วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้นตามแนววิชชาธรรมกาย

จาก วิกิตำรา

สมาธิ คือ ความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนากำหนดเอาไว้เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังวิธีปฏิบัติที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้เมตตาสั่งสอนไว้ดังนี้

  1. กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้ เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทานศีล ๕ หรือ ศีล ๘ เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง
  2. คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบสบายๆ ระลึกถึงความดี ที่ได้กระทำแล้ว ในวันนี้ ในอดีต และที่ตั้งใจจะทำต่อไปในอนาคต จนราวกับว่าร่างกายทั้งหมด ประกอบขึ้นด้วยธาตุแห่งคุณงามความดีล้วนๆ
  3. นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่พอดี ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไป ไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบายคล้ายกับกำลังพักผ่อน ไม่บีบ กล้ามเนื้อตาหรือขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่น วางอารมณ์สบาย สร้างความรู้สึก ให้พร้อม ทั้งกายและใจว่ากำลังจะเข้าไปสู่ภาวะแห่งความสงบสบายอย่างยิ่ง
  4. นึกกำหนดนิมิต เป็น "ดวงแก้วกลมใส" ขนาดเท่าแก้วตาดำ ใสบริสุทธิ์ ปราศจากรอยตำหนิใดๆ ขาวใส เย็นตาเย็นใจ ดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใส นี้เรียกว่า บริกรรมนิมิต นึกสบายๆ นึกเหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ นึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวล เป็นพุทธานุสติว่า "สัมมา อะระหัง" หรือค่อยๆ น้อมนึกดวงแก้วกลมใสให้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกาย ตามแนวฐาน โดยเริ่มต้น ตั้งแต่ฐาน ที่ ๑ เป็นต้นไป น้อมนึกอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ไปพร้อมๆ กับคำภาวนา

อนึ่ง เมื่อนิมิตดวงแก้วกลมใสปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์หากดวงนิมิตนั้นอันตรธานหายไป ก็ไม่ต้องนึกเสียดายให้วางอารมณ์สบายแล้วนึกนิมิตนั้นขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่าหรือเมื่อนิมิตนั้นไปปรากฏที่อื่นที่มิใช่ศูนย์กลางกายให้ค่อยๆ น้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่มีการบังคับ และ เมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้แตะใจหรือสติของเราเบาๆ ลงไปยังจุดศูนย์กลางของดวงนิมิตดวงเดิม แล้วเอาใจจรดไว้เบาๆ สบายๆ ตรงดวงนิมิตนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่คิด ไม่สงสัย ไม่ถาม ไม่นึกอะไร ให้ใจเป็นกลางๆ ก็จะทำให้ใจนุ่มเบาละเอียดมากเข้ามากเข้า จนใจถูกส่วนก็จะเกิดการตกศูนย์ซึ่งคำว่า "ตกศูนย์" นี้นั้น ทุกคนต้องได้สัมผัสหากปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง แต่ละคนมีอาการตกศูนย์ไม่เหมือนกัน บางคนจะมีอาการคล้ายกับตนเองถูกควง หมุนเข้ากลางดำดิ่งลงไป บางคนเหมือนตกจากที่สูง บางคนก็เป็นการตกจากที่สูงแบบรุนแรง บางคนก็ละมุนละไม ซึ่งอาการตกศูนย์ดังกล่าว หากผู้ที่ปฏิบัติธรรมไม่เคยพบมาก่อน หรือ ไม่เคยได้ยินมาก่อนอาจเกิดความกลัว อันที่จริงเมื่อได้สัมผัสอาการตกศูนย์ขอให้จดจำว่า ไม่ต้องกลัว เพราะเป็นเพียงอาการที่ทำให้รู้สึกหวั่นใจ แต่เมื่อผ่านไปได้ก็จะเกิดแสงสว่าง หรือ ดวงสว่างขึ้นมาแทนที่ดวงนิมิตที่เราใช้เป็นบริกรรมนิมิตแต่ต้นนั้น ซึ่ง ดวงธรรมที่ปรากฏหลังการตกศูนย์ เรียกว่า "ดวงธรรม" หรือ "ดวงปฐมมรรค" หรือ "ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ซึ่งเป็นดวงธรรมดวงแรกที่เราจะพบ และ มีอยู่ในกายของมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ดวงปฐมมรรคนี้ เป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน การเดินสติ หรือ สมาธิไปตามดวงธรรมนี้ คือ การแตะใจเบาๆ ที่กลางดวงธรรม อย่างสบายๆ ก็จะทำให้ปรากฏความก้าวหน้าในสมาธิวิปัสสนานี้ ไปเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าถึง พระธรรมกายภายใน

เมื่อออกจากการปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้ว หลายท่านอาจยังคงเห็นดวงธรรม หรือ องค์พระที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อยู่ในทุกอิริยาบท ก็ให้วางใจเบาๆ แตะที่กลางดวงธรรมหรือ ที่ศูนย์กลางกายขององค์พระนั้นไว้ทุกเวลา ทุกอิริยาบท ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ก็จะทำให้ธรรมปฏิบัติก้าวหน้าไปได้มากขึ้นและละเอียดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อควรระวัง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. อย่าใช้ กำลัง คือไม่ใช่กำลังใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ไม่บีบกล้ามเนื้อตา เพื่อจะให้เห็น นิมิตเร็วๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม้เกร็งตัว ฯลฯ เพราะการใช้้กำลัง ตรงส่วนไหนของร่างกายก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อน จากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น
  2. อย่าอยากเห็น คือทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอ จาก บริกรรมภาวนา และบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้น อย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การ บังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เราไม่อาจจะเร่ง เวลาได้
  3. อย่ากังวลถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกสมาธิเพื่อ ให้เข้าถึง พระธรรมกายภายใน อาศัยการนึกถึง "อาโลกกสิณ" คือกสิณ ความสว่างเป็นบาท เบื้องต้น
  4. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้วให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว ไม่ว่า จะอยู่ใน อิริยาบถใด ก็ตาม เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นอนก็ดี หรือนั่งก็ดี อย่าย้าย ฐานที่ตั้งจิตไปไว้ ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึง บริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ควบคู่กันตลอดไป
  5. นิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายทั้งหมด ถ้านิมิต เกิดขึ้นแล้วหายไปก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิต สงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นใหม่อีก