ข้ามไปเนื้อหา

มารยาทไทย/การแสดงความเคารพ

จาก วิกิตำรา

รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเคารพเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทยเป็นเรื่องแรก การแสดงความเคารพมีหลายลักษณะ เช่น การประนมมือ การไหว้ การกราบ การคำนับ การถวายความเคารพ การที่จะแสดงความเคารพในลักษณะใดนั้น ต้องพิจารณาผู้ที่จะรับความเคารพด้วยว่าอยู่ในฐานะเช่นใด หรือในโอกาสใด แล้วจึงแสดงความเคารพให้ถูกต้องและเหมาะสม การแสดงความเคารพแบ่งได้ดังนี้ คือ

๔.๑ การไหว้

การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา ๒ ส่วน คือ การประนมมือและการไหว้

การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น

การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล

ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก

ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว

ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก

อนึ่ง สำหรับหญิงการไหว้ทั้ง ๓ ระดับ อาจจะถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าวแล้วย่อเข่าลงพอสมควรพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้

๔.๒ การกราบ (อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี ๒ แบบ คือ

๔.๒.๑ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการใช้อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ซึ่งเป็นตัวแทน

ของส่วนบนของร่างกาย มือและข้อศอกทั้ง ๒ เป็นตัวแทนส่วนกลางของร่างกาย เข่าทั้ง ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนส่วนล่างของร่างกายจรดพื้น การกราบมี ๓ จังหวะ คือ

ท่าเตรียม

ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกัน

พอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพบุตร)

หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลายเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำ

บนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)

ท่ากราบ

จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ

จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้นไหว้ตามระดับที่ ๑ การไหว้พระ

จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อม ๆ กัน ให้มือและแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น

คว่ำมือห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้

ชาย ศอกทั้งสองข้างต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง

หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง จากนั้นก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือทั้งสอง

ทำสามจังหวะให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วยกมือขึ้นไหว้ในท่าไหว้พระ แล้ววางมือคว่ำลงบนหน้าขา

ในท่าเตรียมกราบ จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม

๔.๒.๒ การกราบผู้ใหญ่ กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสรวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกันให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการนั่งสำรวมประสานมือ จากนั้นเดินเข่าถอยหลังพอประมาณแล้วลุกขึ้นจากไป

๔.๓ การคำนับ

เป็นการแสดงเคารพแบบสากล ในกรณีที่ไม่ไหว้หรือกราบ ให้ยืนตัวตรง ส้นเท้าชิดกัน ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือปล่อยไว้ข้างลำตัว ปลายนิ้วกลางแตะตะเข็บกางเกงหรือกระโปรงด้านข้าง ค้อมช่วงไหล่และศีรษะลงเล็กน้อย แล้วเงยหน้าขึ้นในท่าตรง การคำนับนี้ ส่วนมากเป็นการปฏิบัติของชาย แต่หญิงให้ใช้ปฏิบัติได้เมื่อแต่งเครื่องแบบและไม่ได้สวมหมวก

๔.๔ การแสดงความเคารพพระมหากษัตริย์

๔.๔.๑ การถวายบังคม เป็นราชประเพณีถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ในงานพระราชพิธี

สำคัญ ก่อนที่จะถวายบังคมต้องนั่งอยู่ในท่าเตรียมคือ นั่งคุกเข่าปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้าเช่นเดียวกันทั้งชาย

หญิง มือทั้งสองวางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง ชายนั่งแยกเข่าได้เล็กน้อยหญิงนั่งเข่าชิด

การถวายบังคมแบ่งออกเป็น ๓ จังหวะ ดังนี้

จังหวะที่ ๑ ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก ปลายนิ้วตั้งขึ้นแนบตัวไม่กางศอก

จังหวะที่ ๒ ยกมือที่ประนมขึ้น ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดหน้าผากเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย

จังหวะที่ ๓ ลดมือกลับลงตามเดิมมาอยู่ในจังหวะที่ ๑

ทำให้ครบ ๓ ครั้ง โดยจบลงอย่างจังหวะที่ ๑ แล้วจึงลดมือลงวางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง

การถวายบังคมดังกล่าวนี้ หญิงมีโอกาสใช้น้อย จะใช้ในกรณีที่มีชายกับหญิงไปถวายบังคมร่วมกัน ถ้าหญิงล้วนให้ใช้วิธีหมอบกราบ

๔.๔.๒ การหมอบกราบ ให้แสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ลงมาถึงพระบรมวงศ์

ในโอกาสที่เข้าเฝ้า โดยนั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าแล้วจึงหมอบลงให้ศอกทั้งสองข้างถึงพื้นคร่อมเข่าอยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประสาน เมื่อจะกราบให้ประนมมือก้มศีรษะลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม เมื่อกราบแล้วนั่งในท่าหมอบเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงตัวนั่งในท่าพับเพียบตามเดิม

๔.๔.๓ การถวายความเคารพแบบสากล ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์

ชาย ใช้วิธีการถวายคำนับ โดยค้อมตัวต่ำพอสมควร

หญิง ใช้วิธีการถวายความเคารพแบบย่อเข่า (ถอนสายบัว) มี ๒ แบบคือ

แบบสากลนิยม ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านวาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งไป

ข้างหลังเล็กน้อยตามถนัด พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรง สายตาทอดลง ปล่อยแขนทั้งสองข้างแล้วยืนตรง

แบบพระราชนิยม ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านวาดเท้าข้างใดข้างหนึ่ง

ไปข้าหลังเล็กน้อยตามถนัด พร้อมกับย่อตัวลง ขณะที่วาดเท้า ให้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นวางประสานกันบนขาหน้าเหนือเข่า ค้อมตัวเล็กน้อย ทอดสายตาลง เสร็จแล้วยืนขึ้นในลักษณะเดิม

๔.๕ การแสดงความเคารพโดยทั่วไป

๔.๕.๑ การแสดงความเคารพศพ จะต้องกราบพระพุทธรูปเสียก่อน แล้วจึงไปทำความเคารพ

ศพส่วนการจุดธูปหน้าศพนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของลูกหลานหรือศิษยานุศิษย์หรือผู้เคารพนับถือที่ประสงค์จะบูชา

การเคารพศพพระ ถ้าเจ้าภาพจัดให้มีการจุดธูป ให้จุด ๓ ดอก ชายกราบแบบ

เบญจางคประดิษฐ์ หญิงหมอบกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง

การเคารพศพคฤหัสถ์ ให้ทำความเคารพเช่นเดียวกับตอนที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นศพของผู้

ที่มีอาวุโสมาก กราบ ๑ ครั้ง แต่ถ้าเป็นศพของผู้ที่มีอาวุโสใกล้เคียงกันกับผู้ที่ไปทำความเคารพ ให้ไหว้ในระดับที่ ๓ (ไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป) ส่วนการเคารพศพเด็กนั้นมีเพียงยืนสงบหรือนั่งสำรวมครู่หนึ่งในกรณีที่ศพได้รับพระราชทานเกียรติยศ ผู้เป็นประธานจุดธูปเทียนที่หน้าพระพุทธรูปและที่หน้าตู้พระธรรม แล้วไปจุดเครื่องทองน้อยที่หน้าศพเพื่อแสดงว่าวายชนม์บูชาพระธรรม แล้วจึงเคารพศพ

ส่วนผู้ไปในงาน กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาแล้วจึงเคารพศพด้วยการกราบหรือคำนับ

๔.๕.๒ การเคารพอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญอาจเป็นรูปปั้น ภาพถ่าย

ภาพวาดหรือสัญลักษณ์อื่นก็ได้ ให้แสดงความเคารพด้วยการคำนับหรือกราบ หรือไหว้แล้วแต่กรณีในโอกาสพิเศษหรือเป็นพิธีการ เช่น เมื่อครบรอบวันเกิด หรือ วันสำคัญที่เกี่ยวข้องอันเป็นพิธีการให้ใช้พุ่มดอกไม้ ถ้าครบรอบวันตายหรือแสดงความระลึกถึงอันเป็นพิธีการให้วางพวงมาลาในโอกาสอื่น ๆ ที่ไม่เป็นพิธีการอาจแสดงความเคารพโดยใช้ หรือไม่ใช้เครื่องสักการะก็ได้

๔.๕.๓ การแสดงความเคารพของผู้เป็นประธาน ณ ที่บูชา เมื่อประธานในพิธีลุกจากที่นั่งเพื่อ

ไปบูชาพระรัตนตรัย ผู้ร่วมพิธียืนขึ้น และเมื่อประธานเริ่มจุดธูปเทียน ผู้ร่วมพิธีประนมมือเสมออกเมื่อประธานกราบ ผู้ร่วมพิธียกมือที่ประนมขึ้นให้นิ้วชี้จรดหน้าผากพร้อมทั้งก้มศีรษะเล็กน้อย หากที่บูชามีธงชาติ

และพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย เมื่อประธานบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว ให้ยืนขึ้นถอยหลัง ๑ ก้าว ยืนตรง ค้อมศีรษะคารวะครั้งเดียว ซึ่งถือว่าได้เคารพต่อธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ไปพร้อมกันแล้วให้ประธานปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ทั้งชายและหญิงทั้งที่อยู่ในและนอกเครื่องแบบเมื่อจบพิธีแล้วประธานควรกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมยืนขึ้นด้วยอาการสำรวม แล้วจึงไหว้ลาพระรัตนตรัยเป็นอันเสร็จพิธี แต่ในกรณีที่ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ประธานทักทายสังสรรค์กับผู้เข้าร่วมประชุม หรือดื่มน้ำชา และประธานอยู่ร่วมกิจกรรมด้วย เมื่อประธานจะกลับ ไม่จำเป็นต้องกราบพระรัตนตรัย

๔.๕.๔ การแสดงความเคารพของผู้ที่แต่งเครื่องแบบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของสถาบันนั้น

๔.๖ การรับความเคารพ เมื่อผู้น้อยมาทำความเคารพ ควรรับความเคารพด้วยการประนมมือหรือ

ค้อมศีรษะรับตามควรแก่กรณี