ปรัชญานวยุค

จาก วิกิตำรา

กระบวนทรรศน์ที่ 4 กระบวนทรรศน์นวยุค (Modern paradigm)

การค้นหาความเป็นจริงตามแนวคิดทางอภิปรัชญาที่เกิดขึ้นตามแนวคิดกระบวนทรรศน์ที่ 4 นวยุค มีการค้นความเป็นจริงด้วยแนวทางวิทยาศาสตร์ โดยมีอากเคิม (William of Ockham, 1287-1347) เป็นคนแรกที่เน้นเรื่องปฐมบททางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นว่าการรู้ข้อเท็จต้องใช้ประสบการณ์ และการรื้อฟื้นแนวคิดของยุคโบราณ ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดทางอภิปรัชญาใหม่ และพัฒนาการเป็นระยะแทรกสอดไปมา

ทำไมจึงเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ เพราะว่าปรัชญายุคกลางในสมัยอัสสมาจารย์ (scholastic period) ได้นำปรัชญาของ Aristotle มาอธิบายศาสนา ทำให้เกิดการถกปัญหาปรัชญาศาสนาจนถึงระดับอิ่มตัว นักปรัชญาจึงหันมาสนใจปรัชญาวิทยาศาสตร์ (science=ความรู้) ซึ่งในระหว่างยุคกลางนั้นชาวยุโรปได้รับวิชาเคมีมาจากทางเปอร์เซีย จึงนำมาทดลองในชื่อ Alchemy ซึ่งศาสนจักรออกกฎหมายห้าม เมื่ออาณาจักรไบเซนไทน์แตก ทำให้นักปรัชญาและตำราต่างๆ กลับมาสู่ยุโรป มีการรื้อฟื้นความรุ่งเรืองของกรีก-โรมัน เรียกว่ายุคฟื้นฟู (Renaissance) เกิดปัญหาการเมืองกับศาสนจักร ทำให้หมดความศรัทธาในองค์กรศาสนา จึงมีกระแสแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร สนใจวิธีการวิทยาเพื่อค้นหาความจริง เกิดคำถามสำคัญ คือ “คิดอย่างไรจึงจะได้ความจริง”

ลัทธิสำคัญในกระบวนทรรศน์นวยุค 5 กลุ่มได้แก่

  • ลัทธิเหตุผลนิยม นักอภิปรัชญากลุ่มนี้มีกระบวนการคิดตามอภิปรัชญาแบบทวินิยม

อภิปรัชญาของเดการ์ต (René Descartes ค.ศ.1561-1626) เชื่อทั้งเรื่องจิตและสสาร แต่ก็คิดว่าจิตกับสสารเป็นคนละเรื่อง อยู่คนละมิติ มีกฎที่เป็นระบบเครือข่ายควบคุมอยู่คนละระบบ ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่โยงใยถึงกัน แต่ทว่าสมองมนุษย์มีสมองเดียวที่จะเข้าใจทั้งสองระบบ สองระบบนี้จึงไม่ควรขัดแย้งกัน เดการ์ตแยกสสารออกจากจิตอย่างเด็ดขาด เพื่อให้สสารเป็นอิสระเดินตามกฎกลศาสตร์และจิตก็จะเป็นอิสระเดินตามกฎของจิตซึ่งเป็นผู้คิดบริสุทธิ์ แนวคิดอภิปรัชญาของเดการ์ตสรุปได้จากญาณปรัชญา โดยเดการ์ตได้เสนอวิธีคิดค้ำประกันความน่าเชื่อโดยเลียนแบบวิธีพิสูจน์ด้วยทฤษฎีเรขาคณิต คือให้เริ่มจากปฐมบทที่แจ่มแจ้งชัดเจนที่ไม่มีใครสงสัยได้เลย ต่อจากนั้นก็ดำเนินการพิสูจน์ชนิดที่แน่ใจได้ว่าพิสูจน์ได้ถึงไหนก็แน่ใจได้ถึงนั่น นอกจากนั้นให้ถือว่าเป็นการเดาที่ยังไม่รับรอง เดการ์ตจึงชี้ว่าความรู้ของมนุษย์สัมพันธ์กันเป็นระบบเครือข่าย พระผู้สร้างที่ไม่อาจจะหลอกลวงมนุษย์ได้ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาให้รู้ความจริงของเอกภพ เอกภพจึงต้องแบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ตามที่มนุษย์เข้าใจ และหน่วยย่อยต่าง ๆ ของเอกภพจะต้องประสานกันเป็นเครือข่ายเหมือนกับเครื่องจักรกลมหึมาเครื่องเดียวที่ทำงานเรียบร้อยอย่างไม่มีที่ติ ดังนั้นเมื่อมนุษย์สังเกตส่วนใดของเอกภพก็ตามเอามาตรึกตรองตามกฎคณิตศาสตร์จะได้กฎของเอกภพในส่วนนั้น และจากส่วนนั้นอาจจะอนุมานไล่เลียงไปสู่ส่วนอื่น ๆ ได้ หากใช้ถูกวิธี(สมเหตุผลตามหลักตรรกะ) ไล่เลียงไปถึงไหนก็แน่ใจว่าเป็นความจริงวัตถุวิสัยได้ถึงนั่น แนวคิดนี้คือเกณฑ์ของลัทธิวจนศูนย์นิยม (logocentrism) ซึ่งกลายเป็นความเชื่อหลักของนวยุคนิยม

