ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์เยอรมนี

จาก วิกิตำรา


ประวัติศาสตร์เยอรมนี 

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เยอรมนี เริ่มต้นด้วยการต้านทานการยึดครองโดยชาวโรมันของชนเจอร์มานิค ซึ่งเมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายชนชาติเยอรมันก็กลายเป็นกลุ่มชนผู้มีอำนาจในยุประวัติศาสตร์โรปเข้าแทนที่ชาวโรมัน จนนำไปสู่กำเนิดจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ จักรวรรดิที่ 1 ในสมัยกลาง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ธำรงอยู่กว่าพันปีแต่ก็เป็นเพียงจักรวรรดิที่มองไม่เห็น เพราะรัฐต่าง ๆ ในเยอรมันร้อยกว่ารัฐต่างแยกตัวเป็นอิสระจากพระจักรพรรดิ จนนโปเลียนยกเลิกจักรวรรดินี้ไปกลายเป็นสมาพันธรัฐเยอรมัน เป็นกลุ่มของรัฐต่าง ๆ จนราชอาณาจักรปรัสเซียสามารถรวมประเทศเยอรมนีได้โดยการนำของบิสมาร์ก ก็กลายเป็นจักรวรรดิเยอรมัน หรือ จักรวรรดิที่ 2 แต่ด้วยการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้เยอรมนีกลายเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ จนถูก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำลัทธินาซีแผ่ขยายดินแดนไปทั่วยุโรปในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือ จักรวรรดิที่ 3 จนฮิตเลอร์พ่ายแพ้เยอรมนีจึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ เยอรมนีตะวันออก และ เยอรมนีตะวันตก จนรวมกันกลายเป็นประเทศเยอรมนีอีกครั้งใน ค.ศ. 1990

ชนชาติเยอรมัน

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]


ประมาณ 100 ปีก่อน ค.ศ. ชนชาติเยอรมันลงใต้จากสแกนดิเนเวียและแพร่กระจายไปทั่วตั้งแต่แม่น้ำไรน์จนถึงเทือกเขาอูราล และเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายของจักรวรรดิโรมัน แม้ชาวโรมันจะพยายามจะพิชิตชาวเยอรมัน ใน ค.ศ. 9 ทัพโรมันพ่ายแพ้ชาวเยอรมันที่ป่าทอยโทบวร์ก (Teutoburg Forest) ทำให้ชาวโรมันเลิกล้มความคิดที่จะรุกรานเยอรมัน และชนชาติเยอรมันก็รุกคืบไปตั้งรกรากตามชายแดนจักรวรรดิโรมัน และแตกออกเป็นหลายเผ่า ที่มีชื่อเสียงคือ วิซิกอธ แวนดัล แฟรงก์ ฯลฯ และเข้ารีตคริสต์ศาสนานิกายอาเรียนิสม์ (Arianism) ซึ่งชาวโรมันไม่ยอมรับ

แต่ในศตวรรษที่ 4 ชาวฮั่นมาจากเอเชียเป็นนักรบบนหลังม้าที่ป่าเถื่อน เข้าบุกเผาทำลายหมู่บ้านและสังหารชาวเยอรมันอย่างโหดเหี้ยม ทำให้เผ่าเยอรมันต่าง ๆ ทนไม่ไหวต้องหลบหนีเข้าไปในจักรวรรดิโรมัน บ้างด้วยสันติวิธีบ้างก็บุกเข้าไป ทำให้จักรวรรดิโรมันอ่อนแอ จนใน ค.ศ. 410 โอโดอาเซอร์ (Odoacer) ผู้นำเผ่าเยอรมันเผ่าหนึ่ง ยึดกรุงโรมและปลดจักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายใน ค.ศ. 476 จักรวรรดิโรมันจึงล่มสลาย

เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายชาวแฟรงก์ที่ตั้งรกรากในฝรั่งเศสก็เรืองอำนาจที่สุดในยุโรปภายใต้ราชวงศ์เมโรวิงเจียน ในเยอรมนี มีเผ่าต่าง ๆ ปกครองตนเองได้แก่พวกซูเอบี (Suebi) พวกธือริงเงน (Thuringen) พวกแซกซอน (Saxons) พวกบาวาเรียน (Bayern) และพวกแฟรงก์ (Franks)ซึ่งจะกลายเป็นชื่อแคว้นต่าง ๆ ในเยอรมนี (สวาเบีย ธูรินเจีย แซกโซนี บาวาเรีย และฟรังโคเนีย ตามลำดับ) แต่เผ่าเหล่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพวกแฟรงก์ ซึ่งแผ่ขยายอำนาจมาในศตวรรษที่ 5 ถึง 8 โดยเฉพาะสงครามกับพวกแซกซอนของพระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) ของชาวแฟรงก์ แห่งราชวงศ์คาโรลิงเจียน ทำให้พวกแซกซอนต้องเข้ารีตศาสนาคริสต์และอยู่ภายใต้การปกครองของพวกแฟรงก์

ยังมีเผ่าเยอรมันอีกเผ่า คือ พวกลอมบาร์ด (Lombards) เข้าบุกอิตาลี ทำให้พระสันตะปาปาทรงขอให้พระเจ้าชาร์เลอมาญทรงช่วยเหลือ พระเจ้าชาร์เลอมาญทรงขับไล่พวกลอมบาร์ดได้และได้รับการสวมมงกุฎจากพระสันตะปาปาเป็นจักรพรรดิโรมัน ใน ค.ศ. 800 เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรวรรดิของพระเจ้าชาร์เลอมาญถูกแบ่งเป็นสามส่วนตามสนธิสัญญาแวร์ดังใน ค.ศ. 843 อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกจะกลายเป็นเยอรมนีในปัจจุบัน 

การปฏิรูปศาสนา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

พระสันตะปาปาทรงต้องการจะหาเงินมาสร้างวิหารอันสวยงามตามสถาปัตยกรรมเรเนสซองส์ จึงทรงขายบัตรไถ่บาป (indulgences) ในเยอรมนีเพื่อหาเงินโดยอ้างว่าใครซื้อบัตรนี้จะได้รับการไถ่บาป ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการประท้วงจากทั้งชาวบ้านขุนนางและสงฆ์ทั้งหลาย การปฏิรูปศาสนา (The Reformation)จึงเริ่มใน ค.ศ. 1517 เมื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ตอกตะปูคำประท้วง 95 ข้อ (95 Theses) ไว้หน้าโบสถ์ในเมืองวิทเทนเบิร์ก (Wittenburg) ลูเธอร์ได้รับการสนับสนุนจากอิเล็กเตอร์แห่งแซกโซนี จักรพรรดิชาร์ลส์และพระสันตะปาปาทรงเรียกประชุมสภาเมืองวอร์มส์ (Diet of Worms) บังคับให้ลูเธอร์ขอโทษพระสันตะปาปาและถอนคำประท้วงคืน แต่ลูเธอร์ไม่ยอม

นิกายลูเธอร์จึงแผ่ขยายไปทั่วเยอรมนี เป็นนิกายแรกของโปรเตสแตนต์ เพราะบรรดาเจ้าครองแคว้นต่างต้องการพ้นจากอำนาจของจักรพรรดิจึงใช่ศาสนาเป็นเครื่องมือ อิเล็กเตอร์แห่งแซกโซนีให้ลูเธอร์เก็บตัวอยู่ในปราสาทวาร์ตบูร์ก (Wartburg Castle) เพื่อความปลอกภัยและที่นั่นเองลูเธอร์แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเยอรมันเป็นครั้งแรก

บรรดาชาวบ้านที่เข้านับถือนิกายลูเธอร์ (Lutheranism) จึงฉวยโอกาสก่อกบฏใน ค.ศ. 1524 ต่อเจ้านครต่าง ๆ ในสงครามชาวบ้าน (Peasants' War) แต่เจ้าครองแคว้นก็ปราบปรามกบฏอย่างรวดเร็ว และขุนนางใหญ่คืออิเล็กเตอร์แห่งแซกโซนีและแลนด์กราฟแห่งฮีส (Landgrave of Hesse) ตั้งสันนิบาติชมาลคาดิค (Schmalkadic League) และชักชวนขุนนางอื่น ๆ เข้าร่วมอ้างว่าเพื่อปกป้องนิกายโปรเตสแตนต์ แต่ที่จริงเพื่อทำลายอำนาจของจักรพรรดิ จักรพรรดิชาร์ลส์ทรงง่วนอยู่กับสงครามต่างประเทศ ทำให้นิกายโปรเตสแตนต์สามารถแทรกซึมฝังรากลึกลงไปในเยอรมนี จนใน ค.ศ. 1546 ก็ทรงว่างสามารถมาปราบกบฏขุนนางโปรเตสแตนต์ เป็นสงครามชมาลคาดิค (Schmalkadic War)และปราบได้ใน ค.ศ. 1547 ใน ค.ศ. 1548 ทรงทำสันติภาพออกซ์บูร์ก (Peace of Augsburg) ยอมรับนิกายลูเธอร์ (แต่ไม่ยอมรับนิกายอื่น) และใช้คนในรัฐนั้นนับถือศาสนาตามเจ้าครองแคว้น (Cuius regio, eius regio)

