ข้ามไปเนื้อหา

มหาชาติคำหลวง

จาก วิกิตำรา


คำนำ

มหาชาติคำหลวง เป็นหนังสือคำหลวงเล่มแรกที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้กวีนักปราชญ์ราชบัณฑิตหลายคนช่วยกันแต่งแปลคาถาภาษาบาลีเป็นคำประพันธ์ไทยหลายอย่างมีทั้งโคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ นอกจากจะมีสำนวนโวหารและถ้อยคำไพเราะเต็มไปด้วยรสวรรณคดีเช่นความโศก ความงามตามธรรมชาติ เป็นต้นแล้ว ยังให้ความรู้ด้านภาษาเกี่ยวกับคำโบราณ คำแผลง และคำเขมร อีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ อธิบายไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า

“หนังสือเรื่องมหาชาติคำหลวงนี้ กรรมการหอพระสมุดฯ มีปรารถนาจะใคร่พิมพ์มาช้านาน ถึงผู้ที่เป็นนักเรียนชั้นสูงก็อยากได้ พากันมาถามกรรมการหอพระสมุดฯ อยู่ไม่ขาด ว่าเมื่อไรจะพิมพ์หนังสือมหาชาติคำหลวง ที่ยังพิมพ์ไม่ได้ เพราะยังหาฉบับไม่ได้ครบ ๑๓ กัณฑ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้ทรงพยายามรวบรวมฉบับมหาชาติคำหลวง ด้วยมีพระประสงค์จะให้หนังสือเรื่องนี้ได้ขึ้นสู่พิมพ์ ทรงพยายามรวบรวมอยู่กว่า ๑๐ ปี ที่สุดได้ฉบับกัณฑ์อื่นๆ หมด ยังขาดแต่สักรบรรพกัณฑ์เดียว จึงต้องรอมาจนตลอดพระชนมายุของกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อจัดตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร หาหนังสือมหาชาติคำหลวงได้อีกหลายฉบับ บางกัณฑ์มีถึง ๒ ความ ๓ ความ ต่างกัน แต่กัณฑ์สักรบรรพยังหาไม่ได้ จนหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ กรรมการหอพระสมุดฯ ไปเสาะหาฉบับกัณฑ์สักรบรรพมาให้หอพระสมุดฯ ได้เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้ จึงเป็นโอกาสที่จะพิมพ์หนังสือมหาชาติคำหลวงได้บริบูรณ์

หนังสือมหาชาติมีหลายอย่างหลายสำนวนด้วยกัน อย่างอื่นเช่น กาพย์มหาชาติ มหาชาติกลอนเทศน์ หอพระสมุดฯ ได้ให้พิมพ์บ้างแล้ว ข้าพเจ้าเคยได้แสดงเรื่องตำนานและประวัติของหนังสือมหาชาติไว้ที่อื่นหลายแห่ง เห็นควรจะรวมเรื่องตำนานมหาชาติมากล่าวไว้ในคำนำมหาชาติคำหลวงนี้ด้วย ด้วยหนังสือมหาชาติคำหลวงนี้ นับว่าเป็นหลักหนังสือมหาชาติอย่างอื่น จะว่าด้วยตำนานเทศน์มหาชาติก่อน

ตำนานเทศน์มหาชาติ

พุทธศาสนิกชนในสยามประเทศนี้ ตลอดจนประเทศที่ใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดกสำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ อย่าง จึงเรียกกันว่า มหาชาติ แลถือว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ก็ได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดเป็นประเพณีมีการประชุมกันฟังเทศน์มหาชาติทุกๆ ปี ทำเป็นการพิธีอย่างหนึ่ง ด้วยหนังสือมหาเวสสันดรชาดก แม้ตัวคาถาที่แต่งในภาษามคธยาวถึง ๑๓ กัณฑ์ ต้องเทศน์หลายชั่วโมงจึงจบ ถือกันว่าต้องฟังให้จบในวันเดียวจึงจะมีอานิสงส์กล้า ถ้าได้ทำพิธีเทศน์มหาชาติสำเร็จนิยมกันว่าเป็นสิริมงคล นํ้าที่ตั้งไว้ในมณฑลก็เป็นน้ำมนต์ อาจจะบำบัดเสนียดจัญไรได้ ประเพณีอันนี้เห็นจะมีมาในเมืองไทย ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงครองพระนครสุโขทัยเป็นปฐม แล้วมีต่อติดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ตำนานหนังสือมหาชาติ

หนังสือมหาชาติเดิมแต่งในภาษามคธ ใครแต่งหาปรากฏไม่ น่าจะได้แปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ครั้งพระนครสุโขทัย แต่หากฉบับสูญไปเสีย หนังสือมหาชาติแปลเป็นภาษาไทยเก่าที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้ คือมหาชาติคำหลวงที่พิมพ์ในเล่มนี้ มีจดหมายเหตุปรากฏว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงศรีอยุธยาแปลแต่เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕ คือว่า ตั้งแต่แต่งนับได้ ๔๓๕ ปี มาจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๐) เรียกชื่อว่ามหาชาติคำหลวง เข้าใจว่าหมายความในครั้งนั้น อย่างเราเรียกกันในชั้นหลังว่าพระราชนิพนธ์มหาชาติ วิธีแต่งเอาภาษามคธเดิมตั้งบาท ๑ แปลแต่งเป็นกาพย์ภาษาไทยวรรค ๑ สลับกันไป บางแห่งภาษาไทยแต่งเป็นฉันท์บ้างเป็นโคลงบ้าง ตามความถนัดของนักปราชญ์ผู้แต่งคงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะแลให้ความใกล้กับภาษามคธเดิมอย่างที่สุดที่จะเป็นได้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จึงเป็นหนังสือซึ่งนับถือว่าแต่งดีอย่างเอกมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แม้หนังสือจินดามณี ซึ่งพระโหราแต่งเป็นแบบเรียน แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ยกเอากลอนในหนังสือมหาชาติคำหลวงนี้มาเป็นตัวอย่างในตำราเรียนเช่นว่า

ครั้นเช้าก็หิ้วเช้า ชายป่าเต้าไปตามชาย

ลูกไม้บทันงาย จำงายราชอดยืน

เป็นใดจึงมาคํ่า อยู่จรหลํ่าต่อกลางคืน

เห็นกูนี้โหดหืน มาดูแคลนนี้เพื่อใด

กลอนนี้ยกมาจากกัณฑ์มัทรีคำหลวง

หนังสือมหาชาติคำหลวง ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับนักสวด สวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังเวลาไปอยู่บำเพ็ญการกุศลที่ในวัด ประเพณีอันนี้ยังมีมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ เวลานักขัตฤกษ์ เช่น เข้าพรรษา ยังเป็นหน้าที่ขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนัน กับผู้ช่วยอีก ๒ คน ขึ้นนั่งเตียงสวดในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สวดมหาชาติคำหลวงโดยทำนองอย่างเก่าถวายเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล

หนังสือมหาชาติคำหลวง ที่แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ฉบับจะหายเสียเมื่อครั้งกรุงเก่าแลจะได้แต่งขึ้นแทนในชั้นกรุงเก่ากี่กัณฑ์ ข้อนี้ทราบไม่ได้ มีจดหมายเหตุปรากฏแต่ว่า เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกนั้น ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงสูญหายเสีย ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ๑ ทานกัณฑ์ ๑ จุลพน ๑ มัทรี ๑ สักรบรรพ ๑ ฉกษัตริย์ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงรัตนโกสินทร์แต่งกัณฑ์ที่ขาดขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๘ จึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้[๑] แต่ที่หอพระสมุดสำหรับพระนครหาฉบับมาได้ มีบางกัณฑ์ที่ได้มาหลายความ เข้าใจว่าฉบับความครั้งกรุงเก่าที่ว่าสูญเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ดูเหมือนจะมาปรากฏอยู่อีกบ้าง ยกตัวอย่าง ดังกัณฑ์มัทรี ที่หอพระสมุดฯ มีอยู่ถึง ๓ ความ เลือกเอาความซึ่งเห็นว่าเก่าที่สุดพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เสียดายที่ขาดอยู่หน่อยหนึ่ง แต่เห็นว่าดีกว่าเอาฉบับความใหม่ ด้วยผู้ที่อ่านหนังสือมหาชาติคำหลวงนี้ คงจะอ่านหาความในทางภาษามากกว่าที่จะอ่านเพื่อให้รู้เรื่อง

นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติอีกอย่าง ๑ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าแต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปีขาล จุลศักราช ๙๖๔ พ.ศ. ๒๑๔๕ ด้วยมีเนื้อความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งมหาชาติคำหลวงแลมีหนังสือกาพย์มหาชาติสำนวนเก่าถึงชั้นนั้น ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้บางกัณฑ์ กาพย์มหาชาติมีศัพท์มคธน้อย เป็นกาพย์ภาษาไทยมาก สันนิษฐานว่า จะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง การที่พระเทศน์มหาชาติเป็นทำนองต่างๆ ก็เห็นจะมาจากเทศน์กาพย์มหาชาตินี้ด้วยอนุโลมจากลักษณะสวดมหาชาติคำหลวง แต่สังเกตดูเรื่องยาวคงจะเทศน์ไม่จบได้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียว จึงเป็นปัจจัยให้เกิดมหาชาติกลอนเทศน์

หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์นั้น คือว่าคาถาภาษามคธแหล่ ๑ แล้วเอาความแปลภาษาไทยแต่งเป็นกาพย์เข้าต่อไปทุกๆ ตอน แต่งภาษาไทยให้สั้นกว่ากาพย์มหาชาติ ที่กล่าวมาแล้วสำหรับพระเทศน์ด้วย ประสงค์จะให้มีทั้งภาษามคธทั้งภาษาไทยแลให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ได้ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่การพิธี ด้วยเหตุนี้จึงใช้หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์กันแพร่หลายไปในพื้นเมืองยิ่งกว่าอย่างอื่น

นอกจากมหาชาติกลอนเทศน์ ยังมีกวีได้เอาเรื่องมหาชาติมาแต่งเป็นฉันท์ เป็นลิลิตอีกก็หลายอย่าง เรื่องมหาชาติ จึงเป็นเรื่องที่มีหนังสือแต่งกระบวนต่างๆ มากยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ้น”

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้ตีพิมพ์รูปภาพแทรกไว้ในเรื่องด้วย รูปภาพเหล่านี้เป็นภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังจากภาพเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก และได้ทำการตรวจสอบชำระต้นฉบับกับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติโดยยึดถืออักขรวิธีตามแบบเดิม


[๑] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกอธิบายไว้ในหนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า “หนังสือมหาชาติคำหลวงสำนวนเดิม (ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) สูญหายเสียแล้วหลายกัณฑ์ ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่อได้ว่าเป็นสำนวนเดิมแต่กัณฑ์ทศพร”


มหาชาติคำหลวง ฉบับหอสมุดวชิรญาณ


เทศน์มหาชาติ

กัณฑ์ ๑

กัณฑ์ ๒

กัณฑ์ ๓

กัณฑ์ ๔

กัณฑ์ ๕

กัณฑ์ ๖

กัณฑ์ ๗

กัณฑ์ ๘

กัณฑ์ ๙

กัณฑ์ ๑๐

กัณฑ์ ๑๑

กัณฑ์ ๑๒

กัณฑ์ ๑๓
๏ ผุสฺสตี วรวณฺณาเภติอาทิกํ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๑ กัณฑ์ทศพร
คือผุสสตีวรวัณณาเภตเปนอาทินี้ กเถสิ พระก็ชี้ชาติแต่หลัง กำบังไปบันทูร จตุวิธปริสานํ แก่จดูรพิธบรรสัษยทงงผอง อันมารองรับรศธรรมท่านนั้น
  • ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ ที่ประทับของท้าวสักกเทวราชอยู่ภายใต้ต้นปาริฉัตรในดาวดึงสเทวโลก.
  • ท้าวสักกเทวราช ทรงทราบความที่นางผุสดีเทพกัญญา จะจุติจากดาวดึงสพิภพ ลงไปเกิดในมนุษยโลก จึงให้พระนางทรงเลือกพระพรสิบประการได้ตามความปรารถนา
  • พระนางผุสดีเทพกัญญาทูลขอพรสิบประการ ดังมีแจ้งในกัณฑ์ทศพร.


