กฎหมาย

จาก วิกิตำรา

กฎหมาย หมายถึง กฎเกณฑ์ คำสั่งหรือข้อบังคับ ที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อควบคุมความประพฤติของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้น ผู้ใดฝ่าฝืน มีสภาพบังคับ

ลักษณะของกฎหมาย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

 กฎหมายต้องมี 5 ประการดังนี้
 1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ

หมายความว่า กฎหมายนั้นต้องอยู่ในรูปของคำสั่ง คำบัญชา อันเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับ เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ มิใช่เป็นการประกาศชวนเชิญเฉย ๆ เช่น ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนคนไทยให้สวมหมวก เลิกกินหมากและให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน ประกาศนี้แจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนิยมให้ประชาชนปฏิบัติอย่างไร มิได้บังคับจึงไม่เป็นกฎหมาย

 2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์  

รัฎฐาธิปัตย์คือ ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน โดยที่ไม่ต้องฟังอำนาจจากผู้ใดอีก ดังนี้รัฎฐาธิปัตย์จึงไม่ต้องพิจารณาถึงที่มาหรือลักษณะการได้อำนาจว่าจะได้อย่างไร แม้จะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตามถ้าหากคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่สามารถออกคำสั่ง คำบัญชาในฐานะเป็นกฎหมายของประเทศได้

	3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป

หมายความว่า กฎหมายต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุ เพศ หรือฐานะอย่างไรก็ตกอยู่ภายใต้ของการใช้บังคับกฎของกฎหมายอันเดียวกัน (โดยไม่เลือกปฏิบัติ) เพราะบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคล หรือวางความรับผิดชอบให้แก่คนบางหมู่เหล่า แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าใช้บังคับทั่วไปอยู่เหมือนกัน เพราะคนทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ

4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม

แม้การปฏิบัติบางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติ แต่หากเป็นคำสั่ง คำบัญชาแล้ว ผู้รับคำสั่ง คำบัญชา ต้องปฏิบัติตาม หากขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดสภาพบังคับของกฎหมาย อันเป็นผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น และเป็นที่พึงเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติตามกฎหมายได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่สัตว์ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมมิให้สัตว์ก่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนรำคาญแก่มนุษย์ ดังนี้กฎหมายจึงกำหนดความรับผิดไว้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ปล่อยปะละเลยไม่ควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตามสมควร จึงมิใช่เป็นการออกคำสั่ง คำบัญชาแก่สัตว์ แต่เป็นการควบคุมโดยผ่านทางผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้คำเสียหายทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย”

5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ

กฎหมายนั้นเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่เชื่อมโยงกับอำนาจบังคับฝ่ายเดียวของรัฐ กล่าวคือ กฎหมายนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า "สภาพบังคับ" (SANCTION) สภาพบังคับของกฎหมายนั้นแบ่งเป็นสภาพบังคับในทางอาญาและทางแพ่ง สภาพบังคับให้ทางอาญาโดยทั่วไปแล้วคล้ายคลึงกัน คือ หากเป็นโทษสูงสุดจะใช้วิธีประหารชีวิต ซึ่งบางประเทศใช้วิธีการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า แขวนคอ แต่ประเทศไทยในปัจจุบันให้นำไปฉีดยาให้ตายใช้วิธีประหารด้วยวิธีอื่นไม่ได้ นอกจากนั้นก็เป็นการจำคุก เป็นการเอาตัวนักโทษควบคุมในเรือนจำ ซึ่งต่างกับกักขังเป็นการเอาตัวไปกักไว้ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่นที่อยู่ของผู้นั้นเอง หรือสถานที่อื่นที่ผู้ต้องกักขังมีสิทธิดีกว่าผู้ต้องจำคุก สำหรับกฎหมายไทยโทษกักขังจะใช้เฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดครั้งแรก และความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ศาลจึงจะลงโทษกักขังแทนจำคุกได้ ส่วนการปรับคือ ให้ชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล การริบทรัพย์สิน คือ การริบเอาทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เช่น ปืนที่เตรียมไว้ยิงคน หรือเงินที่ไปปล้นเขามา นอกจากการริบแล้วอาจสั่งทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้ สภาพบังคับในทางแพ่งก็ได้แก่ การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น การซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตกเป็นโมฆะ การทำนิติกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี เป็นการพ้นวิสัยก็ดี เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ตกเป็นโมฆะ การให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจากการไม่ชำระหนี้ การให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกละเมิดเป็นต้น

กฎหมายอาญา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กฎหมายอาญา (Criminal  Law) 