สมาพันธรัฐเยอรมัน

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

คองเกรสแห่งเวียนนาให้แคว้นต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมันเดิม รวมตัวกลายเป็นสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation) มีจักรพรรดิออสเตรียเป็นประมุข มีสภาสมาพันธรัฐ (Federal Assembly) ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ตเป็นสภาหารือกิจการบ้านเมือง ทางปรัสเซียก็ได้รับการฟื้นฟูดินแดนคืน มีผลทำให้ออสเตรียและปรัสเซียเป็นสองมหาอำนาจที่แผ่อิทธิพลเข้าครอบงำเยอรมนี

แม้คองเกรสแห่งเวียนนาจะพยายามบีบให้ยุโรปกลับสู่ระบอบสมบูรณายาสิทธฺราชย์สักเพียงใด แต่ก็สายไปแล้ว เพราะด้วยอิทธิพลของฝรั่งเศสและนโปเลียน ทำให้แนวความคิดเสรีนิยม (Liberalism) ฝังรากลงไปในเยอรมนี ใน ค.ศ. 1817 พวกนักศึกษาหัวก้าวหน้าจัดงานเลี้ยงที่เมืองวาร์ตบูร์กเผาทำลายหนังสือที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์ ใน ค.ศ. 1819 นักศึกษาคนหนึ่งสังหารอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพราะตำหนิแนวความคิดเสรีนิยมและชาตินิยม (Nationalism) ของนักเรียน ทำให้เจ้าชายเมตเตอร์นิคทรงออกกฤษฎีกาคาร์ลสบาด (Karlsbad Decrees)ให้มีการเซนเซอร์หนังสือและควบคุมมหาวิทยาลัยมิให้แนวความคิดปฏิวัติแพร่ไป รวมทั้งลงโทษพวกเสรีนิยมด้วย แต่พวกเสรีนิยมก็เก็บความเคียดแค้นไว้ เกิดนักเขียนหลายท่านตามกระแสโรแมนติค (Romanticism) ที่มีผลงานปรัชญาต่อต้านระบอบกษัตริย์ เรียกว่า สมัยฟอร์ไมซ์ (Vormärz - สมัยก่อนเดือนมีนาคม)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่เยอรมนีในที่สุด สมาพันธรัฐเยอรมัน ยกเว้นออสเตรีย ทำข้อตกลงการค้าเสรีปลอดภาษีกับรัสเซีย รวมกันเป็นเขตเสรีการค้าโชลเฟอเรน (Zollverein)

ใน ค.ศ. 1848 เกิดการปฏิวัติทั่วยุโรป ในเยอรมนีก็เช่นกัน เรียกว่าการปฏิวัติเดือนมีนาคม (March Revolution) ในแคว้นต่าง ๆ ทั่วเยอรมัน บรรดาเจ้าครองนครต่างเกรงว่าตนจะประสบชะตากรรมเดียวกับกษัตริย์ฝรั่งเศส จึงยอมจำนนแต่โดยดี ขณะปฏิวัติกำลังจะร่างรัฐธรรมนูญที่สภาแฟรงเฟิร์ต และมอบบัลลังก์ให้พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่ 4 แห่งปรัสเซียไปครอง แต่ทรงปฏิเสธ ทำให้การปฏิวัติล้มเหลวจบลงทันที เจ้าครองแคว้นก็ลุกฮือต่อต้านอีกครั้ง คณะปฏิวัติจึงสลายตัว

จักรวรรดิเยอรมันและสงครามโลกครั้งที่ 1

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

(เยอรมัน: Deutsches Reich, หรืออย่างไม่เป็นทางการว่าDeutsches Kaiserreich ; อังกฤษ: German Empire)เป็นชื่อที่ใช้เรียกเพื่อหมายถึงรัฐเยอรมันในช่วงตั้งแต่การประกาศเป็นจักรพรรดิเยอรมันของวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย (18 มกราคม พ.ศ. 2414) ถึงการสละราชสมบัติของวิลเฮล์มที่ 2 (9พฤศจิกายน พ.ศ. 2461) รวมเวลา 47 ปี.ในสมัยนี้เยอรมนีรุ่งเรืองมากทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหาร และอื่นๆถือว่าเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งยุโรป มีอำนาจเทียบได้กับจักรวรรดิอังกฤษ แต่ช่วงหลังของจักรวรรดิเยอรมันได้มีปัญหากับบริเตนเรื่องการขยายอำนาจทางทะเล และ การสร้างจักรวรรดิอาณานิคมขึ้นมา จึงทำให้เกิดปัญหากับจักรวรรดิอังกฤษมหาอำนาจเดิม ปีค.ศ.1914 จักรวรรดิเยอรมนีรุ่งเรืองสุดขีด มีอาณานิคมทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา อาทิ โตโก แคเมอรูน นามิเบีย และ แทนซาเนีย ส่วนในเอเชียก็มีบริเวณชิงเต่าของจีน และทางตอนเหนือของปาปัวนิวกินี รวมทั้งหมู่เกาะบางแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย ต่อมาจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมีปัญหากับเซอเบียจึงเกิดสงครามขึ้นโดย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีดึงจักรวรรดิเยอรมันเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายมหาอำนาจกลาง เป็นเหตุให้เยอรมันเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่1ช่วงต้นสงครามฝ่ายมหาอำนาจกลางได้เปรียบฝ่ายสัมพันธมิตรหลายอย่างทั้ง กลยุทธทางการสงคราม และความแข็งแกร่งของทหาร ระหว่างสงครามเยอรมันได้ประดิษฐ์ แก๊สพิษ ที่ทำให้ทหารฝรั่งเศสหายใจติดขัดและอาจถึงตายได้ แต่ระหว่างสงครามพระโอรสของพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 2 ได้ขอร้องพระบิดาให้ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรแต่ไม่สำเร็จ ช่วงท้ายของสงครามหลังจากที่อเมริกาเข้าร่วมสงคราม เยอรมันก็เริ่มเสียเปรียบ พันธมิตรของเยอรมันทั้ง ออสเตรีย-ฮังการีก็ประกาศยอมแพ้ ส่วนบัลแกเรียและออตโตมันแพ้สงครามให้กับสัมพันธมิตร ทำให้เยอรมนีต้องต่อสู้กับพันธมิตรอย่างโดดเดี่ยวและได้แพ้สงครามในค.ศ.1918 และได้เป็นจุดจบของจักรวรรดิเยอรมนี

มหาวิหารโคโลญ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อาสนวิหารนักบุญเปโตร โคโลญ (อังกฤษ: Cologne Cathedral; เยอรมัน: Kolner Dom) เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิก ในเมืองโคโลญ เป็นสถานที่ประทับของอาร์ชบิชอปแห่งโคโลญ สถานที่นี่มีชื่อเสียงในฐานะเป็นที่ศาสนสถาน นิกายเยอรมันคาทอลิก สถานที่แห่งสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ประพิธีกรรมของสามมหากษัตริย์แห่งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นสถานที่เก็บหีบสามกษัตริย์ไว้ ณ ที่แห่งนี้ด้วย ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองแห่งนี้ มีผู้เยี่ยมชมราวๆ 20,000 คนต่อวัน

มหาวิหารโคโลญได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1248 แต่มีปัญหาให้ต้องหยุดพักการก่อสร้างไปบ้าง จึงต้องใช้เวลากว่าหกร้อยปีจึงสร้างเสร็จสมบูรณ์ และ สร้างเสร็จในปี 1880 พร้อมกับมีพีธีวางหลักหินบันทึกข้อมูลการก่อสร้าง มหาวิหารโคโลญเป็นศาสนสถานของคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก นับเป็นวิหารที่ใหญ่และเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลกในเป็นเวลา 4 ปี ( ปี ค.ศ 1880-1884)แต่ถึงอย่างไรก็ดีปัจจุบันก็ยังคงติดอันดับสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกอยู่ด้วย และปัจจุบันก็ได้ถูกจัดอันดับให้อยู่อันดับ 4 วิหารที่สูงที่สุดในโลกลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิกเป็นหอคอยแฝดสูง 157 เมตร กว้าง 86 เมตร ยาว 144 เมตร สร้างเพื่ออุทิศให้นักบุญซีโมนเปโตรและพระนางมารีย์พรหมจารี ปัจจุบันมหาวิหารโคโลญนับจุดหมายสำคัญของเมืองโคโลญและประเทศเยอรมนี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกในปี2536

สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นอันดับสามของโลก อย่างไรก็ดี ขณะนี้เยอรมนีกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันตั้งแต่ปี 2544 อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP growth rate) ของเยอรมนีลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในปี 2545 และร้อยละ 0 ในปี 2546นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2536 ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลกและการก่อการร้ายในสหรัฐฯ อุปสงค์ภายในประเทศก็เติบโตอย่างเชื่องช้า ทำให้ภาคการลงทุนชะลอตัวลงและส่งผลให้มีอัตราการว่างงานสูงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ารัฐบาล Red-Green Coalition ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างแข็งขันมาตั้งแต่ปี2541 โดยได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้าง (structural unemployment) ซึ่งเกิดจากตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่น (labour market rigidity) และระบบสวัสดิการสังคม (social welfare system) ที่ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของเยอรมนี ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยทำงาน เนื่องจากมีอัตราการเกิดต่ำมากมาอย่างต่อเนื่อง (อัตราการเพิ่มของประชากรในปี 2547 เท่ากับร้อยละ 0) ในขณะที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้รัฐมีค่าใช้จ่ายในการประกันสังคม (social security) เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี โดยในปี 2545 นับเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 55.9 (เพิ่มขึ้นจากปี2544 ร้อยละ 2.4) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล จากการที่เยอรมนีมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำเป็นร้อยละ 0 ในปี 2546 แต่รัฐบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทำให้เยอรมนีขาดดุลงบประมาณถึง 82 พันล้านยูโร หรือ ร้อยละ 3.8 ของ GDP ซึ่งเกินเพดานที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา Maastricht (ร้อยละ 3 ของ GDP) ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปต้องออกคำเตือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในปี 2547 เศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตดีขึ้น ภาคการส่งออกขยายตัวสูง (มูลค่าการส่งออกของเยอรมนีในปี 2547 สูงที่สุดในโลก) แต่การขยายตัวในภาคการลงทุนเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง อีกทั้งยังคงมีการขาดดุลงบประมาณเป็นร้อยละ 3.6ของ GDP ซึ่งเกินเพดานของสนธิสัญญา Maastricht ติดต่อกันเป็นปีที่สาม ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคกับปัญหาการว่างงานจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องของเยอรมนีต่อไป สำหรับปี 2548 คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9

ในปี 2546 รัฐบาล Red-Green Coalition นำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ชื่อ "Agenda 2010" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเยอรมนีเมื่อวันที่ 19ธันวาคม 2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2010 ยุทธศาสตร์ Agenda 2010มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาใน 3 ด้าน กล่าวคือ 1) การปฏิรูปตลาดแรงงานและระบบสวัสดิการสังคม 2) การลดงบประมาณขาดดุล เน้นดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ควบคุมรายจ่ายภาครัฐ และ 3) การลดอัตราภาษี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547อย่างไรก็ดี มีผู้ไม่เห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการปรับลดสวัสดิการสังคมลง

แม้นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ Agenda 2010 จะยังไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลเยอรมนีต่อประชาชนที่จะต้องปรับตัวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเยอรมนีจะต้องเร่งรีบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของตนให้ได้เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลกไว้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ความสัมพันธ์ทางการทูต

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี เริ่มเมื่อพ.ศ. 2405 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการเดินเรือระหว่างกัน เมื่อพ.ศ. 2426-2430 ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ. 2430 จัดตั้งสำนักงาน ณ กรุงเบอร์ลินสำหรับเอกอัครราชทูต และจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอดีตเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ได้ย้ายสถานเอกอัครราช-ทูต ณ กรุงบอนน์ไปอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน พร้อมกันนั้น ได้จัดตั้งสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุงบอนน์ขึ้น แต่ได้ปิดทำการไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 และได้มีการเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไทยและเยอรมนีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เยอรมนีสนับสนุนท่าทีต่างๆ ของไทย เช่น ท่าทีต่อปัญหากัมพูชา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ เยอรมนียังชื่นชมและตระหนักถึงความสำคัญของไทยในฐานะที่มีบทบาทนำและเป็นแบบอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย การรักษาสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อมวลชน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และความสำเร็จทางเศรษฐกิจโดยรวม เยอรมนีขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนเยอรมนีเข้าเป็นสมาชิกประเภทถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