ข้ามไปเนื้อหา

เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น/การค้าระหว่างประเทศ

จาก วิกิตำรา

  ประเทศต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ต่างก็มีการค้าระหว่างประเทศมากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

1)ความแตกต่างของปัจจัยการผลิต (วัตถุดิบ)

  ประเทศที่มีปัจจัยการผลิตชนิดใดมาก ราคาปัจจัยต่ำทำให้ต้นทุนต่ำ ราคาสินค้าต่ำ ได้เปรียบการแข่งขันส่งออกไปขายในต่างประเทศได้มาก

2)ความแตกต่างในด้านความชำนาญของปัจจัยการผลิต (แรงงาน)

  ความชำนาญของปัจจัยการผลิต เช่น แรงงานมีทักษะในการผลิตสินค้าอะไรสักอย่างได้ดีมาก โดยที่ใช้ปัจจัยการผลิตเท่ากันกับประเทศอื่น แต่ได้ผลผลิตมากกว่า ย่อมมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ

3)ความแตกต่างของรสนิยมในการบริโภคของแต่ละประเทศแตกต่างกัน

ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ (Theory of International Trade)

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

1. ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศของสำนักคลาสสิก

§ยุคศักดินา (Feudalism), ยุคมืด (Dark Ages)

  ปัจจัยที่ทำให้เสื่อม ประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น สงครามครูเสค เกิดโรคระบาด 

§ยุคพาณิชย์นิยม (Mercantilisms)

–เปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายขึ้นแทนนอกเขตฟิวดวล

–เริ่มรู้จักใช้เงินตรา เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน

–การค้นพบเส้นทางเดินเรือและการค้นพบโลกใหม่  ลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism)

–การครอบครองและการเอาผลประโยชน์จากดินแดนอาณานิคม 

–สนับสนุนความเป็นชาตินิยมโดยเน้นให้ประเทศมีส่วนเกินของการส่งออก(เกินดุล) และความเป็นชาตินิยมทางด้านการทหาร ต้องมีกองทัพที่เข้มแข็ง

–สนับสนุนความมั่งคั่งของชาติ โดยมุ่งสะสมโลหะที่มีค่า เช่น ทองคำ และเงิน (gold and silver)

2. ทฤษฎีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Theory of Absolute Advantage)

  อดัม สมิธ (Adam Smith) เชื่อว่า “ประเทศที่ผลิตสินค้าได้เปรียบโดยสมบูรณ์จะทำการผลิตสินค้านั้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าประเทศอื่น และนำไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น”

3. ทฤษฎีการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Theory of Comparative Advantage)  เป็นแนวคิดของ เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) ที่พัฒนาแนวคิดมาจากทฤษฎีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ ของ อดัม สมิธ

  เพราะทฤษฎีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ ไม่สามารถอธิบายกรณีที่ประเทศหนึ่งผลิตสินค้า 2 ชนิดได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยสมบูรณ์ได้ (ไม่เกิดการค้าระหว่างประเทศ)

   เดวิด ริคาร์โด  ได้อธิบายว่า แต่ละประเทศมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการด้วยต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ แหล่งทรัพยากร รวมถึงความชำนาญในการผลิต

  ดังนั้น ทุกประเทศควรมุ่งผลิตสินค้าที่ตนได้เปรียบเชิงต้นทุน กล่าวคือ ควรเลือกผลิตสินค้าโดยเสียต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศอื่น แล้วนำไปแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศ จะเกิดความคุ้มค่ากับสองประเทศมากกว่าผลิตขึ้นใช้เอง

4. ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ ของ เฮกเซอร์ (Eli Heckscher) และโอห์ลิน (Bertil Ohlin) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดน หรือเรียกว่า ทฤษฎีสัดส่วนของปัจจัยการผลิต (Factor Proportion)

   ทฤษฎีสัดส่วนของปัจจัยการผลิต กล่าวว่า แต่ละประเทศมีปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน เงินทุน และแรงงานแตกต่างกัน ถ้าประเทศใดมีแรงงานมาก เมื่อเปรียบกับที่ดินและเงินทุนค่าจ้างแรงงานของประเทศนั้นจะถูก หรือกรณีอื่นๆ ก็เป็นลักษณะเดียวกัน

ยกตัวอย่าง ประเทศออสเตรเลียมีที่ดินจำนวนมาก ก็ควรจะผลิตสินค้าเกษตรเป็นลักษณะเรียกว่า Land-Intensive

  ประเทศจีนมีแรงงานจำนวนมาก ก็ควรทำอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เรียกว่า Labor-Intensive เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ

  ประเทศสหรัฐเมริกา มีเงินทุนมากก็ควรผลิตเครื่องบินโบอิ้ง เป็น Capital-Intensive ไปขายต่างประเทศ เป็นต้น 

นโยบายการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Policy)

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  จากการศึกษาทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านมา ก็จะสนับสนุนให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนเองได้เปรียบและถือเป็นการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศด้วย แล้วจึงนำสินค้าเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้ประโยชน์กันทุกประเทศ

  แต่อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศก็ต้องพิจารณาผลประโยชน์ชาติ ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศของตนเอง ซึ่งในบางกรณีผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ผลิตก็ขัดแย้งกันเอง ไม่สอดคล้องต้องกัน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีนโยบายการค้าระหว่างประเทศซึ่งเราจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้

  1. นโยบายการค้าเสรี (Free Trade Policy)

  คือ นโยบายที่รัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงการค้าระหว่างประเทศหรือแทรกแซงน้อยที่สุด โดยปล่อยให้เอกชนดำเนินการค้าขายเอง และสามารถผลิตสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศได้โดยเสรี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าต้นทุนการผลิตแข่งขันสู้กับต่างประเทศได้หรือไม่

ลักษณะที่สำคัญของนโยบายการค้าเสรี ประกอบด้วย

1) แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัด

2) ไม่มีการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศหนึ่งประเทศใดเป็นการเฉพาะ

3) ไม่มีข้อจำกัดทางการค้าระหว่างประเทศ

  2. นโยบายการค้าแบบคุ้มกัน (Protective Trade Policy)

  คือ นโยบายที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้มาตรการต่างๆคุ้มกัน

  มาตรการคุ้มกันทางการค้าที่สำคัญ มีดังนี้

  2.1 การตั้งกำแพงภาษีศุลกากรขาเข้า (Tariff Wall)

  โดยการเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะมีผลต่อราคาสินค้านำเข้าจนอาจมีราคาสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศ

   2.2 การกำหนดโควตานำเข้า (Import quota) เป็นการจำกัดปริมาณสินค้านำเข้าประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยผู้นำเข้าต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐบาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ ทำให้การจ้างงานขยายตัว ประชาชนมีรายได้

  3. นโยบายการให้การอุดหนุน (Subsidies)

  คือ การให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตภายในประเทศ เพื่อให้อยู่ในระดับแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น ให้เงินช่วยเหลือผู้ผลิตโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ การลดหยอดภาษีสินค้าบางอย่าง การให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตราพิเศษ เป็นต้น 

  4. นโยบายการทุ่มตลาด (Dumping)

  คือ การขายสินค้าในตลาดต่างประเทศในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดภายในประเทศ แบ่งออกเป็น

4.1 การทุ่มตลาดแบบถาวร

4.2 การทุ่มตลาดแบบชั่วคราว เกิดจากสินค้าเหลือภายในประเทศจำนวนมาก

4.3 การทุ่มตลาดแบบเพื่อการแข่งขัน เพื่อแย่งตลาดต่างประเทศ

  5. นโยบายการค้าโดยรัฐบาล (State Trading)

  คือ การค้าระดับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบมีการวางแผนจากส่วนกลางโดยรัฐจะเป็นผู้วางแผนหรือตัดสินใจนำเข้าหรือส่งออกสินค้าอะไร จำนวนเท่าใด เป็นต้น

  6. นโยบายกลุ่มผู้ขาดระหว่างประเทศ (International Cartels)

  คือ การรวมกลุ่มของผู้ผลิตจากหลายประเทศ เพื่อจำกัดการแข่งขันสินค้าชนิดเดียวกันให้เกิดอำนาจผูกขาด เช่น กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันส่งออก OPEC เป็นต้น

รูปแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในโลก

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

1) เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หมายถึง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อลดหรือ ขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น โควตา, ภาษีศุลกากร หรืออื่นๆ กลุ่มเศรษฐกิจแบบนี้ ได้แก่ European Free Trade Area (EFTA), North American Free Trade Agreement (NAFTA), ASEAN Free Trade Area (AFTA) เป็นต้น

2) สหภาพศุลกากร (Customs) เป็นการรวมกลุ่มเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าในประเทศสมาชิก ความแตกต่างกับเขตการค้าเสรีก็คือ จะมีการปฏิบัติกับประเทศสมาชิกอย่างหนึ่ง ประเทศมิใช่สมาชิกอีกแบบหนึ่ง

3) ตลาดร่วม (Common Market) เป็นการรวมกลุ่มเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าเหมือนรูปแบบที่ผ่านมา แต่ยังมีการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี รวมทั้งมีการจัดทำนโยบายการค้าร่วมกัน

4) สหภาพเศรษฐกิจ (Economic Union) มีลักษณะคล้ายตลาดร่วม แต่ยังมีการประสานนโยบายทางเศรษฐกิจ ต้องการให้ประเทศสมาชิกมีนโยบายเกี่ยวกับภาษี เงินตราเป็นหนึ่งเดียวกัน

5) สหภาพทางการเมือง (Political Union) ในสหภาพทางการเมืองเป็นการรวมตัวของเศรษฐกิจและการเมือง โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะมีการประสานแง่มุมต่างๆ ของระบบการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ชาติต่างๆ ก็มีเสรีภาพในการกำหนดนโยบายการเอง เศรษฐกิจภายในของตนเอง