อภิปรัชญาของมัลบลองช์ (Nicolas de Maleblanche (ค.ศ.1638-1715) พบว่าคำสอนของเซนต์ปอล “ในพระองค์เราดำรงชีวิตและเคลื่อนไหวและมีความเป็นอยู่” ช่วยให้มีความเข้าใจเดการ์ตได้ดีขึ้น และยืนยันความเป็นจริงที่ว่าพระเจ้ามีอยู่และเราเห็นทุกอย่างในพระเจ้า การมีอยู่ของพระเจ้า เป็นมโนคติชัดเจนไม่ต้องการพิสูจน์ เพียงแต่สำรวจดูความคิดของเราก็พอ เพราะไม่ว่าจะคิดอะไรก็เป็นภวันต์ทั้งสิ้น เป็นส่วนหนึ่งของภวันต์ใหญ่ที่ไม่มีขอบเขต ภวันต์ที่ไม่มีขอบเขตนั้นต้องสมบูรณ์ทุกอย่าง จึงต้องมีอยู่จริง เพราะฉะนั้นเราเห็นแจ้งว่าต้องมีพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ให้ความแจ่มแจ้งแก่ความรู้ทุกอย่าง มโนคติพระเจ้า (divine ideas) อยู่ในพระเจ้าเท่านั้น ส่วนมโนคติถูกสร้าง (created ideas) อยู่ในสมองของมนุษย์ มโนคติพระเจ้าเป็นวัตถุวิสัย มโนคติถูกสร้างเป็นอัตวิสัย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเข้าใจพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ แต่เข้าใจเพียงแง่หนึ่ง จึงต้องแยกความรู้ของเรากับความเป็นจริงของพระเจ้า ในเมื่อวัตถุทั้งหลายในโลกเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าและพระองค์ทรงค้ำจุนไว้ ทุกอย่างจึงทำการไปตามที่พระองค์กำหนดให้ พระองค์ทรงเป็นการกปัจจัย (efficient cause) โดยตรงของกิจกรรมทุกอย่างในโลก สิ่งสร้างจึงเป็นเพียงโอกาส (occasion) ให้พระองค์ทรงกระทำการเท่านั้น

อภิปรัชญาของไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz ค.ศ. 1645-1716) เห็นว่าธรรมชาติมีระเบียบเรียบร้อยกลมกลืนกันทุกอย่างตามลัทธิสุทรรศนนิยม (optimism) เหมือนนาฬิกาซึ่งกลไกทุกส่วนเดินตามกฎเกณฑ์ของมัน “ธรรมชาติเป็นนาฬิกาของพระเจ้า (Nature is the clock of God) เป้าหมายของปรัชญาสำหรับไลบ์นิซเหมือนกับเดการ์ตคือ เป็นตัวเชื่อมและทำหน้าที่หาความหมายที่กลมกลืนระหว่างกลศาสตร์กับเทววิทยา และเห็นว่ากลศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงสมมุติฐานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ แต่เป็นวิชาที่ยืนยันความเป็นจริงของปรากฏการณ์จริง ๆ กล่าวคือเป็นอภิปรัชญาจักรวาล ไลบ์นิซแก้ปัญหาโดยเสนอทฤษฎีโมนาด อันเป็นสิ่งไม่กินที่ (non-spatial) เป็นทั้งกัมมันต์และอกัมมันต์ในตัว (active and passive) เพราะในโมนาดแต่ละตัวมี ๒ ปฐมธาตุ คือ ธาตุกัมมันต์ (entelechy or active principle) และธาตุอกัมมันต์ (prime or pure or passive principle) ทั้งสองไม่ใช่ส่วนประกอบของโมนาด แต่เป็น ๒ อัญรูปของโมนาด (two modes of monads)โมนาดที่มีลักษณะทั้งสองที่เห็นได้ชัดคือ จิตในตัวเรา ซึ่งเป็นทั้งกัมมันต์และอกัมมันต์ โมนาดทุกตัวเป็นจิตในระดับต่าง ๆกัน เทห์ที่เรามีผัสสะได้ รวมทั้งร่างกายของเราเองด้วย เป็นกลุ่มของโมนาดจำนวนมากมาย ที่เราเห็นเป็นก้อนเทห์ก็เพราะใช้การรับรู้ที่สับสน จึงได้ความเป็นจริงที่สับสน (reality confused perceived) เป็นปรากฏการณ์ที่มีฐานแกร่ง (Phenomenon well founded) คือมีพื้นฐานอยู่บนโมนาดนั่นเอง ความแตกต่างระหว่างเทห์ที่ไม่มีชีวิตกับมีชีวิต คือ เทห์ไม่มีชีวิตเป็นเพียงการจับกลุ่มของโมนาด (aggregation of monads) อย่างอิสระต่อกัน ส่วนเทห์มีชีวิตนั้นแต่ละหน่วยจะมีโมนาดราชินี (Queen monad) คุมโมนาดอื่น ๆ ในกลุ่มของตนเป็นชีวิตหนึ่ง ๆ กลุ่มย่อย ๆลงไปในหน่วยชีวิตหน่วยเดียวกันอาจมีโมนาดราชินีรอง ๆ ลดหลั่นลงไปอีกขั้นก็ได้ ความจริงตามความคิดของไลบ์นิซแยกเป็น ความจริงนิรันดร (eternal truth) ออกจากความจริงโดยบังเอิญ (contingent truth) ความจริงนิรันดร (eternal, rational, universal) ประกอบด้วย ความจริงคณิตศาสตร์ กฏตรรกวิทยา หลักการความดีและความงาม พระเจ้ามีอยู่ และทฤษฎีอภิปรัชญา ความจริงบังเอิญ (contingent, factual, existential)ประกอบด้วยความมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ และสภาพของสิ่งต่าง ๆ


