วิชชาธรรมกาย

จาก วิกิตำรา

วิชชาธรรมกาย เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้ค้นพบ วิธีเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้ถึงธรรมกายมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการปฏิบัติอย่างชัดเจนภายหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ 500 ปี

วิชชาธรรมกายเป็นวิธีปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 มีวิธีปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนชัดเจน ให้ถึงธรรมกาย ให้เกิดอภิญญา และวิชชา คือความรู้ความสามารถพิเศษ ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6) ชื่อว่า "วิชชาธรรมกาย" ให้เข้าถึงและรู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม สามารถให้ทั้งเห็นและทั้งรู้สภาวธรรมทั้งสังขารและวิสังขารคือพระนิพพาน และเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานคู่กัน เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญวิปัสสนาปัญญาถึงโลกุตตรปัญญา ได้อย่างดี จึงเป็นวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง

วิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำสั่งสอนศิษยานุศิษย์จนตลอดชีวิตของท่าน และได้ถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน

หลักปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ขั้นสมถกัมมัฏฐาน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

มีหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้นที่สำคัญ 3 ประการ คือ

กำหนด "ฐานที่ตั้งของใจ" ไว้ ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม และเป็นที่ตั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ศูนย์กลางกายระดับสะดือเป็นที่สุด และเป็นต้นทางลมหายใจ (เข้า-ออก) กำหนด "บริกรรมนิมิต" คือ นึกให้เห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส ให้ใจรวมอยู่ ณ ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสนั้น ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ (ตามข้อ 1) การเพ่งดวงแก้วกลมใส มีลักษณะเป็นการเพ่งแสงสว่าง (อาโลกกสิณ) กล่าวคือ ถ้าพระโยคาวจรเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์ ถึงได้อุคคหนิมิต ก็จะเห็นเป็นดวงใสสว่าง หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงใช้ดวงแก้วกลมใส (แทนดวงใสสว่าง) เป็นบริกรรมนิมิต กำหนด "บริกรรมภาวนา" คือ ท่องในใจด้วยองค์บริกรรมภาวนาว่า "สัมมาอรหังๆๆ" ที่กลางของกลางจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใส ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนั้น เพื่อประคองใจให้หยุดนิ่งตรงนั้น คำว่า "สัมมา" เป็นคำย่อจากคำว่า "สัมมาสัมพุทโธ" แปลว่า พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ซึ่งหมายถึง พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ส่วนคำว่า "อรหัง" แปลว่า พระผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง ซึ่งหมายถึง พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อบริกรรมภาวนาว่า "สัมมาอรหังๆๆ" นึกน้อมพระพุทธคุณ คือ พระปัญญาคุณ และ พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ามาสู่ใจเราด้วย เป็นพุทธานุสสติ ถ้าผู้ปฏิบัติภาวนากำหนดบริกรรมนิมิต คือ นึกเห็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสด้วยใจได้ยาก ก็ให้สังเกตลมหายใจเข้า-ออก ที่ผ่านและกระทบดวงแก้ว ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ อยู่ตรงนั้น (เป็นอานาปานสติอีกโสดหนึ่ง) โดยไม่ต้องตามลมหายใจเข้า-ออก ก็จะช่วยให้เห็นดวงนิมิตได้ง่ายเข้า เมื่อเห็นดวงใสปรากฏขึ้นแล้ว ก็ปล่อยความสนใจในลม

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็จะเข้าถึง และได้รู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จนถึงธรรมกาย อันเป็นกายที่พ้นโลก เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ เป็นอุปการะสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้งและรู้แจ้ง

ในสภาวะของสังขาร คือ ธรรมอันไปในภูมิ 3 ทั้งสิ้น และธรรมที่เป็นไปในภูมิที่ 4 เฉพาะที่เป็นสังขตธรรม ตามที่เป็นจริง ในสภาวะของวิสังขาร คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ อันเป็นคุณธรรมภายในของพระอริยเจ้า ทั้ง สภาวะนิพพาน ผู้ทรงสภาวะ และ อายตนะนิพพาน ตามที่เป็นจริง และ ในอริยสัจ 4 อันเป็นไปในญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ มีรอบ 12


ขั้นอนุวิปัสสนา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว ย่อมสามารถเจริญภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนา ให้เกิดอภิญญา ความรู้ความสามารถพิเศษ และวิชชา ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6) จึงชื่อว่า "วิชชาธรรมกาย" ให้เกิดและเจริญความรู้ความสามารถพิเศษ ให้สามารถพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้เจริญ "วิปัสสนาปัญญา" เห็นแจ้งรู้แจ้งสภาวะของสังขาร อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ และอนตฺตา อย่างไร อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญโลกุตตรวิปัสสนา ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ 4 เป็น "โลกุตตรปัญญา" ต่อไป

กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว

พึงฝึกเจริญฌานสมาบัติให้เป็นวสี แล้วย่อมเกิดอภิญญา มีทิพพจักษุ ทิพพโสต เป็นต้น ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ (การเริ่มเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสนั้น มีลักษณะเป็นการเพ่งกสิณแสงสว่าง ชื่อว่า "อาโลกกสิณ" อันเป็นกสิณกลาง และมีผลให้เกิดอภิญญาได้ง่าย) สามารถน้อมไปเพื่อ "อตีตังสญาณ" เห็นอัตตภาพของตนและสัตว์อื่นในภพชาติ ก่อนๆ น้อมไปเพื่อ "อนาคตังสญาณ" เห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม และน้อมไปเพื่อ "ปัจจุปปันนังสญาณ" เห็นสัตว์โลกในทุคคติภูมิ ได้แก่ ภูมิของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และในสุคติภูมิ ได้แก่ เทวโลก และพรหมโลก ตามที่เป็นจริง ตามพระพุทธดำรัสได้ ให้สามารถรู้เห็นสภาวะของสังขาร ได้แก่ เบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย อันปัจจัยปรุงแต่งด้วย ปุญญาภิสังขาร คือความปรุงแต่งด้วยบุญคือกุศลกรรม อปุญญาภิสังขาร คือความปรุงแต่งด้วยบาปคืออกุศลกรรม และ อเนญชาภิสังขาร คือ ความปรุงแต่งที่ไม่หวั่นไหว (ด้วยรูปฌานที่ 4 ถึงอรูปฌานทั้ง 4)

ได้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกในสังสารจักร อันเป็นไปตามกรรม โดยวัฏฏะ 3 คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ และ

ให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของสังขารธรรม คือธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) กล่าวคือ ธรรมที่เป็นไปในภูมิ 3 ทั้งสิ้น ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ ทุกขํ และ อนตฺตา อย่างไร อย่างละเอียด และกว้างขวาง

ให้เจริญวิปัสสนาญาณ รวบยอดผ่านถึงโคตรภูญาณของธรรมกายได้อย่างรวดเร็ว และเป็นบาทฐานให้เจริญโลกุตตรวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี


ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อพระโยคาวจรเจริญอนุปัสสนา ตามแนวสติปัฏฐาน 4 คือ มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้ง ณ ภายใน และ ณ ภายนอก เห็นแจ้งรู้แจ้งในสามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายอยู่แล้วนั้น

ธรรมกายย่อมเจริญฌานสมาบัติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือมีสติพิจารณาเห็นอริยสัจ 4 ของกายในภพ 3 แล้วทำนิโรธ (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ) ดับสมุทัย ปหานอกุศลจิตของกายในภพ 3 โดยวิธีดับหยาบไปหาละเอียด ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ "ใจ" อันกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยึดครองอยู่ ปหานอกุศลจิต ชำระธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ "ใจ" ของกายในกาย (รวมเวทนา จิต และธรรม) จากกายสุดหยาบถึงสุดละเอียด จนเป็นแต่ธาตุล้วนธรรมล้วนของธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด ถึงปล่อยวางอุปาทานในเบญจขันธ์ของกายในภพ 3 และปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติเสียได้

ปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว ธรรมกายที่หยาบตกศูนย์ ธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียดนั้นจะไปปรากฏในอายตนะนิพพานอันเป็นที่สถิตอยู่ (อายตน=วาสฏฺฐาน) ของพระนิพพานคือธรรมกายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้า ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ประทับเข้านิโรธสงบตลอดกันหมดนับไม่ถ้วน สว่างไสวด้วยธรรมรังสีของธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม เป็นความสูญ คือว่างอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพราะไม่มีสังขาร ชื่อว่า "ปรมัตถสูญ"

โคตรภูจิต คือ ธรรมกายโคตรภูของพระโยคาวจรนั้นย่อมยึดหน่วงพระนิพพานอันละเอียด ประณีต สุขุมลุ่มลึกนั้นเป็นอารมณ์

เมื่อมรรคจิต และ มรรคปัญญา อันรวมเรียกว่า มรรคญาณ ของธรรมกายมรรคของพระโยคาวจรนั้นเกิดและเจริญขึ้น ปหานสัญโญชน์ กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ขึ้นไปได้ ย่อมก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ และ ณ บัดนั้น ธรรมกายมรรค ได้แก่ ธรรมกายพระโสดาปัตติมรรค ก็จะตกศูนย์ และปรากฏผลจิต ได้แก่ ธรรมกายพระโสดาปัตติผล เข้าผลสมาบัติ พิจารณาปัจจเวกขณ์ 5 คือ พิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละได้ กิเลสที่ยังเหลือ (ในกรณีเสขบุคคล) และพิจารณาพระนิพพาน ต่อไป

วิธีเจริญสมถภาวนา ถึงธรรมกาย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

วิธีเจริญสมถภาวนาถึง 18 กาย - ถึงธรรมกาย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล เพื่อให้กาย วาจา สงบ และบริสุทธิ์แล้ว ก็ตั้งใจชำระจิตใจให้สะอาดด้วยการเจริญภาวนาธรรมต่อไป

เบื้องต้น ให้วางภารกิจทางกายให้หมดเสียก่อน แล้วนั่งขัดสมาธิ เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางอยู่บนมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดพอดีกับหัวแม่มือซ้ายพอดี ตั้งกายให้ตรง สูดลมหายใจยาวๆ แล้วปล่อยกายตามสบาย อย่าเกร็ง เพราะจะทำให้เมื่อยเร็ว

เมื่อกายพร้อมแล้ว ก็ตั้งใจวางภารกิจทางใจเสียทั้งหมดอีกเหมือนกัน โดยตั้งจิตอธิษฐานลงไปที่ศูนย์กลางกายว่า

ณ บัดนี้ เราจะตั้งใจเจริญภาวนาธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ตัณหา อุปาทาน และเพื่อมรรคผลนิพพาน จะขอสละเวลาเพียงชั่วครู่นี้เพื่อปฏิบัติกิจอันมีค่าสูงที่สุดในชีวิต ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด เราก็จะไม่สนใจ หวั่นไหว หรือยินดียินร้ายใดๆ ทั้งสิ้น จะยอมเสียสละแม้แต่ชีวิต เพื่อพระธรรมอันวิเศษสุดนี้ทีเดียว

เมื่อวางภารกิจทางกาย วาจา และใจ ได้เรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อไปที่ศูนย์กลางกายอีก

น้อมรำลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ คุณบิดามารดา และบุญบารมีทั้งหลาย ที่เคยได้สร้างสมอบรมมา ให้มาช่วยประคับประคองใจให้หยุดให้นิ่ง และเกิดปัญญา ได้ดวงตาเห็นธรรม พร้อมด้วยขอให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองสรรพอันตราย อย่าได้มากล้ำกราย ขัดขวางการเจริญภาวนาของเรา


เมื่อตั้งใจมั่นคงดีแล้ว ก็ค่อยๆ หลับตาลงเบาๆ และกำหนดบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาคู่กัน บริกรรมนิมิต นึกให้เห็นด้วยใจ เป็นเครื่องหมาย ดวงแก้วกลมใส เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา จุดศูนย์กลางข้างในโตเท่าเมล็ดพุทธรักษา ใสขาวเหมือนกระจกส่องเงาหน้า แล้วบริกรรมภาวนาคือท่องในใจเพื่อประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ"

