ข้ามไปเนื้อหา

มรดก

จาก วิกิตำรา




กฎหมายนั้นเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของบุคคลเสมอ แม้บุคคลไม่มีตัวอยู่แล้ว กฎหมายก็ยังควบคุมบางสิ่งบางอย่างซึ่งเคยเป็นของเขาในครั้งมีชีวิตอยู่ กฎหมายนี้คือ กฎหมายลักษณะมรดก (Law of Succession) ซึ่งเป็นกฎหมายหมู่สำคัญหมู่หนึ่งในกฎหมายแพ่ง

ในการศึกษานิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาไทย สำหรับบรรดากฎหมายแพ่งนั้น กฎหมายลักษณะมรดกมักเล่าเรียนกันในปีที่สาม ถัดจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย กฎหมายลักษณะบุคคล กฎหมายลักษณะหนี้ กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้ กฎหมายว่าด้วยเอกเทศสัญญา กฎหมายลักษณะทรัพย์สิน และกฎหมายลักษณะครอบครัว ตามลำดับ

เนื่องจากความตายเป็นธรรมชาติพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในทางมรดกและกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์นี้จึงมีมาช้านาน สำหรับชนชาติไทยสยาม (ไทยภาคกลางปัจจุบัน) เองนั้นก็เป็นต้นว่า พระไอยการลักษณมฤดก ที่พระเจ้าทรงธรรมทรงตราขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมศาสตร์[1] และในกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้รับการชำระพร้อมกับกฎหมายหมวดหมู่อื่นของพระธรรมศาสตร์ซึ่งมักเรียกรวมกันว่า "กฎหมายตราสามดวง" ต่อมา จึงได้รับการยกเลิกและแทนที่ด้วยกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม์ พุทธศักราช 2475[2] กระทั่งมีการตรา ป.พ.พ. โดยมี บ. 6 ว่าด้วยมรดก ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478[3] มาตราบบัดนี้

ปัจจุบัน กฎหมายลักษณะมรดกมิได้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรไทย เฉพาะคดีมรดกที่เกิดในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดสะตูลนั้น ให้ใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ (Šarīʿah) แทน ป.พ.พ. ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2498[4]

เพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายลักษณะมรดก ตำรานี้จึงแบ่งส่วนดังต่อไปนี้

  บทที่ 1   บททั่วไป: ว่าด้วยมรดกคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร มีผลอย่างไร และใครคือผู้รับมรดก

  บทที่ 2   สิทธิรับมรดกโดยธรรม: ว่าด้วยการรับมรดกโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมาย และการเสียสิทธิดังกล่าว

  บทที่ 3   สิทธิรับมรดกโดยพินัยกรรม: ว่าด้วยการรับมรดกโดยอาศัยสิทธิตามพินัยกรรม การทำพินัยกรรม และผลของพินัยกรรม

  บทที่ 4   สิทธิรับทรัพย์สินของผู้ตายโดยมิได้เป็นทายาท: ว่าด้วยการรับมรดกของผู้ตาย แม้มิได้เป็นทายาทของผู้ตายก็ตาม

  บทที่ 5   การบริหารมรดก: ว่าด้วยการจัดการมรดก การเรียกชำระหนี้จากกองมรดก และการแบ่งมรดก

  บทที่ 6   อายุความ: ว่าด้วยอายุความเกี่ยวกับมรดก

ตำรานี้ว่าด้วยกฎหมายไทยที่ยังใช้บังคับอยู่เท่านั้น ไม่กล่าวถึงที่เลิกใช้แล้ว และไม่กล่าวถึงกฎหมายชะรีอะฮ์ อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ตำรานี้ได้แทรกศัพท์กฎหมายที่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นไว้ด้วย ศัพท์เหล่านี้อ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแม่แบบ ป.พ.พ. เป็นหลัก

ตำรานี้ยังแทรก ฎ. บางฉบับไว้ด้วย แต่พึงทราบว่า ในระบบซีวิลลอว์ (civil law) ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยนั้น คำพิพากษาไม่เป็นกฎหมาย เป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายเป็นรายกรณีไปเท่านั้น

  1. กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เล่ม 1, 2548: (40).
  2. "พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม์ พุทธศักราช 2475"; 2476.04.05: ออนไลน์.
  3. "พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477"; 2478.06.07: ออนไลน์.
  4. เพรียบ หุตางกูร, 2552: 23.

รายการอ้างอิง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
กฎหมาย
คำพิพากษา
หนังสือ
  • เพรียบ หุตางกูร. (2552.12). คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก. (พิมพ์ครั้งที่ 11). กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9789744664433.
บทความ
อื่น ๆ

ภาษาต่างประเทศ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]



ขึ้น