มรดก/การเสียสิทธิรับมรดก

จาก วิกิตำรา




2
การเสียสิทธิรับมรดก


บทนำ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สิทธิรับมรดกก็เหมือนสิทธิอื่น ๆ ที่มีเกิดและมีดับ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิรับมรดกจะสิ้นสุดลงในสี่กรณี คือ[1]

1.   ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ซึ่งเกิดได้สองฐาน คือ ฐานยักย้ายหรือปิดบังมรดก และฐานไม่สมควรรับมรดก

2.   ถูกตัดมิให้รับมรดก

3.   สละมรดก

4.   ไม่เอามรดกภายในอายุความ สำหรับกรณีที่สี่นี้เกี่ยวด้วยอายุความ จึงยกไปกล่าวในเรื่องอายุความ

การถูกกำจัดมิให้รับมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

  มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

ป.พ.พ. ม. 1605

ฐานยักย้ายหรือปิดบังมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เหตุที่ถูกกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทายาทที่เข้าหลักเกณฑ์สองประการตาม ป.พ.พ. ม. 1605 ว. 1 คือ (1) ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก และ (2) กระทำการนั้นโดยฉ้อฉล หรือโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้ทายาทคนอื่นเสียประโยชน์ จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่ถ้าเข้าหลักเกณฑ์เพียงข้อหนึ่งข้อใด ย่อมไม่ถูกกำจัด[2]

ในหลักเกณฑ์ข้อแรกนั้น "ยักย้าย" หมายถึง ทำให้ทรัพย์มรดกเคลื่อนที่ โดยสภาพจึงเป็นการกระทำต่อทรัพย์มรดกในทางกายภาพ เช่น แจวเรือที่เป็นทรัพย์มรดกไปเสีย[2] ส่วน "ปิดบัง" นั้น ไม่จำต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกในทางกายภาพ เช่น ทายาท ก ถามว่า เรือที่เป็นทรัพย์มรดกไปอยู่ไหนแล้ว ทายาท ข พูดปดว่า อยู่ท้ายน้ำ เท่านี้ก็นับว่า ข ปิดบังทรัพย์มรดกแล้ว[2]

ในหลักเกณฑ์ข้อสอง "โดยฉ้อฉล" คือ ด้วยเจตนาอันทุจริตหมายจะให้ได้มาซึ่งประโยชน์ที่ตนไม่คู่ควร และหมายความแต่กรณีฉ้อฉลทายาทคนอื่น ๆ เท่านั้น[2] เช่น ก เห็นว่าเรือซึ่งเป็นทรัพย์มรดกนั้นผุพังมากแล้ว จึงนำไปซ่อม ดังนี้ แม้ ก ยักย้ายทรัพย์มรดก แต่มิได้ฉ้อฉล ก ย่อมไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานยักย้ายทรัพย์มรดก

ส่วนที่ว่า "[โดย] รู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น" นั้น คือ โดยรู้ว่าที่ทำไปนั้นส่งผลให้ทายาทคนอื่นไม่ได้ประโยชน์ที่เขาควรได้จากทรัพย์มรดก หรือได้แต่ไม่เต็มที่[2] แต่ถ้าทำให้ทายาทคนอื่นเสียประโยชน์อย่างเดียว ไม่ได้ยักย้ายหรือปิดบัง ทายาทผู้ทำย่อมไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก เช่น ทายาท ก เห็นว่า ทายาท ข ได้รับมรดกมากกว่าตน จึงอิจฉา และเผาคฤหาสน์หลังที่ตกทอดแก่ ข ทิ้งเสีย ดังนี้ ไม่เข้าเกณฑ์ที่ ก จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่ ก อาจต้องรับผิดต่อ ข ในประการอื่น ๆ อยู่ เช่น ละเมิด

การกำจัดมรดกฐานยักย้ายหรือปิดบังมรดกนี้ ตามสภาพแล้ว เกิดได้เฉพาะเมื่อมีทายาทมากกว่าหนึ่งคน[3]

  การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไป เหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดั่งที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม
ป.พ.พ. ม. 1607

ผลของการกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทายาทผู้ยักย้ายหรือปิดบังมรดกจะถูกกำจัดมิให้รับบรรดาทรัพย์มรดกที่เขามีสิทธิได้รับ มิใช่เฉพาะทรัพย์มรดกที่เขายักย้ายหรือปิดบังนั้น[2] โดยตาม ป.พ.พ. ม. 1605 ว. 1 ถ้าเขายักย้ายหรือปิดบังเท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่เขามีสิทธิได้รับ เขาจะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกโดยสิ้นเชิง ถ้าน้อยกว่า ก็จะถูกกำจัดเท่าส่วนที่ยักย้ายหรือปิดบัง[2]

สัดส่วนดังกล่าวจะคำนวณได้ ต้องตีมูลค่าทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน[4] เช่น ฮ ตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ เวลานั้น มีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกอยู่ คือ บุตรทั้งสามของ ฮ ได้แก่ อ, ฬ และ ห ส่วนมรดกนั้นประกอบด้วย กระบือเผือกหนึ่งตัว มูลค่าห้าแสนบาท, นกเขาเสียงทองหนึ่งตัว มูลค่าสามแสนบาท และเงินสดอีกหนึ่งแสนบาท รวมเก้าแสนบาท แบ่งกันตามกฎหมายแล้วทายาททั้งสามจะได้มรดกมูลค่าเท่า ๆ กัน คือ คนละสามแสนบาท ด้วยความโลภ ฬ จึงลักกระบือไปซ่อน และ ห มุบมิบเงินสดไว้ทั้งหมด ดังนี้ สิทธิที่ ฬ จะได้รับมรดกมูลค่าสามแสนบาทนั้นเป็นอันถูกกำจัดไปโดยสิ้นเชิง ส่วน ห หมดสิทธิรับมรดกมูลค่าหนึ่งแสนบาท แต่ชอบจะได้มรดกมูลค่าสองแสนบาทอยู่ตามสิทธิ

ในกรณีที่ทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นผู้รับพินัยกรรม แม้เขาต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกทั้งปวง แต่เขายังมีสิทธิได้รับ "ทรัพย์เฉพาะสิ่ง" ที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้เขาอยู่ ตาม ป.พ.พ. ม. 1605 ว. 2[3] ทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ว่า คือ ทรัพย์สินที่มีเพียงหนึ่ง จะหาทรัพย์สินอื่นมาแทนมิได้[5] เช่น นายไกลปืนเที่ยง ผู้ตาย มีหอกลงอาคมเล่มหนึ่งชื่อ สัตโลหะ ตกทอดมาจากบรรพบุรุษชื่อ นายไกรทอง นายไกลปืนเที่ยงทำพินัยกรรมยกหอกสัตโลหะให้นายไกลลิบ หลานชาย แต่ทรัพย์มรดกอื่น ๆ นายไกลปืนเที่ยงไม่ได้จัดการอย่างไรไว้ จึงต้องจัดการตามกฎหมาย ซึ่งนายไกลลิบมีสิทธิโดยธรรมที่จะได้รับส่วนหนึ่งด้วย ทว่า นายไกลลิบปกปิดมรดกของนายไกลปืนเที่ยง เป็นเหตุให้เขาต้องหมดสิทธิโดยธรรมไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี เขายังชอบจะได้รับหอกสัตโลหะตามพินัยกรรมอยู่ ไม่นำหอกสัตโลหะอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งมาคิดรวมในการกำจัดมิให้รับมรดกด้วย

เมื่อทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เขาจะหมดสิทธิรับมรดกเฉพาะตัวเขาเอง โดยถ้าเขามีผู้สืบสันดาน ผู้สืบสันดานมีสิทธิเข้ารับมรดกส่วนนั้นแทนที่เขา และเมื่อผู้สืบสันดานได้มรดกแล้ว เขาไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับมรดกนั้นเลย ตาม ป.พ.พ. ม. 1607[5] แต่ถ้าเขาไม่มีผู้สืบสันดาน มรดกส่วนนั้นต้องนำไปแบ่งให้ทายาททั้งหลาย ซึ่งอาจรวมถึงเขาเองด้วย หากว่าเขาถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพียงบางส่วน[5]

  บุคคลดั่งต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

  (1)   ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

  (2)   ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่า ทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

  (3)   ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

  (4)   ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

  (5)   ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

  เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ป.พ.พ. ม. 1606

ฐานไม่สมควรรับมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เหตุที่ถูกกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ป.พ.พ.พ ม. 1606 ระบุเหตุที่ทายาทไม่สมควรรับมรดกไว้ห้ากรณี คือ

กรณี 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ได้เจตนาฆ่าหรือพยายามฆ่าเจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตนตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าทายาทผู้เป็นฆาตกรนั้นมีแรงจูงใจอะไร หวังมรดกหรือไม่ และไม่ว่า "ผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตน" จะเป็นผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรมก็ตาม[6]

เช่น ก เป็นบิดาของ ข ส่วน ค เป็นน้องของ ก, ครั้งหนึ่ง ก และ ค วิวาทกัน ค ใช้ขวานจามกระบาล ก แต่ ก ไม่ตาย ศาลพิพากษาลงโทษ ค ฐานพยายามฆ่า ก และคดีถึงที่สุด, ต่อมา ก และ ข ถูกลิงขบตายทั้งคู่ระหว่างไปตัดอ้อย จึงเหลือ ค เป็นทายาทคนเดียวของ ก และ ข, อย่างไรก็ดี ค ไม่สิทธิรับมรดกของทั้ง ก และ ข โดย (1) ค ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ก เพราะถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า พยายามฆ่า ก เจ้ามรดก และ (2) ค ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ข เพราะถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า พยายามฆ่า ก ผู้มีสิทธิรับมรดกของ ข ก่อนตน (ก เป็นบิดาของ ข และมีสิทธิโดยธรรมในอันที่จะรับมรดกของ ข ก่อน ค ซึ่งอยู่ในฐานะอาของ ข)

