พระมหากษัตริย์ไทย/ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

จาก วิกิตำรา


ตามอนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on the Rights and Duties of State) ค.ศ. 1393 มาตรา 1 ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในกฎหมายระหว่างประเทศว่า รัฐประกอบด้วย[1] ประชากรที่อยู่รวมกันอย่างถาวร ดินแดนที่กำหนดได้อย่างแน่ชัด ความสามารถที่สถาปนาความสัมพันธ์กับต่างรัฐได้ (อำนาจอธิปไตย) และมีรัฐบาล ซึ่งในการปกครองประเทศไม่ว่าจะเป็นระบอบใดก็ตาม เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จะต้องมีผู้นำเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ โดยที่ผู้นำหรือประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศของนานาอารยประเทศนั้นจะมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับระบบการปกครอง ประเพณีนิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา หรือบางประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการปกครองของประเทศนั้น ๆ เช่น มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด หรือมีประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครองประเทศหรือรัฐ สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีพระมหากษัตรยิ์เป็นประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศมาตั้งแต่อดีตกาล

ความหมายของคำว่า พระมหากษัตริย์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

พระมหากษัตริย์ คือ ประมุขหรือผู้ปกครองสูงสุดของประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองประเทศ อันเกิดจากแนวความคิดที่ว่า แต่เดิมมนุษย์ยังมีน้อยดำรงชีพแบบเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์ขยายพันธุ์มากขึ้น ธรรมชาติต่าง ๆ เริ่มหมดไป เกิดการแก่งแย่งกันทำมาหากิน เกิดปัญหาสังคมขึ้น จึงต้องหาทางแก้ไข คนในสังคมจึงคิดว่าต้องพิจารณาคัดเลือกให้บุคคลที่เหมาะสมและมีความเฉลียวฉลาด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิจารณาตัดสิน เมื่อเกิดกรณีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้คนในสังคมพอใจ และยินดี ประชาชนทั้งหลายจึงเปล่งอุทานว่า “ระชะ” หรือ “รัชชะ” หรือราชา แปลว่า ผู้เป็นที่พอใจประชาชนยินดี ต่อมาเลยเรียกว่า พระราชา ด้วยเหตุที่ว่าการกระทำหน้าที่ดังกล่าวไม่มีเวลาไปประกอบอาชีพ ประชาชนทั้งหลายพากันบริจาคยกที่ดินให้ จึงเป็นผู้มีที่ดินมากขึ้นตามลำดับ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า เขตตะ แปลว่า ผู้มีที่ดินมาก และเขียนในรูปภาษาสันสกฤษว่า เกษตตะ หรือ เกษตร ในที่สุดเขียนเป็นพระมหากษัตริย์ แปลว่า ผู้ที่มีที่ดินมาก

ดังนั้น คำว่า พระมหากษัตริย์ ความหมายโดยรวม ก็คือ ผู้ที่ยึดครอง หวงแหนและขยายผืนแผ่นดินไว้ให้แก่ประชาชนหรืออาณาประชาราษฎร์ ที่พระองค์ทรงเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตกอบกู้เอกราชบ้านเมืองไว้ให้ชนรุ่นหลัง อย่างเช่นประเทศไทยของเรานี้ ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงยึดถือครอบครองผืนแผ่นดินไทยไว้ คนไทยทุกคนจะมีผืนแผ่นดินไทยอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร

อนึ่ง พระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่เป็นประมุขของรัฐที่ได้รับตำแหน่งโดยการสืบสันตติวงศ์นั้นอาจจำแนกประเภทโดยอาศัยพระราชอำนาจและพระราชสถานะเป็น 3 ประการ คือ

1. พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ มีพระราชอำนาจและพระบรมเดชานุภาพเด็ดขาดและล้นพ้นแต่พระองค์เดียว และในอดีตประเทศไทยเคยใช้อยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

2. พระมหากษัตริย์ในระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทุกประการ เว้นแต่จะถูกจำกัดโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

3. พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) คือในระบอบนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ในการใช้พระราชอำนาจด้านการปกครองนั้น ถูกโอนมาเป็นของรัฐบาล พลเรือน และทหาร พระมหากษัตริย์จึงทรงใช้พระราชอำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่าย ตุลาการ พระองค์มิได้ใช้พระราชอำนาจ แต่มีองค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบต่าง ๆ กันไป เช่น ประเทศไทย อังกฤษ และญี่ปุ่นในปัจจุบัน เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ของไทย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

หากนับย้อนอดีตประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า ”กษัตริย์” หรือนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ศึกษาได้จากในสมัยกรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก เช่นในสมัยราชวงศ์พระร่วง กษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า “พ่อขุน” เรียกว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับคติพราหมณ์มาจากขอมเรียกว่า เทวราชา หรือ สมมติเทพ หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพมาอวตารเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ทำให้ชนชั้นกษัตริย์มีสิทธิอำนาจมากที่สุดในอาณาจักร และห่างเหินจากชนชั้นประชาชนมาก ในสมัยราชวงศ์อู่ทอง จึงมีพระนามขึ้นต้นว่า “สมเด็จ” เรียกว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระราเมศวร หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เริ่มด้วยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบันคือรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการยกย่องเทิดทูลสถาบันองค์พระมหากษัตริย์ จึงมีพระนามขึ้นต้นว่า พระบาทสมเด็จ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9 )

