ประวัติศาสตร์ไทย/ประวัติศาสตร์ไทยสมัยธนบุรี
หน้าที่คุณเห็นนี้ต้องการ "การปรับปรุงเนื้อหา การแก้ไขรูปแบบ การเรียบเรียงภาษาที่ใช้ใหม่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด" ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือในหลายส่วนด้วยกัน เพื่อให้ได้ถูกต้องตามมาตรฐานและนโยบายของวิกิตำรา คุณสามารถช่วยตรวจสอบ และแก้ไขบทความนี้ได้ด้วยการกดปุ่ม แก้ไข ด้านบน เมื่อทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว คุณสามารถนำป้ายนี้ออกได้ทันที |
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยธนบุรี
การปกครอง
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]การปกครองสมัยกรุงธนบุรียึดถือตามแบบอย่างอยุธยา สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คือแบ่งส่วนราชการออกเป็น
- การปกครองส่วนกลาง ประกอบด้วยอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง ได้แก่
- สมุหนายก เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน และดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ
- สมุหพระกลาโหม เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร และดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ การบริหารราชการแบ่งออกเป็น 4 กรม เรียกว่า จตุสดมภ์ ประกอบด้วย
- กรมเวียง (นครบาล) มีหน้าที่ปกครองท้องที่ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
- กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก และช่วยพระมหากษัตริย์พิจารณาคดีความของราษฎร จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธรรมาธิกรณ์
- กรมคลัง (โกษาธิบดี) มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผ่นดิน และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจาก ส่วย อากร และบังคับบัญชากรมท่า ซี่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
- กรมนา (เกษตราธิการ) มีหน้าที่ดูแลนาหลวง เก็บภาษี (หางข้าว)
- การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น
- หัวเมืองชั้นใน (เมืองจัตวา) ได้แก่เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เป็นเมืองเล็กๆมีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ปกครองเมือง แต่เรียกว่า จ่าเมือง เช่นเมืองพระประแดง เมืองนนทบุรี เมืองสามโคก
- หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่เมืองซึ่งอยู่นอกราชธานีออกไป แบ่งตามขนาดและความสำคัญของเมืองกำหนดฐานะเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา โดยรูปแบบการบริหารราชการเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ฐานะของเมืองอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองซึ่งทางกรุงธนบุรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง ให้อิสระในการปกครอง แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของเมืองหลวง และต้องส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง รวมทั้งเครื่องราชบรรณาการตามทีเมืองหลวงกำหนด เมืองประเทศราชสมัยกรุงธนบุรีได้แก่ เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทร์ จำปาศักดิ์ นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเขมร
เศรษฐกิจ
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]การเสียกรุงครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายย่อยยับแก่เศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากชาวไทยต้องบาดเจ็บล้มตายในสงครามกับพม่าหลายหมื่นคนแล้ว ผู้รอดชีวิตจำนวนมากต้องอพยพหนีตายในสภาพอดอยากยากแค้น บางส่วนอพยพหนีเข้าป่า บางส่วนซัดเซพเนจรหาที่พักพิงใหม่ เมื่ออดอยากหนักเข้าจึงใช้วิธีปล้นสะดมฆ่าฟันกันเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ล้มตายเพราะขาดอาหาร หรือไม่ก็ตายเพราะโรคระบาด พลเมืองบางส่วนก็หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรีหลังจากที่พระเจ้าตากสินได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้วได้ดำเนินวิธีการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
- ทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากต่างชาติที่นำมาขาย แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับราษฎรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
- ทรงเร่งรัดการทำนา เพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอ โดยการสนับสนุนให้ข้าราชการทำนาปรัง
- ทรงส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาใช้เกี่ยวกับการทำสงครามและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม รายได้เกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศ ได้แก่ การเก็บภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ ภาษีขาเข้า - ภาษีขาออก