  • ลัทธิประสบการณ์นิยม นักอภิปรัชญากลุ่มนี้สืบทอดกระบวนการคิดตามอภิปรัชญาแบบต่างๆ แต่เน้นที่ประสบการณ์โดยตรงของมนุษย์ ตามแนวทางของเคอเพอร์นิเคิสและเบเคินเชื่อว่าประสบการณ์โดยตรงของมนุษย์เข้าถึงระบบเครือข่าย ประสบการณ์เป็นต้นเหตุที่บอกว่ากฎคณิตศาสตร์และตรรกวิทยาจะต้องเป็นอย่างไร เมื่อได้สูตรแล้วก็ลองคิดคำนวณดู ถ้าเป็นจริงเช่นนั้นก็หมายความว่ากฎนั้นเป็นกฎของเอกภพจริง ประสบการณ์นิยมถือว่า สัญชาน (sense-perception) เท่านั้นที่ให้ความจริงแก่เราได้อย่างน่ามั่นใจ จึงส่งเสริมการสังเกต ทดสอบ ส่วนความคิดเลยขึ้นไปนั้นให้รับรู้ไว้เป็นสมมุติฐานเพื่อทดสอบต่อไป จะรับเอาเป็นความจริงแน่นอนไม่ได้

อภิปรัชญาของ ฮับส์ (Thomas Hobbes ค.ศ.๑๕๘๘-๑๖๗๙) ดำเนินแนวทางสสารนิยม เน้นการเริ่มต้นด้วยข้อมูลจากการทดลองแล้วคำนวณหาความจริงต่อไปตามสูตรคณิตศาสตร์ แถลงว่าความเป็นจริงมีแต่สสารและพลังซึ่งมีประจำอยู่ในสสาร พลังนี้อาจถ่ายทอดจากเทห์หนึ่งไปสู่เทห์อื่นได้ด้วยการประชิด ปรากฏการณ์ทั้งหลายในจักรวาลเกิดจากการเปลี่ยนที่ของเทห์ด้วยอำนาจของพลังที่ถ่ายทอดกันระหว่างเทห์ โดยมีกฎแน่นอนตายตัวตามหลักกลศาสตร์ที่คำนวณได้ตามสูตรคณิตศาสตร์ตายตัว เหตุการณ์ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นด้วยความจำเป็น จะยกเว้นกฎกลศาสตร์ไม่ได้เลย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ มีผลก็ต้องมีเหตุ ผลต้องเกิดขึ้นโดยจำเป็นในเมื่อมีสาเหตุในสภาพที่เหมาะสม ชีวิต คือ เครื่องจักรกลซับซ้อน ความรู้เริ่มต้นที่ประสาทรู้สึกหรือผัสสะเพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เราจะติดต่อกับโลกภายนอกได้ ความรู้สึกของเราจึงเป็นอัตวิสัย ในเมื่อความรู้ทุกอย่างของเราเริ่มต้นจากประสาทรู้สึก ความรู้ทุกอย่างของเราก็ย่อมเป็นอัตวิสัย และไม่มีความจริงวัตถุวิสัย (objective truth) คือไม่เชื่อว่าความรู้ของเราจะต้องตรงกับความจริงภายนอก ความรู้ของเราอย่างมากก็ได้แค่ ความจริงทางวิชาการ (scientific truth) ความจริงขึ้นอยู่กับการตกลงหรือการปลงใจร่วมกันระหว่างมนุษย์

อภิปรัชญาของลัค (John Locke ค.ศ.1672-1704) ดำเนินตามแนวทางทวินิยมเห็นว่าการแก้ปัญหาทั้งหลายต้องการสนับสนุนความเชื่อของผู้แก้ปัญหาเฉพาะของตัวเองทั้งสิ้น คือ เชื่อว่าความรู้เป็นระบบ เชื่อสิ่งสากล และเชื่ออภิปรัชญาที่เป็นเพียงจินตนาการ ลัคเสนอว่าเมื่อคนเราพบประพจน์สากลที่เชื่อได้ทันทีที่เข้าใจก็จะรวบเอาว่าเป็นความจริงแต่กำเนิด สาระเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องมีจริง ๆ เป็น “สิ่งรู้ไม่ได้แต่ทว่ามีจริงอยู่ภายใน เป็นตัวรองรับคุณภาพต่าง ๆ” เราไม่สามารถมีความรู้แท้จริงเกี่ยวกับสาระ เพราะเราต้องอาศัยรู้โดยการรวบรวมมโนคติเชิงเดี่ยวของคุณภาพทั้งหลายเข้าด้วยกัน สาระมี 2ประเภทเช่นที่เดการ์ตแยกไว้ คือ กายกับจิต กายแสดงลักษณะออกมาให้เราเห็นเป็นคุณภาพปฐมภูมิ (primary qualities) คือ การแผ่กว้าง, ความแข็งแกร่ง, การเคลื่อน นอกเหนือไปจากนั้นก็มี สูญญากาศ (vacuum) อันเป็นห้วงเทศะไร้สสาร เพราะเราสามารถคิดถึงห้วงเทศะที่ไม่มีของบรรจุและการเคลื่อนไหวใด ๆ ได้ จิตวิญญาณอันมีคุณสมบัติคิด มีผัสสะ มีเจตจำนง และทำให้เทห์เคลื่อนที่ได้ เรารู้ได้ก็โดยตรึกตรองเพราะใช้ผัสสะไม่ได้ ลักษณะประสบการณ์นิยมของลัคคือปลุกขึ้นมาได้โดยการเร้า (stimulation) หรือการเพ่งพินิจ (contemplation) ซึ่งลัคถือว่าปัญญามีสมรรถภาพแต่เกิด (innate capacity) ที่จะสร้างมโนคติด้วยข้อมูลจากผัสสะ

อภิปรัชญาของฮิวม์ (David Hume ค.ศ.1711 - 1776) เริ่มต้นระบบความคิดของตนว่าความรู้ทุกอย่างมาจากผัสสะ ประสบการณ์ให้ภาพประทับ (impression) และมโนคติ (idea) แก่เราเท่านั้น ความรู้ของเราจึงมีแค่นี้ เราไม่สามารถยืนยันถึงความเป็นจริงใด ๆ มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสสารหรือจิต ไม่มีภาพประทับใดยืนยันไปถึงสาระความเป็นสาเหตุ, สิ่งสากล หรือความรู้จำเป็นใด ๆ อภิปรัชญา เทววิทยา วิทยาศาสตร์เป็นเพียงการเดา พระเจ้า เอกภพ วิญญาณเป็นเรื่องอนุมานเกินตัวทั้งสิ้น ความรู้ที่แจ่มแจ้งก็มีแต่คณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาวิเคราะห์คือวิเคราะห์มโนคติที่ตนเองกำหนดขึ้น ไม่ยืนยันอะไรเลยถึงความเป็นจริง อภิปรัชญาของฮิวม์จึงมีหน้าที่หาสาเหตุว่าศัพท์อภิปรัชญาที่ใช้กันนั้นมาได้อย่างไร และความคิดทางอภิปรัชญานั้นมาได้อย่างไร


  • ช่วงประสาน เหตุผลนิยมกับประสบการณ์นิยม

อภิปรัชญาของคานท์ (Immanuel Kant ค.ศ.1724 - 1804) เห็นว่าทั้งชาวเหตุผลนิยมและชาวประสบการณ์นิยมต่างก็ใช้วิธีผิดสุดขั้วไปคนละทาง ควรคิดหาทางสายกลางเพื่อสนับสนุนวิทยาศาสตร์ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญอยู่ โดยเสนอปรัชญาที่ใช้ชื่อว่าวิธีสถาปัตย์ (architectonic method) กล่าวคือ ทุกขั้นตอนติดต่อประสานกันเป็นระบบเครือข่ายแน่นแฟ้น ปรัชญาบริสุทธิ์ของคานท์มีเพียงญาณปรัชญา เพราะคานท์มองว่าอภิปรัชญาทำให้นักปรัชญาเสียเวลานาน คานท์กล่าวว่าปัญญาของมนุษย์ทำงานเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับเหตุผลบริสุทธิ์ ซึ่งต้องผ่านกลไกของผัสสะและกลไกของวิภาคสำหรับรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนเหตุผลปฏิบัติเข้าสัมผัสกับความเป็นจริงโดยตรงสำหรับรู้เรื่องศีลธรรมและศาสนา ความจริงทั้งผัสสะและเหตุผลต่างก็เป็นเพียงโครงสร้างของปัญญาของมนุษย์เราเท่านั้น จะถือว่าให้ความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริงภายนอกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าสมรรถภาพทั้งสองของปัญญาของเรานี้บิดผันความเป็นจริงภายนอกไปอย่างไร ความรู้ของเราจึงเป็นเพียงความรู้เท่าที่ปรากฏแก่ปัญญาของเรา (phenomena) เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าความเป็นจริงภายนอก (noumena) เป็นอย่างไร แต่เราแน่ใจว่าต้องมีความเป็นจริงเป็นวัตถุของความรู้มิฉะนั้นความรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้

อภิปรัชญาของฟิกเท (Johann Gottlieb Fichte ค.ศ.๑๗๖๒ - ๑๘๖๔) เป็นผู้นำปรัชญาโรแมนติค และลัทธิมโนคตินิยม ที่แสดงว่าประสบการณ์ทุกอย่างจะต้องเป็นกระบวนการที่ผู้รู้ตระหนักถึงสิ่งที่ถูกรู้ ผู้รู้ในฐานะที่เป็นปัญญา และวัตถุของความรู้ในฐานะที่เป็นสมลักษณ์ (representation, Vorstellung) ซึ่งแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ สมลักษณ์เสรี (จินตนาการ) และสมลักษณ์จำเป็น (สิ่งที่เห็นจริง) โดยวิธีถอดสิ่งสากลเราก็วิเคราะห์ได้ว่าในประสบการณ์ทั้งหลายแยกออกได้เป็น ๒ ส่วนร่วมกัน คือ ความเข้าใจ (intelligence) และสมลักษณ์ (Vorstellung, representation) เรามีเสรีภาพที่จะเลือกเป็นมูลบทขึ้นมาว่าสมลักษณ์นั้นมีบ่อเกิดมาจากความเข้าใจในตัวเอง (intelligence-in-itself) หรือมาจากสิ่งในตัวเอง (thing-in-itself) ฟิทเทเน้นว่ามูลบทแรกในอภิปรัชญาคือ “อหังขีปปนาตัวเองโดยอัตโนมัติในวิถีทางของมันเองโดยเฉพาะ” แต่ทว่าอหัง (Ego) จะสำนึกตัวเองได้ก็ต้องมี อนาหัง (non-Ego) ซึ่งเป็นกิจกรรมปฏิเสธความมีอยู่ของตัวเอง อนาหังถูกขีปนาออกมาตรงข้ามกับอหังโดยอัตโนมัติ อหังอสัมพัทธ์ (the Absolute Ego) ขีปนาภายในตัวเองซึ่งอหังมีขอบเขต (finite ego) และอนาหังมีขอบเขต (finite non-ego) ในเวลาเดียวกันเพื่อกำหนดกันและกัน เพราะเหตุนี้เอง ตามปกติเราจึงสำนึกเพียงอหังมีขอบเขต ส่วนอหังอสัมพัทธ์นั้น ต้องพัฒนาความเข้าใจอย่างมากจนเข้าถึงปรัชญามโนคตินิยมจึงจะเข้าใจได้

อภิปรัชญาของเฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel ค.ศ.1770-1831) เน้นมโนคติอสัมพัทธ ถือมูลบทว่าระเบียบความเป็นจริงกับระเบียบความคิดเป็นอันเดียวกัน ดังนั้นในเมื่อความเป็นจริงคือองค์อสัมพัทธ์พัฒนาตัวเองตามกฎปฎิพัฒนาการ ระเบียบความคิดหรือตรรกวิทยาก็ต้องดำเนินตามกฎปฎิพัฒนาการเช่นเดียวกัน การรู้กระบวนการของความคิดก็คือรู้ความเป็นจริง และการรู้ความเป็นจริงก็คือรู้กระบวนการของความคิด ไตรลักษณ์พื้นฐาน (Basic Triad) อันได้แก่ ภวันต์ (Being) ความเปล่า (Nothingness) การเปลี่ยนแปลง (Becoming) เริ่มต้นด้วยภวันต์ อันเป็นมโนภาพพื้นฐานที่สุด เลือนลางที่สุด มีคุณลักษณะกำหนดน้อยที่สุด รู้เพียงแต่ว่ามันมีอยู่ ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น แต่ความคิดของเราไม่หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น มันดำเนินต่อไปสู่สิ่งตรงข้าม คือ ความเปล่า ภวันต์และความเปล่ามิได้ขัดแย้งและลบล้างกันดังที่เข้าใจกันมา มันมีส่วนเหมือนและส่วนต่างกันในเวลาเดียวกัน การเป็นตัวเองในความต่าง (identity in difference) นี้แหละเรียกว่าการเปลี่ยนแปลง (becoming or change)

