ข้ามไปเนื้อหา

ทรัพย์สิน/บทที่ 3/ส่วนที่ 1/ฎ.

จาก วิกิตำรา
# เลขที่ ใจความ หมายเหตุ
ลักษณะของส่วนควบ
1 1026/2475   โรงมหรสพและครัวไฟซึ่งปลูกติดต่อกับโฮเต็ลนั้นมีฝากั้นแยกกันเป็นคนละส่วน ทั้งยังแยกจากโฮเต็ลได้โดยไม่โฮเต็ลไม่เสียหายจนเสียรูปทรง โรงมหรสพและครัวไฟจึงไม่เป็นส่วนควบของโฮเต็ล
2 723/2490   ได้ความว่า จำเลยได้เช่าบ้านโจทก์อยู่โดยไม่มีหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน จำเลยได้ทำถนนซีเมนต์โดยจำเลยออกทรัพย์ทำเองทั้งสิ้นและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ต่อมา โจทก์จำเลยเลิกการเช่าต่อกัน จำเลยให้คนไปขุดกระทุ้งพื้นถนนซีเมนต์แล้วขนเอาซีเมนต์ไป โจทก์หาว่าจำเลยทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย

  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถนนที่จำเลยทำขึ้นในที่ซึ่งเช่าโจทก์เช่นนี้ กฎหมายถือว่าเป็นส่วนควบ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. ม. 107 [ปัจจุบันคือ ม. 144] แต่เพราะจำเลยเป็นออกทรัพย์ทำขึ้นเอง เมื่อเลิกสัญญาเช่าและต้องการขนเอาซีเมนต์ไป จำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ เพื่อโจทก์จะได้เลือกว่า จะให้จำเลยรื้อถนนไปเสีย หรือโจทก์จะเอาถนนไว้แล้วใช้ราคาให้ตาม ป.พ.พ. ม. 1311 ประกอบ ม. 1314 จำเลยจะรื้อไปโดยพลการไม่ได้ เมื่อจำเลยรื้อไป จึงเป็นการละเมิดโจทก์ ให้โจทก์ชนะคดี

3 86/2493   ครัวไฟซึ่งต่อเติมติดกับเรือนย่อมเป็นส่วนควบของเรือน ขายฝากเรือนจึงหมายความรวมถึงขายฝากครัวด้วย แม้ในสัญญาขายฝากจะระบุรายการไว้แต่ตัวเรือนก็ตาม
4 1603/2518   เครื่องปรับอากาศเป็นเพียงอุปกรณ์ในโรงงาน หาใช่ส่วนควบของโรงงานไม่ ประกันภัยโรงงานจึงไม่คุ้มถึงเครื่องปรับอากาศ และเมื่อโรงงานกับเครื่องปรับอากาศไหม้ไปในเพลิง ก็จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนเครื่องปรับอากาศมิได้
5 372/2500   ฝากั้นห้องจะเป็นส่วนควบของอาคารหรือไม่ ต้องพิจารณาตามสภาพของทรัพย์หรือตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นว่า ฝานั้นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารหรือไม่

  ตามสภาพ ฝากั้นห้องแยกออกจากตัวอาคารได้โดยไม่ส่งผลให้อาคารถูกทำลาย บุบสลาย หรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงแต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นด้วย ฝากั้นห้องนั้นจึงไม่เป็นส่วนควบของอาคาร

6 716/2505   เมื่อหนังสือสัญญาระบุขายฝากเรือนหลังหนึ่ง ก็ย่อมหมายความรวมถึงส่วนควบของเรือนหลังนั้นด้วย และเมื่อเรือนหลังเล็กเป็นส่วนควบของเรือนหลังใหญ่โดยสภาพอยู่แล้ว จะขอสืบพยานบุคคลว่าได้ตกลงกัน

ไว้ก่อนขายว่าไม่ได้ขายหลังเล็กด้วยนั้นไม่ได้

7 648/2506   ตามธรรมดาโรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] หรือ ม. 1312

  จำเลยมาได้บุตรสาวของผู้ร้องเป็นภรรยา และได้เข้าอยู่ร่วมในเรือนของผู้ร้องซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ร้อง ต่อมา เรือนนั้นทรุดโทรม จึงรื้อลงสร้างหลังใหม่แทน แม้ฟังว่าจำเลยออกเงินค่าก่อสร้างเรือนหลังใหม่นี้ แต่มีเรือนมีลักษณะถาวร ติดที่ดิน และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับสิทธิหรืออำนาจที่จะปลูกเรือนนี้ลงในดินของผู้ร้องแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ม. 109 และไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปลูกเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ร้องตาม ม. 1312 จึงต้องถือว่า เรือนนี้เป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูกเรือนและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ม. 107 เจ้าหนี้ผู้ชนะคดีของจำเลยจะยึดเรือนนี้เพื่อขายเอาชำระหนี้ของจำเลยไม่ได้

8 399/2509   เครื่องจักรโรงสี แม้มีน้ำหนักหรือราคามากสักเท่าใด แต่ก็มิใช่ทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ทั้งโดยสภาพแล้วถอดถอนโยกย้ายออกจากโรงสีได้โดยไม่ต้องทำลายหรือทำให้ตัวโรงสีนั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง ฉะนั้น แม้เครื่องจักรจะเป็นสาระสำคัญ แต่ก็มิใช่ส่วนควบ เป็นแต่ของใช้ประจำโรงเท่านั้น
9 378/2522   สัญญาเช่าว่า ทรัพย์ใด ๆ ที่ผู้เช่าดัดแปลงต่อเติมลงในที่เช่า ให้ตกเป็นของผู้ให้เช่าทันที

  ทรัพย์ที่ต่อเติมเข้ากับที่เช่าดังกล่าว ย่อมหมายถึง ทรัพย์ที่ต่อเติมมาจนกลายเป็นส่วนควบของที่เช่า แต่เครื่องปรับอากาศซึ่งติดเข้ากับที่เช่า ไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่เช่าจนไม่อาจแยกออกจากกันได้เว้นแต่ทำให้ที่เช่าเสียรูปทรง ฉะนั้น เครื่องปรับอากาศจึงไม่เป็นส่วนควบ และไม่ตกเป็นของผู้ให้เช่า

10 2531/2523   โจทก์ขายรถยนต์ซึ่งมีแต่โครงและเครื่องให้จำเลย โดยมีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์โอนก็ต่อเมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่ระหว่างที่ยังชำระไม่ครบ จำเลยต่อเติมกระบะเข้ากับรถยนต์ แล้วไม่ชำระราคาอีก โจทก์จึงอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ดังกล่าวคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ในการนี้ โจทก์มีสิทธิขอให้พิพากษาว่า รถยนต์ทั้งคันเป็นของโจทก์ได้ เพราะกระบะย่อมกลายเป็นส่วนควบของตัวรถแล้ว
11 147/2532   จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท โจทก์เช่าซื้อรถยนต์นั้นแล้วต่อตัวถังขึ้นติดกับรถ กรณีจึงเป็นการเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้าด้วยกันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ ตัวรถยนต์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธาน จำเลยจึงเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานที่รวมเข้าด้วยกันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น ๆ ตาม ป.พ.พ. ม. 1316 ว. 2 เพราะฉะนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อตัวถังรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์
ผลของการเป็นส่วนควบ
1 1096-1097/2510   เรือนสามหลังปลูกต่อเนื่องกัน ล้อมรั้วเดียวกัน และเจ้าของได้อาศัยอยู่เสมอเป็นหลังเดียวกันมาหลายสิบปี ฟังได้ว่า เรือนทั้งสามหลังเป็นส่วนควบซึ่งกันและกัน
2 1995/2522   ซื้อขายที่ดินโดยที่มีเรือนปลูกอยู่ด้วย แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรือนนั้นด้วย เรือนก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อที่ดิน เพราะเป็นส่วนควบของที่ดิน
3 1055/2534   โรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดิน ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] หรือ ม. 1312

  โจทก์ซื้อที่ดินซึ่งมีบ้านพิพาทปลูกอยู่ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 107 ว. 2 [ปัจจุบันคือ ม. 144 ว. 2] โดยที่จำเลยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทให้แก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นของตนเอง จึงไม่ใช่การคอบคองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. ม. 1382

ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ
1 312/2498   ฝาเรือนทำขึ้นจากไม้ตีเข้าด้วยกัน แต่ตีผิดธรรมดา คือ ตีตะปูหัวกระดานและท้ายกระดานข้างละตัว ไม้ที่ตีก็เหลื่อมยาวออกนอกเสาข้างละศอกเศษ บางด้านทำเป็นฝาช้อน ฝาก็ตีไม่ชิดหรือซ้อนกัน (ทับเกล็ด) ตีห่างเป็นช่องเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เท่ากัน ทั้งเป็นไม้ที่ยังใหม่และยังไม่ไสกบ แสดงว่า ฝาดังกล่าวมีเจตนาทำขึ้นชั่วคราว จะฟังว่าเป็นส่วนควบของเรือนยังไม่ได้
2 372/2498   พลูเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์

  เจ้าของที่ดินตัดฟันต้นพลูซึ่งผู้เช่าปลูกอยู่ในที่ดินของตน ก็เท่ากับทำลายทรัพย์ของตนเอง จึงไม่มีความผิดฐานทำลายทรัพย์ [ปัจจุบันคือ ฐานทำให้เสียทรัพย์]

3 1355/2508   โจทก์ปลูกต้นพลูบนที่ดินของจำเลย ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินนั้น ต้นพลูจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดิน แม้จำเลยจะตัดต้นพลูทิ้ง ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
4 370-371/2511   เช่าที่ดินมีกำหนดสิบห้าปีเพื่อใช้ปลูกตึกแถว โดยตกลงกันว่า สัญญาสิ้นอายุแล้วจะให้ตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบอายุ ตึกพิพาทจึงยังไม่เป็นส่วนควบ และกรรมสิทธิ์ยังไม่เป็นของเจ้าของที่ดิน
5 610/2514   ผู้ร้องซื้อที่ดินมีโฉนดจากจำเลย แม้แต่จำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ผู้ร้องก็ได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินนั้นตั้งแต่ซื้อตลอดมา และได้ปลูกเรือนลงบนที่ดินดังกล่าวด้วย ต่อมา จำเลยถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินแปลงนี้ จะยึดเรือนของผู้ร้องไปด้วยไม่ได้ เพราะกรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] ซึ่งไม่ถือว่า เรือนของผู้ร้องเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย ผู้ร้องใช้สิทธิครอบครองที่ดินจำเลยปลูกเรือนลงบนที่ดินนั้น เรือนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 146
6 1134/2514   ปลูกบ้านบนที่ดินเช่า บ้านนั้นไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ที่บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เพราะปลูกขึ้นโดยอาศัยสิทธิที่มีเหนือที่ดินนั้น เข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. ม. 146
7 2208/2519   ผู้ร้องปลูกเรือนพิพาทในที่ดินของมารดาโดยได้รับความยินยอมของมารดา ผู้ร้องจึงชื่อว่าปลูกเรือนลงบนที่ดินผู้อื่นโดยอาศัยสิทธิมีอยู่เหนือที่ดินนั้น เรือนจึงไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146]
8 2210/2526   จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินซึ่งเช่าจากโจทก์ เป็นการปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นโดยมีสิทธิ โรงเรือนนั้นจึงไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดิน
9 1772/2531   จำเลยผู้อาศัยอยู่กับโจทก์ได้ปลูกบ้านบนที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์รู้เห็นยินยอม บ้านพิพาทย่อมเป็นของจำเลย และไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ จำเลยก็ต้องรื้อบ้านออกไป
10 151/2532   ส. สามีของจำเลย ปลูกบ้านลงบนที่ดินของผู้ร้องทั้งสาม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันกับผู้ร้องทั้งสาม ในขณะที่ผู้ร้องทั้งสามมีอายุไม่เกินเจ็ดปี ไม่มีรายได้ และต้องอยู่ในอุปการะของ ส. กับจำเลยผู้เป็นมารดา นอกจากนี้ เงินที่ใช้ปลูกบ้านก็เป็นของ ส. กับจำเลย จึงพอจะถือได้ว่า บ้านนั้นปลูกโดยผู้ร้องทั้งสามยินยอมแล้ว กรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146] บ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินอันจะถือว่าเป็นของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
11 1380/2532   ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกไม้นั้นตาม ป.พ.พ. ม. 108 ว. 1 [ปัจจุบันคือ ม. 145 ว. 1] แต่ถ้าไม้ยืนต้นนั้น ผู้ปลูกเจตนาปลูกไว้ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด ย่อมถือได้ว่า เป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราว และไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. ม. 109 [ปัจจุบันคือ ม. 146]

  จำเลยตกลงให้ผู้ร้องปลูกต้นสนลงในที่ดินของจำเลย เมื่อต้นสนโตเต็มที่ จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน

12 46/2539   ถนนพิพาทสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ตินที่สร้างถนน กรณีจึงเข้าย้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 146 ที่จะไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน