ปรัชญาเบื้องต้น/สาขาปรัชญา

จาก วิกิตำรา

สาขาปรัชญา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เราสามารถแบ่งปรัชญาตะวันตกได้เป็น 6 สาขาซึ่งได้รับความสำคัญที่ต่างกันไปตามเวลา โดยดั้งเดิม อภิปรัชญาเป็นสาขาที่ตั้งคำถามสำหรับปรัชญา ญาณวิทยาถามว่าเรารู้ได้อย่างไร จริยธรรมและการเมืองเกี่ยวข้องกับการกระทำและคุณภาพชีวิต สุนทรียศาสตร์หรืออรรฆวิทยาเกี่ยวข้องกับความงาม ความสมดุล และความบรรสาน ตรรกศาสตร์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันญาณวิทยาแทนที่อภิปรัชญาในบางครั้งเพราะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาน้อยกว่า ในขณะที่กลุ่มนักปรัชญาในทวีปยุโรปตะวันออกและภาคพื้นทวีปมักศึกษาปรัชญาเรื่องการเมือง และสำหรับนักปรัชญาวิเคราะห์ซึ่งเคลือบแคลงในจริยธรรม การเมือง และอภิปรัชญาเป็นอย่างมาก ตรรกศาสตร์เป็นสิ่งที่จำเป็น

การทำความเข้าใจในปรัชญาสมัยศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตศักราช เราต้องพิจารณาถึงลำดับความสำคัญที่แตกต่างจากสมัยคริสตศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทเหล่านี้ก็ยังเป็นประโยชน์ในการระบุว่ากำลังพูดถึงอะไร อภิปรัชญาซึ่งเป็นการศึกษาธรรมชาติของความมีอยู่ เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับญาณวิทยาซึ่งเป็นการศึกษาความรู้และวิธีการที่เรารู้ว่าเราทำอะไรกับโลกรอบตัวเรา จริยธรรมซึ่งเป็นการศึกษาว่าบุคคลควรทำตัวอย่างไร พึ่งพาญาณวิทยาเพราะเราต้องมีความรู้จึงจะสามารถตัดสินใจได้ดี การเมืองศึกษาปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ สุนทรียศาสตร์ศึกษาคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ตรรกศาสตร์เกี่ยวกับการแทนเชิงสัญลักษณ์ของภาษาและกระบวนการคิด ครั้งหนึ่งซึ่งเคยเป็นสาขาของแอริสตอเติล รากฐานของศาสตร์ที่แม่นตรงจำต้องพิจารณาถึงสัมพันธภาพ ความไม่แน่นอน และความไม่สมบูรณ์

ญาณวิทยา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ญาณวิยา ทฤษฎีของความรู้ มาจากคำว่า ญาณ (ญาณ/ปัญญา/ความรู้แจ้ง) และ วิทยา (ความรู้/ศาสตร์/สาขาวิชา) ในภาษาบาลี และในภาษาอังกฤษ Epistemology มาจากคำว่า episteme (ความรู้) และ logos (คำศัพท์/คำพูด/การศึกษา) ในภาษากรีก เป็นสาขาของปรัชญาที่พูดถึงธรรมชาติ ต้นกำเนิด ขอบเขต และการศึกษาหรือความเป็นไปได้ของความรู้ การจัดการกับธรรมชาติเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา แต่ก่อนที่จะสามารถทำอะไร เราต้องเข้าใจความหมายของปรัชญาเสียก่อน นักปรัชญาศาสนาจะต้องเป็นปรวิสัย ใครที่พร้อมศึกษาปรัชญาควรมีความสามารถในการโจมตีและแก้ต่าง ตรรกศาสตร์ในนิยามอื่นคือการศึกษาการให้เหตุผล หรือการศึกษาความน่าเชื่อถือของความเชื่อมโยงระหว่างข้อตั้งและข้อสรุป ตรรกศาสตร์ถูกแบ่งออกไปอีกเป็นการให้เหตุผลแบบนิรนัยและการให้เหตุผลแบบอุปนัย การให้เหตุผลแบบนิรนัยคือการให้เหตุผลจากข้อความทั่วไปไปหาข้อความที่เจาะจง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอ้างเหตุผลที่สมเหตุสมผลซึ่งเป็นสัจนิรันดร์หรือประพจน์ซ้ำความโดยธรรมชาติ นั่นหมายความว่าข้อสรุปไม่ได้เป็นความรู้ใหม่ซึ่งไม่ได้มีอยู่แล้วในข้อตั้ง การให้เหตุผลแบบอุปนัยคือการให้เหตุผลจากข้อความเจาะจงไปหาข้อความทั่วไป การให้เหตุผลแบบนี้เป็นแบบที่ถูกใช้มากที่สุดในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