๏ ตสฺส ฉตฺตํ อุสฺสาเปตวา ตํ โสฬสนฺนํ อิตฺถีสหสฺสานํ เชฏกํ กตฺวา
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๒ กัณฑ์หิมพานต์
ก็ ยอยกเสวตรฉัตร มอบให้สองกระษัตรครองเมือง เนืองนองด้วยยศบริวารสนมพระกำนัล
  • พระนางผุสดีเทพกัญญารับพรสิบประการ แล้วจุติไปบังเกิดในตระกูล กษัตริย์มัทราช ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัย ผู้ครองสีวิรัฐ ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่าพระเวสสันดร
  • พระเวสสันดร เสด็จออกบำเพ็ญทานประจำวัน ทรงช้างปัจจัยนาค
  • ระหว่างทางเสด็จ พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฐ์ทูลขอช้างปัจจัยนาค ก็ทรงบริจาคพระราชทานให้


๏ รญฺโ หิตํ เทวหิตํ ฌาตีนํ สขินํ หิตํ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๓ กัณฑ์ทานกัณฑ์
ประโยชน์ไท้ท้งงเผ่าผอง มิตรสหายทั่วด้าว
  • เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างต้นมงคลให้แก่พราหมณ์ชาวกลิงคราษฐ์ ชาวสีวิรัฐได้ทราบก็พากันขึ้งโกรธ กล่าวโทษพระเวสสันดรต่อพระเจ้ากรุงสญชัย ให้ขับพระเวสสันดรออกจากพระนคร พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสผัดไว้วันรุ่งขึ้น.
  • พระนางผุสดี พระราชชนนีทรงทราบเหตุ ไปเฝ้าทูลขอโทษต่อพระเจ้ากรุง สญชัยก็ไม่ทรงโปรดพระราชทาน
  • พระนางผุสดีทรงกันแสง รำพันว่าที่แม่ไปทูลขอโทษไม่ทรงโปรดพระราชทาน โทษให้
  • พระเวสสันดร เสด็จออกทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน
  • พระเวสสันดร เสด็จทรงราชรถออกจากพระนครพร้อมด้วยพระนางมัทรี และ พระกัณหาชาลีราชปิโยรส ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขออัสดรและราชรถก็ทรงบริจาคให้เป็นทาน


๏ เต ปฏิปเถ อาคจฺฉนฺเต มนุสฺเส ทิสฺวา
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๔ กัณฑ์วนประเวศน์
อันว่าพระมหากระษัตรทงงสองแลพระราชบุตร ยลมนุษย์ทงงหลาย ทวยหญิงชายฝูงราษฎร์ มาโดยมารคอนน เฉพาะพิถี พ่างกษัตรียาภิมุขเมื่อนั้น ฯ
  • เมื่อพระเวสสันดร พระราชทานม้ารถหมดทุกสิ่งแล้ว จึงตรัสแก่พระนางมัทรีว่าพี่จะอุ้มพ่อชาลีเจ้าจงอุ้มแก้วกัณหา พากันเสด็จดำเนินโดยสถลมรรคาบรรลุถึงเมืองเจตราช
  • พวกเจ้าเจตราชทราบข่าวเสด็จพระเวสสันดร พากันเสด็จมาเฝ้า ทูลถวายพระนครให้ครอบครอง พระองค์มิได้ทรงรับ
  • เจ้าเจตราช ส่งเสด็จพระเวสสันดรไปเขาวงกฏแล้วทรงตั้งนายเจตบุตรพรานไพรให้เป็นนายด่านรักษาประตูป่า
  • พระเวสสันดรเสด็จถึงอาศรมในบริเวณเขาวงกฏ ซึ่งท้าวสักกเทวราชให้วิสสุกรรมนิรมิตไว้ แล้วทรงเพศเป็นดาบส พระนางมัทรีก็ทรงเพศเป็นดาบสินี บำเพ็ญพรตอยู่ในพระอาศรมนั้น


