ข้ามไปเนื้อหา

ประกันภัย

จาก วิกิตำรา
(เปลี่ยนทางจาก การประกันวินาศภัย)




มนุษย์ทราบดีว่า ชีวิตมีความไม่แน่นอน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดความวิบัติขึ้นในชีวิตของตน แต่มนุษย์ก็เล็งเห็นว่า ถ้าช่วยกันแบกรับความวิบัติเหล่านั้นไว้หลาย ๆ คนคนละนิดละหน่อย ก็จะเผชิญความเสียหายในระดับที่ต่ำลง และการแบ่งกันป้องกันความวิบัติจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการที่บุคคลหนึ่งคนจัดการป้องกันด้วยตนเอง ประกอบกับในกรณีที่ผู้เคราะห์ร้ายเป็นบุคลากรในวงการค้า ย่อมเป็นที่มั่นใจได้ว่า วงการจะไม่ถูกกระทบกระเทือนโดยง่าย แนวคิดเรื่องการเฉลี่ยความเสี่ยงภัยนี้เองที่นำมาสู่การประกันภัย[1]

การประกันภัยนั้นเป็นการค้ารูปแบบหนึ่ง แม้ในกฎหมายไม่ได้ระบุไว้แจ้งชัดว่าเป็นการค้า แต่โดยสภาพแล้วผู้ประกอบกิจการประกันภัยย่อมมุ่งแสวงหาประโยชน์เชิงพาณิชย์[2] และเนื่องจากการประกันภัยเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน กฎหมายจึงเข้ามาควบคุม กฎหมายหลักของไทยที่ทำหน้าที่นี้ คือ ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 20 ประกันภัย นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่น ๆ กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยอีก เช่น

  กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย (ฉบับปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535)

  กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (ฉบับปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535)

  กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535) และ

  กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (ฉบับปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550)

กฎหมายเหล่านี้อาจเรียกรวมกันว่า กฎหมายลักษณะประกันภัย (insurance law) และบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายลักษณะหนี้ และกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา ก็ต้องนำมาใช้แก่การประกันภัยด้วย เท่าที่กฎหมายลักษณะประกันภัยมิได้ว่าไว้เป็นอื่น แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ใช่บังคับแก่การประกันภัยระหว่างประเทศ คือ ประกันภัยทางทะเล (marine insurance) และ ป.พ.พ. ม. 868 บัญญัติให้การประกันภัยทางทะเลอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า "กฎหมายทะเล" (admiralty law) แทน[3]

เพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายลักษณะประกันภัย ตำรานี้จึงแบ่งส่วนดังนี้

  บทที่ 1   ภาพรวมว่าด้วยลักษณะ องค์ประกอบ ความสัมพันธ์ของคู่สัญญา และผลของสัญญาประกันภัย

  บทที่ 2   ประกันวินาศภัย

  บทที่ 3   ประกันชีวิต

อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ตำรานี้ได้แทรกศัพท์กฎหมายที่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นไว้ด้วย ศัพท์เหล่านี้อ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแม่แบบ ป.พ.พ. เป็นหลัก

ตำรานี้ยังแทรก ฎ. บางฉบับไว้ด้วย แต่พึงทราบว่า ในระบบซีวิลลอว์ (civil law) ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยนั้น คำพิพากษาไม่เป็นกฎหมาย เป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายเป็นรายกรณีไปเท่านั้น

  1. จิตติ ติงศภัทิย์, 2552: 3-4.
  2. จิตติ ติงศภัทิย์, 2552: 2.
  3. จิตติ ติงศภัทิย์, 2552: 3.

รายการอ้างอิง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
กฎหมาย
คำพิพากษา
หนังสือ
  • จิตติ ติงศภัทิย์. (2552). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย. (พิมพ์ครั้งที่ 13). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9789749900970.
  • ธานี วรภัทร์. (2553, มิถุนายน). กฎหมายว่าด้วยประภันภัย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: วิญญูชน. ISBN 9789742888633.
  • บุญเสริม วีสกุล. (2548). ความน่าจะเป็น. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
  • ประเสริฐ ประภาสะโนบล. (2539). หลักการประกันภัย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
  • สุธรรม พงศ์สำราญ, วิรัช ณ สงขลา และพึงใจ พึ่งพานิช. (2527). หลักการประกันวินาศภัย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
อื่น ๆ

ภาษาต่างประเทศ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
กฎหมาย
หนังสือ
  • Emmett J. Vaughan, Curtis M. Elliot. (1982.04.07). Fundamentals of Risk and Insurance. (3rd edition). USA: John Wiley & Sons Inc. ISBN 978-0471099512.

ขึ้น