กรณี 2 ฟ้องเจ้ามรดกว่า เจ้ามรดกได้กระทำความผิดอาญาซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต แต่กลับถูกศาลพิพากษาเสียเองว่า ฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ โดยการฟ้องเจ้ามรดกในที่นี้ หมายความว่า เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้ามรดกต่อศาลโดยตรง หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่ไม่รวมถึงการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเจ้ามรดกต่อพนักงานสอบสวน แม้จะเป็นเหตุให้พนักงานอัยการตั้งต้นคดีฟ้องเจ้ามรดกก็ตาม[7] ส่วนโทษประหารชีวิตนั้น หมายถึง โทษที่กฎหมายระบุไว้ ไม่ใช่โทษที่ศาลกำหนด ไม่ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิตสถานเดียว หรือมีโทษอื่นร่วมด้วยก็ตาม[7] และคดีที่ทายาทถูกศาลพิพากษาว่าฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ หมายถึง คดีที่ทายาทฟ้องเจ้ามรดกว่ากระทำความผิดอาญาโทษประหารชีวิตนั้นเอง ไม่ใช่คดีอื่น[7]

กรณี 3 รู้อยู่ว่า เจ้ามรดกถูกผู้อื่นฆ่าโดยเจตนา แต่ไม่แจ้งความเพื่อให้เจ้าพนักงานนำตัวฆาตกรมาลงโทษ ดังนั้น ต้องได้ความเสียก่อนว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา และทายาทก็รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย ไม่ว่าเป็นประสบการณ์โดยตรง เช่น อยู่ในเหตุการณ์ ก็ดี หรือโดยอ้อม เช่น ฟังเขาเล่ามาอีกที ก็ดี[8] แต่ถ้าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยประมาท หรือทายาทคนนั้นไม่ทราบเรื่อง ย่อมไม่เข้ากรณีนี้[7] เช่น ก เห็นเหตุการณ์ว่า ข บิดาตนถูก ค ขับรถยนต์โดยประมาทมาชนจนตาย แม้ ก ไม่ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน ก ก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ข

การแจ้งความข้างต้น หมายถึง การร้องทุกข์ (ผู้เสียหายแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่า มีผู้กระทำความผิดขึ้น ทำให้ตนได้รับความเสียหาย และขอให้นำตัวผู้กระทำมาลงโทษ) หรือการกล่าวโทษ (บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหายแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่า มีผู้กระทำความผิดขึ้น) ซึ่งต้องทำภายในเวลาอันสมควรด้วย ถ้าปล่อยเนิ่นนานไปไม่แจ้งความโดยไม่มีเหตุผล ก็อาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกได้ (แล้วแต่ดุลพินิจของศาล) [9]

แต่ทายาทผู้ทราบเรื่องและไม่ไปแจ้งความ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก (1) ถ้าในเวลาที่เขาควรแจ้งความนั้น เขามีอายุไม่ถึงสิบหกปี, วิกลจริตจนไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ หรือเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของฆาตกร กล่าวคือ จดทะเบียนสมรสกัน, หรือ (2) ถ้าเขาเป็น "ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปของฆาตกร" กล่าวคือ เป็นบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา หรือยายของฆาตกร, หรือ (3) ถ้าเขาเป็น "ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมาของฆาตกร" กล่าวคือ เป็น ลูก หลาน เหลน หรือลื่อของฆาตกร ทั้งนี้ สำหรับลูกนั้น ไม่ว่าชอบด้วยกฎหมาย (บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน) หรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม[9]

กรณี 4 ฉ้อฉลเจ้ามรดก กล่าวคือ หลอกลวงเจ้ามรดกก็ดี หรือข่มขู่เจ้ามรดกก็ดี เพื่อให้เจ้ามรดกทำ, เพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมบางส่วนหรือทั้งหมดเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้ทำอย่างนั้น[9] โดยพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกในที่นี้ หมายถึง ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ให้บุคคลได้รับทรัพย์มรดก หรือมิให้ทายาทได้รับทรัพย์มรดก มิได้หมายถึงพินัยกรรมที่เกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกในกรณีอื่น ๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่มีพินัยกรรมใดเลยที่ไม่ข้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดก[9] อนึ่ง เจ้ามรดกจะได้ทำตามที่ถูกฉ้อฉลหรือหลอกลวงหรือไม่ ไม่เป็นข้อพิจารณา เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ เพียงทายาทได้ฉ้อฉลหรือข่มขูเจ้ามรดกแล้ว ก็ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกเสมอไป[10]

กรณี 5 ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมบางส่วนหรือทั้งหมด กรณี 5 นี้ต่างกรณี 4 ตรงที่ทายาทกระทำเอง และไม่จำกัดว่าพินัยกรรมที่ทายาทปลอมขึ้น ทำลายไป หรือปิดบังไว้นั้นเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกหรือไม่ เช่น อาจเป็นพินัยกรรมส่วนที่ว่าด้วยการปลงศพเจ้ามรดกก็ได้[11]

ผลของการกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ทายาทผู้ไม่สมควรรับมรดกจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าเขาเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม และไม่มีข้อยกเว้นเรื่องทรัพย์เฉพาะสิ่งเหมือนกรณียักย้ายหรือปิดบังมรดก[12] แต่มีผลในเรื่องผู้สืบสันดานไม่ต่างกัน[11]

แต่เจ้ามรดกอาจถอนการกำจัดนี้ก็ได้ โดยให้อภัยทายาทผู้ไม่สมควรรับมรดกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตาม ป.พ.พ. ม. 1606 ว. 2[11] ลายลักษณ์อักษรนี้ต้องลงลายมือชื่อเจ้ามรดกด้วย จึงจะมีผล[13] ตามปรกติแล้ว การถอนการกำจัดย่อมมีขึ้นเมื่อเกิดเหตุที่พึงถูกกำจัดแล้ว แต่เมื่อกฎหมายเปิดให้อภัยกันได้ แสดงว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัวระหว่างเจ้ามรดกกับทายาทที่เป็นปัญหา ไม่กระทบกระเทือนต่อประชาชน ฉะนั้น เจ้ามรดกจะทำลายลักษณ์อักษรให้อภัยไว้ล่วงหน้าก็ได้[13] ทั้งนี้ พึงสังเกตว่า ถอนการกำจัดมิให้รับมรดกได้แต่กรณีไม่สมควรรับมรดก กรณียักย้ายหรือปิดบังมรดก ถอนไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทายาทโดยรวมด้วยกัน ใช่แต่เจ้ามรดกกับทายาทคนใดคนหนึ่งเท่านั้น[13]

การถูกตัดมิให้รับมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

  ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ

  ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่

ป.พ.พ. ม. 9
  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

  (1)   โดยพินัยกรรม

  (2)   โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

  ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน

  แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่า บรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

ป.พ.พ. ม. 1608

ลักษณะ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สาเหตุหนึ่งที่ทายาทหมดสิทธิรับมรดก ก็เพราะถูกเจ้ามรดกตัดมิให้รับมรดก หรือที่ภาษาปากมักว่า "ตัดออกจากกองมรดก" ทายาทที่จะถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นมีแต่ทายาทโดยธรรม ส่วนผู้รับพินัยกรรมจะหมดสิทธิรับพินัยกรรม เพราะพินัยกรรมสิ้นสุดลง ไม่ว่าด้วยถูกเจ้ามรดกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงเอง หรือถูกศาลเพิกถอน[13] ทั้งนี้ การตัดมรดกเกิดได้สองกรณี คือ ตัดโดยชัดแจงตาม ป.พ.พ. ม. 1608 ว. 1 และตัดโดยปริยายตาม ป.พ.พ. ม. 1608 ว. 3

ตัดโดยชัดแจ้ง เป็นกรณีที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งว่า จะไม่ให้ทายาทคนคนใดได้ทรัพย์สินอะไรเป็นต้น การแสดงเจตนาเช่นนี้ ต้องทำเป็นพินัยกรรม หรือทำเป็นหนังสือมอบไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ อย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. ม. 1608 ว. 1 (1) หรือ (2) มิฉะนั้น ใช้ไม่ได้[14] แต่ไม่ว่าทำแบบใด ก็ต้องระบุไว้ให้แจ้งชัดว่า จะตัด และจะตัดใคร ดัง ป.พ.พ. ม. 1608 ว. 2 บังคับไว้ ทั้งนี้ ที่ให้ระบุโดยชัดเจนว่าจะตัดใครนี้ ไม่ถึงกับต้องระบุชื่อแซ่เสมอไป เพียงให้เข้าใจได้ว่าคนนั้นคนนี้ถูกตัดก็พอ[14] เช่น ระบุว่า "ขอตัดลูกทุกคนของผมมิให้รับมรดก" หรือ "ใครที่ไม่มีชื่อในพินัยกรรมนี้ ไม่มีสิทธิได้มรดก"

ในกรณีที่แสดงเจตนาเป็นพินัยกรรม ข้อกำหนดเรื่องตัดมิให้รับมรดกจะอยู่รวมกับข้อกำหนดเรื่องอื่น ๆ หรือแยกเป็นพินัยกรรมอีกฉบับก็ได้ สำคัญแต่ว่า พินัยกรรมต้องทำขึ้นโดยสมบูรณ์[14] ถ้าแสดงเป็นหนังสือมอบไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้ามรดกจะทำหนังสือนั้นขึ้นเองหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องลายลายมือชื่อตนในนั้น ตาม ป.พ.พ. ม. 9[14] พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับหนังสือดังกล่าวนี้ กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14 ว่า คือ กรมการอำเภอ ต่อมา พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495 ม. 40 ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมการอำเภอ และให้โอนอำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอไปยังนายอำเภอแทน เพราะฉะนั้น ปัจจุบัน นายอำเภอจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. ม. 1608 ว. 1 (2)

ตัดโดยปริยาย เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้แสดงเจตนาไว้ว่าจะตัดใครมิให้รับมรดก แต่เนื่องจากเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกไปทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าสั่งให้ยกให้ใคร หรือสั่งให้เอาไปตั้งเป็นมูลนิธิก็ตาม จนไม่เหลือเป็นประโยชน์ให้ทายาทผู้ใดอีก ไม่ว่าเป็นประโยชน์ทางกรรมสิทธิ์ หรือประโยชน์อื่นใดทางทรัพย์สิน เช่น ได้อาศัย ได้เก็บกิน ฯลฯ ทายาทผู้นั้นจึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากถูกตัดมิให้รับมรดก กฎหมายจึงเรียกว่าเป็นการตัดมิให้รับมรดกโดยปริยาย[15]

ส่วนที่ว่า จำหน่ายทรัพย์มรดกไปทั้งหมด นั้น หมายความว่า ทั้งหมดที่เจ้ามรดกมีอยู่เมื่อตาย ไม่ใช่เมื่อทำพินัยกรรม[16] เช่น พระอภัยมณีสมรสกับเงือกน้อย และมีบุตรด้วยกัน คือ สุดสาคร เวลานั้น พระอภัยมณีมีทรัพย์สินอยู่สองสิ่ง คือ ปี่หนึ่งเลา และม้านิลมังกรหนึ่งตัว จึงทำพินัยกรรมยกทั้งสองสิ่งให้แก่เงือกน้อย ต่อมา พระฤๅษียกเกาะแก้วพิสดารให้พระอภัยมณีโดยเสน่หา และพระอภัยมณีถูกชีเปลือยจับกินถึงแก่ความตาย โดยไม่มีทายาทคนไหนอีก นอกจากเงือกน้อย คู่สมรส และสุดสาคร บุตร ดังนี้ จะว่าสุดสาครถูกตัดมิให้รับมรดก เหตุว่าไม่ได้ประโยชน์จากพินัยกรรมเลยมิได้ เพราะพินัยกรรมมิได้จำหน่ายทรัพย์สินทั้งหมดที่พระอภัยมณีมีอยู่เมื่อตายแต่ประการใด ยังเหลือเกาะแก้วพิสดารที่ได้มาภายหลังอีก ซึ่งต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม คือ เงือกน้อย และสุดสาคร เท่า ๆ กัน เนื่องจากไม่มีพินัยกรรมจัดการไว้

  การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้

  ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทำตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 1608 (1) หรือ (2) ก็ได้

ป.พ.พ. ม. 1609

ผล[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การตัดมิให้รับมรดก ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย เมื่อเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นผลดังนี้

1.   ผู้ถูกตัดหมดสิทธิรับมรดกของผู้ตัดไปโดยสิ้นเชิง มิใช่เพียงบางส่วน[13] แต่ผู้ถูกตัดอาจใช้สิทธิของผู้อื่นรับทรัพย์สินของผู้ตัดได้ตามหลักเรื่องรับมรดกแทนที่กัน[17] เช่น ก บิดา ตัด ข บุตร มิให้รับมรดกของตน ข ย่อมไม่อาจรับมรดกของ ก ได้โดยอาศัยความเป็นบุตร, ต่อมา ค ปู่ของ ข (บิดาของ ก) ตายลง ข สามารถใช้สิทธิของ ค เข้ารับมรดกของ ก แทน ค ได้

2.   ผู้สืบสันดานของผู้ถูกตัดพลอยหมดสิทธิรับมรดกของผู้ตัดไปพร้อมด้วย เพราะไม่มีกฎหมายให้ผู้สืบสันดานของผู้ถูกตัดดเข้ารับมรดกแทนที่ผู้ถูกตัดได้ ต่างจากกรณีกำจัดมิให้รับมรดก ที่ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดเข้ารับมรดกแทนที่ผู้ถูกกำจัดได้ตาม ป.พ.พ. 1639[18]

สำหรับการตัดโดยชัดแจ้งนั้น เจ้ามรดกอาจถอนก็ได้ ถ้าตัดด้วยพินัยกรรม ก็ต้องถอนด้วยพินัยกรรม โดยจะทำประการไรก็ได้ให้ข้อกำหนดพินัยกรรมเรื่องตัดมิให้รับมรดกนั้นถูกเพิกถอน เช่น ขีดฆ่าข้อกำหนดนั้น ฉีกพินัยกรรมทิ้ง หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่มีเนื้อหาให้ยกเลิกข้อกำหนดในฉบับเดิม เป็นต้น ข้อสำคัญ คือ ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมด้วย แต่ถ้าตัดโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ จะถอนเป็นหนังสืออย่างนั้น หรือเป็นพินัยกรรมก็ได้ ตาม ป.พ.พ. ม. 1609[17] แต่การตัดโดยปริยาย มิอาจเพิกถอนได้ด้วยวิธีข้างต้น หากจะสิ้นสุดลงเมื่อเหตุที่ยังให้เกิดการตัดโดยปริยายสิ้นสุดลง เช่น พินัยกรรมซึ่งจำหน่ายทรัพย์มรดกไปทั้งหมดนั้นถูกเพิกถอน หรือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับใหม่ยกทรัพย์สินบางอย่างให้ทายาทที่ไม่ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมฉบับเดิมเลย[19]

