ข้ามไปเนื้อหา

วิธีการสอนโดยใช้การจัดทัศนศึกษา

จาก วิกิตำรา

การจัดทัศนศึกษา (Field Trip) เป็นกระบวนการเรียนการสอน/วิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยผู้เรียนจะได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง การลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจและจดจำสิ่งที่ได้พบเห็นในเวลาอันรวดเร็วและเป็นเวลานาน และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้เป็นการใช้แหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

องค์ประกอบสำคัญ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

องค์ประกอบสำคัญของการจัดทัศนศึกษามีดังนี้

  1. ผู้สอนและผู้เรียนมีการวางแผนร่วมกันในเรื่องวัตถุประสงค์ สถานที่ การเดินทาง เรื่องที่จะศึกษา วิธีศึกษา ค่าใช้จ่าย กำหนดการเดินทางและหน้าที่ความรับผิดชอบ
  2. มีการเดินทางไปยังสถานที่เป้าหมายซึ่งอยู่ภายนอกโรงเรียน เช่น การทัศนศึกษาสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การทัศนศึกษาตามแหล่งประวัติศาสตร์ เป็นต้น
  3. มีกระบวนการในการศึกษาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ในสถานที่นั้น
  4. มีการสรุปผลการเรียนรู้จากการทัศนศึกษา

ข้อดีของการจัดทัศนศึกษา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การจัดทัศนศึกษาช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง เรียนรู้ตามสภาพจริง สามารถนำความรู้ที่ได้รับภายในห้องเรียนมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เห็นจากการทัศนศึกษาได้ รวมไปถึงเอื้อต่อผู้เรียนในการฝึกทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะการประสานงาน การทำงานกลุ่ม การวางแผน ตลอดจนส่งผลให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และสนใจการเรียนเพิ่มขึ้น

ข้อจำกัดของการจัดทัศนศึกษา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การจัดทัศนศึกษาจำเป็นต้องมีการวางแผนที่รัดกุมและติดต่อประสานงานต่าง ๆ จึงเป็นวิธีสอนที่ค่อนข้างมีความยุ่งยาก รวมถึงเป็นวิธีสอนที่มีค่าใช้จ่ายสูง หากบริหารจัดการและเตรียมกระบวนการไม่ดีพอ การจัดทัศนศึกษาอาจเกิดผลที่ไม่คุ้มค่าได้

บรรณานุกรม

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  • ทิศนา แขมมณี. (2555). 14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ทิศนา แขมมณี. (2545). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย