การใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศในไอซียู

จาก วิกิตำรา

การใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศในไอซียู[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์

คอมพิวเตอร์นับเป็นเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์และเป็น เครื่องมือ สำคัญในทุกสาขาวิชาชีพไม่เว้นแม้กระทั่งสาขาทางการแพทย์ ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติงานของบุคลากร การให้การรักษาพยาบาล การวินิจฉัยโรค การศึกษาและการวิจัย เนื่องจากการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในทางการแพทย์

จากคุณสมบัติของคอมพิวเตอร์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คอมพิวเตอร์ได้รับความเชื่อมั่นและนำมาใช้งานทางด้านการแพทย์อย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่การรักษาพยาบาลทั่วๆ ไป ในโรงพยาบาล หลายแห่งนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำทะเบียน คิดคำนวณค่ารักษาพยาบาล สำหรับในด้านการบริหารการแพทย์จะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำรายงานสรุปผลข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวางแผนนโยบายต่างๆ ในด้านการปฏิบัติงานเครื่องมือการแพทย์ในปัจจุบันหลายอย่างใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ขนาดต่างๆ เป็นส่วนประกอบสำหรับใช้ควบคุมการปฏิบัติงานของเครื่องเหล่านั้น เช่น การฉายรังสีเพื่อกำจัดมะเร็งเครื่องมือ ที่ใช้ฉายรังสีจะถูกควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า ไมโครคอนโทลเลอร์ เพื่อให้ฉายรังสีให้กับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับรังสีมากเกินไป เป็นต้น ในด้านการ การวินิจฉัยโรค เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้ถ่ายภาพทางรังสีของผู้ป่วยเพื่อดูภาพภายในร่างกายผู้ป่วยเพื่อยืนยันรอยโรคหรือตำแหน่งของมะเร็ง เป็นต้น ระบบสารสนเทศทางการแพทย์ เป็นการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศเข้ามาใช้ช่วยบริหารจัดการข้อมูลทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เช่น เวชระเบียน ภาพทางการแพทย์ เป็นต้น

เนื่องจากในต่างประเทศได้มีการใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างได้ผลดียิ่ง และในประเทศไทยก็ถือว่าการแพทย์และสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้งานในด้านการแพทย์เช่นกัน ฉะนั้นจะได้กล่าวถึงการใช้คอมพิวเตอร์ในทางการแพทย์นี้ โดยแบ่งออกเป็น

  1. การบริหารงานการแพทย์ในโรงพยาบาล
  2. การรักษาพยาบาลและการตรวจวินิจฉัยโรค
  3. การศึกษาและวิจัยทางการแพทย์
  4. แนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์