ประวัติกฎหมายแพ่ง

จาก วิกิตำรา

ประวัติ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

หลังจากรัฐบาลสยามตัดสินใจจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ใน ร.ศ.127 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2451 ก็ได้กฎหมายลักษณะอาญาเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศและประกาศใช้ในปีนั้นเอง ครั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้จัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป ดังปรากฏในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ในเวลานี้ยังกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง สมควรจะนำมารวบรวมไว้แห่งเดียวกันและจัดเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สมแก่กาลสมัย ความเจริญ และพาณิชยกรรมแห่งบ้านเมือง และความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ส่วนหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งศาลยุติธรรมได้เคยยกขึ้นปรับสัตย์ตัดสินคดีเนือง ๆ มาโดยธรรมเนียมประเพณีอันควรแก่ยุติธรรมนั้น สมควรจะบัญญัติไว้ให้เป็นหลักฐานและกิจการบางอย่างในส่วนแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่มีกฎหมายที่ใช้อยู่ในบัดนี้ ก็ควรจะบัญญัติขึ้นไว้ด้วย…ทางที่จะให้ถึงซึ่งผลอันนี้ ควรจะประมวลและบัญญัติบทกฎหมายที่กล่าวมาแล้วเข้าเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามแบบอย่างซึ่งประเทศอื่น ๆ ได้ทำมา…”

พระองค์โปรดให้ตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสล้วน ๆ ทั้งนี้ เหตุว่าอิทธิของฝรั่งเศสยังมีเหนือสยามอย่างมากในสมัยนั้น ไทยจึงจำต้องยอมตั้งชาว

ฝรั่งเศสเป็นผู้ร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการร่างกฎหมายประกอบด้วย

ที่ ชาติ ชื่อ ตำแหน่ง
1. ฝรั่งเศส ชอร์ช ปาดู (Georges Padoux) ประธานกรรมการ
2. ฝรั่งเศส โมรีซ อองรี ลูอี เลอกงป์-มงชาร์วีย์ (Maurice Henri Louis Lecompte-Moncharville) กรรมการ
3. ฝรั่งเศส เรอเน กียง (René Guyon) กรรมการ
4. ฝรั่งเศส ลูอี รีวีแยร์ (Louis Rivière) กรรมการ
5. ฝรั่งเศส แซ็กนิตซ์ (Segnitz) กรรมการ
6. ฝรั่งเศส ลาฟอร์กาด (Laforcade) กรรมการ
7. ฝรั่งเศส ชาร์ล เลแว็ก (Charles L’Evêques) กรรมการ

คณะกรรมการชุดดังกล่าวเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. 2451 นั้นเอง โดยวางโครงสร้างทั่วไปของประมวลกฎหมาย ก่อนจะประชุมหารือกันว่าจะจัดทำเป็นประมวลกฎหมายสองฉบับ ประมวลฉบับแรกว่าด้วยเรื่องหนี้ อีกฉบับว่าด้วยเรื่องอื่น เช่นที่เป็นอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประเทศตูนีเซีย และประเทศโมรอกโกหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าให้จัดทำเป็นประมวลกฎหมายฉบับเดียวที่ว่าด้วยเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ทั้งหมดจะเหมาะสมกว่าแล้วจึงเริ่มลงมือร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้แก่ราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 ชอร์ช ปาดู เดินทางกลับไปยุโรปและได้แนะนำเดแลสเตร (Délestrée) แก่ทางการไทยให้รับหน้าที่แทนตน ปรากฏว่าเดแลสเตรผู้นี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการยกร่าง ซ้ำเขายังรื้อโครงการที่ชอร์ช ปาดู และคณะทำไว้ก่อนหน้า ทำให้ร่างประมวลกฎหมายเกิดความอลเวง และการดำเนินงานเป็นไปโดยเชื่องช้าอย่างถึงที่สุด เมื่อชอร์ช ปาดู เดินทางกลับมาใน พ.ศ. 2549 ถึงกับตกตะลึงที่รับทราบว่างานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยุ่งเหยิงถึงเพียงนั้น ทั้งที่ตนได้วางระเบียบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เขาถึงเจรจราให้เดแลสเตรลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสีย เพื่อเขาจะได้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง และแล้ว งานร่างประมวลกฎหมายก็ดำเนินต่อไป และใน พ.ศ. 2459 นั้นเอง จึงได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สองบรรพแรก คือ บรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 หนี้ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลสยามต้องสูญเสียงบประมาณไปถึง 770,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินมหาศาลในกาลครั้งนั้น แต่กลับได้ร่างกฎหมายเพียงแค่สองบรรพ[1]

  1. https://juneziipaiboonattakit.wordpress.com/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB/