ข้ามไปเนื้อหา

การใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศในไอซียู/แนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์

จาก วิกิตำรา

ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกกำลังดำเนินเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่ทุกสิ่งถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาณ ดิจิตอลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ข่าวสาร การทำงานและแม้กระทั่งโรงพยาบาล เทคโนโลยีสารสนเทศที่เคยแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมก็จะเป็นเทคโนโลยีหลักของด้านการแพทย์ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูงผ่านระบบเครือข่ายไร้สายจะกลายเป็นช่องทางหลักสำหรับการรับ-ส่งข้อมูลต่างๆ ทางการแพทย์ ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บในรูปแบบดิจิตอล กลายเป็นยุคดิจิตัลโดยสมบูรณ์

โรงพยาบาลต่างๆ จะต้องปรับตัวเองไปตามกระแสของโลกดิจิตอลเป็นโรงพยาบาลดิจิตอลซึ่งข้อมูล ทางการแพทย์ทั้งหมดของผู้ป่วยจะถูกสร้าง และเก็บไว้ในฐานข้อมูลดิจิตอลกลางซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อถือได้และจะสามารถเชื่อมโยงได้ทุกโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยนั้นเข้ารับการรักษาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลก เสมือนผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่เคยรักษาประจำและแม้บุคคลนั้นจะได้รับอุบัติเหตุในสถานที่ใดก็ตาม ข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยในฐานข้อมูลกลางจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้ป่วยนั้นได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

ระบบโทรเวชจะมีบทบาทและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะเครื่องมืออำนวยความสะดวกทางการแพทย์ให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการเดินทางไปโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ผ่านทางเครื่องมือของระบบโทรเวชจากที่บ้านผู้ป่วยเอง หรือการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบโทรเวชที่เสมือนกับได้พบแพทย์จริงๆ และโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญหรือมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ระบบโทรเวชจะช่วยแก้ปัญหาของการขาดแคลนแพทย์ได้ โดยการติดตั้งระบบโทรเวชเข้ากับสถานีอนามัย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์เป็นผู้ดูแลระบบ แพทย์ก็จะสามารถตรวจผู้ป่วยผ่านทางระบบโทรเวช หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคจากโรงพยาบาลเฉพาะทางสามารถให้แนว ทางการรักษาแก่แพทย์ในพื้นที่ห่างไกลได้

ระบบการแพทย์อัจฉริยะจะถูกพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อรองรับกับโรงพยาบาลดิจิตอลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบ AI (Artificial Intelligence) จะมีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาลดิจิตอล โดยเฉพาะระบบรู้จำเสียงพูดและระบบการจำแนกตัวอักษรซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่แพทย์และพยาบาลในการเขียนรายงานการตรวจร่างกายผู้ป่วยลงในเวชระเบียน ระบบการสร้างภาพสามมิติจะถูกพัฒนาให้สมจริงและสามารถเห็นได้แบบเวลาจริง บนจอภาพขนาดเล็ก โดยใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์แทนการใช้รังสีเอ็กซ์เรย์ เนื่องจากใช้งานได้ง่ายกว่าและไม่ต้องมีการป้องกันรังสีที่เกิดขึ้น เป็นต้น