- ทรงดำเนินนโยบายประหยัด โดยการใช้ของที่เป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ให้คุ้มค่ามากที่สุดแม้ว่าพระเจ้าตากสินจะพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาความอดอยากของประชาชน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จนัก เป็นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้
- มีสงครามตลอดรัชกาล ทำให้ราษฎรไม่มีเวลาทำมาหากิน
- เกิดภัยธรรมชาติ เช่น พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2312 ฝนแล้งติดต่อกัน ทำนาไม่ได้ผล ที่พอทำได้บ้างก็ถูกหนูกัดกินข้าวในนาและยุ้งฉาง รวมทั้งทรัพย์สินสิ่งของทั้งปวงเสียหาย จึงมีรับสั่งให้ราษฎรดักหนูนามาส่งกรมพระนครบาล ทำให้เหตุการณ์สงบลงไปได้
- ผู้คนแยกย้ายกระจัดกระจายกัน ยังไม่มารวมกันเป็นปึกแผ่น
- พ่อค้าชาติต่างๆยังไม่กล้ามาลงทุน เพราะสภาพการณ์บ้านเมืองไม่น่าวางใจนัก อีกประการหนึ่งเกรงจะถูกยึดทรัพย์สินเป็นของหลวง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยได้ผลนัก ทั้งนี้เพราะต้องทำควบคู่ไปกับการทำสงครามด้วย แม้กระนั้นพระเจ้าตากสินก็พยายามส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ โดยส่งเสริมการต่อเรือพาณิชย์ อันเป็นผลให้มีหนทางเก็บภาษีเข้าท้องพระคลัง เรือค้าขายจากเมืองจีนมาติดต่อบ่อยครั้ง ใน พ.ศ. 2324 คณะทูตจากกรุงธนบุรีเดินทางไปเมืองกวางตุ้ง นำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรีและได้เจรจาเรื่องการค้าด้วย
การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านการศึกษาและศาสนา
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดกับวัง โดยวัดจะเป็นสถานศึกษาสำหรับราษฎรทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชายเพราะต้องไปศึกษาและพักอยู่กับพระที่วัด วิชาที่เรียนได้แก่ การอ่าน เขียนภาษาไทยภาษาบาลี - สันสกฤต และวิชาเลข ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนวังเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรของพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เน้นเรื่องการปกครอง วิชาการป้องกันตัว เพื่อเตรียมรับราชการต่อไปในอนาคต ส่วนวิชาชีพนั้นจะเป็นการศึกษากับพ่อแม่ คือ พ่อแม่ประกอบอาชีพอะไร ก็มักจะถ่ายทอดให้ลูกหลานทำต่อ เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ หรือวิชาช่างต่างๆ ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนในอนาคต ดังนั้นการเรียนของเด็กผู้หญิงจะเรียนอยู่กับบ้าน มีแม่เป็นผู้สอน วิชาที่เรียน เช่น การเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การฝึกอบรมมารยาทของสตรี โดยพ่อแม่ไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ
การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านศาสนา
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]พระพุทธศาสนาตกต่ำมากในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่ พระราชภารกิจทางด้านศาสนา ได้แก่
- นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ตามที่ต่างๆให้มาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดประดู่ขึ้นเป็นพระสังฆราช และตั้งพระราชาคณะให้ปกครองพระอารามต่างๆในเขตกรุงธนบุรี
- ในคราวเสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช พระองค์เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระอารามวัดพระศรีมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และให้เชิญพระไตรปิฎกขึ้นมายังกรุงธนบุรี เพื่อคัดลอกจารไว้ทุกหมวดแล้วเชิญกลับไปนครศรีธรรมราชตามเดิม
- เมื่อเสด็จหัวเมืองเหนือ พระเจ้าตากสินก็ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะตามหัวเมืองต่างๆ และโปรดให้รวบรวมพระไตรปิฎกทางหัวเมืองเหนือมาสอบชำระที่กรุงธนบุรี แล้วให้ส่งกลับไปใช้เป็นฉบับหลวง
- ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุ สามเณร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนาเป็นประจำ
- ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) อันเป็นพระอารามหลวง และประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ นอกจากนี้เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ใน พ.ศ. 2321 ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในกรุงธนบุรีด้วย
สภาพสังคม
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]สภาพสังคมสมัยกรุงธนบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา คือมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น
- พระมหากษัตริย์ เป็นชนชั้นสูงสุดในสังคม
- พระบรมวงศานุวงศ์
- ขุนนางข้าราชการ
- ไพร่ เป็นชนชั้นที่มีมากที่สุดในสังคม
- ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายเงินมาก สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมาก ด้วยเป็นเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างอันตรายเพิ่งกอบกู้เอกราชคืนมาได้ ทั้งประสบความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้คนหลบหนีเข้าป่าอย่างมากมาย ถูกกวาดต้อนไปพม่าก็มีมาก นอกนั้นต่างก็พยายามเอาตัวรอดโดยการตั้งเป็นก๊ก เป็นเหล่า ครั้นกู้กรุงศรีอยุธยา กลับคืนมาได้ก็ยังต้องระมัดระวังภัยจากพม่าที่จะมาโจมตีอีก การควบคุมกำลังคนจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้ามีผู้คนน้อย ก็จะทำให้พ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูได้ ผู้คนในกรุงธนบุรีถูกควบคุมโดยการสักเลก ผู้ที่ถูกสักเลกทั้งหลายเรียกกันว่าไพร่หลวง ซึ่งมีหน้าที่รับราชการปีละ 6 เดือน โดยมาทำราชการหนึ่งเดือน และหยุดพักผ่อนไปทำมาหากินหนึ่งเดือนสลับกันไป ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าเข้าเดือนออกเดือน มีไพร่หลวงอีกพวกหนึ่งเรียกว่าไพร่ส่วย คือ เป็นไพร่ที่ส่งส่วยเป็นสิ่งของหรือเงินแทนการรับใช้แรงงานแก่ทางราชการ ส่วนไพร่สมเป็นไพร่ที่สังกัดมูลนายรับใช้แต่เจ้านายของตนเอง เพราะพวกนี้ถูกแยกเป็นอีกพวกหนึ่งเด็ดขาดไปเลย แต่บางครั้งไพร่สมก็ถูกแปลงมาเป็นไพร่หลวงได้เหมือนกัน การสักเลกก็เพื่อเป็นการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็นไพร่หลวงเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงและหลบหนี
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือการป้องกันประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ และการขยายอำนาจไปยังอาณาจักรข้างเคียง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่บ้านเมืองประเทศที่มี ความสัมพันธ์กับไทยสมัยกรุงธนบุรี คือ พม่า ลาว เขมร และจีน
- ความสัมพันธ์กับประเทศพม่า เป็นไปในลักษณะของความขัดแย้งตลอดรัชกาล เริ่มจากการรบครั้งแรกที่ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งไทยเป็นฝ่ายชนะ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จแล้วก็ตาม แต่พม่าก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะทำลายอาณาจักรไทยที่ตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงธนบุรีมีการทำสงครามกับพม่า 10 ครั้ง ผลัดกันแพ้ชนะ สงครามครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2318 ไม่มีฝ่ายใดชนะโดยเด็ดขาด
- ความสัมพันธ์กับประเทศลาว ในสมัยกรุงธนบุรีมีการทำสงครามกับลาว2 ครั้ง คือศึกจำปาศักดิ์ปี พ.ศ. 2319 และศึกเวียงจันทร์ปี พ.ศ. 2321 ผลของสงครามทั้ง 2 ครั้ง ไทยเป็นฝ่ายชนะ ได้ลาวเป็นประเทศราชและในคราวศึกเวียงจันทร์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพไทย ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบาง จากเวียงจันทร์มากรุงธนบุรีด้วย
- ความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา เขมรเคยเป็นประเทศราชของไทยมาแต่สมัยอยุธยา หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310แล้วพระเจ้าตากสินกู้เอกราชได้สำเร็จ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายอ้างว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ใช่เชื้อพระวงศ์พระเจ้า แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) นำทัพไปตีเขมรใน พ.ศ. 2312 แต่ไม่สำเร็จเพราะเขมรแกล้งปล่อยข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาจึงยกทัพกลับ ต่อมาปี พ.ศ. 2314 โปรดให้พระยาจักรียกทัพไปตีเขมรอีก และได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชของไทย
- ความสัมพันธ์กับประเทศจีน สมัยกรุงธนบุรีเป็นความพยายามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จะให้จีนยอมรับฐานะของพระองค์ และเพื่อให้ไทยได้เปิดค้าขายกับจีน เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ฐานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมั่นคงขึ้นด้วย
เหตุการณ์ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]ในช่วงปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทรงหมกมุ่นในการนั่งวิปัสนากรรมฐาน จนเข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบันแล้ว ทรงบังคับให้พระสงฆ์มากราบไหว้พระองค์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ทรงลงโทษอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จนเกิดจราจลขึ้น พระยาสรรค์ก่อการกบฏตั้งตนเป็นใหญ่ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผนวช สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวจึงยกทัพกลับจากการไปตีเขมร และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก