ตำราอาหาร:ไข่ยัดไส้

จาก วิกิตำรา

ไข่ยัดไส้ เป็นอาหารคาวประเภทหนึ่งซึ่งใช้ ไข่ เป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งนี้จะใช้ไข่ไก่ หรือไข่เป็ดก็ได้ ลักษณะของไข่ยัดไส้ ประกอบด้วยส่วนหลักสองส่วนคือ ส่วนห่อหุ้มด้านนอกที่ทำจากไข่ และไส้ใน มีรสชาติ หวาน เปรี้ยว เป็นหลักและมีรสเค็มเล็กน้อย มีสัมผัสการทานที่กรุบกรอบจากใส้ใน และนุ่มนวลจากไข่ที่หุ้มอยู่ภายนอก

วัตถุดิบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ไข่ไก่ หรือไข่เป็ด จำนวน 3 ฟอง คนให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากัน แต่ไม่ต้องถึงกับขึ้นฟู

ส่วนที่เป็นไส้[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. มะเขือเทศสีดา 1 ลูก หั่นลูกเต๋าขนาดเล็ก
  2. แครอท ครึ่งถ้วยตวง หั่นลูกเต๋าขนาดเล็ก
  3. ถั่วฝักยาว หั่นซอย ครึ่งถ้วยตวง
  4. ข้าวโพดอ่อน หั่นซอย ครึ่งถ้วยตวง
  5. หัวหอมใหญ่สับ 1/2 ผล
  6. กระเทียม 3-5 กลีบ
  7. น้ำมันพืช
  8. เนื้อหมู หรือไก่สับ 1 ถ้วยตวง

เครื่องปรุงรส[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
  2. น้ำตาลทรายขาว 2 ช้อนโต๊ะ
  3. ผงปรุงรส รสหมู หรือไก่ 1/2 ช้อนชา
  4. ซอสพริก 3 ช้อนโต๊ะ
  5. ซอสมะเขือเทศ 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เริ่มต้นจากผัดใส้โดยใส่น้ำมันพืช กระเทียม เจียวให้หอม ใส่หอมใหญ่ลงไปผัดให้สุก

ใส่หมูสับลงไปผัดจากนั้นใส่มะเขือเทศ แครอท ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน ผัดให้เข้ากัน

ใส่เครื่องปรุงรสทุกอย่าง ผัดให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ

ผัดให้ค่อนข้างแห้ง เพื่อขณะที่ห่อ ไส้ในจะได้ไม่แตกออกมา

ตักใส่จานพักไว้

นำน้ำมันพืช เทใส่กระทะ กลอกน้ำมันในกระทะให้ทั่วทั้งใบ เทน้ำมันส่วนที่เหลือออก ใช้ไฟขนาดกลางค่อนข้างแรง เมื่อกระทะร้อน เทไข่ไก่ที่คนผสมไว้ลงในกระทะ แผ่ไข่ไก่ให้ทั่วบริเวณ จากนั้นลดไฟลงเป็นไฟกลาง หยอดน้ำมันพืชบริเวณรอบๆกระทะ เพื่อให้ไข่ไก่ร่อนออกจากกระทะได้ง่าย เมื่อไข่ไก่สุกดีแล้ว ให้ตักไส้ที่เตรียมไว้ ใส่ลงไปตรงกลาง

แซะไข่ไก่ที่สุกแล้วจากด้านข้างกระทะมายังกึ่งกลาง เพื่อหุ้มไส้ ทำเช่นนี้ทั้ง 4 ด้าน จะได้ไข่ไก่ที่ห่อไส้เป็นลักษณะสี่เหลี่ยม

ใช้ตะหลิวพลิกไข่พร้อมไส้ ให้ด้านที่พับพลิกลงด้านล่าง (ขั้นตอนนี้ต้องระวัง มิให้ไส้ภายในแตกออกมา)

หากกระทะมีขนาดเล็ก ให้แบ่งการทำออกเป็นสองหรือสามชิ้นตามแต่สะดวก

ตักใส่จาน เสิร์ฟ ทานพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ

สารบัญ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ต้มยำแซบ ระดับการพัฒนา: 100% (ณ วันที่ 10 ก.ย. 2548) พะแนงไก่ ระดับการพัฒนา: 100% (ณ วันที่ 6 ต.ค. 2548) หมี่กรอบสูตรคุณยายเกื้อ ระดับการพัฒนา: 100% (ณ วันที่ 17 พ.ค. 2549)