ข้ามไปเนื้อหา

การใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศในไอซียู/การบริหารงานการแพทย์ในโรงพยาบาล

จาก วิกิตำรา

ด้านการบริหารงานการแพทย์ในโรงพยาบาล

เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการ (Management Information System) มาประยุกต์เข้ากับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานของระบบรับรองคุณภาพโรงพยาบาลแบบต่างๆ ตามที่โรงพยาบาลนั้นต้องการ เรียกว่า ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System, HIS) ซึ่งนำมาใช้ช่วยในการบริหารจัดการงานทั่วไปของโรงพยาบาล เช่น งานเวชระเบียนผู้ป่วย งานบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System, HIS)

ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลอย่างมีหลักเกณฑ์ ตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานของระบบรับรองคุณภาพต่างๆ เพื่อนำมาประกอบผลและจัดรูปแบบให้ได้สารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการทำงาน และการตัดสินใจในด้านต่างๆของผู้บริหาร เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทำให้บุคลากรปฏิบัติงานได้สะดวกและรวดเร็ว ทำให้มีเวลาในการให้บริการแก่ผู้ป่วยมากขึ้น มีเวลามาพัฒนาคุณภาพบริการให้ดีขึ้น

โดยส่วนใหญ่แล้ว ระบบระบบสารสนเทศโรงพยาบาลจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากโปรแกรมระบบฐานข้อมูล ประสบการณ์และความรู้ของผู้บริหารและผู้ดำเนินการ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เช่น ข้อมูลผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล โดยการทำงานของระบบจะเป็นการทำงานแบบ Interactive คือ จัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นจากแต่ละหน่วยงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก ห้องผ่าตัด ฯลฯ และสามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทันทีจากแต่ละหน่วยงานมาใช้ประมวลผลได้ทันทีทันใด ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการบริการและการบริหารจัดการในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

ระบบย่อยของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล แบ่งเป็น 3 กลุ่มงานใหญ่ๆ

1. สารสนเทศทางการพยาบาล

เป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยแต่ละรายจากแต่ละแผนกที่ผู้ป่วยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือต้องใช้บริการ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้ปฏิบัติงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบด้วย ระบบงานเวชระเบียนและสถิติ ระบบงานผู้ป่วยนอก ระบบงานผู้ป่วยใน ระบบงานเภสัชกรรม ระบบงานพยาธิวิทยา/ ระบบงานชันสูตร ระบบรังสีวิทยา ระบบงานห้องผ่าตัดและวิสัญญี ระบบงานประกันภัยสุขภาพและประกันสังคม ระบบงานหน่วยจ่ายกลาง ระบบงานธนาคารโลหิต ระบบงานการเงินผู้ป่วย ระบบงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และระบบงานหน่วยขนย้ายผู้ป่วย

ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลได้พัฒนาระบบสารสนเทศนี้ขึ้นมาใช้ในโรงพยาบาลของตนเองและก็ มีหลายหน่วยงานที่พัฒนาระบบสารสนเทศนี้เพื่อเป็นต้นแบบให้แต่ละโรงพยาบาลนำไปประยุกต์ใช้เช่นกัน ตัวอย่างของระบบสารสนเทศทางการพยาบาลที่น่าสนใจและมีความโดดเด่น คือ โปรแกรม HOSxP ซึ่งพัฒนา โดยบุคลากรที่อาสาสมัครมาจากหลายๆ โรงพยาบาล มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำไปใช้งานได้จริงทั้งในระดับสถานีอนามัย ไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ เริ่มพัฒนาเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นโปรแกรมประเภท open source ซึ่งสามารถนำไปดัดแปลงแก้ไขให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ โดย ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างไร

2. สารสนเทศด้านการบริหารและวิชาการ

สารสนเทศด้านนี้มักพบว่าเป็นส่วนหนึ่งของสารสนเทศทางการพยาบาล มากกว่าจะแยกส่วนเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม สารสนเทศนี้มีความสำคัญในด้านการสรุปข้อมูลแต่ละด้านของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้บริหารสามารถนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนกลยุทธ์ แผนดำเนินการและนโยบายต่างๆ ประกอบด้วย ระบบงานธุรการ ระบบงานพัสดุ ครุภัณฑ์ ระบบงานบัญชี และการเงิน ระบบงานประชาสัมพันธ์ ระบบงานพัฒนาคุณภาพบริการระบบงานข้อมูลข่าวสารและวิชาการ ระบบงานศึกษา (แพทย์และพยาบาล) และระบบงานสำหรับผู้บริหารโรงพยาบาล

3. สารสนเทศด้านงานวิศวกรรมการแพทย์

สารสนเทศด้านนี้มักถูกละเลยจากในหลายโรงพยาบาลและในหลายหน่วยงานทางการแพทย์ สาเหตุเพราะงานวิศวกรรมการแพทย์ในประเทศไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ไม่มีองค์กรกลางที่ได้รับความเชื่อถือมาดูแลอย่างเป็นระบบ แม้จะมีหลายโรงพยาบาลพยายามพัฒนาสารสนเทศด้านวิศวกรรมการแพทย์ขึ้นใช้งาน แต่ก็เป็นเพียงสารสนเทศด้านการซ่อมบำรุง งานบำรุงรักษาและงานสอบเทียบเครื่องมือแพทย์เท่านั้น และสารสนเทศนี้ก็ไม่ได้รับความสนใจจากคณะผู้บริหารเท่าที่ควร จึงทำให้สารสนเทศทางด้านนี้ยังขาดความสมบูรณ์อยู่พอสมควร

สารสนเทศด้านงานวิศวกรรมการแพทย์ ประกอบด้วย ระบบงานด้านบริหารจัดการเครื่องมือและอุปกรณ์ ทางการแพทย์ ระบบงานซ่อมบำรุง ระบบงานบำรุงรักษา ระบบงานสอบเทียบ ระบบงานการคัดกรองเทคโนโลยี ทางการแพทย์ ระบบงานการประเมินอายุการใช้งานและการยกเลิกการใช้งานเครื่องมือแพทย์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสารสนเทศทั้งสามส่วนนี้ จะมีความเกี่ยวข้องหรือมีความจำเป็นสำหรับจัดทำสารสนเทศเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโรงพยาบาล เช่น จำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการในแต่ละเดือน สรุปยอดรายรับ รายจ่างทั้งหมด จำนวนเครื่องมือแพทย์ที่มีใช้และที่ต้องการเพิ่ม เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริหารได้รับทราบ สำหรับการวางแผนการพัฒนาวางแผนกลยุทธ์ วางแผนดำเนินการและวางนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรต่อไปในอนาคต