ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายครอบครัว

จาก วิกิตำรา

การหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้หญิง การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 บริบูรณ์แล้ว 

ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ กล่าวคือ เมื่อหมั้นกันแล้วฝ่ายหนึ่งไม่ยอมสมรสด้วย อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับไม่ได้ แต่อาจฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายได้ 

กฎหมายมิได้บัญญัติว่าจะทำการสมรสได้ต่อเมื่อมีการหมั้นกันก่อน ฉะนั้นชายหญิงอาจทำการสมรสกันโดยไม่มีการหมั้นก็ได้ 

ของหมั้น เป็นทรัพย์สินของฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง ถ้าฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย

สินสอด เป็นทรัพย์สินของฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤิตการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ 


เงื่อนไขแห่งการสมรส

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ เช่น ชายหรือหญิงหรือทั้งสองคนอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ แต่มีความจำเป็นต้องทำการสมรสเพราะต้องเดินทางไปต่างประเทศในฐานะครอบครัวที่เป็นสามีภรรยากัน ศาลอาจเห็นสมควรอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ 

ข้อห้ามมิให้ทำการสมรส 
1. ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ 

2. ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดา มารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา กรณีเช่นนี้ลูกพี่ลูกน้องแม้จะใช้ชื่อสกุลเดี่ยวกันก็อาจจะทำการสมรสกันได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามไว้ 

3. ชายหรือหญิงขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว 

4. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ การสมรสจะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี การจดทะเบียนสมรส ตามปกติแล้วจะจด ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่เขตที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมินำเลาอยู่



ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สามีภรรยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู กันตามความสามารถและฐานะของตน ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ถ้าสามีภริยาได้ทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินไว้เป็นพิเศษอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็น “สินส่วนตัว” ย่อมเป็น “สินสมรส” 

สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

  1. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
  2. ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  3. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
  4. ที่เป็นของหมั้น

สินส่วนตัวของฝ่ายใดถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นซื้อทรัพย์สินอื่นมาหรือขายได้เป็นเงินมา ทรัพย์สินอื่น หรือเงินนั้นเป็นส่วนตัวของฝ่ายนั้น สินส่วนตัวของฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ 

สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

  1. ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
  2. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบถว่าเป็นสินสมรส
  3. ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

การสิ้นสุดแห่งการสมรส

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนหรือให้หย่า ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หมายความว่า การสมรสตกเป็นโมฆียะ เช่น คู่สมรสอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือสำคัญผิดในตัวคู่สมรสถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ การสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะและเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้นก็สิ้นสุดลง 

การหย่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นตัวหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน และจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการหย่าแล้ว 

เหตุฟ้องหย่าเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่ามีหลายกรณี แต่จะยกมากล่าวเฉพาะที่สำคัญ ๆ ดังนี้

  1. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันสามีภรรยา หรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  2. สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยาม อีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ถ้าเป็นการร้ายแรงอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  3. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  4. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญหรือ ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่เป็นอยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  5. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  6. สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  7. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

บิดามารดากับบุตร 
1. บุตรชอบด้วยกฎหมาย

กรณีที่เกิดปัญหามีเฉพาะว่าบุตรที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือไม่ ซึ่งจะมีผลไปถึงอำนาจปกครองของบิดา ค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูและการรับมรดกส่วนมรดกนั้นไม่มีปัญหา กล่าวคือ กฎหมายบัญญัติว่า เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามีได้ 3 ประการคือ

  1. บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ทำการสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
  2. บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ต่อมาบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง
  3. บิดาจดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรของบิดา

นอกจาก 3 กรณีดังกล่าวแล้วจะมีบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาอีกไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าบิดา แสดงพฤติการณ์รับรองว่าเป็นบุตร (ไม่ได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร) เช่น ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้ชื่อสกุล เป็นต้น บุตรดังกล่าวมีสิทธิรับมรดกของบิดาเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ต่างกันแต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย เช่น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น 

2. สิทธิ หน้าที่ ของบิดามารดาและบุตร

  1. บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฎ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุล
  2. บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
  3. บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
  4. บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองหรือสิทธิของบิดามารดา ได้แก่ 
    ก. กำหนดที่อยู่ของบุตร 
    ข. ทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน 
    ค. ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป 
    ง. เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ๆ ซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  5. ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ กล่าวคือลูก หลาน (ลูกของลูก) จะฟ้องพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และทวดของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ซึ่งแต่ก่อนเรียกคดีประเภทนี้ว่า “อุทลุม”

3. การย้ายที่อยู่ เมื่อย้ายที่อยู่ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งดังต่อไปนี้

  1. เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้านให้แจ้งการย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก
  2. เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่บ้านให้แจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างเสร็จ เพื่อขอเลขหมายประจำบ้าน

การแจ้งการสร้างบ้านใหม่และการรื้อถอนบ้านไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 

ความผิด ไม่แจ้งตามข้อ (1) (2) ภายในกำหนด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 


สถานที่แจ้งขอเลขบ้าน กรณีสร้างบ้านใหม่และการแจ้งรื้อถอนบ้าน

  1. ในเขตเทศบาล ให้แจ้งขอเลขบ้านกรณีสร้างบ้านใหม่หรือแจ้งรื้อถอนบ้านที่สำนักงานเทศบาล
  2. นอกเขตเทศบาล ให้แจ้งขอเลขบ้านกรณีสร้างบ้านใหม่หรือแจ้งรื้อถอนบ้านที่ที่ว่าการอำเภอหรือที่ผู้ช่วยนายทะเบียนประจำหมู่บ้าน
  3. ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งขอเลขบ้านกรณีสร้างบ้านใหม่หรือแจ้งรื้อถอนบ้านที่สำนักงานเขต