๏ ตทา กลิงฺครฏฺเ ทุนฺนวิฏฺพฺราหฺมณคามวาสี ชูชโก นาม พฺราหฺมโณ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๕ กัณฑ์ชูชก
ดูกรสงฆ์ในกาลน้นน ยงงมีพราหมณผู้หนึ่งชื่อชูชก อยู่ในบ้านนอกซอกซอน เปนพฺราหมณ์จร ในบ้านพราหมณ์ทงงหลาย อันธหมายชื่อทุนวิ ชิดเมืองกาลิงคราษฎร์น้นน
  • ชูชกได้นางอมิตตดาพาไปอยู่บ้านทุนวิฐ พราหมณ์หนุ่ม ๆ เห็นนางปฏิบัติผัวดีกว่าเมียของตัว ก็เดือดใจพาลพาโลตีเมียของตน ๆ
  • พวกนางพราหมณีเจ็บใจ พอเห็นนางอมิตตดามาสู่ท่านํ้า ก็รุมกันตีด่าว่าขานจนนางอมิตตดาต้องกระเดียดกระออมนํ้ากลับบ้าน
  • ชูชกเห็นนางเดินร้องไห้กลับมาจึงถามเหตุ นางก็แจ้งคดีให้ฟังแล้วว่า แต่นี้ไปงานการจะไม่ทำ จงไปขอชาลีกัณหามาให้ใช้
  • ชูชกรับอาสาไปขอชาลีกัณหา ออกเดินทางเที่ยวถามไปทุกหนแห่ง แล้วก็เข้าสู่ดงแดนเจตบุตร


๏ ตโต อุตฺตรึปิ อสฺสมปทํ วณฺเณนฺโต อาห ฯ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๖ กัณฑ์จุลพน
อันว่า เจตบุตรลุทธไพรทเมิน เมื่อจะสรรเสรอญห้องหิมเวศ ที่พระเพศยันดรตรัส อันวิวัธวิเวก
  • สุนัขเจตบุตรเห็นชูชกก็รุมไล่กัด ชูชกหนีปีนขึ้นต้นไม้
  • นายเจตบุตรเห็นก็ขู่ว่าจะยิงด้วยหน้าไม้ ชูชกไหวดีแก้ว่า เป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย เจตบุตรเชื่อ ผูกสุนัขเข้ากับโคนไม้ ต้อนรับชูชก ถามว่าอะไรอยู่ในย่าม ชูชกชี้ไปที่กลักพลิกกลักงาว่า นี่คือกลักพระราชสาร
  • เจตบุตรเชิญชูชกขึ้นไปบนเรือน ให้กินเนื้อย่างจิ้มนํ้าผึ้ง แล้วก็พาออกไปชี้มรรคา
  • เจตบุตรพรรณนาพรรณไม้ อันมีในป่าหิมพานต์แล้วบอกทางที่จะไปสู่เขาวงกฏ และว่าจะไปพบกับอจุตฤษี.


๏ คจฺฉนฺโต โส ภารทฺวาโช
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๗ กัณฑ์มหาพน
ดูกรสงฆ์ อันว่าพงษ์ภารัทวาช ก็ไปโดยมารค เจตบุตร บอกความฉุดใจตน
  • ชูชกเดินไต้เต้าตามอรัญญวิถี ก็บรรลุถึงอาศรมอจุตฤษี จึงเข้าไปถามไถ่ถึง ทุกข์สุข แล้วแจ้งว่าเป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย.
  • พระสิทธาจารย์รู้ว่าเฒ่าชูชกโกหก บอกให้เชื่อก็เชื่อ แล้วให้เฒ่ายับยั้งอยู่หนึ่งราตรี รุ่งขึ้นจึงพาไปชี้ทางให้ทชีไปสู่เขาวงกฏ.
  • พระอจุตฤษีพรรณนาหมู่สัตว์ ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาวงกฏ มี ช้าง เนื้อ เสือ สิงห์ กวาง กระต่าย และพรรณไม้นานาชนิด และสัตว์น้ำในโบกขรณี ใกล้ พระอาศรมแห่งพระเวสสันดรราชฤษี.


๏ ตํ ปน รตฺตึ ปจฺจูสกาเล มทฺที สุปินํ อทฺทส
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๘ กัณฑ์กุมาร
ในเมื่อจะใกล้รุ่งพุ่งพระฮาม ในยามราตรีน้นน เบื้องบ้นนเจ้าภควดีมัทรีก็ฝนนเห็นอัศจรรย์ โสดแล
  • ชูชกนอนพักแรมที่เนินผาใกล้บริเวณพระอาศรม เมื่อตื่นขึ้นคะเนว่าเวลานี้ พระนางมัทรีคงจะเสด็จเข้าป่าหามูลผลาผล จึงเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดร เพื่อจะทูลขอสองกุมาร ชักเอาแม่นํ้าทั้งห้ามาเปรียบเทียบ
  • สองกุมารเมื่อรู้ว่าภัยมาถึงตัว ก็พากันหนีลงไปในสระ เอาวารีบังองค์เอาบุษบงบังเกศ
  • พระเวสสันดรทรงทราบว่าสองกุมารหนี จึงเสด็จไปตรัสเรียกหาที่สระโบกขรณี ตรัสเปรียบเรื่องสำเภา ชาลีกัณหาก็ขึ้นมากราบบาท
  • พระราชทานสองกุมารให้แก่พราหมณ์ชูชก
  • เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองกุมาร พาไปถึงทางตะกุกตะกักเฒ่าเดินทะลุดทะลาดพลาดล้มลง สองพระกุมารก็วิ่งมาสู่สำนักพระบิดา


๏ มทฺทีปิ โข อชฺช มยา ทุสฺสุปิโน ทุฏฺโ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๙ กัณฑ์มัทรี
อันว่าพระมัทรีศรีสุนทรพิมล จลจินดาดำริห์ตริว่า คืนนี้นิมิตร้าย จำกูจะขวายขวน
  • พระนางมัทรีทรงสาแหรกคานกระเช้าสาน ขอ สอยผลาผลแล้วเสด็จกลับโดยด่วน มาประจวบพบพระยาพาลมฤคราชซึ่งเทพยดาแสร้งจำแลงแปลงมานอนขวางทาง พระนางสะดุ้ง พระทัยไหวหวาด ปลงหาบคอนลงแล้วอภิวาทขอทางเทพยเจ้าสังเวชก็พากันคลาไคลให้หนทาง.
  • พระนางเสด็จถึงอาศรมบท มิได้ทอดพระเนตรเห็นสองพระโอรส จึงวอนทูลถามพระสามี ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง แต่แล้วก็ตรัสพ้อด้วยโวหารหึง เพื่อให้พระนางสร่างโศก.
  • พระนางเที่ยวแสวงหาพระลูกตามละเมาะเขาเขินจนทั่วบริเวณพระอาศรม ก็มิได้พบพระลูกทั้งสอง จึงเสด็จไปที่หน้าพระอาศรม ทรงพระกำสรดสิ้นแรงถึงวิสัญญีสลบลงตรงหน้าฉาน.
  • พระเวสสันดร ทอดพระเนตรเห็นพระมัทรีถึงวิสัญญีสลบลงสะดุ้งพระทัยทรงพระกันแสง


๏ เอวนฺเตสุ อญฺมญฺํ สมฺโมทนียํ กเถนฺเตสุ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๑๐ กัณฑ์สักรบรรพ
ในเมื่อสองไท้ ราชดาบส ษาพิมตไปมากล่าวแก้วททานราชเอารส สองราชเวนแก่ชูชกแล้ว จึ่งไท้ชมธรรม ด่งงนี้
  • ท้าวสักกเทวราช ทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานบริจาคให้แก่พราหมณ์
  • เมื่อท้าวเธอได้รับพระราชทานพระนางมัทรีแล้วก็ถวายคืน แล้วทูลว่าพระองค์เป็นท้าวสักกเทวราช มาเพื่อประทานพรแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเลือกอัฐวราพร
  • พระเวสสันดร ขอพรแปดประการแด่ท้าวสักกเทวราชช มีปรากฏในกัณฑ์ สักกบรรพนี้.