อภิปรัชญาของโชเพนฮาวเออร์ จะเชื่อตามคานท์ว่าเราเข้าถึงความจริงจนรู้ถ่องแท้ไม่ได้ แต่ก็ยังเชื่อว่าเรามีประสบการณ์ถึงปรากฏการณ์ของความจริง ซึ่งแสดงออกจากธรรมชาติแท้จริงของความจริงนั้นเอง เราจึงอาจจะเดาได้ว่าความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร เม อสังเกตดูความเป็นไปต่าง ๆ ในตัวเรา ก็พอจะเห็นได้ว่าความเป็นไปทั้งหลายเกิดจากเจตจำนง (The will) และแถลงมูลบทว่า เรารู้แจ่มแจ้งในตัวทันทีว่าเจตจำนงนี้เป็นธาตุแท้หรือสารัตถะในตัวเรา เรารู้สึกอย่างแจ่มแจ้งว่าร่างกายหาใช่แก่นแท้ของตัวเราไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นร่างกายของเรา เพราะฉะนั้นร่างกายของเราจึงเป็นเพียงการแสดงออกหรือการทำให้เป็นวัตถุวิสัย (objectification) ของเจตจำนงของเรานั่นเอง ความเป็นจริงจึงมีแต่อย่างเดียว คือเจตจำนง ไม่ได้มีสองอย่างดังที่เดการ์ดได้แถลงไว้ คนแต่ละคนต่างรู้ว่า เจตจำนงของตนเป็นเอกเทศ แต่นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์อันขึ้นต่อแบบก่อนประสบการณ์แห่งผัสสะ(A priori forms of sensibility) เจตจำนงที่เป็นจริงหามีห้วงเทศะและเวลามาแบ่งแยกไม่ เพราะฉะนั้นเบื้องหลังปรากฏการณ์หรือในสภาวะความเป็นจริงเจตจำนงมีเพียงหนึ่งเดียว เรียกว่า เจตจำนงสากล (Universal Will) ส่วนโลกเป็นมโนคติของฉันเอง (The World is my Idea) เนื่องจากร่างกายของเราเป็นการกลายเป็นวัตถุวิสัย (becoming objectified) ของเจตจำนงเฉพาะตัว (individual Will) สสารทั้งหมดในโลกนี้ก็เป็นการกลายเป็นวัตถุวิสัยของเจตจำนงสากลด้วย เจตจำนงสากลนี้เป็นพลังตาบอด ดิ้นรนอย่างไร้จุดหมาย เท่าที่เราเห็นว่าธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แน่นอน เช่น กฎวิทยาศาสตร์ กฎเหตุผล ฯลฯ นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ผิวเผินหลอกตาเรา ภายในที่แท้จริงมีแต่ความสับสนอันเนื่องมาจากความดิ้นรนไม่รู้อิ่ม หน้าที่ของนักปรัชญาก็คือพยายามเข้าลึกลงไปจากผิวเผินของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


ลัทธิปฏิฐานนิยมและปฏิฐานนิยมใหม่

อภิปรัชญาของลัทธิปฏิฐานนิยมและปฏิฐานนิยมใหม่ : กระแสปฏิฐานนิยม เป็นกระแสที่เชื่อตามคานท์ว่าเราไม่สามารถรู้ความเป็นจริงในตัวเอง จึงควรหันความสนใจศึกษาแต่ปรากฏการณ์ของมัน ตามที่ปัญญาตามโครงสร้างของคานท์จะบอกแก่เราได้อย่างน้อยก็มีประโยชน์สำหรับความเป็นอยู่ของเราโดยตรง วิชาการเริ่มจากปรากฏการณ์ของประสาทสัมผัส ใช้เหตุผลและกฎเกณฑ์ความคิดตามโครงสร้างของสมองตามที่คานท์กล่าวไว้ สร้างเป็นระบบขึ้นมาและเชื่อได้ว่าจริงตามนั้น โดยไม่เชื่อว่าโครงสร้างของสมองจะมีการบิดเบือนแต่ประการใดทั้งสิ้น คิดอย่างไรก็ย่อมจริงตามนั้น คิดเช่นนี้เรียกว่า ลัทธิปฏิฐานนิยม (positivism)

อภิปรัชญาของโอกุสต์ กงต์ (Auguste Comte 1798-1857) ถือว่าความจริงมีเท่าที่เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะเห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถก้าวหน้าได้รวดเร็ว และประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์จริง ๆ กงต์เสนอว่าสติปัญญาของมนุษย์วิวัฒน์มาเป็น ๓ ระดับ (The Three Stages of Human Mind Development)

  • ระดับศาสนา (Theological Stage) มนุษย์ทึ่งในธรรมชาติ แต่ไม่รู้ข้อมูลจึงยกให้ธรรมชาติมีชีวิตเหมือนตนเอง สร้างองค์อสัมพัทธ์ (Absolute) ขึ้นไว้เบื้องหลังธรรมชาติ เรียกว่าคำอธิบายอุตระ (transcendental explication)
  • ระดับอภิปรัชญา (Metaphysical Stage) แทนที่เทพเจ้าด้วยความเชื่อว่ามีสาระ สาเหตุ พลัง ฯลฯ อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ ธรรมชาติ จึงมีฐานะแทนพระเจ้าไป การตีความธรรมชาติในระดับนี้เรียกว่า คำอธิบายอันตระ (immanent explication)
  • ระดับปฏิฐาน (Positive Stage) ความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ข้อมูลเท่านั้นจึงยึดถือเป็นหลัก ความรู้ระดับนี้ทดสอบกันได้ด้วยประสาทสัมผัส ทุกคนต้องยอมรับ พัฒนาเป็นขั้น ๆ จากง่ายไปยาก

อภิปรัชญาของสเพนเซอร์ (Herbert Spencer 1820-1903) นำเอาทฤษฎีวิวัฒนาการของชาล์ส ดาร์วิน ไปใช้กับความรู้ทุกแขนง นั่นคือ พยายามจะทำทฤษฎีวิวัฒนาการแบบสสารนิยมให้เป็นระบบปรัชญา เห็นว่าวิทยาศาสตร์มีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลรู้ด้วยประสาทสัมผัส ไม่สามารถเป็นความรู้สมบูรณ์ได้ ต้องอาศัยปรัชญาช่วยโยงให้ ปรัชญาจึงต้องอยู่เหนือประสาทสัมผัส ความสัมพันธ์ระหว่างสสารกับพลังงานทำให้เกิดพฤติกรรมวิวัฒนาการและสลายตัว (evolution and dissolution) ซึ่งเกิดขึ้นสลับกันตลอด

อภิปรัชญาของมิล (John Stuart Mill 1806 – 1873) เน้นลัทธิปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะ (logical) เป็นผู้รื้อฟื้นประสบการณ์นิยมของอังกฤษให้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ มีความเชื่อว่าความเห็นมนุษย์มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อความเป็นอยู่ สังคม และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ จึงพยายามสร้างระบบความคิดซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ต่อเสรีภาพของมนุษย์และความผาสุก มิลเน้นที่วิธีอุปนัยเป็นวิธีถูกต้องวิธีเดียวที่จะหาความรู้ใหม่ได้ อภิปรัชญาในความหมายแท้นั้นไม่มี เพราะเราไม่สามารถจะรู้อะไรเลยขอบข่ายของประสบการณ์ไปได้

อภิปรัชญาของปวงกาเร (Jules Henri Poincare 1854-1912) ชาวฝรั่งเศส เชื่อตามคานท์ว่าความจริงมีแต่คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปรัชญามีหน้าที่ค้นคว้าแต่เพียงปรากฎการณ์ของความเป็นจริง กฎต่าง ๆ เป็นเรื่องของความพร้อมใจ คณิตศาสตร์เป็นความรู้ประเภทสังเคราะห์ก่อนประสบการณ์ (synthetic a priori) กฎคณิตศาสตร์เริ่มจากอุปนัยเหมือนวิทยาศาสตร์ โดยเลือกที่ต้องการจากการพร้อมใจ และใช้อัชฌัตติกญาณรับรองความถูกต้อง อัชฌัตติกญาณของปวงกาเรก็คือที่คานท์เรียกว่าโครงสร้างสมองของคานท์ ปวงกาเรชี้ว่ามีความจริงบางอย่างที่จริงชนิดเหนือโครงสร้างของสมอง จริงแบบอสัมพัทธ์ เรียกว่าเป็นอัชฌัตติกญาณวิเคราะห์ก่อนประสบการณ์ (analytic a priori intuitions)


ลัทธิปรัชญาวิเคราะห์ กระบวนทรรศน์นวยุคได้รวบยอดผ่านอภิปรัชญาของลัทธิปรัชญาวิเคราะห์ (Analytic Philosophy) ซึ่งเป็นการพัฒนาลัทธินิรันดรนิยมและสารัตถะนิยมถึงขั้นสมบูรณ์แบบ โดยการสร้างระบบเครือข่าย (network) ด้วยวจนศูนย์ (logocenter) อย่างแน่นแฟ้นอันประกอบด้วย 3 ระบบเครือข่ายที่ตรงกัน คือ

  1. ระบบเครือข่ายในความเป็นจริง อันได้แก่ กฎทั้งหลายของเอกภพที่โยงใยถึงกันในลักษณะกลศาสตร์ที่เป็นระบบระเบียบแน่นแฟ้น
  2. ระบบเครือข่ายของความคิดซึ่งโยงใยถึงกันตามกฎตรรกวิทยา โดยรวมคณิตศาสตร์อยู่ในตรรกวิทยาด้วย
  3. ระบบเครือข่ายของภาษาอุดมการณ์ซึ่งต้องสร้างใหม่หรือปรับภาษาสามัญให้แสดงโครงสร้างตามตรรกวิทยาได้อย่างสมบูรณ์


นักปรัชญากระแสนี้ส่วนมากไม่เชื่อว่ามีจิตวิญญาณ จะมีก็แค่จิตและชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานสัมพันธ์กับสสารอย่างคำนวณได้แน่นอนชัดเจนและแม่นยำ ลัทธินี้ยังได้ชื่อว่าวจนศูนย์นิยม (logocentrism) โดยเรียกทั้ง ๓ ระบบเครือข่ายรวมกันว่า วจนศูนย์ (logocenter) คือมี logos (วจนะ) เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นปรัชญาที่สนใจจึงมุ่งไปที่มาตรการความจริงว่าควรเป็นมาตรการใด (ญาณปรัชญา)

อภิปรัชญาของรัสเซล (3th Earl Bertrand Arthur William Russell ค.ศ.1872-1970) เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างมโนภาพที่สมรรถภาพเหตุผลมองเห็นเป็นระเบียบตรรกะนั้นน่าจะมีความจริงตายตัว ไม่ใช่เป็นเพียงโครงสร้างของสมองที่สมองยัดเยียดให้ และไม่น่าจะเป็นเพียงระยะแห่งปฏิพัฒนาการของจิต การที่จะได้ความคิดที่พัฒนาถึงจุดนี้จะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของสมรรถภาพเหตุผลได้ชัดเจน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับตีความเรื่องอื่น ๆ ที่อยากจะรู้ต่อไป รัสเซล สร้างอภิปรัชญาของตนขึ้นแทน โดยใช้วิธีพรรณนาจำกัดกับผลสรุปจากวิทยาศาสตร์ รัสเซลเดินตามลัทธิเอกนิยมเชื่อว่าความเป็นจริงมีอย่างเดียว ได้ชื่อว่าสายกลาง เพราะถือว่าความเป็นจริงอย่างเดียวนั้นอยู่กลาง ๆ ระหว่างจิตกับสสาร คือ จิตก็ไม่ใช่และสสารก็ไม่เชิง แต่เป็นอะไรสักอย่างที่เป็นกลาง ๆ แต่อาจจะแสดงตัวเป็นจิตก็ได้ สสารก็ได้ เบื้องหลังเป็นสิ่งเดียวกัน คือ ปรมาณูทางอภิปรัชญา (metaphysical atoms) ซึ่งเมื่อรวมกันในโครงสร้างต่างกันจะเกิดอณูทางอภิปรัชญาที่มีคุณสมบัติและคุณภาพต่าง ๆ กัน บางอณูอาจมีคุณภาพสูงถึงขั้นเป็นจิต จิตมีสมรรถภาพคือการรับรู้ เมื่อจิตรับรู้อะไรก็ตาม จะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ทำให้เกิด 2 บรรยากาศ (two spheres) ที่สัมพันธ์กัน แต่ละบรรยากาศก็จะมีทัศนียภาพ (perspective) ซึ่งเป็นบริบทของผู้รู้และบริบทของสิ่งที่ถูกรู้ เอกภพแห่งความเป็นจริงจึงประกอบด้วยบรรยากาศนับไม่ถ้วนซึ่งแต่ละบรรยากาศก็มีทัศนียภาพตามบริบทที่รับรู้และถูกรู้ เรารู้ว่ามีสสารเพราะเรามีผัสสาการ(sensation) ซึ่งเป็นผล จึงต้องมีสาเหตุที่ทำให้เกิดผัสสาการ สิ่งนั้นคือ สสาร ก็หมายความว่ารัสเซลเชื่อทฤษฎีสาเหตุ (causal theory) ในเรื่องจักรวาลวิทยา คือมีการแยกแยะระหว่างผัสสาการกับข้อมูลทางผัสสะ (sense-data) และโลกแห่งสสาร (material world) สสารทำให้เกิดผัสสาการและผัสสาการทำให้เกิดข้อมูลทางผัสสะ ในประเด็นเรื่องความจริง(truth) รัสเซลเน้นทฤษฎีสมนัย(correspondence theory) คือ เชื่อตามลักษณะของนวยุคนิยมว่ามีความสมนัยหรือความตรงกันจริงระหว่างวัตถุ ความรู้กับภาษาอุดมคติ รัสเซลจึงพยายามค้นหาวิธีรู้ให้ตรงกับวัตถุ นั่นคือวิธีวิเคราะห์เชิงปรัชญา และพยายามสร้างภาษาอุดมคติที่สามารถสื่อความรู้สึกกันได้ตรงกับความ


อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. กีรติ บุญเจือ . (2546). ย้อนอ่านปรัชญานวยุคของมนุษยชาติ (ช่วงสร้างระบบเครือข่าย) ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น , พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น.
  2. ----------- . (2546). ย้อนอ่านปรัชญากังขาของมนุษยชาติ (ช่วงวิจารณ์ระบบเครือข่าย) ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น , พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น.
  3. เอนก สุวรรณบัณฑิต. (2558). เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาศึกษา. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา