การบรรเลงเพลงสำคัญของแผ่นดิน

จาก วิกิตำรา

การบรรเลงเพลงสำคัญของแผ่นดิน ต้องประกอบการปฏิบัติที่ระบุในระเบียบตามฐานันดรนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ถึงสามัญชนที่เป็นประธานในพิธี ซึ่งต้องมีการบรรเลงเพลงเกียรติยศ โดยมีวิธีปฏิบัติของแต่ละเพลงเกียรติยศ

เพลงชาติไทย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงชาติไทย บรรเลงเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณในการกระทำเกี่ยวธงชาติไทย ทั้งการเชิญ การชัก หรือการแสดงในพิธีการทางทหาร ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ พ.ศ. 2529 ระบุความว่า กรณีที่มีการบรรเลงเพลงเคารพหรือมีสัญญารในการชักธงขึ้นและลงให้ถึงจุดที่สุด พร้อมกับจบเพลงหรอสัญญาณนั้น ๆ

ข้อบังคับทหารฯ กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติไทยด้วยแตรวง เมื่อมีการเชิญธงชัยเฉลิมพล ธงประจำกองทหาร ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงชาติประจำของสำนักงานขณะชักขึ้นและลง พร้อมกับพิธีชักธงราชนาวีประจำเรือใหญ่ขณะขึ้นและลง ในทางพฤตินัย การเชิญธงชัยตำรวจ หรือธงที่มีลักษณะริ้วธงชาติไทย อาทิ ธงราชทูต ธงพิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นต้น จากกองบัญชาการสู่นอกแถวเคารพบรรเลงเพลงชาติไทยเสมอ

รวมถึงการบรรเลงเพลงชาติไทยระหว่างแปดนาฬิกา และสิบแปดนาฬิกา วันละสองครั้งทางกิจการโทรทัศน์และกระจายเสียงในทุกวัน (ข้อ 9 ประกาศคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติฯ พ.ศ. 2556)

สรรเสริญพระบารมี[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ใช้บรรเลงเมื่อรับหรือส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และรัชทายาท (ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

ในปี พ.ศ. 2562 ระเบียบฯ กำหนดให้บรรเลงเพลงรับหรือส่งเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ข้อ 4.2 และ 4.4 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีสามารถบรรเลงเป็นเพลงเคารพกรณีผู้แทนพระองค์เป็นบุคคลธรรมดา หรือมีพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีการที่เกี่ยวข้องพึงกระทำได้ ทั้งนี้ การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีสามารถบรรเลงเมื่อก่อนหรือหลังงานมหรสพหรือโรงภาพยนตร์ แม้พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังจะอธิบายต่อไป

พระราชพิธี[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ใช้บรรเลงเมื่อรับหรือส่งเสด็จไปในงานพระราชพิธีประจำปี สำหรับวาระนอกจากนี้มีการระบุว่า กรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทหารกองเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรเดี่ยวถวายคำนับสามจบ เว้นแต่กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ให้ถวายความเคารพไม่ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

และเมื่อถึงพิธีการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ให้กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อแสดงพระราชดำเนินกลับให้กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เว้นแต่กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ให้ถวายความเคารพไม่ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี (ข้อ 6 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

กรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในงานศพที่มีกองทหารเกียรติยศสำหรับศพ ให้กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรเดี่ยวถวายคำนับสามจบ เว้นแต่กองทหารเกียรติยศสำหรับศพให้ถวายความเคารพไม่ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งรับและส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำหรับกองทหารเกียรติยศ (ข้อ 7 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

กรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อเสด็จถึงท่าเทียบเรือและเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อเรือพระที่นั่งเคลื่อนที่ ให้กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพบรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล เมื่อเรือพระที่นั่งเทียบท่า ให้กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพบรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล เมื่อเสด็จลง ให้กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี (ข้อ 11 ระเบียบฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562)

พิธีการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อผู้แทนพระองค์ต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระเบียบฯ ระบุวิธีปฏิบัติกรณีผู้แทนพระองค์เป็นผู้ซึ่งต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีให้บรรเลงเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงและเสด็จพระราชดำเนินกลับ (ข้อ 9.1 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

กรณีผู้แทนพระองค์เป็นผู้ซึ่งต้องบรรเลงเพลงมหาชัย ให้บรรเลงเพลงมหาชัยรับเสด็จพระองค์นั้น เมื่อเสด็จประทับลงรถพระที่นั่งให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จกลับให้ประทับก่อน จึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการส่งเสด็จ (ข้อ 9.2 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

กรณีผู้แทนพระองค์เป็นบุคคลธรรมดา ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อผู้แทนพระองค์ลงรถยนต์หลวง และเมื่อผู้แทนพระองค์กลับ ให้ผู้แทนพระองค์ยืนข้างรถ พร้อมบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีจึงกลับด้วยรถยนต์หลวง หากรถและสถานที่จัดงานอยู่คนละจุด ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อผู้แทนพระองค์ถึงที่นั่ง และเมื่อกลับให้ผู้แทนพระองค์ยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในขณะที่ผู้แทนพระองค์นั่งรถไม่ต้องมีการบรรเลงเพลงใด ๆ (ข้อ 9.3 ระเบียบฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562)

หากมีการเชิญธงมหาราช ธงราชินี ธงบรมราชวงศ์ และธงเยาวราช (ข้อบังคับทหารฯ พ.ศ. 2478) ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) ขึ้นหรือลงจากยอดเสา ต้องเคารพบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีสามารถบรรเลงในรัฐพิธี งานสังคม งานมหรสพในช่วงเปิดและปิดงาน พบเห็นการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน เช่น งานวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรืองานกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยคำนึงถึงความเหมาะสม แม้กฎระเบียบที่บุคคลจักต้องปฏิบัติถูกยกเลิกแล้วก็ตาม

มหาชัย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงมหาชัย ให้บรรเลงเมื่อรับหรือส่งเสด็จพระบรมวงศ์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในปี พ.ศ. 2562 ระเบียบฯ กำหนดให้บรรเลงรับหรือส่งเสด็จพระบรมวงศ์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (ข้อ 4.5 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา (ข้อ 4.6 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา (ข้อ 4.7 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร (ข้อ 4.8 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (ข้อ 4.9 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ (ข้อ 4.10 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ (ข้อ 4.11 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562) และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (ข้อ 5 ระเบียบฯ พ.ศ. 2562)

การบรรเลงเพลงมหาชัยใช้เป็นเพลงเกียรติยศสำหรับนายทหารยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ (ข้อบังคับทหารฯ พ.ศ. 2478) และการเชิญธงชัยเฉลิมพลจากกองบัญชาการสู่แถวทหาร (ข้อบังคับทหารฯ พ.ศ. 2491) ในทางพฤตินัย การเชิญธงชัยตำรวจ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และธงลูกเสือจังหวัดจากกองบัญชาการสู่แถวกำลังพลเคารพบรรเลงเพลงมหาชัยเสมอ

หากมีการเชิญธงพระอิสริยยศของพระบรมวงศ์ขึ้นหรือลงยอดเสา (ระเบียบฯ พ.ศ. 2562, ข้อบังคับทหารว่าด้วยการเคารพฯ) ต้องเคารพบรรเลงเพลงมหาชัย

มหาฤกษ์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ให้บรรเลงในโอกาสทั้งหมดที่ประธานเป็นผู้ซึ่งมิใช่ต้องบรรเลงเพลงเกียรติยศอื่น (ข้อบังคับทหารฯ พ.ศ. 2478) โดยบรรเลงในระหว่างพิธีการ เช่น การตัดแถบแพร การเปิดป้าย หรือการกล่าวโอวาท โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมของพิธีการและฐานันดรของพิธีการ

ในช่วงที่ประธานถึง สามารถบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ หรือเมื่อประธานกล่าวโอวาท เสร็จแล้วจะมีการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์พึงกระทำได้

กรณีองค์ประธานเป็นพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศ์ การบรรเลงเพลงมหาฤกษ์กระทำขณะที่องค์ประธานเปิดป้ายหรือแถบแพร ทั้งนี้ ระเบียบฯ มิได้ระบุถึงโอกาสในการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์สำหรับกรณีดังกล่าว

ตัวอย่างที่สามารถแสดงการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ กรณีประธานในพิธีรับผ้ากฐินพระราชทาน ตามขั้นตอนพิธีการของกรมการศาสนาระบุว่า ประธานในพิธีเดินทางถึงที่ชุมนุมสงฆ์ ให้บรรเลงเพลงมหาฤกษ์หรือไม่ก็ได้ แล้วจึงรับผ้ากฐินพระราชทานครองไว้เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระฉายาลักษณ์ ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือกรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นแท่นรับการเคารพจากกองตำรวจเกียรติยศ ต้องบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ แล้วจึงเดินตรวจแถวกองตำรวจเป็นลำดับ

เพลงเฉลิมพระเกียรติ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สดุดีมหาราชา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงสดุดีมหาราชา กระทำเมื่อพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยบรรเลงหลังการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

การบรรเลงเพลงสดุดีมหาราชาปรากฏภาพยนตร์ ลมหนาว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของฉากในภาพยนตร์ ต่อมา การบรรเลงเพลงสดุดีมหาราชาแพร่หลายในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในรัฐพิธี กล่าวคือ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรรษาในช่วงพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีการในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติซึ่งเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรสวรรคต ธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสดุดีมหาราชาจึงเปลี่ยนไปเป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อธิบายส่วนต่อไปนี้

สดุดีจอมราชา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงสดุดีจอมราชา กระทำเมื่อพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี โดยบรรเลงหลังการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

การบรรเลงเพลงสดุดีจอมราชาธรรมเนียมใช้ในการบรรเลงแบบเดียวกับเพลงสดุดีมหาราชา โดยในปี พ.ศ. 2561 การบรรเลงเพลงสดุดีจอมราชาใช้เพื่อบรรเลงในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีต่อมา ได้มีการแก้ไขเพลงสดุดีจอมราชาจาก "ถวายพระพรจอมราชัน ธ อนันต์ปรีชาชาญ" เป็น "ถวายพระพรองค์ราชินี คู่บารมีองค์ราชัน" ฯลฯ จึงให้เป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีอีกด้วย

สดุดีพระแม่ไทย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงสดุดีพระแม่ไทย กระทำเมื่อพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยบรรเลงหลังการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

การบรรเลงเพลงสดุดีพระแม่ไทยธรรมเนียมใช้ในการบรรเลงแบบเดียวกับเพลงสดุดีจอมราชา และในปี พ.ศ. 2562 หนังสือฯ ระบุว่า การบรรเลงเพลงสดุดีพระแม่ไทยเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การบรรเลงเพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

การบรรเลงเพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา ปรากฏในพิธีการของหน่วยงานรัฐ เช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลฯ ในปีต่อมา จากนั้น การบรรเลงเพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชาจึงเป็นธรรมเนียมบรรเลงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร