ข้ามไปเนื้อหา

เทคนิคการถ่ายภาพ/การใช้แฟลช

จาก วิกิตำรา

การทำงานของไฟแฟลช

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ไฟแฟลชเป็นอุปกรณ์ให้แสงในขณะถ่ายภาพ มีอุณหภูมิสีใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์ตอนกลางวัน ทำงานโดยการฉายแสงในช่วงเวลาที่สั้นมาก ดังนั้นเราจึงสามารถถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วได้ชัดเจนภายใต้แสงจากไฟแฟลชได้เป็นอย่างดี แฟลชที่เราคุ้นเคยกันคือแฟลชที่ติดมากับกล้อง ซึ่งเป็นแฟลชที่มีขนาดเล็ก กำลังส่องสว่างน้อยมากมักทำงานได้ดีในระยะไม่เกิน 3 เมตร จึงเหมาะกับการถ่ายภาพระยะใกล้ แต่ถ้าระยะห่างเกิน 5 เมตร มักจะได้ภาพที่มืดเกินไป ในกรณีนี้ มักจะใช้แฟลชเสริม จะมีกำลังไฟมากน้อยก็แล้วแต่รุ่น แบ่งเป็น 2 ประเภทคือแฟลชที่ใช้ติดกับหัวกล้องและไฟใหญ่ที่ใช้ในห้องถ่ายภาพ แฟลชราคาสูงมักจะมีอุปกรณ์แลกเปลี่ยนข้อมูลกับกล้องได้ด้วย ทำให้ที่ได้ออกมาได้แสงพอดีมากกว่า กล้องที่ต้องตั้งค่าเองหรือวัดแสงผ่านเลนส์ธรรมดา เนื่องจากตั้งค่าเองจะต้องประมาณจากระยะห่างและกำลังไฟของแฟลช ซึ่งมีโอกาสพลาดได้ง่าย ส่วนการวัดแสงผ่านเลนส์ก็ดีกว่า แต่ก็ยังมีข้อเสียบางประการเช่น การถ่ายภาพในระยะใกล้ หากแฟลชฉายแสงออกไปเต็มกำลัง กล้องอาจตั้งค่ารูรับแสงเล็กสุดแล้ว แต่ก็ยังได้ภาพที่สว่างไปอยู่ดี เนื่องจากกล้องมีข้อจำกัดในการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด จึงไม่สามารถลดการรับแสงให้พอดีได้ ส่วนแฟลชแบบที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกล้องได้นั้น ตัวแฟลชจะรับทราบค่าแสงต่างๆจากตัวกล้อง ทำให้แฟลชสามารถเลือกใช้กำลังไฟที่เหมาะสมกับสภาพขณะนั้นได้เป็นอย่างดี แต่แฟลชที่ติดอยู่ที่หัวกล้องจะมีข้อเสียคือเป็นแสงตรง และเป็นแสงที่ไม่นุ่มนวล และก่อให้เกิดเงาข้างหลัง ถ้ามีกำแพงอยู่ข้างหลัง ในขณะที่ไฟในห้องถ่ายภาพ จะวางห่างจากตัวกล้อง เราสามารถใช้ขาตั้งกำหนดจุดและความสูงของแสงได้ รวมทั้งใช้วัสดุ กรองแสงหรือสะท้อนแสงเพื่อให้ได้แสงที่นุ่มนวลได้ตามที่ต้องการ

เป็นค่าที่บ่งบอกถึงกำลังไฟของแฟลชตัวนั้น สามารถใช้เป็นแนวทางเปรียบเทียบของแฟลชแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อได้ ค่า Guide number ยิ่งมากหมายถึงกำลังไฟส่องสว่างได้มากกว่า ปกติจะเทียบค่าGN หน่วยเป็นเมตร หรือฟุต ที่ ISO100 และระยะทางยาวโฟกัส35mm.

ความสัมพันธ์ระหว่างชัตเตอร์กับไฟแฟลช

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กล้องแต่ละรุ่นจะมีค่ากำหนดความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่จะใช้กับไฟแฟลชได้ไม่เท่ากัน ขึ้นกับเทคนิคในการสร้างม่านชัตเตอร์ของแต่ละรุ่น หากเป็นกล้องรุ่นเก่าจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดไม่เกิน 1/60 วินาที แต่ถ้ากล้องรุ่นใหม่ทำความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่ใช้กับไฟแฟลชได้ถึง 1/200 วินาที สาเหตุที่เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดไม่เกินค่าที่กำหนด เพราะต้องเป็นความเร็วชัตเตอร์ที่ช่วงขณะเวลาหนึ่ง ม่านชัตเตอร์เปิดเต็มที่ ซึ่ง ณ เวลานั้น กล้องจะส่งสัญญาณให้แฟลชทำงาน ซึ่งแฟลชจะใช้เวลาฉายแสงประมาณ 1/10000 วินาที แล้วดับไป จากนั้นม่านชัตเตอร์จึงปิด กล้องรุ่นเก่าจะใช้ม่านชัตเตอร์แบบผ้าและวิ่งในแนวนอน เพราะมีเนื้อที่ด้านซ้ายขวาในการเก็บม่านชัตเตอร์ที่ทำด้วยผ้า จึงทำให้มีระยะห่างมาก ทำให้ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดไม่เกิน 1/60 วินาที แต่กล้องรุ่นใหม่ใช้ม่านชัตเตอร์แบบกลีบโลหะหลายๆใบซ้อนกันและเปิดปิดในแนวตั้ง ทำให้ใช้ระยะทางสั้นกว่า จึงเลือกใช้ความเร็วได้สูงกว่า หากเราเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเกินกว่าที่กำหนด จะทำให้ภาพบางส่วนไม่ได้รับแสงจากแฟลช หากเป็นกล้องรุ่นใหม่ที่ม่านชัตเตอร์วิ่งในแนวตั้ง ภาพก็จะมืดบริเวณขอบบนหรือขอบล่างของภาพ แต่ถ้าเป็นกล้องรุ่นเก่าที่ม่านชัตเตอร์วิ่งในแนวนอน ภาพก็จะมืดบริเวณขอบซ้ายหรือขวาของภาพ ซึ่งบริเวณที่มืดก็จะขึ้นกับความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ หากใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากก็จะมีพื้นที่มืดมากกว่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะความเร็วชัตเตอร์สูงนั้น ม่านชัตเตอร์จะเปิดช่องเล็กๆ วิ่งผ่านฟิล์มไป หากเป็นความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เช่น 1/60 วินาทีหรือต่ำกว่า ม่านชัตเตอร์จะเปิดเต็มที่เป็นเวลานานจนครบเวลา ดังนั้นเราสามารถเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าที่กำหนดได้ โดยที่ภาพได้รับแสงจากแฟลชทั่วทั้งภาพ