มีข้อสังเกตว่า กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินจนหมด ซึ่งทำให้ทายาทบางคนถูกตัดมิให้รับมรดกโดยปริยาย แล้วต่อมา ทำพินัยกรรมฉบับใหม่ยกทรัพย์สินให้แก่ทายาทคนนั้น ต่างจากกรณีเจ้ามรดกตัดทายาทมิให้รับมรดกโดยชัดแจ้ง แล้วต่อมา ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ทายาทคนนั้น เพราะกรณีแรก มีผลให้ทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดพ้นจากการถูกตัด แต่กรณีหลัง ทายาทนั้นยังสิ้นสิทธิโดยธรรมอยู่ เพียงแต่ในโอกาสเดียวกันก็ได้สิทธิมาใหม่ คือ สิทธิโดยพินัยกรรม[19]

การสละมรดก[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้

  การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้

ป.พ.พ. ม. 1613
  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้
ป.พ.พ. ม. 1619

หลักเกณฑ์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ห้ามสละมรดกล่วงหน้า[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การสละมรดกเป็นการแสดงออกของทายาทว่าไม่ต้องการมรดก ดังนั้น การที่ทายาทไม่แสดงออก แม้ด้วยเจตนาที่จะปฏิเสธมรดก เช่น นิ่งเสียไม่เรียกร้องเอามรดก ย่อมไม่นับว่าเขาสละมรดก[20]

ตราบที่เจ้ามรดกยังไม่ตาย ทรัพย์มรดกย่อมเป็นของเจ้ามรดกอยู่ ทายาทยังไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกเหล่านั้น เมื่อยังไม่มีสิทธิ ก็จึงยังสละสิทธิมิได้ หรือแม้จะจำหน่ายจ่ายโอน เช่น โอนทรัพย์มรดกที่คาดว่าตนจะได้ไปให้คนอื่น ก็ยังมิได้เช่นกัน ดังที่ ป.พ.พ. ม. 1619 ห้ามมิให้ทำเช่นนั้นเป็นการล่วงหน้า[20] หากฝ่าฝืนทำลงไป การนั้นย่อมไร้ผล[20] อนึ่ง เมื่อเจ้ามรดกตายลง มรดกย่อมตกทอดทันที แม้ยังเรียกร้องเอามิได้ เพราะพินัยกรรมมีเงื่อนไขเป็นต้น แต่ผู้รับพินัยกรรมก็สละหรือจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิตามพินัยกรรมนั้นได้แล้ว เพราะ ป.พ.พ. ม. 1619 ห้ามแต่ช่วงที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่[20]

ห้ามสละมรดกบางส่วน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

นอกจากห้ามสละมรดกล่วงหน้าดังกล่าวแล้ว ยังห้ามสละมรดกบางส่วนด้วย ตาม ป.พ.พ. ม. 1613 ว. 1

ห้ามสละมรดกบางส่วน หมายความว่า เมื่อเลือกจะสละแล้ว ต้องสละทั้งหมด[20] เช่น นางสารตรามีทรัพย์มรดก คือ ต้นมะงั่วไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่หนึ่งแปลง และนกการเวกหนึ่งฝูง โดยมีนางสิบสองเป็นทายาทโดยธรรม นางสิบสองกลัวติดไข้หวัดนก จึงไม่ขอรับนก จะรับแต่ต้นไม้ ดังนี้ หาได้ไม่ เมื่อประสงค์จะสละมรดกแล้ว นางสิบสองต้องสละทั้งหมด คือ ทั้งนกและต้นไม้

ที่ว่า สละทั้งหมด หมายถึง ทั้งหมดที่จะได้รับตามสิทธิประเภทหนึ่ง ๆ[21] เช่น นางสิบสามเป็นทั้งทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมของนางสิบสอง เมื่อนางสิบสามสละสิทธิโดยพินัยกรรม เหลือไว้แต่สิทธิโดยธรรม ก็เรียกได้ว่า นางสิบสามสละมรดกทั้งหมดแล้ว เพราะพ้นความเป็นทายาทประเภทหนึ่ง ๆ ไปโดยสิ้นเชิง, กล่าวคือ การสละมรดนั้น หมายให้ทายาทพ้นจากความเป็นทายาทประเภทนั้น ๆ ไปเลย ถ้าผู้สละมีสิทธิประเภทเดียว ก็จบเท่านั้น ถ้าผู้สละมีสองสิทธิเช่นกรณีของนางสิบสามดังกล่าว ก็ต้องสละอย่างน้อยสิทธิหนึ่ง แต่ไม่ห้ามถ้าจะสละทั้งสองสิทธิด้วยกัน

เหตุผลที่กฎหมายบังคับให้สละมรดกทั้งหมด ห้ามเลือกที่รักมักที่ชังนั้น เพราะการสละมรดกบางส่วนนำพาความยุ่งยากมาสู่ทรัพย์มรดกเป็นอันมาก[22] จะชี้ให้เห็นด้วยตัวอย่างดังนี้

  ก เป็นลูก ข, ข เป็นน้อง ค, ข และ ค เป็น ลูก ง (ก เป็นหลาน ง), ต่อมา ก ตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ขณะที่ ข ตายไปก่อนหน้าแล้ว, เหลือ ค (ลุงของ ก) และ ง (ปู่ของ ก) ที่ไม่ตาย, ค และ ง จึงเป็นทายาทโดยธรรมของ ก, โดย ง เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 5 ของ ก (ชั้นปู่ ย่า ตา ยาย) และ ค เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 ของ ก (ชั้นลุง ป้า น้า อา), ในการนี้ ตราบที่ทายาทโดยธรรมลำดับสูงกว่ายังมีสิทธิอยู่ ลำดับต่ำกว่าไม่มีสิทธิเลย ดังนั้น ค ลุง จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของ ก หลาน ตราบที่ ง ปู่ ยังมีสิทธิ, แต่เผอิญ ง อยากสละมรดก และอยากสละมรดกเพียงบางส่วนด้วย

  ตามกฎหมายแล้ว เมื่อ ง ปู่ สละมรดก มรดกที่สละนั้นก็จะตกแก่ ค ซึ่งเป็นลุงและทายาทที่เหลืออยู่อีกคนของ ก ผู้ตาย, แต่ว่า การสละบางส่วน ทำให้ ง ปู่ ยังมีสิทธิในส่วนที่ไม่ได้สละอยู่, ก็เมื่อ ง ปู่ ยังมีสิทธิอยู่ ค ลุง ก็จะไม่อาจรับมรดกที่ ง ปู่ สละได้ เพราะเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว คือ "ตราบที่ทายาทโดยธรรมลำดับสูงกว่ายังมีสิทธิอยู่ ลำดับต่ำกว่าไม่มีสิทธิเลย", ดังนั้น มรดกที่ ง ปู่ สละไปบางส่วนนั้น ก็ไม่อาจตกไปถึง ค ลุง และจะตกแก่แผ่นดินก็ไม่ได้อีก เพราะทรัพย์สินของผู้ตายจะตกแก่แผ่นดิน ก็ต่อเมื่อผู้ตายขาดไร้ทั้งทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมโดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น

  เพราะฉะนั้น ถ้า ง สามารถสละมรดกบางส่วนได้ มรดกส่วนนั้นก็จะล่องลอยอยู่ ไม่อาจตกไปที่ใคร โดยที่ ง ก็ไม่เอา, ค ก็ไม่ได้ และแผ่นดินก็ไม่ได้ด้วย ที่สุดก็จะไร้ประโยชน์ไป

ห้ามสละมรดกโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อนึ่ง ป.พ.พ. ม. 1613 ว. 1 ยังห้ามสละมรดกโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาด้วย กล่าวคือ ห้ามสละโดยมรดกโดยมีข้อกำหนดคอยเหนี่ยวรั้งมิให้การสละบังเกิดผล หรือให้ผลที่บังเกิดแล้วต้องดับสิ้นลง[20] เช่น ระบุว่า "ดิฉันขอสละมรดกของผู้ตาย โดยให้มีผลเมื่อดิฉันสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว" หรือว่า "ผมขอสละมรดกของคุณพ่อ แต่ถ้าคุณแม่ไม่พาผมไปเที่ยวต่างประเทศ ให้การสละนี้สิ้นสุดลง"

แต่การสละมรดกตามสิทธิประเภทหนึ่ง แล้วคงสิทธิอีกประเภทหนึ่งไว้ เช่น สละสิทธิโดยพินัยกรรม แต่ขอสงวนสิทธิโดยธรรมไว้ ดังนี้ มิใช่สละโดยมีเงื่อนไข ไม่ต้องห้าม[20]

  ถ้ามรดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี
ป.พ.พ. ม. 1610
  ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดั่งต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้ว คือ

  (1)   สละมรดก

  (2)   รับมรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข

ป.พ.พ. ม. 1611
  ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใด โดยที่รู้อยู่ว่า การที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่า ในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้น ก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

  เมื่อได้เพิกถอนการสละมรดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่งเพื่อให้ตนรับมรดกแทนที่ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้

  ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยังมีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้น หรือทายาทอื่นของเจ้ามรดกแล้วแต่กรณี

ป.พ.พ. ม. 1614
  การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

  เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

ป.พ.พ. ม. 1615
  ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกได้มรดกมาดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 1615 แล้ว ผู้ที่ได้สละมรดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมรดกมา ในอันที่จะจัดการและใช้ดั่งที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม
ป.พ.พ. ม. 1616
  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้น รวมตลอดทั้งผู้สืบสันดาน ไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น
ป.พ.พ. ม. 1617
  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป
ป.พ.พ. ม. 1618

ผู้สละต้องมีความสามารถทำนิติกรรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การสละมรดกเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งซึ่งบุคคลที่เรียกว่า "ผู้อ่อนวินิจฉัย" อันได้แก่ (1) ผู้เยาว์, (2) บุคคลวิกลจริต หรือ (3) บุคคลผู้ไม่สามารถจัดการงานของตนได้ ไม่อาจทำเองได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมยินยอม และศาลอนุมัติประกอบกัน ตาม ป.พ.พ. ม. 1611 มิฉะนั้น เป็นโมฆะ หาใช่เพียงโมฆียะดังนิติกรรมทั่วไปไม่[23]

ในการนี้ ข้อที่ว่า ทำไม่ได้ เว้นแต่ผู้เกี่ยวข้องอนุญาตนั้น บ่งบอกว่า ผู้อ่อนวินิจฉัยอยู่ในฐานะที่จะสละมรดกเองได้ เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตก่อน[23] ทั้งนี้ ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมจะสละมรดกแทนผู้อ่อนวินิจฉัย ก็ทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เรื่องการใช้อำนาจแทนในกฎหมายลักษณะครอบครัว[23]

