ข้ามไปเนื้อหา

พระมหากษัตริย์ไทย/กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์/กฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์

จาก วิกิตำรา

กฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ พระราชฐานหรือระเบียบการปกครองในพระราชสำนัก

กฎมณเฑียรบาล

กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งในอดีตมีความสำคัญอย่างมากในระบบกฎหมายของไทย ซึ่งแสดงถึงรูปแบบ (กฎ) และเนื้อหาสาระเป็นพิเศษแตกต่างไปจากฎหมายอื่น กฎมณเฑียรบาลนี้ตราขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกไปก็มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องอื่นๆ ขึ้นใหม่อีกหลายฉบับ บางฉบับใช้ชื่อว่ากฎมณเฑียรบาล บางฉบับก็มิได้ใช้ชื่อรูปแบบเช่นนั้น แต่เลี่ยงไปออกเป็นรูปแบบอื่น เช่น ประกาศพระบรมราชโองการบ้าง พระราชกฤษฎีกาบ้าง แต่ด้วยเหตุที่เนื้อความเป็นเรื่องที่ปกติแล้วจะพึงตราเป็นกฎมณเฑียรบาล จึงนิยมถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบางด้วยเช่นกัน

กฎมณเฑียรบาล มีหลายฉบับ บางฉบับยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ แต่ที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ซึ่งแยกออกมาบัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็มิได้นำมาบัญญัติซ้ำหากแต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับยอมรับตลอดมาว่าให้นำกฎมณเฑียรบาลมาใช้ได้ในกรณีราชบัลลังก์ว่างลง ดังที่เคยนำมาใช้แล้วเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ และ พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นเหตุให้ได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ ข้อนี้เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญยอรับสถานะทางกฎหมายของกฎมณเฑียรบาล และยอมรับรูปแบบของกฎหมายชนิดนี้ว่ามีได้ในระบบกฎหมายไทย

ความหมาย

กฎมณเฑียรบาล ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน หมายถึง ข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสำนัก

นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายที่ได้ให้ความหมายของกฎมณเฑียรบาล ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงอธิบายว่า “ชื่อกฎมณเฑียรบาลนี้แปลว่าสำหรับรักษาเรือนเจ้าแผ่นดิน”

ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อธิบายว่า กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายรักษาวินัย ความสงบ ตลอดจนความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวังและองค์พระมหากษัตริย์”

ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อธิบายไว้ว่า กฎมณเฑียรบาลตามที่เข้าใจกันโดยทั่วๆ ไปว่าเป็นกฎหมายส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ หรือระเบียบข้อบังคับในราชสำนัก”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความหมายข้างต้นก็คงพอจะเห็นได้ว่า กฎมณเฑียรบาลนั้นมิได้มุ่งหมายที่จะดูแลรักษาพระราชวังและพระราชฐานเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายที่จะอภิบาลดูแล ถวายอารักขาและความปลอดภัย ตลอดจนการรักษาพระบรมเดชานุภาพและการผดุงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร หรือบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระราชวัง พระราชฐานนั้นด้วย

ขอบเขต กฎหมายทั้งหลายย่อมมีขอบเขตในตัวเองว่าจะด้วยเรื่องอันใด ใช้กับใคร ในสถานการณ์ใด กฎมณเฑียรบาลก็เช่นกัน จะมีขอบเขตโดยเฉพาะซึ่งกำหนดไว้ ดังนี้

๑.ขอบเขตด้านสถานที่ (Place) ข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาลมุ่งหมายที่จะดูแลรักษาพระราชวังและพระราชฐานอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ แต่โดยธรรมเนียมที่ถือกันมาแล้ว ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะประทับ ณ ที่ใด แม้นอกพระบรมมหาราชวังก็ถือว่าสถานที่นั้นเป็นพระราชวังหรือพระราชฐานด้วย การกระทำผิดในสถานที่ดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดพระราชอาชญาพระผู้เป็นเจ้า อันถือว่าขัดต่อกฎมณเฑียรบาล

๒.ขอบเขตด้านตัวบุคคล (Person) กฎมณเฑียรบาลมีความมุ่งหมายจะกำหนดขอบเขตในเรื่องของการอภิบาลดูแลรักษา การถวายอารักขาและความปลอดภัย ตลอดจนการรักษาพระบรมเดชานุภาพและการผดุงพระเกียรติยศของบุคคล อันได้แก่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการในพระองค์ แม้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดเป็นล้นพ้น