ความสัมพันธ์ระหว่างม่านชัตเตอร์กับไฟแฟลช

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เราสามารถตั้งค่าให้กล้องสั่งงานให้แฟลชทำงานโดยสัมพันธ์กับการทำงานของม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 หรือชุดที่ 2 ก็ได้ เนื่องจากม่านชัตเตอร์จะมี 2 ชุด ปกติแล้วม่านชั่ตเตอร์ชุดที่ 1 จะปิดอยู่ตลอดเวลา และชุดที่ 2 จะซ่อนอยู่ เมื่อเรากดปุ่มปล่อยชัตเตอร์ ม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 จะเคลื่อนที่ในลักษณะเปิดให้แสงผ่านเข้ามากระทบฟิล์ม และม่านชัตเตอร์ชุดที่ 2 จะเคลื่อนตัวตามชุดที่ 1 โดยปล่อยให้มีช่องว่างจะแคบหรือกว้างขึ้นอยู่กับความเร็วชัตเตอร์ที่ตั้งตามหัวข้อก่อนหน้านี้ เมื่อครบเวลาก็จะปิดหมด เพื่อให้เข้าใจง่ายจะสมมุติว่าเราถ่ายภาพรถยนต์เปิดไฟหน้ากำลังวิ่งตอนกลางคืน (ไม่ต้องสนใจทิศทางการวิ่งของรถยนต์)โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/8 วินาที และใช้แฟลชด้วย หากเราเลือกให้แฟลชทำงานสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 เราจะได้ภาพรถยนต์ชัดเจนโดยที่มีแสงไฟหน้ารถยาวไปข้างหน้ารถ หากเราเลือกให้แฟลชทำงานสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดที่ 2 เราจะได้ภาพรถยนต์ชัดเจนโดยที่มีแสงไฟหน้ารถยาวไปข้างหลัง (ทับตัวรถ) การที่เราเลือกให้แฟลชสัมพันธ์กับม่านชุดที่ 1 หมายถึง เมื่อกล้องเริ่มทำงานจะเริ่มมีการเคลื่อนที่ของม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 จนเปิดกว้างสุด กล้องจะสั่งให้แฟลชฉายแสงวูปหนึ่ง แล้วกล้องจะรอจนครบเวลาชัตเตอร์ 1/8 วินาที ก็จะเลื่อนชัตเตอร์ชุดที่ 2 มาปิดไม่ให้แสงเข้า หากเรานึกภาพว่ารถวิ่งมาถึงเสาไฟฟ้าต้นที่ 1 แล้วเรากดปุ่มชัตเตอร์ แฟลชติดทันที ตัวรถจะชัดตรงเสาต้นที่ 1 แล้วรถวิ่งไปถึงเสาต้นที่ 3 ชัตเตอร์จึงจะปิด ซึ่งกล้องจะบันทึกภาพระหว่างรถเคลื่อนที่จากเสา 1 ถึง 3 โดยใช้แสงจากไฟหน้าของรถ โดยไม่มีแฟลชช่วย เพราะไฟแฟลชทำงานเพียง 1/10000 วินาที รถจึงชัดอยู่ที่เสาต้นที่ 1 เมื่อได้ภาพออกมาจึงเห็นว่า รถชัดอยู่ที่เสาต้นที่ 1 และมีแสงไฟหน้ารถยาวต่อมาจนถึงเสาต้นที่ 3 หากเป็นการตั้งให้แฟลชสัมพันธ์กับม่านชุดที่ 2 กล้องจะเริ่มบันทึกแสงไฟหน้ารถได้ตั้งแต่เสาต้นที่ 1 ยาวจนถึงเสาต้นที่ 3 ก่อนที่ม่านชัตเตอร์จะปิดลง ไฟแฟลชจะติด เราจึงเห็นภาพแสงไฟตั้งแต่เสา 1 ถึงเสา 3 และมีภาพรถชัดนิ่งอยู่ที่เสา 3 เราจึงสามารถใช้หลักการอันนี้นำไปสร้างสรรภาพได้มากมาย เช่น การถ่ายกระทงลอยน้ำ จะมีแสงเทียนเป็นทาง เป็นต้น

เทคนิคการใช้แสงแฟลชที่นุ่มนวล

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ไฟแฟลชบางรุ่นจะสามารถเงยหัวแฟลชได้ ทำให้เราสามารถลดความแข็งกระด้างของการใช้แฟลชติดหัวกล้องได้ เพราะไฟที่ส่องกระทบเพดานจะสะท้อนแสงลงมาอย่างนิ่มนวล และไม่เกิดเงาดำที่กำแพงด้านหลังนางแบบ สำหรับแฟลชที่ไม่สามารถเงยได้ อาจใช้กระดาษไข หรือถุงพลาสติกขุ่น กั้นไว้ที่หน้าแฟลช เพื่อกรองให้แสงแฟลชนุ่มลงก็ได้ผลดีพอสมควร แต่ก็ยังเป็นแสงตรง ทำให้หน้านางแบบจะดูแบนกว่าการสะท้อนเพดาน มีข้อระวังเรื่องสีของเพดานที่สะท้อนแสงแฟลชด้วยคือ เพดานควรจะเป็นสีขาว เพื่อป้องกันแสงสะท้อนออกมาเป็นสีตามสีเพดาน และเพดานที่ใช้วิธีนี้ได้ ควรเป็นเพดานเรียบจะดีที่สุด เพราะสะท้อนแสงได้ดีที่สุด ส่วนเพดานแบบหลังคาจั่ว จะสะท้อนแสงลงมาได้น้อยกว่า เราอาจประยุกต์เล่นสีสรรต่างๆได้โดยการใช้กระดาษแก้วสีที่ต้องการหุ้มไว้หน้าแฟลช เพื่อให้เป็นสีแบบแปลกๆก็ได้

เทคนิคการให้แสงแบบไฟเปิด (Open Flash)

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ใช้ไฟแฟลชลบเงา มักใช้ในการถ่ายภาพตอนกลางวัน ในลักษณะย้อนแสง หรือมีเงาบนหน้านางแบบ เราสามารถใช้แฟลชช่วยลบเงาได้ แต่ตัวแบบจะต้องไม่อยู่ห่างกล้องเกินระยะทำงานของแฟลช เพราะการถ่ายภาพกลางแจ้งมักจะต้องใช้รูรับแสงค่อนข้างเล็ก ทำให้ระยะแฟลชลดลงไปตามส่วน อย่าลืมเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่เกินค่าสูงสุดที่สัมพันธ์กับแฟลชด้วย ส่วนการวัดแสงก็วัดแสงตามปกติ เพื่อให้ภาพได้แสงพอดี เราเพียงแต่ใช้แฟลชช่วยลบเงาเท่านั้น

การใช้แฟลชพร้อมกันหลายดวง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การถ่ายภาพแบบมืออาชีพ มักจะต้องใช้แหล่งแสงมากกว่า 1 แหล่งเสมอ เพื่อไม่ให้ภาพแบน และเปิดรายละเอียดภาพให้ดูมีมิติ แต่จะหลีกเลี่ยงการใช้แสงตรง โดยทั่วไปจะเป็นแสงข้าง โดยมีแหล่งแสงที่แรงที่สุดเป็นหลัก อาจเป็นแสงอาทิตย์หรือเป็นแฟลชที่วางอยู่ใกล้นางแบบที่สุดก็ได้ และมีไฟเสริมวางห่างออกมา เพื่อให้ช่วยลบเงาที่เกิดจากไฟหลัก แต่ก็สว่างน้อยกว่าไฟหลัก เพื่อให้เกิดมิติบนใบหน้า และอาจใช้ไฟเสริมเพิ่มเติมอีกตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ไฟส่องผม ให้เห็นรายละเอียดของผม หรืออาจใช้แผ่นสะท้อนแสงเป็นแสงเสริมในการลบเงาจากไฟหลักก็ได้ กรณีที่มีแฟลชหลายดวงจะต้องมีอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้แฟลชทำงานได้พร้อมกันทุกตัวเรียกว่า Trigger ในระบบ wireless หรือ infrared ก็ได้ อุปกรณ์ไฟในห้องถ่ายภาพจะมีไฟนำ เพื่อส่องให้เห็นทิศทางแสงที่ตกกระทบบนตัวแบบ จะทำให้การจัดแสงทำได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่มีไฟนำ เราอาจใช้หลอดไฟผูกติดกับแฟลชก็ได้ แต่ค่อนข้างยุ่งยาก

การใช้แฟลชถ่ายภาพภายนอก

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การถ่ายภาพตอนกลางวันกล่าวถึงไปแล้วในหัวข้อการให้แสงแบบเปิด ส่วนหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการถ่ายภาพตอนกลางคืนโดยใช้แสงแฟลช จะคล้ายกับการประยุกต์เรื่องการให้แสงแบบเปิด คือ ใช้แฟลชลบเงา กับแนวคิดแบบใช้ไฟพร้อมกันหลายดวง แต่ในหัวข้อนี้เราจะใช้แฟลชธรรมดาดวงเดียว ขอให้นึกภาพว่าเรากำลังจะถ่ายภาพบ้านหลังหนึ่ง โดยวางกล้องบนขาตั้งกล้อง โดยเราต้องการให้แสงกับบ้านทุกด้าน เพื่อให้เห็นมิติของบ้าน ทำได้โดยตั้งเวลาแบบเปิดตลอด (B) แล้วถือแฟลชไปยิงแสงแบบกดยิงแสงโดยตรงที่ตัวแฟลชในขณะที่กล้องกำลังเปิดรับแสงอยู่ไปรอบๆบ้าน ตามจุดที่เราคิดว่าจะให้แสงจนพอใจแล้วจึงเดินกลับมาปิดชัตเตอร์ ภาพที่ได้จะเห็นว่า ภาพบ้านจะได้รับแสงทั้งด้านหน้าและด้านข้างตามที่เรากดแฟลช ทำให้ดูเหมือนใช้ไฟหลายดวง แต่ที่จริงมีดวงเดียว เทคนิคนี้ สามารถประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพภายในถ้ำได้ด้วย โดยการใช้เลนส์มุมกว้าง แล้วเรากดแฟลชไปตามจุดที่น่าสนใจต่างๆ ควรระวังไม่ให้เกิดเงาเนื่องจากตัวเรายืนขวางระหว่างกำแพงถ้ำกับกล้อง จะทำให้เห็นเงาของตัวเรายืนอยู่หน้ากำแพงถ้ำ อาจจะประยุกต์ใช้กระดาษแก้ว สีต่างๆผูกไว้ที่หน้าแฟลช เพื่อให้เกิดสีต่างบนผนังถ้ำ ก็จะได้ภาพที่ดูสวยงามน่าสนใจไปอีกแบบ แต่ระวังอย่าใช้สีเลอะเกินไป