อภิปรัชญา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อภิปรัขญามาจากคำว่า อภิ (ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ) และคำว่า ปรัชญา ในภาษาสันสกฤต และในภาษาอังกฤษคำว่า Metaphysics มาจากคำว่า meta และ physika ในภาษากรีกซึ่งแปลว่า "หลังจากสิ่งธรรมชาติ" เดิมทีคำว่า Metaphysics เป็นชื่อที่นักเรียนของแอริสโตเติลใช้เรียกหนังสือเล่มหนึ่งของเขาซึ่งเกี่ยวกับปฐมปรัชญา (ความเข้าใจที่ว่า Metaphysics หมายความว่า "เหนือวิชาฟิสิกส์" เป็นความเข้าใจที่ผิด) อภิปรัชญาเป็นสาขาปรัชญาที่สนใจในการศึกษา "ปฐมธาตุ" และ "สัต" (ภววิทยา) พูดอีกอย่างหนึ่งคือ อภิปรัชญาคือการศึกษาแง่มุมที่ทั่วไปที่สุดของความเป็นจริง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสารัตถะ เอกลักษณ์ ธรรมชาติของจิต และเจตจำนงเสรี มันคือการศึกษาธรรมชาติ ธรรมชาติของความเป็นจริง และธรรมชาติของโลกซึ่งมนุษย์ดำรงอยู่

ตรรกศาสตร์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ตรรกศาสตร์มาจากคำว่า ตรรก (การให้เหตุผล/ตรรกะ) และ ศาสตร์ (ระบบวิชาความรู้) ในภาษาสันสกฤต และคำว่า Logic ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า logos (คำพูด) หรือ λόγος ในภาษากรีกยุคคลาสสิก และต่อมาความหมายกลายเป็น "ความคิด" หรือ "เหตุผล" เป็นการศึกษาการให้เหตุผลที่ถูกต้อง แต่ตรรกศาสตร์เป็นวิชาที่มั่นคงแล้ว ภารกิจของนักตรรกศาสตร์จึงมีอย่างเดียวคือการอธิบายระหว่างการอนุมานที่สมเหตุสมผลและผิด เพื่อให้ทุกคนสามารถแยกออกระหว่างทั้งสองได้

จริยธรรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

จริยธรรมคือคำทั่วไปสำหรับ "ศาสตร์ของศีลธรรม" ในวิชาปรัชญา พฤติกรรมที่มีจริยธรรมคือพฤติกรรมที่ "ดี" หรือ "ถูก" บางครั้งธรรมเนียมจริยธรรมตะวันตกถูกเรียกว่าปรัชญาคุณธรรม มันคือการศึกษาความถูกและผิดของความพยายามของมนุษย์

สุนทรียศาสตร์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สุนทรียศาสตร์คือสาขาปรัชญาที่พูดถึงธรรมชาติของความงามและรสนิยม ซึ่งรวมถึงปรัชญาศิลปะ (ซึ่งเป็นสาขาที่แยกมาจากสุนทรียศาสตร์) สุนทรียศาสตร์พินิจพิจารณาคุณค่าทางอารมณ์และความรู้สึกและอัตวิสัย หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นการตัดสินอารมณ์และรสนิยม

สาขาอื่น ๆ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ปรัชญาการศึกษา: สาขานี้ตรงตามชื่อพอสมควร เป็นสาขาย่อยซึ่งว่าด้วยวิธีการให้การศึกษาแก่บุคคลที่ถูกต้อง วรรณกรรมหลัก ๆ เช่น อุตมรัฐ ของเพลโต Thoughts Concerning Education ของล็อก และ เอมีล ของรูโซ

ปรัชญาประวัติศาสตร์: เป็นสาขาย่อยซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงปรัชญา ซึ่งมีนักคิดที่โด่งดังเช่นเฮเกิลและผู้ที่ตามต่อจากเขาเช่นมาคส์ มันสนใจโดยเฉพาะในคำถามว่าประวัติศาสตร์ (นั่นคือ ของเอกภพหรือของมนุษยชาติ) กำลังเดินทางไปสู่จุดจบใดหรือไม่ ทั้งเฮเกิลและมาคส์กล่าวว่าใช่ วรรณกรรมหลัก ๆ เช่น New Science ของวีโก และงานของเฮเกิลและมาคส์

ปรัชญาภาษา: เป็นสาขาปรัชญาที่เก่าแก่ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมาภายใต้วิทเกินชไตน์ โดยพื้นฐานสนใจในกลไกที่ภาษาส่งผลต่อความคิดของเรา วิทเกินชไตน์ได้กล่าวไว้อย่างโด่งดังว่า ขีดจำกัดของภาษาของเราเป็นตัวกำหนดขีดจำกัดของความคิดของเรา วรรณกรรมหลัก ๆ เช่น Cratylus ของเพลโต ความเรียงของล็อก และ Tractatus Logico-Philosophicus ของวิทเกินชไตน์

นิติปรัชญา: เรียกอีกชื่อว่านิติศาสตร์ เป็นสาขาปรัชญาที่ศึกษากฎที่พยายามแยกแยะว่ากฎหมายที่ดีที่สุดเป็นเช่นไร วิธีการที่กฎหมายเกิดขึ้นมาตั้งแต่แรก พยายามกำหนดขอบเขตระหว่างกฎหมายมนุษย์และกฎหมายธรรมชาติ ว่าเราควรควรทำตามกฎหมายเสมอไปหรือไม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย กฎหมายไม่ใช่เรื่องที่นักปราชญ์มักพิจารณาโดยตรง แต่เป็นที่ชัดเจนว่าปรัชญาการเมืองส่งผลต่อมันโดยส่วนมาก

ปรัชญาคณิตศาสตร์: เป็นสาขาปรัชญาที่สนใจในเรื่องเช่น ธรรมชาติของสัจพจน์และสัญลักษณ์ (ตัวเลข รูปสามเหลี่ยม ตัวถูกดำเนินการ) ของคณิตศาสตร์ซึ่งเราใช้เพื่อทำความเข้าใจโลกรอบตัวเรา ว่ารูปทางคณิตศาสตร์ที่สมบูรณ์มีอยู่ในโลกจริงหรือไม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย วรรณกรรมที่สำคัญที่สุดในสาขานี้คือ Principia Mathematica ของ อัลเฟรด นอร์ต ไวท์เฮด และ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์

ปรัชญาจิต: เป็นสาขาปรัชญาที่ศึกษาจิต พยายามสืบเสาะว่าจิตคืออะไรกันแน่ วิธีการที่จิตมีปฏิสัมพันธ์กับกาย จิตอื่น ๆ มีอยู่หรือไม่ จิตทำงานอย่างไร และอื่น ๆ อีกมากมาย สาขานี้อาจเป็นสาขาที่โด่งดังที่สุดขณะนี้ และเนื้อหาได้ครอบคลุมไปยังประเด็นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ วรรณกรรมหลัก ๆ เช่น อุตมรัฐ ของเพลโตและ Philosophical Investigations ของวิทเกินชไตน์ อย่างไรก็ตามนักปรัชญาส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับว่าอะไรคือจิตและมันทำงานอย่างไร

ปรัชญาการเมือง: เป็นสาขาปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับจริยศาสตร์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับรัฐบาลและชาติ โดยเฉพาะคำถามว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร รัฐบาลที่ดีเป็นอย่างไร พลเมืองมีข้อผูกมัดอะไรต่อรัฐบาล และอื่น ๆ อีกมากมาย วรรณกรรมหลัก ๆ เช่น อุตมรัฐ ของเพลโต Leviathan ของฮอบส์ ศาสตร์นิพนธ์สองบรรพ ของล็อก และ ว่าด้วยเสรีภาพ ของ จอห์น สจ๊วต มิลล์

ปรัชญาศาสนา: เทววิทยาสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้า พิธีกรรมทางศาสนา ผลกระทบของศาสนาต่อชีวิตของเรา และอื่น ๆ อีกมากมาย ปรัชญาศาสนาเป็นสาขาปรัชญาที่สนใจในเรื่องเหมือน ๆ กัน แต่ในขณะที่เทววิทยาใช้วรรณกรรมทางศาสนาเช่น ไบเบิล อัลกุรอาน พระไตรปิฎก ฯลฯ เป็นความจริงสูงสุด ปรัชญาศาสนาใช้เหตุผลเป็นตัวตัดสิน

ปรัชญาวิทยาศาสตร์: เป็นสาขาปรัชญาที่ศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยสนใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรารู้ได้อย่างแน่ใจอย่างไรว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งถูกต้อง เราจะได้มันมาอย่างไร วิทยาศาสตร์อธิบายได้ทุกอย่างไหม สาเหตุมีอยู่จริงหรือไม่ เราสามารถอธิบายเหตุการณ์ใด ๆ ในจักรวาลด้วยฟิสิกส์ได้เสมอหรือไม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย วรรณกรรมหลัก ๆ เช่น Treatise on Human Nature ของฮูม Naming and Necessity ของคริปเก และ Structure of Scientific Revolutions ของคูห์น

กลับไปหน้าแรก | พูดคุยเกี่ยวกับบทนี้ | บทต่อไป