แต่กฎมณเฑียรบาลก็อาจกำหนด “แนวทาง” เพื่อพระราชจรรยานุวัตรว่าพระมหากษัตริย์ในอดีตทรงปฏิบัติมาเช่นไร พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ ไปก็พึงทรงปฏิบัติตาม ซึ่งกฎมณเฑียรบาลเหล่านี้มักจะนำโบราณราชนิติประเพณีมากำหนดไว้ พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ การประพฤติปฏิบัติตนของพระบรมวงศานุวงศ์อาจจะกระทบต่อพระราชฐานะและพระบารมีของพระมหากษัตริย์ได้ กฎมณเฑียรบาลจึงได้บังคับครอบคลุมไปถึงการประพฤติปฏิบัติพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ด้ว ไม่ว่าพระบรมวงศานุวงษ์พระองค์นั้นจะประทับอยู่ในเขตพระราชฐานหรือไม่ก็ตาม

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ข้าราชการในพระองค์ก็ย่อมต้องผูกพันให้ปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลด้วย อย่างไรก็ตาม กฎมณเฑียรบาลย่อมไม่ใช้บังคับกับประชาชนทั่วไป เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นจะได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หรือพระราชฐาน เช่น การเข้าไปในเขตที่ประทับ การเข้าเฝ้าทูลละอองธุรีพระบาท การถวายฎีการ้องทุกข์ เป็นต้น”๗

ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการ

กฎมณเฑียรบาลของไทยนั้นน่าจะมีที่มาจากพราหมณ์ โดยเฉพาะคณะพราหมณ์พิธีต่างๆ ซึ่งรอบรู้โบราณราชประเพณีและมีหน้าที่รักษาโบราณราชประเพณี “เพื่อบูชาองค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นเทวราช” ซึ่งศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า “ที่ประทับของพระมหากษัตริย์คือพระราชวังนั้น เจตนาให้มีกฎเกณฑ์และพิธีการต่างๆ เหมือนกับว่าเป็นเทวสถาน คือ เป็น เทวสถานของพระผู้เป็นเจ้าในลัทธิพราหมณ์” เมื่อคตินี้มาถึงเมืองไทย เราก็สมมุติให้พระราชวังเป็นเทวสถาน สมมุติว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระผู้เป็นเจ้า และมีสถานที่ต่างๆ ซึ่งสร้างไว้สำหรับพืธีกรรมเพื่อจะปฏิบัติบูชาแด่องค์พระมหากษัตริย์ และที่สำคัญต้องมีพราหมณ์ประจำราชสำนัก๘

ส่วนกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติที่พึงกระทำภายในพระราชสำนักและที่บุคคลอื่นพึงกระทำต่อพระมหากษัตริย์นั้น พวกพราหมณ์คงจะได้เล่าเรียนสะสมความรู้กันต่อๆ มาจากพราหมณ์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนย้นไปได้ถึงคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย การกล่าวถึงความรู้ด้านนี้จึงเรียกว่า โบราณราชประเพณีบ้าง นิติศาสตร์ราชประเพณีบ้าง และเมื่อประยุกต์เข้ากับหลักธรรมในทางพุทธศาสนาว่าด้วยทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๑๐ ว่าด้วยอวิโรธนธรรม คือ การประพฤติปฏิบัติมิให้ผิดเพี้ยนไปจากระเบียบวิธีปฏิบัติแต่เดิม กฎและธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้จึงใช้สืบต่อกันมาด้วยวาจาและความทรงจำในฐานะที่เป็นโบราณราชบัญญัติ ซึ่งก็คงจะมีการดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและธรรมเนียมอื่นๆ ของไทย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการประมวลความรู้ของพราหมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรและใช้เป็นหลักราชการ เรียกชื่อว่า “กฎมณเฑียรบาล” เป็นครั้งแรก สืบเนื่องจากเมื่อตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่จำเป็นต้องมีกฎระเบียบให้เป็นหลักฐานมั่งคง ป้องกันพราหมณ์ต่างๆ ถกเถียงแปลความผิดเพี้ยนไปตามความทรงจำของแต่ละคน และเพื่อให้พระมหากษัตริย์และบรรดาผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตนได้ถูกต้อง จึงได้มีการประชุมปรึกษาพราหมณ์และบัญญัติกฎมณเฑียรบาลขึ้น โดยถือกันว่า เป็นการนำเอาความที่มีมาแต่โบราณมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมิใช่การสร้างสรรค์ขึ้นใหม่แต่อย่างใด

การตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใช้บังคับนี้สันนิษฐานว่า ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตามที่ระบบุพระนามไว้ในคำปรารภกฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นฉบับเก่าแก่ที่สุดตามที่เหลือร่องรอยให้ตรวจบำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๓ แผนก คือ แนกแรกจะเป็นแบบแผนกพระราชพิธีและพระราชานุกิจทั้งในทางปกครองและส่วนพระองค์ แผนกที่สองจะเป็นแบบแผนว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการ และแผนกสุดท้ายจะเป็นแบบแผนว่าด้วยวิธีปฏิบัติในราชสำนัก

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในรัชกาลที่ ๑ ได้มีการตรวจชำระกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรวมถึงกฎมณเฑียรบาลที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยได้ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและธรรมเนียมประเพณีดังปรากฎหลักฐานในคำปรารภ “กฎมณเฑียรบาลเล่มที่ ๑” ของกฎหมายตราสามดวงความว่า “ตราขึ้นเมื่อศักราช ๗๒๐ วันเสาเดือนห้าขึ้นหกค่ำ ชวดนักสัตวศก สมเดจพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนารถมหามงกุฎเทพมนุษวิสุทธิ สุริยวงษองคพุทรางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ภายหลังจากนี้ก็ไม่ปรากฎว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้แต่ประการใด จนกระทั่งกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ ค่อยๆ ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยตัวบทกฎหมายใหม่เป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งก็มิใช่ว่าจะเลิกเสียทีเดียวทั้งฉบับ บางเรื่องก็หมดความจำเป็นหรือไม่อาจปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติตามสภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองการปกครอง ที่นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงอันสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ขึ้น เป็นเหตุให้ข้อกำหนดส่วนใหญ่ในกฎมณเฑียรบาลฉบับกรุงศรีอยุธยาไม่อาจใช้บังคับได้ต่อไป

วิวัฒนาการ

ภายหลังจากที่กฎมณเฑียรบาลฉบับกรุงศรีอยุธยาสิ้นผลใช้บังคับแล้วในรัชกาลต่อๆ มาก็มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องอื่นๆ ขึ้นใหม่อีกหลายฉบับ บางฉบับใช้ชื่อว่ากฎมณเฑียรบาล บางฉบับก็มิได้ใช้ชื่อเช่นนั้น แต่เลี่ยงไปออกเป็นกฎหมายรูปแบบอื่น เช่น ประกาศพระบรมราชโองการบ้าง พระราชบัญญัติบ้าง พระราชกฤษฎีกาบ้าง พระราชกำหนดบ้าง แต่ด้วยเหตุที่เนื้อหาสาระเป็นเรื่องปกติแล้วจะพึงตราเป็นกฎมณเฑียรบาล จึงถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลด้วยเช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการออกประกาศว่าด้วยพระราชนิยมในเรื่องต่างๆ อันมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนปฏิบัติ ประกาศบางเรื่องว่าด้วยความประพฤติของข้าราชการในราชนสำนัก เช่น ประกาศ จ.ศ.๑๒๑๖ ว่าด้วยเวลากราบทูลข้อราชการและกิจธุระ ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๗ ว่าด้วยห้ามมิให้เรือที่โดยเสด็จตัดกระบวน ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๙ ว่าด้วยการยิงกระสุนทางเสด็จพระราชดำเนิน เป็นต้น ซึ่งประกาศเหล่านี้บางฉบับถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลได้

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีพระบรมราชดองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมหมอบกราบเวลาเข้าเฝ้า เรียกกันโดยทั่วไปว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมใหม่๑๑ นกจากนี้ยังมีประกาศพระบรมราชดองการห้ามคนแต่งกายไม่สมควรมิให้เข้ามาในพระราชฐานที่เสด็จออก ซึ่งนับว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลอีกฉบับหนึ่ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงกำหนดเขตพระราชฐานว่าที่ใดเป็นที่รโหฐานอันข้าราชการจะเข้าไปมิได้ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยท่รโหฐานในพระราชสำนัก ซึ่งถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลฉบับหนึ่งด้วย และหลังจากนั้นก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๕๔๗ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ และที่สำคัญก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มีประธานคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


