ที่มาของจริยธรรม

จาก วิกิตำรา

1. จริยธรรมที่เป็นทั้งธรรมชาติ กฎ หรือหลักการของธรรมชาติที่ปรากฏทั่วไป มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมสสาร สิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติทั่วไปที่เป็นรูปธรรม

2. จริยธรรมเป็นพฤติกรรม หรือการกระทำของมนุษย์ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งอาจสัมผัสได้ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด

3. จริยธรรม เป็นข้อกำหนดทางศาสนา ซึ่งจะเรียกว่า ศีลธรรม ( Moral Ethics ) เพราะศาสนาทุกศาสนาได้กำหนดหลักปฏิบัติไว้ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข โดยมิต้องเบียดเบียน หรือทำร้ายซึ่งกันและกัน พุทธศาสนากำหนดหลักปฏิบัติพื้นฐานสำหรับฆราวาสคือ ศีล 5 ซึ่งได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มสุรา คำสอนของศาสนาใด ๆ ก็ตามเป็นสิ่งที่ศาสนาได้ปฏิบัติมาแล้ว และสั่งสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม จนเกิดผลดีงาม ไม่ว่าจะเป็นคำสอนของพุทธศาสนา อิสลาม หรือคริสต์ ก็ตาม

4. จริยธรรมมาจากค่านิยมต่าง ๆ ซึ่งแต่ละสังคมจะมีค่านิยมที่แตกต่างกันได้ เนื่องจากแต่ละสังคมมีความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม และประวัติความเป็นมา

5. ปรัชญา คือ วิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง สาระของปรัชญาจะกล่าวถึงลักษณะชีวิตที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์ สภาพสังคมที่ดี ความคิดเชิงปรัชญาจะเป็นความเชื่ออย่างมีเหตุผล ปรัชญาจะกล่าวถึงความดี ความงาม ค่านิยม เพื่อจะได้ยึดถือ เป็นหลักปฏิบัติต่อไป

6. วรรณคดี เป็นหนังสือที่มีมาตรฐานทั้งด้านเนื้อหาสาระและคุณค่า ชาติที่เจริญแล้วจะมีวรรณคดีของตนเอง หนังสือวรรณคดีจะมีคำสอนที่เป็นแนวปฏิบัติได้ เช่น สุภาษิตพระร่วง โคลงโลกนิติ สุภาษิตสอนหญิง กล่าวได้ว่า วรรณคดีเป็นแหล่งกำเนิด หรือเป็นที่รวบรวมของจริยธรรมด้วย

7. สังคมแต่ละสังคมได้กำหนดวิธีปฏิบัติของสมาชิกไว้ ดังจะเห็นได้จากขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆที่ยอมรับสืบทอดกันมา

8. การเมืองการปกครอง ในระบอบการเมืองการปกครอง ได้มีการกำหนดข้อบังคับ ระเบียบกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเพื่อความยุติธรรมโดยทั่วไป

สารบัญ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]