พัฒนาการสังคมไทย

จาก วิกิตำรา

สังคมมนุษย์มีลักษณะเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ คือ มีการเปลี่ยนแปลง บางสังคมเปลี่ยนแปลงช้าขณะที่บางสังคมเปลี่ยนเร็ว ในอดีตสังคมส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนอย่างสำคัญในรอบร้อยปี แต่ในระยะประมาณร้อยปีที่แล้วสังคมจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากสภาพสังคมแบบโบราณกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่เห็นชัดเจนคือการเปลี่ยนจากสังคมแบบเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จากสังคมแบบชนบทมาเป็นสังคมเมือง เป็นต้น เนื้อหาต่อไปจะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในประเด็นต่างๆ 


ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม [แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

พวงเพชร สุรัตนกวีกุล (2541) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมว่าหมายถึง การเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างทางสังคม พฤติกรรมทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปได้ทั้งในทางบวกและทางลบ คือมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นหรือเพิ่มขึ้น และสิ่งที่มีอยู่เดิมสิ้นสภาพหรือถูกทำลายไป การเปลี่ยนแปลงในทางที่มีสิ่งใหม่หรือเพิ่มขึ้นที่เห็นชัด ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆที่เป็นวัตถุสิ่งของและเทคนิค วิธีการ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของเมือง การสื่อสารและการคมนาคมที่รวดเร็วและสะดวก ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่าสิ่งของเครื่องเครื่องใช้และวิธีการเก่า ๆ หลายอย่างถูกยกเลิกหรือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น การใช้เกวียน การใช้วัวควายไถนา การใช้หมอตำแยทำคลอด การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช การบวชตามประเพณี เป็นต้น 


ลักษณะทั่วไปของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  • การเปลี่ยนแปลงฯ มักทำให้สังคมทั้งระบบเปลี่ยนได้โดยปกติคนส่วนใหญ่ในสังคมมักเป็นผู้รับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเป็นผู้ริเริ่มทำการเปลี่ยนแปลง
  • การเปลี่ยนแปลงฯ เป็นกระบวนการปรับตัวตามธรรมชาติที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
  • การเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของสังคมนั้นเกิดขึ้นเร็วช้าไม่เท่ากัน
  • การเปลี่ยนแปลงในส่วนหนึ่งของสังคมมักส่งผลกระทบถึงส่วนอื่น ซึ่งอาจเป็นผลกระทบในทางบวกหรือทางลบก็ได้

แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม [แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โลกยุคปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับโลกยุคเก่า การเปลี่ยนเข้าสู่โลกยุคใหม่เริ่มขึ้นราวร้อยกว่าปีมานี้ โดยเริ่มจากสังคมตะวันตกแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในโลกปรากฏขึ้นชัดเจนหลายประการ เช่น

  • ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ขนาดของสังคมต่าง ๆ โดยเฉลี่ยใหญ่ขึ้น
  • มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวรและชุมชนเมืองมากขึ้น
  • สังคมมนุษย์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้น
  • มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย
  • มีผลผลิตทางวัฒนธรรม (เช่น ข่าวสาร ความรู้ และบันเทิง)
  • ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากทั้งชนิดและปริมาณ
  • การจัดระเบียบทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น
  • มีความไม่เท่าเทียมภายในสังคมและระหว่างสังคมเพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลง เหล่านี้เกิดขึ้นมากน้อยและเร็วช้าไม่เท่ากันในแต่ละสังคม บางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมากจนกลายเป็นสังคมที่ก้าวหน้าและเป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่ หลายสังคมเปลี่ยนแปลงช้าหรือมีการเปลี่ยนแปลงบางด้านที่เป็นปัญหา เช่น ประชากรเพิ่มมากจนกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น จีน อินเดีย ในบางประเทศเน้นการพัฒนาด้านวัตถุเกินไปจนเป็นปัญหาต่อความสัมพันธ์ทางสังคม 

แนวโน้มที่กำลังเป็นไปขณะนี้ คือ การแพร่กระจายเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจจากสังคมที่ “พัฒนาแล้ว” ไปสู่สังคมที่ “ด้อยพัฒนา” หรือ “กำลังพัฒนา” ทั่วโลก หรือที่เรียกว่า “โลกาภิวัตน์” นักสังคมวิทยามองการเปลี่ยนแปลงในสังคมส่วนใหญ่รวมทั้งสังคมไทยในปัจจุบันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคมแบบประเพณีไปสู่สังคมแบบใหม่ เรียกกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า “การเปลี่ยนเป็นความทันสมัย” (modernization) หรือ “ภาวะทันสมัย” ซึ่งหมายถึง “การเปลี่ยนเป็นแบบสังคมตะวันตก” 


องค์ประกอบของความเป็นตะวันตกประกอบด้วย [แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

(1) การมีระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม  (2) การเป็นสังคมเมือง  (3) ความเป็นประชาธิปไตย  (4) การดำเนินชีวิตและมีทัศนะเชิงโลกีย์วิสัย (Secularization) 

หลายคนมักเข้าใจว่า “ความทันสมัย” คือ “การพัฒนา” (development) แต่บางคนกลับเห็นว่า “สังคมที่ทันสมัยอาจไม่พัฒนาก็ได้” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้ คำนิยามศัพท์ที่ต่างกัน ดังนั้นในที่นี่ผู้เรียบเรียงจักได้นำเสนอลักษณะของ “สังคมที่ทันสมัย” ในแง่มุมที่เป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว ดังต่อไปนี้

  • เป็นสังคมอุตสาหกรรม เพราะระบบอุตสาหกรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ตามมา
  • ระบบตลาดเสรี
  • ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
  • เปิดโอกาสให้มีการการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการเลื่อนชนชั้นได้โดยเสรี
  • พลเมืองในสังคมนั้นๆ รับรู้ข่าวสารและมีส่วนร่วมทางการเมือง มีความสำนึกว่าตนเองมีความสามารถ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเพณี พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ ใจกว้าง และมีความยืดหยุ่นทางความคิด
  • แบบแผนของระบบการเมือง บรรทัดฐานทางสังคม โครงสร้างทางชนชั้นและบุคลิกภาพของสมาชิกสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันมักไม่ใช่เรื่องภายในของประเทศหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบสังคมโลก ที่ครอบคลุมระบบเศรษฐกิจโลก การค้า การเงินระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ผูกพัน จนกลายเป็นสังคมเดียวกันนั่นคือ “ระบบสังคมโลก” 

นอกจากนั้นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยนั้นมักพบลักษณะบางประการที่เรียกว่า “ทวิลักษณ์” (dualism) คือมีภาวะที่แตกต่างกันมากดำรงอยู่ควบคู่กัน เช่น ด้านเศรษฐกิจภาคเกษตรและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่คู่กันแค่มีความไม่เท่าเทียมกัน รายได้ระหว่างกลุ่มคนภาคเกษตรกับภาคธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม มีความแตกต่างกันมาก รัฐบาลมักจะเอาใจใส่และเอื้อประโยชน์แก่นักธุรกิจมากกว่าเกษตรกร และนักธุรกิจมักได้รับชัยชนะเหนือเกษตรกรในการขัดแย้งเพื่อแย่งทรัพยากรน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ในด้านการเมืองก็มีลักษณะสองด้าน คือ ด้านหนึ่งคนเมืองและชนชั้นกลางซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น เสรีภาพทางการเมืองหรือระบบประชาธิปไตยเป็นกระแสหลักถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบธุรกิจตลาดเสรี แต่ในอีกด้านหนึ่งเกษตรกรในชนบทยังคุ้นเคยกับระบบอำนาจแบบอุปถัมภ์ และวิถีชีวิตแบบประเพณี ทำให้สังคมมีรูปแบบของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่มีพฤติกรรมทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ฝ่ายชนบทกับฝ่ายคนเมือง เช่น กรณีการเมืองในประเทศไทยซึ่งคนชนบทกับคนเมืองมีความคาดหวังต่อนักการเมืองต่างกันจึงมักเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาลแต่คนเมืองล้มรัฐบาล” อยู่เสมอ