สถานะทางกฎหมาย สภาพบังคับและการตรากฎมณเฑียรบาล

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การตรากฎมณเฑียรบาลจะเป็นการประมวลดบราณนิติประเพณีลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแรกเริ่มคงจะมุ่งหมายเพียงว่าให้เป็นรูปแบบของกฎหรือกฎหมายที่ว่าด้วยมณเฑียรบาล ซึ่งหมายถึงเพียงการบันทึกคำฟ้องในคดีความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ภายหลังจึงมาเข้าใจว่าระเบียบหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาล ในสมัยอยุธยานั้นคงมิได้มุ่งหมายจะให้เป็นรูปแบบกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา คงจะมุ่งหมายเพียงจะแสดงเนื้อหาของรูปแบบที่เป็นกฎเท่านั้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อเกิดความจำเป็นต้องตรากฎว่าด้วยเนื้อหาใหม่ๆ ในการเกี่ยวด้วยพระราชสำนักเพิ่มขึ้น จึงใช้คำว่า “กฎมณเฑียรบาล” ในรูปแบบของกฎหมายทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แต่ละฉบับมีสถานะแตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องพิจารณาจากความประสงค์ของผู้ตราและเนื้อหาของกฎมณเฑียรบาลนั้นๆ บางฉบับเท่ากับพระราชบัญญัติ บางฉบับอาจมีสถานะต่ำกว่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะมีสถานะเท่ากับพระราชบัญญัติ ยกเว้นกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เท่านั้น

ซึ่งเดิมมีสถานะสูงกว่าพระราชบัญญัติ เพราะรัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้กระบวนการนิติบัญญัติในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้กระทำได้อย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวไว้ในมาตรา ๒๒๑๓ ว่าให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้สถานะที่เดิมสูงกว่าพระราชบัญญัติอาจเปลี่ยนไปด้วย

อนึ่ง ในปัจจุบันแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะรับรองสถานะของกฎมณเฑียรบาลเพียงเรื่องเดียว คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และมิได้บัญญัติรับรองสถานะของกฎมณเฑียรบาลในเรื่องอื่นๆ ไว้เลยก็ตามแต่ก็ยึดถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปว่า กฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นในภายหลังมายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง

สภาพบังคับของกฎมณเฑียรบาล

กฎมณเฑียรบาลอาจมีส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหรือพระราชจรรยานุวัตรของพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง แต่ก็มิได้กำหนดสภาพบังคับ (Sanction) เอาแก่พระมหากษัตริย์ หากเลี่ยงไปถือเอาว่าพระราชจรรยานุวัตรดังกล่าวมีเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร หากไม่ทรงปฏิบัติตามผลร้ายก็จะตกแก่ราษฎร เช่น ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล กฎมณเฑียรบาล ไม่ว่าในสมัยใดย่อมมีสภาพบังคับหรือโทษกำหนดไว้ด้วยเสมอ เช่น กฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยากล่าวถึง “โทษ ประการ ทีหนึ่งให้ภากธรรม สองทีส่งมหาดไทยจำ สามส่งอครักษจำ” บางความผิดก็ระบุทาว่า “โทษเจ้าพนักงานถึงตาย” “โทษทวีคูนตายทังโคต” บางความผิดโทษมีลักษณะทางแพ่งอยู่บ้าง เช่น “ลงพระราชอาญาตี ๓๐ ที แล้วให้ไมทวีคูณตามบันดาศักดิ์ แลอย่าให้เฝ้าพระบาทพระเจ้าอยู่หัว” “ถ้าผู้ใดไปสู้สองคนรอดตัวออกมา ได้ทั้งอาวุธข้าศึกมาด้วย บำเหนจ์ขันทองเสื้อผ้าตั้งให้เปนขุน”

เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกา ประกาศพระบรมราชโองการ และกฎมณเฑียรบาลอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น ในสมัยรัตนโกสินทร์ กรณีใดที่มีพระราชประสงค์เป็นคำสั่งห้ามก็กำหนดโทษไว้ด้วยเสมอ เช่น ประกาศพระราชกระแสรัชกาลที่ ๕ ตอนหนึ่งว่า ถ้ามีคนแต่งตัวไม่เรียบร้อยผ่านเข้าออกเขตพระราชฐาน ให้นายประตูขับไล่ห้ามปราม ถ้าไม่ฟังให้จับส่งศาลกระทรวงวัง ตัดสินลงโทษปรับไม่เกินคราวละ ๒๐ บาท เป็นต้น กฎมณเฑียรบาลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีโทษต่างๆ เช่นกัน ตั้งแต่สถานเบา เช่น ภาคทัณฑ์จนถึงคัดออกจากราชการ ถอดจากยศบันดาศักดิ์ เป็นต้น