สำหรับผู้เยาว์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ต้องมีอายุเท่าไร จึงจะสละมรดกเองได้ ต่างจากกรณีอื่น ๆ เช่น ผู้เยาว์จะทำพินัยกรรมเอง ต้องอายุสิบห้าปีขึ้นไป เป็นต้น เพราะฉะนั้น จำจะต้องพิจารณาเป็นรายคนไปว่า มีวิจารณญาณพอจะตัดสินใจเองได้หรือยัง (ถ้ายัง ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจสละมรดกแทนได้ดังกล่าวมาแล้ว) [24]

ส่วนบุคคลวิกลจริตนั้น หมายความถึง คนวิกลจริตทั้งที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว และที่ยัง เพราะคนวิกลจริต ไม่ว่าถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วหรือยัง ก็ชื่อว่าวิกลจริตอยู่ทุกคราวไป และ ป.พ.พ. ม. 1611 ก็มิได้เจาะจงว่าให้หมายความถึงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย[25]

บุคคลผู้ไม่สามารถจัดการงานของตนได้ก็เช่นกัน ที่หมายความรวมทั้งที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว และที่ยัง เพราะที่ ป.พ.พ. ม. 1611 ว่า "บุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้" นั้น เป็นแต่ให้เอานิยามของบุคคลดังกล่าวซึ่งบรรยายไว้ใน ม. 32 มาใช้ เช่น สุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา ฯลฯ นอกจากนี้ ป.พ.พ. ม. 1611 ยังมุ่งคุ้มครองบุคคลผู้ไม่สามารถจัดการงานของตนเป็นการทั่วไป ไม่หมายคุ้มครองแต่ที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วเท่านั้นด้วย[26]

ถ้าผู้อ่อนวินิจฉัยที่ได้รับมรดกนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม ศาลก็จะได้แต่งตั้งให้เสียในโอกาสนั้น ตามที่ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าหนี้ของผู้อ่อนวินิจฉัย ร้องขอ หรือตามที่พนักงานอัยการร้องขอ ดังบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม. 1610

  การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ป.พ.พ. ม. 1612

การสละมรดกต้องทำตามแบบ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การสละมรดกต้องทำตามแบบ มิฉะนั้น ไม่มีผลเป็นการสละมรดก[27] แบบที่ว่านี้มีระบุไว้ใน ป.พ.พ. ม. 1612 คือ (1) ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ (2) ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อย่างใดอย่างหนึ่ง

การสละมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ผู้สละมรดกจะทำหนังสือขึ้นเองหรือไม่ก็ได้ แต่หนังสือต้องมีข้อความชัดแจ้งว่า ผู้สละจะสละมรดกของใคร เช่น ระบุว่า "มรดกพ่อใคร ใครอยากได้ก็เชิญ ฉันไม่ใส่ใจ" ดังนี้ คลุมเครืออยู่ว่าจะสละมรดกหรือไม่ กับทั้งผู้สละต้องลงลายมือชื่อตนในหนังสือนั้นด้วย ส่วนพยานจะมีหรือไม่ก็ได้ ไม่มีกำหนดไว้[27] อนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับมอบหนังสือสละมรดก เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เดียวกับที่มีอำนาจรับมอบหนังสือตัดมิให้รับมรดก ถ้ามอบให้ผิดตำแหน่ง เช่น เอาไปให้เจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ถือว่ามีการสละมรดก[27]

การสละมรดกโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คือ ให้ทำอย่างเดียวกับสัญญาประนีประนอมยอมความทุกประการ[27]

ผล[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ถ้าการสละมรดกสมบูรณ์ ผู้สละก็จะสิ้นสิทธิรับมรดกตามที่สละ[28] ในการนี้ ถ้าผู้สละเป็นทายาทโดยธรรม มรดกที่เขาสละจะตกแก่ผู้สืบสันดานของเขาต่อ แต่ถ้าเขาไม่มีผู้สืบสันดาน มรดกนั้นก็จะได้แก่ทายาทคนอื่น ๆ ของเจ้ามรดกแทน ตาม ป.พ.พ. ม. 1615 ว. 2[28]

เชิงอรรถ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 81.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 82.
  3. 3.0 3.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 83.
  4. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 82-83.
  5. 5.0 5.1 5.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 84.
  6. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 85-86.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 86.
  8. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 86-87.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 87.
  10. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 87-88.
  11. 11.0 11.1 11.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 89.
  12. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 85.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 90.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 91.
  15. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 91-92.
  16. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 92.
  17. 17.0 17.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 94.
  18. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 93-94.
  19. 19.0 19.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 95.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 20.6 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 97.
  21. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 97-98.
  22. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 98-99.
  23. 23.0 23.1 23.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 100.
  24. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 100-101.
  25. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 101.
  26. เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 101-102.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 99.
  28. 28.0 28.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 104.

บททั่วไป ขึ้น ทายาทโดยธรรม