เป็นกฎหมายที่กำหนดเรื่องความผิด และบทลงโทษไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ เพราะรัฐมีหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมือง กฎหมายอาญาจึงกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งกระทำความผิดขึ้น กฎหมายอาญามีลักษณะที่สำคัญ 2 ส่วนคือ

 ส่วนที่บัญญัติถึงความผิด  หมายความว่าได้บัญญัติถึงการกระทำ  และการงดเว้นกระทำการอย่างใดเป็นความผิดอาญา
  ส่วนที่บัญญัติถึงโทษ  หมายความว่าบทบัญญัตินั้น ๆ นอกจากจะได้ระบุว่าการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว  ต้องกำหนดโทษอาญาสำหรับความผิดนั้น ๆ ไว้ด้วย

ตัวอย่าง

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  บัญญัติว่า  

“ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต จำคุกตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบปี”

 ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  358  บัญญัติว่า  

“ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลายทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ฉะนั้น กฎหมายอาญาจึงต้องประกอบไปด้วยส่วนที่บัญญัติถึงความผิด และส่วนที่บัญญัติถึงโทษด้วย ส่วนโทษอาญาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ประหารชีวิต

	จำคุก

กักขัง

	ปรับ
	ริบทรัพย์สิน

นอกจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่นที่กำหนดความผิดเฉพาะเรื่อง และวางโทษไว้ด้วย เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องปืน และวัตถุระเบิด และพระราชบัญญัติการพนัน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติศุลกากร เป็นต้น พระราชบัญญัติพิเศษที่ระบุความผิดทางอาญา และกำหนดโทษไว้ด้วยเหล่านี้รวมเรียกว่ากฎหมายอาญาทั้งสิ้น


 หลักเกณฑ์สำคัญของประมวลกฎหมายอาญา  มีดังนี้
จะไม่มีความผิดโดยไม่มีกฎหมาย  หมายความว่า กฎหมายอาญาจะใช้บังคับได้เฉพาะการกระทำซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นความผิด ถ้ากฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำไม่ถือว่าเป็นความผิดแล้ว  จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดไม่ได้  และจะลงโทษกันไม่ได้  หลักเรื่องกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังนี้  กฎหมายไม่ให้ย้อนหลังก็เฉพาะที่จะเป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำความผิดเท่านั้น เช่น การกระทำความผิดใดที่ล่วงเลยการลงโทษ  หรือล่วงเลยอายุความฟ้องร้อง แม้จะได้มีกฎหมายใหม่บัญญัติกำหนดอายุความมากขึ้นกว่าเดิม  ก็จะเอาตัวผู้กระทำมาฟ้องร้องลงโทษไม่ได้  แต่หากกฎหมายใหม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายเก่าเช่นนี้  กฎหมายก็ให้มีผลย้อนหลังได้  เช่น ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 3 บัญญัติว่า  “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด  ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด...”
จะไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย  คือบุคคลจะต้องรับโทษต่อเมื่อมีกฎหมาย  ที่ใช้อยู่ในขณะกระทำบัญญัติให้ต้องรับโทษนั้น ๆ เช่น  การกระทำความผิดที่มีแต่โทษปรับ  ศาลก็ลงโทษได้แต่โทษปรับ  ศาลจะลงโทษจำคุกซึ่งไม่ใช้โทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้
จะต้องตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด  กล่าวคือ  กรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายเป็นที่น่าสงสัย  จะตีความโดยขยายความไปลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้ต้องหาไม่ได้  แต่อาจตีความโดยขยายความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาได้  ฉะนั้น  หลักเกณฑ์ของกฎหมายอาญาจึงเกิดโดยตรงจากตัวบทเท่านั้น  และการตีความบทบัญญัติทั้งหลายนั้นก็จะต้องตีความโดยเคร่งครัด  กล่าวคือ  การกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดนั้น และการตีความบทบัญญัติทั้งหลายนั้นก็จะต้องตีความโดยเคร่งครัด  กล่าวคือ  การกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดนั้น  จะต้องอยู่ในความหมายตามปกติธรรมดาของถ้อยคำทั้งหลายที่ใช้ในกฎหมายนั้น  จะขยายถ้อยคำเหล่านั้นออกไปไม่ได้
การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย  ในกรณีที่ประมวลกฎหมายอาญาหรือพระราชบัญญัติอื่นที่บัญญัติความผิดและโทษไม่มีบัญญัติไว้  ซึ่งเรียกว่าช่องว่างแห่งกฎหมายนั้น ศาลจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้  แต่ศาลอาจอุดช่องว่างแห่งกฎหมายเพื่อให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้

อื่น ๆ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอดไป จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือถูกยกเลิก  หากไม่มีการยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ได้เสมอ

อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]