๏ โพธิสตฺโต จ มทฺที จ สมฺโมทมานา สกฺกทตฺติเย อสฺสเม วสึสุ ฯ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๑๑ กัณฑ์มหาราช
อันว่าพระโพธิสัตว์ก็ดี เจ้ามัทรีก็ชื่นชม ในอาศรมอนนอดิสูรปรสาท สองปรียาตม์ไปมา เมื่อน้นน ฯ
  • ชูชกพาสองกุมารเดินทาง เวลาคํ่าตาแกก็ผูกเปลนอนเหนือค่าคบไม้ เทพยเจ้าก็ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองกุมาร.
  • ล่วงมรรคาได้หกสิบโยชน์ ก็ลุถึงกรุงพิชัยเชตุดรนครหลวงแห่งสีวิรัฐ ชูชกพาสองกุมารผ่านมาตรงหน้าพระที่นั่ง.
  • พระเจ้ากรุงสญชัย ให้พาพราหมณ์ชูชกมาเฝ้า ทราบความแล้ว ทรงไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองด้วยพระราชทรัพย์.
  • พระเจ้ากรุงสญชัย ยกพยุหแสนยากรไปรับพระเวสสันดร พระชาลีเป็น มัคคุเทศน์ นำพลไปยังเขาวงกฏ.


๏ อถ มหาสตฺโต
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๑๒ กัณฑ์ฉกษัตริย์
ลำดัพน้นน อันว่าพระมหาบุริศราช เมื่อได้ฟงงนางนาฏนงถ่าวท่าวทูล ด่งงน้นน
  • พระเวสสันดร ได้ยินเสียงไหยรถคชแสนยากร ทรงตกพระทัยไหวหวาดว่า ปัจจามิตรจะมาจับพระองค์ จึงชวนพระมัทรีเสด็จขึ้นเนินเขา พระนางกราบทูลว่าเป็นทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จมารับ สมตามที่ท้าวสักกเทวราชประทานพร.
  • เมื่อหกกษัตริย์พร้อมกันที่พระอาศรม ต่างก็ทรงโศกสลดที่พลัดพรากจากกัน จนถึงวิสัญญีภาพ.
  • สหชาติโยธาเฝ้าพระเวสสันดร ทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร.


๏ อิมํ มหาเวสฺสนฺตรชาตกํ เอวํ
ตัวอย่างแปลเทศน์กัณฑ์ที่ ๑๓ กัณฑ์นครกัณฑ์
อนนชื่อพระมหาแพศยันดรชาติชาฎก โดยพระมุนีนารถนายกบนนทูร เสร็จบริบูรณธรรม เท่านี้แล
  • พระเวสสันดรทรงรับเชิญของสหชาติโยธา แล้วทรงลาผนวช
  • พระเจ้ากรุงสัญชัย ทรงอภิเษกสองกษัตริย์ครองกรุงสีพี.
  • ทรงยกทัพกลับกรุงสีพี เสด็จวันละโยชน์ สิ้นมรรคาหกสิบโยชน์, ถ้าจะนับแต่วันบรรพชาถึงเจ็ดเดือนจึงพระราชทานสองกุมาร, ชูชกรีบรัดมาสิบห้าวัน ถึงเชตุดร, เตรียมพลรับเจ็ดวัน ยกไปถึงพระอาศรม หนึ่งเดือนยี่สิบสามราตรี อยู่ในพนาลีเดือนเศษ ยกพลกลับสองเดือนสิริเป็นปีหนึ่งกับสิบห้าราตรีจึงคืนเข้าราชธานีแล้วแล.