ปรัชญาเบื้องต้น/อะไรคือปรัชญา

จาก วิกิตำรา

นิยามและความหมาย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

คำว่าปรัชญาในภาษาอังกฤษ หรือ Philosophy มากจากคำในภาษากรีกสองคำ คือคำว่า Philo ซึ่งหมายถึงรัก และ Sophia ซึ่งหมายถึงปัญญา และจึงแปลว่าความรักในปัญญา ปรัชญาเป็นสาขาวิชาของความรู้อย่างกว้าง ๆ ซึ่งแม้แต่นิยามของความรู้เองก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีการสืบสอบในปรัชญา รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติของเอกภพ จิต และกาย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามสิ่งนี้ และระหว่างผู้คน ปรัชญาเป็นวิชาแห่งการสืบสอบ หรือการตามหาความรู้ เป็นทั้งสิ่งที่มีมาก่อนและสิ่งที่เติมเต็มวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่พัฒนาประเด็นซึ่งเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ และเป็นวิชาที่คอยครุ่นคิดถึงคำถามซึ่งอยู่นอกขอบเขตของวิทยาศาสตร์

การนำปรัชญาไปใช้[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แก่นของปรัชญาคือการศึกษาและพัฒนาแนวคิดและวิธีการขั้นมูลฐาน ซึ่งไม่ได้รับความสนใจอย่างเพียงพอจากสาขาวิชาเชิงประจักษ์เฉพาะทาง เช่นฟิสิกส์หรือประวัติศาสตร์ ดังนั้นมันจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาโครงสร้างทางความเชื่อและความรู้สาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งหมด ทั้งยังเป็นวิชาซึ่งรับผิดชอบในการให้นิยาม และในแนวทางซึ่งสาขาวิชาหลากหลายสาขาใช้เพื่อพัฒนาทฤษฎีของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ภาษา วิทยาศาสตร์ กฎหมาย จิตวิทยา คณิตศาสตร์ และการเมือง แต่ปรัชญาเองก็พิจารณาและพัฒนาโครงสร้างและกระบวนการของตนเองเช่นกัน ซึ่งเรียกว่าปรัชญาของปรัชญา

ปรัชญามีมรดกทางวรรณกรรมที่ยาวนาน ทั้งงานเขียนและคำสั่งสอนของนักปรัชญาจากวัฒนธรรมที่หลากหลายในยุคสมัยต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ นักปรัชญาพยายามทำความเข้าใจในหลักการซึ่งเป็นรากฐานของความรู้และความเป็น ด้วยจุดมุ่งหมายนี้ พวกเขาได้พัฒนาวิธีคิดต่าง ๆ ขึ้นมา เช่นตรรกศาสตร์ การพินิจภายใน และการทำสมาธิ ผ่านการนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ พวกเขาได้สืบสอบถึงคำถามพื้นฐานที่สุด เช่น "อะไรคือธรรมชาติของเอกภพ?" (อภิปรัชญา) "เรารู้อะไร และเรารู้ได้อย่างไร?" (ญาณวิทยา) "อะไรคือความแตกต่างระหว่างความดีและความชั่วร้าย?" (จริยธรรม) "อะไรคือความงาม?" (สุนทรียศาสตร์) และ "อะไรคือความหมายของชีวิต?" (อันตวิทยา)

ขนบธรรมเนียมและมุมมองทางปรัชญา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

'อะไรคือปรัชญา?' เองก็เป็นคำถามทางปรัชญา นี่แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของปรัชญาซึ่งมีขอบเขตที่กว้างมาก ถึงขนาดที่ตัววิชาเองก็อยู่ในขอบเขตของวิชา และอาจเป็นสาขาวิชาเดียวท่ามกลางสาขาอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้ สิ่งที่ชัดเจนคือ ในแง่หนึ่ง ปรัชญาคือการคิดถึงการคิด

ปรัชญา ซึ่งมีขนบธรรมเนียมแบบวิเคราะห์จากทวีปยุโรปและซึ่งต่อมาย้ายไปยังทวีปอเมริกา ได้ประดิษฐ์ตัวเองขึ้นมาใหม่พร้อมกับกลวิธีชุดใหม่ ซึ่งคงจะดูผิดที่ผิดทางในสมัยกรีกโบราณ ณ จุดเริ่มต้นของปรัชญา โดยให้ความสำคัญกับตรรกศาสตร์และการวิเคราะห์มโนทัศน์ หัวข้อหลักสำคัญรวมถึงทฤษฎีของความรู้ จริยธรรม ธรรมชาติของภาษา และธรรมชาติของจิต

ขนบธรรมเนียมทางปรัชญาในสมัยแรกเน้นในการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและวิทยาศาสตร์ของชีวิต เช่นทฤษฎีทั่วไปและคำแนะนำเกี่ยวกับวิถีชีวิต ในความหมายนี้ ปรัชญาให้ความสนใจในสิ่งที่เป็นเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิตมากกว่าความพยายามที่จะเข้าใจในเชิงทฤษฎี มรดกนี้มาจากนักปรัชญากลุ่มแรก ๆ ที่เรารู้จักนั่นคือพวกโซฟิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มครูสอนวาทศาสตร์ ไวยากรณ์ และวิทยาศาสตร์ในสมัยโบราณ ถึงแม้คนกลุ่มนี้คล้ายบัณฑิต แต่พวกโซฟิสต์ก็มีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของวิชาปรัชญา

ในส่วนของขนบธรรมเนียมแบบวิเคราะห์ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาขึ้นหลังพวกโซฟิสต์ ปรัชญากลายเป็นวิชาซึ่งใครก็สามารถเรียนได้เพียงเพราะเหตุผลทางอภิปรัชญาหรือนามธรรมล้วน ๆ ในขนบธรรมเนียมโซฟิสต์ ปรัชญาเป็นองค์ความรู้ซึ่งใครที่ช่ำชองนั้นจะสามารถนำมาใช้เพื่อได้มาซึ่งอำนาจหรือรางวัล เราอาจพูดถึงความแตกต่างเหล่านี้อย่างเกินจริง เพราะแม้ปรัชญาไม่ใช่สิทธันต์ ขนบธรรมเนียมทั้งสองก็เคารพซึ่งกันและกัน

ในโลกตะวันตก ครั้งหนึ่งคำว่า 'ปรัชญา' ครอบคลุมทุกสาขาวิชา เมื่อเวลาผ่านไป องค์ความรู้ทั้งหมดของมนุษย์เติบโตขึ้น สาขาวิชาต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาซึ่งแต่ละสาขาก็มีระเบียบวิธีและขอบเขตของการศึกษาเป็นของตนเองและเป็นอิสระมากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น หากไปที่ห้องสมุดสาธารณะที่ใช้การจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมดิวอี้ เราจะพบว่าหนังสือจิตวิทยามีหมายเลขเริ่มจาก 150 ซึ่งเป็นกึ่งกลางของหมวดปรัชญา นี่เพราะว่าครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 ในสมัยที่ระบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นมา จิตวิทยาเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นสาขาวิชาอีกแขนง อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า 'ปรัชญาธรรมชาติ' ซึ่งครั้งหนึ่งหมายถึงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ ในมุมมองนี้ สิ่งที่ถูกเรียกว่า 'ปรัชญา' ณ จุดใดในประวัติศาสตร์ คือขอบเขตของความรู้ของมนุษย์ซึ่งยังไม่แก่ตัวพอและยังไม่ได้พัฒนาสถานะและคุณลักษณะให้เป็นอิสระเป็นของตนเอง

สาขาวิชาที่เป็นอิสระเหล่านี้มีปรัชญาเป็นของตนเอง เช่นปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาคณิตศาสตร์ ปรัชญาจิตวิทยา และอื่น ๆ เวลาศึกษาในสาขาเหล่านี้ เราดูที่ปัญหาของระเบียบวิธี หรือพินิจพิจารณามโนทัศน์หลักของสาขาวิชา รวมไปถึงประเด็นทางด้านจริยธรรมต่าง ๆ

ที่แน่ ๆ ขอบเขตหลายขอบเขตเป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญา ญาณวิทยาเกี่ยวกับคำถามเช่น 'เรารู้สิ่งที่เรารู้ได้อย่างไร?' ภววิทยาเกี่ยวกับคำถามว่า 'อะไรเป็นจริง?' จริยธรรมเกี่ยวกับคำถามว่า 'เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร?' และตรรกศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการให้เหตุผลอย่างเหมาะสม ในปรัขญาเองก็มีสาขาวิชาอื่น ๆ อยู่หลายสาขา

กลับไปหน้าแรก | พูดคุยเกี่ยวกับบทนี้ | บทต่อไป