  • ฐานที่ 1: ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา

การกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสนั้น หญิงกำหนดขึ้นที่ปากช่องจมูกซ้าย ชายกำหนดที่ปากช่องจมูกขวา แล้วบริกรรมภาวนาคือท่องในใจเพื่อประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ" 3 ครั้ง พร้อมด้วยตรึกนึกให้เห็นดวงที่ใส ใจอยู่ในกลางดวงที่ใส นี่เป็น ฐานที่หนึ่ง

  • ฐานที่ 2: เพลาตา หญิงซ้าย ชายขวา ตรงหัวตาพอดี

เมื่อเห็นเครื่องหมายใสสว่างชัดดีพอสมควรแล้ว ก็ค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นไปหยุดอยู่ที่หัวตาด้านใน หญิงให้เลื่อนไปอยู่ทางหัวตาด้านซ้าย ชายด้านขวา และบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ" 3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่สอง

  • ฐานที่ 3: กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับเพลาตา

แล้วค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นช้าๆ ไปหยุดอยู่ที่กึ่งกลางกั๊กศีรษะข้างใน พร้อมด้วยบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ" 3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่สาม

  • ฐานที่ 4: ช่องเพดานปาก

ทีนี้ จงเหลือบตาไปข้างหลัง เหมือนคนกำลังชักจะตายอย่างนั้น ในขณะที่หลับตาอยู่ ก็ช้อนตาขึ้นข้างบน โดยไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นตาม พอตาค้างแน่นอยู่ ความเห็นจะกลับไปข้างหลัง แล้วก็ให้ความเห็นนั้นกลับเข้าข้างใน พร้อมๆ กับค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นลงไปตรงๆ ช้าๆ ไปหยุดอยู่ที่เพดานปาก พร้อมด้วยบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ" 3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่สี่

  • ฐานที่ 5: ปากช่องลำคอ

ค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายใสสว่างนั้นลงไปหยุดอยู่ที่ปากช่องลำคอ เหนือลูกกระเดือก ตั้งเครื่องหมายไว้นิ่งอยู่ที่ปากช่องลำคอนั่นแหละ พร้อมด้วยบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ" 3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่ห้า

  • ฐานที่ 6: ศูนย์กลางกาย ระดับสะดือ

ค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นลงไปตรงๆ ช้าๆ ตามเส้นทางลมหายใจเข้าออก เหมือนกับเรากลืนดวงแก้วลงไปในท้องยั้งงั้นแหละ ลงไปหยุดนิ่งอยู่ตรงสุดลมหายใจเข้าออก ตรงระดับสะดือพอดี แล้วบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า "สัมมาอะระหังๆๆ" 3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่หก

  • ฐานที่ 7: ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ

แล้วจึงค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นขยับสูงขึ้นมาตรงๆ มาหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือประมาณ 2 นิ้วมือ นี่เป็น ฐานที่เจ็ด

นี่เป็นที่ตั้งถาวรของใจ คนเราเวลาจะเกิด จะดับ (ตาย) จะหลับ จะตื่น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ จะลอยขึ้นมาที่ศูนย์นี้ เพราะฉะนั้น ศูนย์นี้จึงสำคัญนัก จะเข้ามรรคผลนิพพาน ก็ต้องเข้าที่ศูนย์นี้

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็จงทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางนี้ทีเดียว ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน ไม่ไปทั้งนั้น เข้ากลางของกลางๆ ๆ นิ่งแน่นหนักขึ้น พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้น เท่าฟองไข่แดงของไก่ อย่างเล็กเท่าดวงดาวในอากาศ อย่างโตเห็นเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เลยทีเดียว ดวงธรรมที่เห็นนี้เป็นหนทางเบื้องต้นไปสู่มรรค ผล นิพพาน จึงเรียกว่า ดวงปฐมมรรค และเป็นที่ตั้งของ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของกายพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จึงเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อเห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้นอย่างนี้ละก็ เลิกบริกรรมภาวนาได้ ทีนี้ รวมใจให้หยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางดวงนี้แหละ จะเห็นที่หมายเป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ที่กลางดวงนั้น ให้วางใจหยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางนั้น พอถูกส่วนเข้า ดวงใสเดิมนั้นก็จะว่างหายไป แล้วก็จะเกิดดวงใหม่ขึ้นมาอีก ใสละเอียดหนักยิ่งกว่าเก่า คือ ดวงศีล อันเป็นปัจจุบันศีลในทางปฏิบัติ ของผู้มีกาย วาจา และใจ บริสุทธิ์ ด้วยการกล่าวแต่วาจาที่ชอบ การประกอบกรรมที่ชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ

หยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงศีลนั่นแหละ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ดวงศีลจะว่างหายไป แล้วจะเห็น ดวงสมาธิ ผุดลอยขึ้นมาแทนที่ เป็นสมาธิของผู้มีจิตอันพร้อมด้วยความเพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจมั่นชอบ อันเป็นจิตที่ควรแก่งานวิปัสสนาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสัจจธรรม

รวมใจหยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงสมาธิ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ดวงสมาธิจะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใสสว่างเกิดขึ้นมาใหม่ ใสละเอียดกว่าเดิม มีรัศมีสว่างยิ่งนัก คือ ดวงปัญญา เป็นปัญญาที่พร้อมด้วยความเห็นชอบ และดำริชอบ

หยุดในหยุดอยู่ที่กลางดวงปัญญาต่อไปอีก เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ดวงปัญญาจะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใสสว่างเกิดขึ้นมาใหม่ คือ ดวงวิมุตติ ใสละเอียดกว่าเดิม มีรัศมีสว่างยิ่งนัก เป็นปัจจุบันธรรมของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสของมนุษย์ ได้แก่ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ นั่นเอง การหลุดพ้นดังกล่าวนี้ เป็นเบื้องต้น คือเป็นการหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลส เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ อันจะเป็นแนวทางไปสู่การหลุดพ้นอย่างถาวร ที่เรียกว่า สมุจเฉทวิมุตติ ต่อไป

หยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงวิมุตตินั่น พอหยุดถูกส่วนเข้า ก็จะถึง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งลงไปที่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า ก็จะถึง กายมนุษย์ละเอียด หรือ กายฝัน มีลักษณะหน้าตาเหมือนกับผู้ปฏิบัติทุกประการ แต่สวยละเอียดประณีตกว่าการมนุษย์หยาบ นั่งในท่าขัดสมาธิ หันหน้าไปทางเดียวกับเรา

ถ้าเห็นแล้วอย่างลังเลสงสัย สวมความรู้สึกเข้าไปเป็นกายใหม่นั้นเลย ทิ้งความรู้สึกอันเนื่องด้วยกายหยาบนี้ สวมความรู้สึกเข้าเป็นไปกายมนุษย์ละเอียด ใสละเอียด อยู่นั่นแหละ หยุดในหยุดกลางของหยุด ให้ใสละเอียดทั้งดวงทั้งกายทั้งองค์ฌาน ทำอย่างนี้เรื่อยไปทีละกายๆ ไปจนสุดละเอียดถึงธรรมกาย โตใหญ่ใสละเอียดไปตามกาย ไม่ถอยคืนออกมา (คือไม่ถอนออกจากสมาธิ)

บางท่านอาจจะเห็นข้ามขั้นตอน ไปเห็นธรรมกายเลยก็มี กายพระพุทธรูปขาวใส บริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูม ปรากฏขึ้นมา ณ ศูนย์กลางกายนั้นเอง

ให้รวมใจหยุดลงไป ณ ศูนย์กลางกายมนุษย์ละเอียดนั้นต่อไปอีก ก็จะเห็นดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ตามลำดับ แล้วก็จะถึง กายทิพย์หยาบ-ทิพย์ละเอียด ตามลำดับ ใตใหญ่ใสสว่างกว่าเดิม แพรวพราวสวยงาม ก็ดับหยาบไปหาละเอียด เป็นกายทิพย์นั้นต่อไป

โดยวิธีเจริญภาวนาให้ใจหยุดในหยุด ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ฯลฯ ของทิพย์ละเอียด หลุดพ้นจากกิเลสกลางของทิพย์ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ แล้วก็จะถึง กายรูปพรหมหยาบ-รูปพรหมละเอียด ตามลำดับ ก็จะเห็นกายและดวงธรรมของรูปพรหม ใสสะอาด บริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าของกายทิพย์ แต่รูปพรหมยังมีกิเลสที่ค่อนไปทางละเอียดอยู่อีก คือ ราคะ โทสะ และโมหะ

ให้ใจของรูปพรหมหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกาย ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ฯลฯ ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสเหล่านี้ แล้วก็จะถึง กายอรูปพรหมหยาบ-อรูปพรหมละเอียด ซึ่งใสละเอียด มีรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปอีก แต่รูปพรหมยังมีกิเลสที่ละเอียดอยู่ คือ ปฏิฆะ กามราคะ และอวิชชา

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งลงไป ณ ศูนย์กลางกายอรูปพรหม เจริญภาวนาผ่านดวงธรรมต่างๆ อีก ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสของกายโลกิยะทั้งหมด ก็จะเข้าถึง กายธรรม คือ ธรรมกาย เริ่มตั้งแต่ ธรรมกายโคตรภูหยาบ-โคตรภูละเอียด ซึ่งธาตุธรรมยังอ่อนอยู่ จึงต้องเจริญภาวนาต่อไปตามแนวเดิมนี้อีก ก็จะถึง

ธรรมกายพระโสดาหยาบ-พระโสดาละเอียด ธรรมกายพระสกิทาคาหยาบ-พระสกิทาคาละเอียด ธรรมกายพระอนาคาหยาบ-พระอนาคาละเอียด ธรรมกายพระอรหัตหยาบ-พระอรหัตละเอียด ซึ่งช่วยให้หลุดพ้นจากสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกเป็นชั้นๆ ไป จากหยาบไปหาละเอียด

เมื่อถึงกายพระอรหัตละเอียดแล้ว เจริญภาวนาต่อไปก็จะสามารถวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นการถาวร เป็นสมุจเฉทปหานได้.

วิธีพิสดารกาย สุดกายหยาบกายละเอียด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สำหรับผู้ปฏิบัติได้ถึง 18 กายแล้ว ให้ฝึกพิสดารกายสุดกายหยาบกายละเอียดอีกต่อไป ให้เป็นวสี คือ ให้คล่องแคล่ว ชำนาญ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญวิชชาชั้นสูง และทำนิโรธดับสมุทัย (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ) วิธีปฏิบัติคือ

เบื้องต้น ให้รวมใจของทุกกายอยู่ ณ ศูนย์กลางธรรมกายอรหัตที่สุดละเอียด คือ ให้ศูนย์กลางดวงธรรม และ เห็น-จำ-คิด-รู้ (คือใจ) ของแต่ละกาย จากกายสุดหยาบ (คือกายมนุษย์) ต่อๆ ไปจนสุดละเอียด (คือ ธรรมกายอรหัตละเอียด) ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางซึ่งกันและกัน จากกายสุดหยาบถึงกายสุดละเอียด แล้วเราทำใจของเราเป็นธรรมกายอรหัตที่สุดละเอียด คือดับหยาบไปหาละเอียดอยู่เสมอแล้ว

ใจของธรรมกายหยุดนิ่ง (เพ่ง) ลงที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบจนใสละเอียด จนหยุดนิ่งถูกส่วน ศูนย์กลางจะขยายว่างออกไป แล้วจะปรากฏกายมนุษย์ละเอียดขึ้นมาใหม่ ก็หยุดในหยุด กลางของหยุด กลางของกลางๆๆ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้นอีกต่อไป หยุดนิ่งถูกส่วน ก็จะปรากฏกายมนุษย์ละเอียดในกายมนุษย์ละเอียด ต่อๆ ไปจนสุดละเอียด หยุดนิ่ง กลางของกลางๆๆ ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ที่สุดละเอียดนั้นต่อไป ถูกส่วนเข้า ศูนย์กลางดวงธรรมจะขยายว่างออกไป แล้วจะปรากฏกายทิพย์ขึ้นมาใหม่ โตใหญ่ ใสละเอียด เป็น 2 เท่าของกายมนุษย์

ก็ให้หยุดนิ่ง (เพ่ง) ลงที่ศูนย์กลางกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ต่อไปให้ใสแจ่ม ก็จะปรากฏกายทิพย์ในกายทิพย์ต่อๆ ไป จนสุดละเอียด ... แล้วก็จะปรากฏกายรูปพรหมในกายรูปพรหมต่อๆ ไปจนสุดละเอียด ก็ให้ปฏิบัติไปแบบเดียวกัน ถึง กายอรูปพรหม ในกายอรูปพรหม จนสุดละเอียด ธรรมกายโคตรภู ใน ธรรมกายโคตรภู จนสุดละเอียด ธรรมกายพระโสดาบัน ในธรรมกายพระโสดาบัน จนสุดละเอียด ธรรมกายพระสกิทาคามี ในธรรมกายพระสกิทาคามี จนสุดละเอียด ธรรมกายพระอนาคามี ใน ธรรมกายพระอนาคามี จนสุดละเอียด ธรรมกายพระอรหัต ในธรรมกายพระอรหัต จนสุดละเอียด ให้ใสละเอียด ทั้งดวงทั้งกาย และทั้งองค์ฌาน (ปรากฏเหมือนอาสนะรองรับกายละเอียด สัณฐานกลมใสรอบตัว หนาประมาณ 1 ฝ่ามือของแต่ละกายละเอียด จะมีประจำทุกกาย ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดไปจนสุดกายละเอียด)

นี้เรียกว่า การพิสดารกาย สุดกายหยาบ-กายละเอียด

วิธีเจริญสมาธิ: รูปฌาน 4[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ผู้ที่ถึงธรรมกาย และเจริญภาวนาจนถึง 18 กายแล้ว ก็ให้รวมใจทุกกายให้อยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด แล้วใจของธรรมกายพระอรหัตก็เพ่งลงไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อใจหยุดได้ถูกส่วน ประกอบด้วยองค์ 5 ได้แก่ วิตก วิจาร คือ ตรึกตรองประคองนิมิต ปีติ สุข และเอกัคคตา ก็จะเห็นองค์ฌานปรากฏขึ้นรองรับกายมนุษย์ เหมือนดังอาสนะรองรับที่นั่งฉะนั้น มีลักษณะเป็นวงกลมใส ส่วนหนาประมาณหนึ่งคืบ ขนาดกว้างเต็มหน้าตักพองาม องค์ฌานที่เห็นเกิดขึ้นนี้ไม่เฉพาะแต่กับกายมนุษย์เท่านั้น หากแต่ปรากฏขึ้นรองรับกายทุกกายจนถึงกายพระอรหัตพร้อมกันหมด นี้เป็นปฐมฌาน

แล้วใจของธรรมกายก็เพ่งไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์หยาบและทิพย์ละเอียดต่อไปอีก เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนละเอียดหนักเข้า จนละวิตก วิจาร ได้ องค์ฌานเดิมก็จะว่างหายไป แล้วปรากฏองค์ฌานใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่อีก ใสละเอียดกว่าเดิมทั้งฌานและกาย นี้เป็น ทุติยฌาน

ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมหยาบและรูปพรหมละเอียดอีก เมื่อใจหยุดถูกส่วน และละเอียดหนักเข้า จนปีติหมดไป องค์ฌานเดิมก็จะว่างหายไป แล้วปรากฏองค์ฌานเกิดขึ้นมาใหม่ ใสละเอียดกว่าเก่า ทั้งฌานและกาย นี้เป็น ตติยฌาน

ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมหยาบและอรูปพรหมละเอียดอีกต่อไป เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วน ละเอียดหนักเข้า จนสุขหายไป คงเหลือแต่เอกัคคตาจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นิ่งเป็นอุเบกขาอยู่ องค์ฌานเดิมก็จะว่างหายไป และปรากฏองค์ฌานใหม่เกิดขึ้นแทนที่ ใสละเอียดยิ่งกว่าเดิม ทั้งฌานและกาย นี้เป็น จตุตถฌาน

เมื่อเข้าใจวิธีเข้าฌานสมาบัติตั้งแต่เบื้องต้น ปฐมฌาน ไปจนถึงจตุตถฌาน โดยอนุโลม (ตั้งแต่ต้นไปหาปลาย) แล้ว ก็จงฝึกหัดถอยกลับจาก จตุตถฌาน ลงมาถึง ปฐมฌาน เป็น ปฏิโลม (จากปลายมาหาต้น) ให้เกิดความชำนาญ (วสี) ทั้งในการเข้าการออก การทรงฌานและการพิจารณาอารมณ์ฌานเหล่านี้ให้แม่นยำ

วิธีเจริญวิชชา 3[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า: วิชชา 3[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เภสกฬมิคทายวัน เขตนครสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท ได้รับอาราธนาของโพธิราชกุมารไปรับภัตตาหารและเสวย ณ โกกนุทปราสาทของโพธิราชกุมาร ครั้นเสวยเสร็จแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ตรัสสนทนากับโพธิราชกุมารว่า

ทรงบรรลุฌาน 4

"ครั้นเราบริโภคอาหารหยาบ มีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่. มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข. บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่."

ทรงบรรลุวิชชา (ญาณ) 3

"เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เรานั้นย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 1 ที่ เราได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ "จุตูปปาตญาณ" รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ด้วยประการฉะนี้. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 2 ที่เราได้บรรลุแล้ว ในมัชฌิมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ "อาสวักขยญาณ" ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย เหล่านี้อาสวนิโรธ เหล่านี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 3 ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.

ราชกุมาร เรานั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.


วิธีเจริญวิชชา 3 ถึงมรรคผลนิพพาน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อเจริญฌานสมาบัติโดยอนุโลมและปฏิโลม ให้ทุกกาย สุดกายหยาบกายละเอียด ถึงธรรมกายใสบริสุทธิ์ดีแล้ว

ให้รวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด รวมดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และดวงรู้ ให้หยุดในหยุดนิ่งลงไปที่กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ณ ศูนย์กลางกายนั้นแหละ มีที่หมายตรงต้นสายกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้นเป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ก็ให้หยุดในหยุดกลางของหยุด แล้วอธิษฐานให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของตนเองถอยหลังสืบต่อไปถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว, เดือนที่แล้ว, ปีที่แล้ว, ลงไปจนถึงตอนที่เป็นเด็ก ให้รวมใจ คือความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ให้หยุดในหยุดลงไปที่กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ของกายเดิมที่เห็นครั้งสุดท้ายต่อไปเรื่อยๆ จากที่เป็นเด็ก ก็ไปถึงสภาพที่เป็นเด็กแดงๆ, แล้วก็ถอยหลังสืบเข้าไปตามสายธาตุธรรมเดิม ถึงที่เป็นเด็กทารกในครรภ์ของมารดา, แล้วก็ไปถึงในขณะที่ตั้งปฏิสนธิวิญญาณ เป็นกลลรูป, ถอยสืบเข้าไปถึงในขณะที่มาปฏิสนธิในครรภ์มารดา ด้วยกายมนุษย์ละเอียดหรือกายทิพย์

แล้วก่อนที่จะมาปฏิสนธิก็เป็นกายละเอียดมาตกศูนย์ พักอยู่ ณ ศูนย์กลางกายบิดาชั่วคราว

อธิษฐานให้เห็นสภาพของตนเองตามสายธาตุธรรม สืบถอยหลังไปถึงตอนที่จุติคือเคลื่อนจากสังขารร่างกายเดิมของชาติที่แล้ว นี้นับเป็นชาติหนึ่ง, เมื่อเห็นชัดดีแล้ว ก็รวมเห็นจำคิดรู้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อธิษฐานให้เห็นอัตตภาพและความเป็นไปของตนเองให้ชัดว่ามีสภาพความเป็นมาอย่างไร ในชาตินั้นตนเองเกิดเป็นอะไร มีเทือกเถาเหล่ากออย่างไร มีทุกข์มีสุข มั่งมีหรือยากจนขัดสนกันดารอย่างไร เพราะผลบุญหรือผลบาปอะไร พยายามน้อมใจอันประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ให้หยุดนิ่ง ในกลางของกลางๆๆ ไปเรื่อย ก็จะเห็นได้ชัดเจนและแม่นยำ แล้วก็ดำเนินไปในแบบเดิม อธิษฐานดูอัตตภาพและสภาพความเป็นไปของตนเอง ถอยหลังสืบเข้าไปทีละชาติๆ เมื่อกระทำชำนาญเข้าก็จะสามารถระลึกชาติได้เร็วขึ้น แต่จะต้องหยุดในหยุดลงไปที่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ตามสายธาตุธรรมเดิม ถอยหลังสืบต่อเข้าไปเสมอ จึงจะแม่นยำ มิฉะนั้นการรู้เห็นอาจจะเล่ห์คือผิดพลาดได้ เมื่อจะหยุดพัก ก็ให้อธิษฐานกลับตามสายธาตุธรรมเดิมจนมาถึงชีวิตปัจจุบันอีกเช่นกัน

นี้เป็น วิชชาที่ 1 ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ต่อไป ให้ฝึกระลึกให้เห็นอัตตภาพและสภาพความเป็นไปของตนเองต่อไปในอนาคต ก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน คือรวมใจอันประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้ ให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน ณ กำเนิดธาตุธรรมเดิมของกายปัจจุบัน ตั้งจิตอธิษฐานให้เห็นความเป็นไปหรือสภาพของตนเองในวันรุ่งขึ้น, ในสัปดาห์หน้า, ในเดือนหน้า, ในปีหน้า, ในห้าปีข้างหน้า, ในสิบปีข้างหน้า, ต่อๆ ไปจนกระทั่งถึงวันที่ตนเองจะกระทำกาลกิริยาคือตาย ดูความเป็นไปสืบต่อไปข้างหน้าให้เห็นสภาพความเป็นไปในชีวิตของตนเอง พร้อมด้วยอธิษฐานให้เห็นวิบากกรรมว่าเป็นด้วยผลบุญกุศลหรือผลบาปอกุศลกรรมใด ที่จะเป็นผลให้ได้รับความสุขหรือความทุกข์เดือดร้อนในชีวิตแต่ละช่วงที่ได้พบเห็นนั้น เป็นตอนๆ ไป จนกระทั่งจุติละจากโลกนี้ไป

ในกรณีที่ประสงค์จะระลึกชาติของผู้อื่นก็ดี หรือจะดูปัจจุบันและอนาคตของผู้อื่นก็ดี ก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน คือเพียงแต่น้อมเอาธาตุธรรมของผู้ที่เราประสงค์จะทราบอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของผู้นั้น มาตั้งที่ศูนย์กลางกายของเราเอง แล้วรวมเห็นจำคิดรู้ของเราและของเขาให้หยุดรวมกันเป็นจุดเดียวตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของเขา แล้วอธิษฐานระลึกให้เห็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของผู้นั้นไปตามสายธาตุธรรมเดิมของเขา ก็จะสามารถรู้เห็นได้เช่นเดียวกัน

เมื่อประสงค์จะทราบว่าสัตว์หรือมนุษย์ที่ละหรือตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปบังเกิดในภพภูมิใด ด้วยผลบุญกุศลหรือผลบาปอกุศลใด ก็ให้ปฏิบัติไปตามวิธีที่ได้เคยแนะนำไปแล้ว คือ

รวมใจของทุกกายให้หยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด หยุดตรึกนิ่ง ขยายข่ายของญาณพระธรรมกายพระอรหัตให้โตจนเต็มภพ 3 แล้วจึงน้อมเอาภพ 3 เข้ามาเป็นกสิณ คือเอามาตั้งไว้ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตนั้นแหละ อาศัย "ตา" หรือ "ญาณ" พระธรรมกายตรวจหาดูจนตลอดภพ 3 ว่าผู้ที่ตายไปแล้วได้ไปบังเกิดในภพภูมิใด ก็จะสามารถเห็นได้

ถ้าในภพ 3 ยังไม่เห็น ก็ให้ตรวจดูไปถึงอายตนะโลกันต์ ซึ่งอยู่นอกภพ 3 ออกไป ในขณะที่ตรวจดูคติใหม่ของผู้ตายไปตลอดภพนี้ ให้น้อมใจเข้าสู่กลางของกลางๆๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ธาตุธรรมใสสะอาดและสมาธิตั้งมั่นดี การรู้เห็นจึงจะแม่นยำ เมื่อพบแล้ว ก็ไต่ถามถึงบุพพกรรมที่ทำให้เขามาเสวยวิบากกรรมคือผลบุญกุศลหรือผลบาปอกุศลในภพใหม่นี้ ก็จะทราบได้ นี่หมายเฉพาะสัตว์หรือมนุษย์ที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล ก็จะเห็นเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ 3 หรืออายตนะโลกันต์นี้

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วย "อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ" แล้ว ก็จะพบธรรมกายของท่านประทับอยู่ในนิพพาน

นี้เป็นการน้อมเข้าสู่ "จุตูปปาตญาณ" อย่างง่าย หากกระทำชำนาญแล้วก็จะสามารถรู้เห็นได้เร็ว

ยังมีวิธีที่ละเอียดพิสดารต่อไปอีก ซึ่งสามารถให้รู้เห็นทั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็นทั้งภายในและภายนอก

วิธีปฏิบัติ ก็ให้น้อมเอาธาตุธรรมของผู้ที่ตายไปแล้วมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย แล้วรวมเห็น จำ คิด รู้, ธาตุเห็น ธาตุจำ ธาตุคิด ธาตุรู้, ที่ตั้ง/เห็น จำ คิด รู้ ของเราให้ตรงกันกับของเขา เป็นจุดเดียวกัน ตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม แล้วอธิษฐานให้เห็นจุติและปฏิสนธิของเขาเป็นขั้นๆ ไป นับตั้งแต่ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เริ่มจะดับ หรือในขณะที่จิตกำลังเข้าสู่ "มรณาสันนวิถี"* นั้น ก็จะเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของสัตว์หรือมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอากาศโลก ขันธโลก และสัตว์โลก ได้แก่ เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์นั้น จะดับคือตกศูนย์ลงไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6 ตรงระดับสะดือพอดี แล้วดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายละเอียดหรือกายทิพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่สืบต่อไปใหม่นั้น จะผุดลอยขึ้นมายังศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือสองนิ้วมือ แล้วกายละเอียดหรือกายทิพย์นั้นก็จะผ่านไปยังศูนย์ต่างๆ กล่าวคือ ฐานที่ 6, แล้วก็ฐานที่ 5 ตรงปากช่องลำคอ, ฐานที่ 4 ตรงเพดานปาก, ฐานที่ 3 ตรงกลางกั๊กศีรษะ, ฐานที่ 2 ตรงหัวตาด้านใน (หญิงทางด้านซ้าย ชายทางด้านขวา), แล้วก็ออกไปทางฐานที่ 1 คือช่องจมูก (หญิงทางด้านซ้าย ชายทางด้านขวา) เพื่อไปเกิดในภพภูมิใหม่ตามผลบุญหรือผลบาปที่กำลังให้ผลอยู่ในขณะนั้นต่อไป

กายที่กำลังไปแสวงหาที่เกิดนี้เรียกว่า "กายสัมภเวสี" ส่วนกายที่ได้ปฏิสนธิหรือเกิดแล้ว เรียกว่า "กายทิพย์"

มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่กาย ใจ จิต วิญญาณ หรือขันธ์ทั้ง 5 ของสัตว์หรือมนุษย์กำลังจะแตกดับหรือตายนั้น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย อันเป็นที่ตั้งของดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และดวงรู้ ของกายเดิมจะดับ คือตกศูนย์ลงไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6 ตรงระดับสะดือพอดี นั้นเอง ที่สัตว์หรือมนุษย์ซึ่งกำลังใกล้จะตายนั้นมีอาการสยิ้วหน้า บิดตัวหรือไขว่คว้าเมื่อเวลาใกล้จะตาย เพราะแรงดึงดูดของอายตนะภพใหม่ที่จะทำให้ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายละเอียดหรือกายทิพย์ แยกขาดออกจากดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย (เนื้อ) ของมนุษย์หรือสัตว์ผู้ที่กำลังจะตายนั้นเอง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ญาณพระธรรมกายจะช่วยให้เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์หรือสัตว์นั้น และจิตของสัตว์นั้นเอง "ดับ" แล้วก็ "เกิด" ใหม่อีก เป็นช่วงๆ ตามผลบุญกุศลหรือบาปอกุศล กล่าวคือ

ถ้าขณะใกล้ตาย คือในระหว่างที่จิตเข้าสู่มรณาสันนวิถีนั้น จิตเป็นกุศล แต่บุญบารมียังไม่พอที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้โดยสิ้นเชิง อายตนะของสุคติภพ ได้แก่ โลกมนุษย์ เทวโลก หรือพรหมโลก ก็จะดึงดูดกายละเอียดหรือกายทิพย์นั้นไปบังเกิดในภพหรือภูมิด้วยแรงกุศลกรรม ตามกำลังแห่งบุญบารมีของผู้นั้นต่อไป กิริยาที่กาย ใจ จิต และวิญญาณดับเกิดๆๆ เพื่อเปลี่ยนจากภพหรือภูมิหนึ่ง ไปสู่ภพหรือภูมิที่สูงกว่าทีละขั้นๆ ไปจนกว่าจะถึงภูมิที่พอดีกับกำลังบุญกุศลที่ให้ผลอยู่นั้น อุปมาดั่งงูลอกคราบ หรือดั่งบุคคลถอดแบบฟอร์มเครื่องแต่งตัวจากฟอร์มหนึ่งไปสู่ฟอร์มที่สวย ละเอียด ประณีตกว่าฉะนั้น

แต่ถ้าจิตในขณะใกล้จะตาย เป็นอกุศล หรือสิ้นวาสนาบารมี อายตนะทุคคติภพ ได้แก่ อายตนะภพของเปรต, อสุรกาย, สัตว์นรก, หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็จะดึงดูดดวงธรรมและกายละเอียดของผู้นั้นให้ไปบังเกิดในภพหรือภูมินั้นด้วยแรงอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ตามส่วนแห่งอำนาจของผลบาปอกุศลที่กำลังให้ผลต่อไป

ญาณหยั่งรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์นี้ เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" ให้ฝึกฝนปฏิบัติให้ชำนาญ ในระยะเริ่มแรกจะต้องกระทำเป็นขั้นตอนตามสายธาตุธรรมเดิมเสมอไป แม้จะติดขัดบ้างก็จะเป็นแต่เพียงในระยะต้นๆ หรือที่จิตยังไม่ละเอียดดีพอ ต่อไปก็จะค่อยๆ ชำนาญไปเอง

แต่มีหลักสำคัญอยู่ว่า เมื่อรู้เห็นแล้วก็อย่าคะนองใจว่าตนเก่งกล้าแล้ว พยากรณ์ให้แก่ผู้อื่นฟัง หรือโอ้อวดในคุณธรรมของตน อันจะเป็นทางเสื่อมอย่างยิ่ง

อนึ่ง การน้อมเข้าสู่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เพื่อดูขันธ์ของตนเองและของผู้อื่นในชาติภพก่อนๆ ก็ดี หรือการน้อมเข้าสู่จุตูปปาตญาณเพื่อดูจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายก็ดี หากได้ยกวิปัสสนาญาณขึ้นพิจารณาทบไปทวนมาด้วยแล้ว ย่อมมีลักษณะที่เป็นสติปัฏฐาน 4 ไปในตัวเสร็จ กล่าวคือ

การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และ ธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง เป็นภายนอกบ้าง, เป็นทั้งภายในและภายนอกบ้าง ดังที่กล่าวมาแล้วเนืองๆ อยู่ ก็จะเห็นชัดในสามัญญลักษณะ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของสังขารธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างชัดแจ้ง จนเห็นเป็นธรรมดาในความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของสังขารของสัตว์ทั้งหลาย ช่วยให้เกิดธรรมสังเวชสลดใจในการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายที่ยังติดอยู่ในสังสารจักรและไตรวัฏฏะ คือ กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และวิปากวัฏฏะ อยู่ในภพ 3 นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไปนรกบ้าง สวรรค์บ้าง มนุษย์บ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เปลี่ยนแปลงไปต่างๆ น่าสะพรึงกลัวและน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก ต้องทิ้งสมบัติพัสถาน บุตร ภรรยา และบิดามารดาแต่เก่าก่อน หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเครื่องล่อเครื่องหลง ดุจดังว่าความฝัน เอาเป็นของเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ เป็นอย่างนี้หมดทั้งตัวเราเองและสัตว์อื่น เหมือนกันหมด ทุกรูปทุกนาม แล้วให้ยกวิปัสสนาญาณทั้ง 10 ประการ ขึ้นพิจารณา ทบไปทวนมา ทับทวีให้มากเข้า ก็จะเห็นภัยในวัฏฏสงสาร บังเกิดธรรมสังเวชสลดจิตคิดเบื่อหน่ายในสังขารและนามรูป เมื่อปัญญารู้แจ้งสว่างชัดขึ้น ทำลายอวิชชาเป็นมูลรากฝ่ายเกิดดังนี้ ตัณหาและทิฏฐิก็เบาบางหมดไปตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ สามารถปล่อยวางอุปาทานในขันธ์ 5 ได้ยิ่งขึ้น สิ้นรัก สิ้นใคร่ สิ้นอาลัยยินดีในการครองขันธ์และทำนุบำรุงขันธ์เกินความจำเป็น เมื่อรู้เห็นเช่นนี้ แม้อยากจะไปเสียให้พ้นจากสังขารนี้ ก็ยังไม่อาจจะกระทำได้ เหมือนดังนกที่ติดอยู่ในกรง หรือปลาที่ติดเบ็ด จึงได้แต่วางเฉย เพิกเฉยในสังขาร เป็น สังขารุเปกขาญาณ

แล้วจึงยกจิตนั้นขึ้นให้บริสุทธิ์ ใสสะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยน้อมไปเพื่อ อาสวักขยญาณ พิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม อันมีนัยอยู่ในอริยสัจ ให้เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อกระทำอาสวะให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็นพระอรหันตขีณาสพผู้มีอาสวะสิ้นแล้วต่อไป ด้วยการนำเอาญาณทั้ง 2 ในเบื้องต้น คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และ จุตูปปาตญาณ นั้นมาเป็นอุปการะให้สิ้นดังนี้

เมื่อธรรมกายพระโสดาปัตติมรรคปรากฏขึ้นละสัญโญชน์เบื้องต่ำ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้แล้ว จะตกศูนย์ ปรากฏเป็นธรรมกายพระโสดาปัตติผลบังเกิดขึ้นเต็มส่วน ขนาดหน้าตัก ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม 5 วาเต็ม ขาว ใส บริสุทธิ์ มีรัศมีปรากฏ เห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา และก็จะมีญาณหยั่งรู้ถึงการบรรลุพระโสดาปัตติผลนั้น

เมื่อธรรมกายพระสกิทาคามิมรรคปรากฏขึ้นละกิเลสจนเหลือโลภะ โทสะ และโมหะ ที่เบาบางลงมากแล้ว จะตกศูนย์ ปรากฏเป็นธรรมกายพระสกิทาคามิผล มีขนาด 10 วา ขาว ใสบริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปอีก จนผู้ปฏิบัติธรรมนั้นเห็นชัดเจนอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีญาณหยั่งรู้ถึงการบรรลุพระสกิทาคามิผลนั้น

เมื่อธรรมกายพระอนาคามิมรรคปรากฏขึ้นละสัญโญชน์เบื้องต่ำได้อีก 2 คือ ปฏิฆะและกามราคะแล้ว จะตกศูนย์ และจะปรากฏธรรมกายพระอนาคามิผลขึ้น เต็มส่วน 15 วา ขาว ใสบริสุทธิ์ มีรัศมีปรากฏยิ่งขึ้นไปอีก จนเห็นธรรมกายพระอนาคามิผลของตนเองชัดเจนอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีญาณหยั่งรู้การบรรลุพระอนาคามิผลนั้น

เมื่อธรรมกายพระอรหัตตมรรคปรากฏขึ้นละสัญโญชน์เบื้องสูงอีก 5 ประการ ได้แก่ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ และ อวิชชา ได้แล้ว จะตกศูนย์ ปรากฏเป็นธรรมกายพระอรหัตตผล ขยายโตเต็มส่วน มีขนาดหน้าตัก ความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม 20 วา ขาว ใสบริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งนัก เห็นธรรมกายพระอรหัตตผลชัดเจนอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะมีญาณหยั่งรู้การบรรลุพระอรหัตตผลนั้น

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  • พระมงคลเทพมุนี, (สด จนฺทสโร). คู่มือสมภาร. กรุงเทพฯ. วัดปากน้ำภาษีเจริญ, ๒๔๙๒.