แต่ที่นับว่าแปลกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เท่านั้น ซึ่งกล่าวถึงกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติแต่มิได้กำหนดโทษหรือสภาพบังคับเอาไว้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะลักษณะพิเศษบางประการของกฎมณเฑียรบาลฉบับนั้นเอง เช่นเดียวกับบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ การฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาลฉบับดังกล่าวย่อมตกเป็นอันไร้ผล เช่น การอัญเชิญผู้ขาดคุณสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลขึ้นครองราชย์ เป็นต้น

การตรากฎมณเฑียรบาล

กฎมณเฑียรบาลมิใช่สิ่งที่จะต้อง “ตรา” ขึ้นใช้บังคับเสมอไป เพราะอาจมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งด้วยพระโอษฐ์ก็ได้ ซึ่งในสมัยอยุธยา ก็มีการ “ตรา” กฎมณเฑียรบาลขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการตรวจชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ดังปรากฏในคำปรารภของกฎมณเฑียรบาล

มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการตรากฎมณเฑียรบาลในรูปแบบอื่นๆ อยู่หลายครั้งโดยไม่ใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาล เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ากฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่แล้วเป็นบทพระอัยการที่ไม่อาจต่อเติมเสริมแต่งได้ จึงต้องเลี่ยงไปออกกฎมณเฑียรบาลในชื่ออื่น และความคิดนี้ยังเคารพยึดถือกันอย่างเคร่งครัดจนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลไว้ในฐานะเป็นรูปแบบกฎหมายชนิดหนึ่งโดยใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาลเป็นครั้งแรกในทำนองเดียวกับคำว่า พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา โดยเมื่อจะกล่าวถึงเรื่องใดก็จะเติมคำว่า “ว่าด้วย” เรื่องนั้นๆ ต่อท้ายคำว่ากฎมณเฑียรบาล แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วก็มิได้ยอมรับรูปแบบกฎหมายชื่อนี้สำหรับการออกกฎหมายอีกต่อไป เว้นแต่จะเป็นการตรากฎมณเฑียรบาลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ดังนั้น กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรจึงมี ๒ รูปแบบ คือ กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในรูปแบบของกฎมณเฑียรบาล และกฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในรูปแบบอื่น เช่น เป็นประกาศพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ

กรณีมีปัญหาว่า ถ้าจะมีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใหม่ในปัจจุบันจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นได้ว่า รูปแบบของกฎหมายย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนการตรากฎกระทรวง เทศบัญญัติหรือกฎหมายอนุบัญญัติอื่นๆ ก็เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ การตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใหม่จึงไม่อาจทำได้เพราะขาดกระบวนการที่รัฐธรรมานูญกำหนดไว้ และไม่ปรากฏรูปแบบของกฎหมายนี้ในรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะเป็นการตรากฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ แต่หากมีความจำเป็นจะต้องตรากฎมณเฑียรบาลในเรื่องอื่นๆ ให้มีผลเป็นกฎหมายก็อาจทำได้โดยตราเป็นระเบียบประเพณีแห่งราชสำนัก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย ถ้าจะให้เป็นกฎหมายก็ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ หรือถ้าจะรักษาคำว่า “กฎมณเฑียรบาล” ไว้ ก็อาจตราเป็นพระราชบัญญัติให้ใช้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ทำนองเดียวกับการตราพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อันเป็นรูปแบบของกฎหมายโดยปกติในระบบกฎหมายไทย

สารบัญ
  1. พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐
  2. พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตาม มาตรา ๑๐
  3. ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  4. กฎมณเทียรบาล
  5. กฎหมายเกี่ยวกับบุคลากรในพระราชสำนัก
  6. พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐
  7. พระราชบัญญัติสมุหมนตรี รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙
  8. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์
  9. พระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ.๒๔๙๕
  10. พระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นๆ
  11. กฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ พระราชฐานหรือระเบียบการปกครองในพระราชสำนัก
  12. กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  13. แนวคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย