตั้งถ้วยจึงเอาเงินเหล่านี้ออกให้เขากู้ และใน พ.ศ. 2475 นางตั้งถ้วยก็เอาเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินพิพาทเป็นราคาแปดพันบาท ที่ดินพิพาทนี้ไม่มีหนังสือสำคัญ มีแต่หนังสือสัญญาซื้อขายเท่านั้น หลังซื้อได้ประมาณหนึ่งเดือน จำเลยก็เข้าครอบครองโดยปลูกเรือนลงในที่ดินพิพาท และยังสร้างห้องแถวขึ้นที่หน้าบ้านอีก โจทก์เห็นว่า นางตั้งถ้วยมารดาโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดิน จำเลยเป็นแต่ผู้อาศัย จึงฟ้องขับไล่จำเลย และแม้จะฟังว่า นางตั้งถ้วยเป็นผู้แทนจำเลยในการจัดซื้อที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่ได้ทำหนังสือตั้งนางตั้งถ้วยเป็นตัวแทนแต่ประการใด

  ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางตั้งถ้วยนำเงินของจำเลยไปซื้อที่ดินข้างต้นก็เพื่อประโยชน์ของจำเลย เป็นลักษณะจัดการงานนอกสั่ง ไม่ใช่กรณีตัวการตัวแทนตามสัญญาตั้งแทน จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า การตั้งตัวแทนจะต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่ เมื่อจำเลยรับเอาที่ดินมาครอบครองแล้วฉะนี้ จำเลยจึงเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองที่ดิน ไม่ใช่นางตั้งถ้วยอีกต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้องขับไล่จำเลยได้ ให้ยกฟ้องโจทก์

2 1042/2518   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยคันหมายเลขทะเบียน น.ม. 03620 มีข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 5 ว่า โจทก์จะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกรายหนึ่ง ๆ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่เมื่อรวมแล้วไม่เกินห้าหมื่นบาท ระหว่างอายุสัญญาประกันภัย รถยนต์จำเลยชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.บ. 04320 ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิด โจทก์ได้ซ่อมรถยนต์คันถูกชน สิ้นเงินไปสองหมื่นห้าพันบาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

  ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ป.พ.พ. ม. 887 ว. 2 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนที่บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับจากผู้รับประกันภัยโดยตรง หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำไปตามลำพังเอง จะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

  โจทก์ฎีกาปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าซ่อมรถยนต์ส่วนที่เกิดจากความรับผิดของตนจากจำเลยหรือไม่นั้น

  ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับเงินค่าซ่อมรถยนต์จำนวนที่ยังขาด เมื่อมีข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยจำกัดความรับผิดของโจทก์ไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาท โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ให้ผู้ต้องเสียหายเกินกว่าความรับผิดของตน แต่เมื่อจ่ายไปตามฟ้องแล้ว แม้จำเลยจะไม่ได้มอบหมายให้จัดการแทนก็ตาม ย่อมเป็นผลทำให้หนี้เงินค่าซ่อมรถยนต์จำนวนที่ยังขาดระงับไป และจำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อผู้ต้องเสียหาย จึงอาจสมประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการ เพราะต้องตามประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือต้องตามความประสงค์ตามที่พึงจะสันนิษฐานได้ กรณีตามฟ้องจึงเป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งซึ่งอาจจะก่อให้เกิดหนี้ เป็นหนี้ที่ผูกพันจำเลยให้ต้องชดใช้เงินจำนวนที่โจทก์ทดรองจ่ายเพื่อจัดการงานให้จำเลยไป ตามความใน ป.พ.พ. ม. 401 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย ชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง และให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์ไว้ดำเนินการพิจารณาต่อไป

3 1041/2523   การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยไปนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้มอบหมายให้จัดการชำระหนี้แทนก็ตาม แต่ก็เป็นผลทำให้หนี้ของจำเลยระงับไป จำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และอาจนำรถเข้าวิ่งร่วมกับบุคคลภายนอกได้ตามข้อตกลงต่อไป เช่นนี้ เป็นการสมประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการ เพราะต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือต้องตามความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ กรณีจึงเป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินที่ออกทดรองคืนได้ตาม ป.พ.พ. ม. 401
4 1590/2531   ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายมูล ดงดอย ผู้ตายมีบุตรห้าคน คือ นางตุ้ย กุยคำ, นางเพ็ญศรี ใจคำ, นางปั๋น แสนคำลือ, นายปัน ดงดอย และจำเลย ส่วนโจทก์เป็นบุตรของนางป้อ เพียรจิต น้องสาวของนายมูลผู้ตาย

  เมื่อนายมูลถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งมิใช่ทายาทของผู้ตายได้เข้าเป็นผู้จัดการทำศพ ในการนี้ บุตรทั้งห้าคนของผู้ตายที่ไปในงานศพนี้โดยตลอดมิได้ทักท้วง หลังจากทำศพผู้ตายแล้ว บุตรทั้งห้าคนของผู้ตายปรึกษากันจะชดใช้ค่าทำศพของผู้ตายจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ ซึ่งน้อยกว่าที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์ไม่ยอม

  ประเด็นที่จะวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าจัดการทำศพของผู้ตายหรือไม่ ได้ความว่า บุตรทุกคนของผู้ตายไปในงานศพของผู้ตายหลังจากโจทก์เริ่มจัดการทำศพของผู้ตายแล้ว โดยผู้ตายหรือศาลมิได้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการทำศพผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่า บุตรของผู้ตายทั้งห้าคนซึ่งเป็นทายาทได้มอบหมายโดยชัดแจ้งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตาย ตามความใน ป.พ.พ. ม. 1649 หากแต่เป็นเรื่องโจทก์ซึ่งมิใช่ทายาทของผู้ตายเข้าไปจัดการทำศพของผู้ตายโดยสมัครใจเอง อันเป็นการกระทำในหน้าที่ทางศีลธรรมและความเป็นญาติ เนื่องจากโจทก์ได้รับที่ดินจากผู้ตายมาหนึ่งแปลง

  แม้จะได้ความต่อไปอีกว่า ระหว่างทำศพผู้ตาย บุตรผู้ตายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมิได้ทักท้วงก็ดี และหลังจากทำศพแล้ว บุตรผู้ตายทั้งห้าคนปรึกษาจะจ่ายเงินค่าทำศพให้โจทก์ส่วนหนึ่งก็ดี ก็ไม่พอฟังว่า ทายาทของผู้ตายมอบหมายตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการทำศพรายนี้โดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าจัดการทำศพที่โจทก์จ่ายไปจากกองมรดกของผู้ตายตามนัย ป.พ.พ. ม. 1649

  ที่โจทก์ฎีกาว่า ถึงแม้จะฟังว่าการกระทำของโจทก์เป็นการเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ ก็เป็นการจัดการงานนอกสั่ง ซึ่งสมประโยชน์ของตัวการ โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนตาม ป.พ.พ. ม. 401 นั้น เป็นการนอกประเด็นจากคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

  ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

5 1929/2539   โจทก์ (กรมตำรวจ) ฟ้องว่า กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เป็นส่วนราชการของโจทก์ มีจำเลยที่ 1 (พันตำรวจเอก นิภณย์ สันตพงษ์) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจในจังหวัดศรีสะเกษ และมีหน้าที่บริหารงบประมาณรายจ่ายที่โจทก์จัดสรรมาให้เพื่อจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่พลาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเสนอขอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติ และมีหน้าที่ควบคุมให้จำเลยที่ 3 จัดทำบันทึกการเลิกจ่ายน้ำมันหล่อลื่น

  จำเลยที่ 1 จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายครบถ้วนตามจำนวนเงินงบประมาณประจำปี 2526 แล้ว แต่ยังได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นในนามของโจทก์เพิ่มอีกสองร้อยเก้าสิบแปดครั้ง เป็นเงินหนึ่งล้านเก้าหมื่นแปดพันเก้าร้อยเก้าสิบสามบาท แปดสิบสามสตางค์ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากโจทก์ เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น พร้อมดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความ รวมเป็นเงินหนึ่งล้านสองแสนสองหมื่นหกพันสี่ร้อยเจ็ดสิบสี่บาท สิบสี่สตางค์ ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมาย โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์จำนวนหนึ่งล้านสองแสนสองหมื่นหกพันสี่ร้อยเจ็ดสิบสี่บาท สิบสี่สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นต้องซื้อเชื่อ เมื่อได้รับเงินจัดสรรมาแล้วค่อยเบิกจ่ายใช้หนี้ให้แก่ผู้ขาย หากได้มาไม่พอจะชำระทุกส่วน ก็ติดค้างชำระส่วนที่เหลือ แล้วขอซื้อเชื่ออีก จนกว่าจะได้รับเงินจัดสรรงวดต่อไป ปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอดโดยไม่ต้องขออนุมัติจากโจทก์ เพราะจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ในการบริหารงานของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยกระทำไปเพื่อมิให้การปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องใช้รถยนต์หยุดชะงัก การที่โจทก์ต้องชำระหนี้ค่าน้ำมันแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิใช่ความผิดของจำเลยขอให้ยกฟ้อง

  ในชั้นฎีกา ปัญหาที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. ม. 396 หรือไม่

  โจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินงบประมาณมาแล้ว จำเลยที่ 1 จะตั้งกรรมการพิจารณาว่า จะจัดสรรเงินนั้นไปจ่ายในส่วนใดบ้าง แล้วเสนอไปยังกองบังคับการตามขั้นตอนจนถึงโจทก์ เมื่อใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติหมดแล้ว จะไปก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณไม่ได้ หากงบประมาณไม่พอ ต้องทำเรื่องของงบประมาณเพิ่มเติมเสนอผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับขั้น การที่จำเลยที่ 1 ก่อหนี้ผูกพันค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าน้ำมันหล่อลื่นในปีงบประมาณ 2526 จำนวนหนึ่งล้านเก้าหมื่นแปดพันเก้าร้อยเก้าสิบสามบาท แปดสิบสามสตางค์ โดยไม่ได้ของงบประมาณเพิ่มเติมจากโจทก์ก่อน เป็นการเข้าจัดการอันเป็นการขัดความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ หรือขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับความเสียหายอันเกิดจากการที่ได้จัดการนั้น

  ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีตาม ป.พ.พ. ม. 396 ต้องเป็นการที่ผู้จัดการได้เข้าจัดการงานอันเป็นการขัดความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือขัดกับความประสงค์ที่พึงสันนิษฐานได้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วหรือน่าจะรู้ว่า ตัวการไม่ประสงค์เช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยที่ 1 จัดซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ได้สั่งซื้อไปใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ และทางจังหวัดศรีสะเกษก็เคยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมาย แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ อนึ่ง ปรากฏว่า ก่อนหน้านี้ กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษก็เคยเป็นหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายหลายครั้ง เมื่อทางจังหวัดศรีสะเกษรายงานเรื่องไปให้โจทก์ทราบ โจทก์ก็จัดสรรงบประมาณไปชำระหนี้ทุกครั้ง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายหลังจากหมดงบประมาณที่โจทก์จัดสรรมาให้ในปีงบประมาณ 2526 แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการจัดซื้อมาเพื่อใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษตามที่เคยปฏิบัติมา และโจทก์เองก็รับรู้และยอมรับข้อปฏิบัติดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษแทนโจทก์ หาใช่ทำไปโดยขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

เชิงอรรถ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ (2553: 379) ว่า

    "ฐานความคิดของการจัดการงานนอกสั่งนั้น...เป็นเรื่องของอัธยาศัยไมตรีและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม เพราะในทางปฏิบัติ การที่บุคคลคนหนึ่งจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการงานของคนอื่นเพื่อทำประโยชน์ให้เขา คงจะเกิดจากความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง...[ทำนองว่า] เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมีความห่วงใยเอื้ออาทรให้กัน เพื่อนบ้านไม่อยู่...เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็จะคอยช่วยดูแลเอาใจใส่บ้านช่องของเพื่อนบ้านที่ไม่อยู่...[หลักเรื่องการจัดการงานนอกสั่งจึงเป็น] การเข้ามาแทรกแซงของกฎหมาย เสมือนกับความพยายามในการสร้างความสมดุลของประโยชน์ตอบแทนของฝ่ายหนึ่ง และการเสียสละของอีกฝ่ายหนึ่ง"

  2. 2.0 2.1 2.2 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 380.
  3. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 381-382.
  4. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 382.
  5. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 382-383.
  6. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ (2553: 383-384) ว่า

    "เมื่อบุคคลหนึ่งเข้าถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นของคนอื่น...จึงมิได้เป็นการจัดการงานแทนผู้อื่น...ขาดลักษณะของการจัดการงานนอกสั่ง...แม้จะรู้ว่าเป็นกิจการของผู้อื่น ก็มิได้จัดเพื่อผู้อื่น ควรเข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องของละเมิดด้วยซ้ำไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่ก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิเด็ดขาดของบุคคลอื่นอันเป็นสิทธิที่กฎหมายคุ้มครอง ซึ่งอาจถือว่า เกิดความเสียหายตามกฎหมายได้ แม้อาจไม่มีความเสียหายที่เป็นรูปธรรมก็ตาม...ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าของกิจการงานนั้นมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในเรื่องละเมิดได้..."

  7. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 382-383.
  8. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 385.
  9. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 386-387.
  10. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 389.
  11. 11.0 11.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 390.
  12. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 392.
  13. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 393.
  14. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 393-394.
  15. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 394.
  16. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 394-395.

หมายเหตุ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

"Agency without specific authorisation" เป็นศัพท์ที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ตรงกับภาษาเยอรมันว่า "Geschäftsführung ohne Auftrag" เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน บ. 2 ล. 13 ม. 677 ว่า

"Book 2 Law of Obligations

"Title 13 Agency without specific authorisation

"Section 677 Duties of the voluntary agent

"A person who conducts a transaction for another person without being instructed by him or otherwise entitled towards him must conduct the business in such a way as the interests of the principal require in view of the real or presumed will of the principal."

"Voluntary agency" เป็นศัพท์ที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ตรงกับภาษาเยอรมันว่า "Geschäftsführung" [มีความหมายตรงตัวว่า "management" และเป็นการเรียก "Geschäftsführung ohne Auftrag" (agency without specific authorisation) โดยย่อ] เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 680 ว่า

"Section 680 Agency to ward off danger

"If the voluntary agency is intended to ward off danger threatening the principal, then the voluntary agent is only responsible for deliberate intent and gross negligence."

"Management of business (of another)" เป็นศัพท์ที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ตรงกับภาษาญี่ปุ่นว่า "事務管理" (jimu kanri) เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ม. 697 ว่า

"Article 697 (Management of Business)

"(1)   A person who commences the management of a business for another person without being obligated to do so (hereinafter in this Chapter referred to as "Manager") must manage that business (hereinafter referred to as "Management of Business") in accordance with the nature of the business, using the method that best conforms to the interests of that another person (the principal).

"(2)   The Manager must engage in Management of Business in accordance with the intentions of the principal if the Manager knows, or is able to conjecture that intention."

"Undertaking formed without agreement" เป็นศัพท์ที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ตรงกับภาษาฝรั่งเศสว่า "engagement formé sans convention" เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส บ. 3 ล. 4 ม. 1370

"Book III of the various ways how ownership is acquired

"Title IV of undertakings formed without an agreement

"Art. 1370

"Certain undertakings are formed without the intervention of any agreement, either on the part of him who binds himself, or on the part of him towards whom he is bound.

"Some of them result from the sole authority of legislation; others arise from an act personal to the one who is obligated.

"The former are the undertakings formed involuntarily, such as those between neighbouring owners, or those of guardians and other administrators who may not refuse the duties which are imposed upon them.

"Undertakings arising from an act personal to him who is bound result either from quasi-contracts, or from intentional or unintentional wrongs; they constitute the subject-matter of this Title."

"Management of affairs without mandate" เป็นศัพท์ที่ใช้ใน ป.พ.พ. เช่น บ. 2 ล. 3 ม. 395 ว่า (Kamol Sandhikshetrin, 2007: 111)

"Book 2 Obligations

"Title 3 Management of Affairs without Mandate

"Section 395

"A person who takes charge of an affair for another without having received a mandate from him or being otherwise entitled to do so in respect of him, shall manage the affair in such manner as the interest of the principal requires, having regard to his actual or presumptive wishes."

"Voluntary agent" หรือเรียกโดยย่อว่า "agent" เป็นศัพท์ที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ตรงกับภาษาเยอรมันว่า "Geschäftsführer" (แปลตรงตัวว่า "manager") ดู ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 680 ในหมายเหตุ ก.

"Manager" เป็นศัพท์ที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ตรงกับภาษาญี่ปุ่นว่า "管理者" (kanrisha) ดู ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ม. 697 ในหมายเหตุ ฃ.

เรียกว่า "เจตนาเข้าจัดการงานของผู้อื่น" (animus aliena negotia gerendi, the will to handle transactions of another).

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 686 ว่า

"Section 686 Error as to the identity of the principal

"If the voluntary agent is in error with regard to the identity of the principal, then the real principal is entitled and obliged as the result of agency."

เรียกอย่างอื่นก็มี เช่น "การจัดการงานนอกสั่งไม่แท้" หรือ "การจัดการงานนอกสั่งมิใช่โดยแท้" (ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2553: 381).

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 687 ว่า

"Section 687 False agency without specific authorisation

"(1)   The provisions of sections 677 to 686 do not apply if a person conducts the transaction of another person in the belief that it is his own.

"(2)   If a person treats the business of another person as his own although he knows that he is not entitled to do so, then the principal can assert claims resulting from sections 677, 678, 681 and 682. If he asserts them, then he is under a duty to the voluntary agent under section 684 (1)."

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 681 ว่า

"Section 681 Ancillary duties of the voluntary agent

"The voluntary agent must notify the principal, as soon as feasible, of his assumption of the agency and, if postponement does not entail danger, wait for the decision of the principal. Apart from this, the provisions relating to a mandatary in sections 666 to 668 apply to the duties of the voluntary agent with the necessary modifications."

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 680 ว่า

"Section 680 Agency to ward off danger

"If the voluntary agency is intended to ward off danger threatening the principal, then the voluntary agent is only responsible for deliberate intent and gross negligence."

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 685 ว่า

"Section 685 Intention to donate

"(1)   The voluntary agent has no claim if he did not intend to demand reimbursement from the principal.

"(2)   If parents or forebears grant their descendants maintenance, or vice versa, then in case of doubt it is to be assumed that there is no intention to demand reimbursement from the receiver."

ให้สันนิษฐานไว้ก่อน หมายความว่า สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้.

รายการอ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ภาษาไทย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ภาษาต่างประเทศ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]



ขึ้น