ดังนั้นคำว่า “พระมหากษัตริย์ของไทย” อาจมีคำเรียกที่แตกต่างกันตามประเพณีนิยม หรือธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่นเรียกว่า พระราชา เจ้ามหาชีวิต เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน พ่อเมือง พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง ฯลฯ และพระมหากษัตริย์เป็นได้ด้วยการสืบสันตติวงศ์ หรือโดยการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมแล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ในการสืบสันตติวงศ์ต่อกันมาโดยเชื้อพระวงศ์ เรียกว่า พระราชวงศ์ เมื่อสิ้นสุดการสืบทอดโดยเชื้อพระวงศ์ ด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะเป็นต้นพระราชวงศ์ใหม่หรือเป็นผู้สถาปนาพระราชวงศ์

พระมหากษัตริย์ไทยกับรัฐธรรมนูญ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของชีวิตและเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือ ทรงพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นพ้น โดยหลักแล้วจะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดสิ้นชีวิตก็ย่อมกระทำได้ และทรงเป็นเจ้าชีวิตของที่ดินตลอดทั่วราชอาณาจักร แต่เมื่อภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยคือ ทรงเปลี่ยนฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทในการใช้พระราชอำนาจทั้งปวง

พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

รูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับอันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรูปแบบประมุขของประเทศไทย คือ พระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ตามประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จะมีพระราชสถานะและตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ มี 2 ประการ คือ

1. พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เช่นพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข หรือพระมหากษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมภก รวมทั้งทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ดังปรากฎในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475[2] (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) หมวด 2 กษัตริย์ มาตรา 3 กล่าวว่า “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบางกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร) หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 กล่าวว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งบทบัญญัติเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของคนไทย ทั้งนี้ด้วยมีความประสงค์ที่จะสำแดงพระราชสถานะอันสูงสุดของพระมหากษัตริย์ให้ประจักษ์ คติการปกครองประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด” (The King can do no wrong) ซึ่งหมายถึงผู้ใดจะฟ้องร้องหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม

2. พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครอง

ตามหลักทั่วไป พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คือแต่เดิมพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในทุก ๆ เรื่อง และทุก ๆ กรณีแต่ผู้เดียว ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้ากรณีใดไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดขอบเขตหรือเงื่อนไขของการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ พระมหากษัตริย์ก็จะยังคงมีพระราชอำนาจเช่นนั้นอยู่โดยผลของธรรมเนียมปฏิบัติ (Convention) ซึ่งมีค่าบังคับเป็นรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เช่น พระราชอำนาจในภาวะวิกฤต กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตร้ายแรงทางการเมืองถึงการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 17-20 พฤษภาคม 2535 ก็ดี จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเข้ามาระงับเหตุร้อนให้สงบเย็นลงได้อย่างอัศจรรย์ เป็นต้น หรือกรณีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย[3] กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยหลักแล้ว ร่างกฎหมายไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 20 วัน เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน นายกรัฐมนตรีต้องนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (มาตรา 94) เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เป็นที่น่ายินดีกับคนไทยทั้งประเทศ เนื่องด้วยในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา เป็นวันครบ 60 ปี ของกษัตริย์ไทยในการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยรัฐบาลใช้ชื่อว่า “การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ชื่อพระราชพิธี คือ “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” และมีชื่อพระราชพิธีภาษาอังกฤษคือ “The Sixtieth Anniversary Celebration of His Majesty’s Accession to the Throne” และประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากสิบสามประเทศเสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เอง และสิบสองประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน นับเป็นการชุมนุมของประมุขจากประเทศต่าง ๆ มากที่สุดในโลก จึงขอกล่าวได้ว่า “สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นปีแห่งศุภวาระมงคล ที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติมา ณ บัดนี้ ถึงมหามงคลสมัยที่จะฉลองเฉลิมพระเกียรติในการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันยาวนานที่สุดยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในพระราชพงศาวดารในสยามประเทศ”


อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. วิษณุ เครืองาม, (2530) “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์, หน้า 40.
  2. พรรณิภา เสริมศรี และคณะ, (2550) “เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475-2549 (เล่ม 2).” กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 575, 578, และ 803.
  3. ธงทอง จันทราศุ,(2541) “พระมหากษัตริย์” รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, กรุงเทพมหานคร :สำนักการพิมพ์มติชน, หน้า 137.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ประเสริฐ ณ นคร. “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 26. 2549.

บรรณานุกรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ธงทอง จันทรางศุ, (2516) “พระมหากษัตริย์” รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์มติชน.

ธงทอง จันทรางศุ, (2551) “รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”. กรุงเทพมหานคร :สำนักพิมพ์มติชน.

พรรณิภา เสริมศรี และคณะ, (2550) “เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475-2549 (เล่ม 2).” กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

มานิตย์ จุมปา, (2543) “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” (ความรู้เบื้องต้น) : กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม.

วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ,(2530) “พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” วารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2520.

อมร จันทรสมบูรณ์,(2517) “พระมหากษัตริย์” ในกฎหมายไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : มงคลการพิมพ์.