ข้ามไปเนื้อหา

นายหน้า

จาก วิกิตำรา



นายหน้า (brokerage) เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "นายหน้า" (broker) เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอีกฝ่าย[1] สัญญานายหน้าอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 16 นายหน้า ซึ่งตำราบางเล่มเรียก "กฎหมายลักษณะนายหน้า"

เมื่อนายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องนำกฎหมายลักษณะสัญญามาใช้ด้วย เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายลักษณะนายหน้า

เรื่องนายหน้านี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะประกอบด้วย (1) สัญญานายหน้า และ (2) สัญญาที่นายหน้าชี้ช่องให้เกิดขึ้น ถ้าไม่อ่านให้ดีอาจฉงนสนเท่ห์ได้

เหตุผลที่เกิดนายหน้า

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การที่บุคคลหนึ่งอาศัยอีกบุคคลหนึ่งช่วยเปิดทางไปสานสัมพันธ์ทางกฎหมายกับบุคคลที่สาม แทนที่จะเข้าหาบุคคลที่สามโดยตรงเลยนั้น อาจเป็นเพราะไม่รู้จักมักคุ้นด้วยกัน หรือไม่รู้จะติดต่อพบปะกันได้อย่างไร เป็นต้น บุคคลที่ช่วยเปิดทางนั้นจึงเป็นเสมือนสื่อกลางให้ผู้อื่นเกิดมาสร้างความสัมพันธ์กันในหลาย ๆ รูปแบบ โดยเฉพาะนิติสัมพันธ์ และบุคคลนี้เรียกว่า "นายหน้า"[2]

สำหรับนายหน้าเอง อาจช่วยเหลือเช่นนั้นเพราะหวังเงินตอบแทน หรือเพราะเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายหน้ามักทำหน้าที่ด้วยประสงค์ต่อค่าบำเหน็จ โดยเฉพาะนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, นายหน้าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และนายหน้าจัดหางาน เป็นต้น[2]

องค์ประกอบแห่งสัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ
ป.พ.พ. ม. 153
  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จ แล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้นความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ
ป.พ.พ. ม. 845

ป.พ.พ. ม. 845 บ่งบอกว่า คู่สัญญานายหน้ามีสองฝ่าย ฝ่ายแรก คือ ผู้ตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคลอื่น ซึ่งอาจเรียกว่า "ผู้วานนายหน้า" ก็ได้ และฝ่ายที่สอง คือ นายหน้าเอง ซึ่งทำหน้าที่ประหนึ่งคนกลางระหว่างสัญญาอีกฉบับหนึ่ง[3] ปรกติแล้ว นายหน้ามักเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากนิติบุคคลจะเป็นนายหน้าบ้าง ก็ทำได้โดยผ่านผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ๆ ตามหลักทั่วไป[4]

กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดว่า ผู้เป็นนายหน้าได้ต้องมีความสามารถทำนิติกรรม นักกฎหมายไทยจึงเห็นต่างกันเป็นสองกลุ่ม

1.   กลุ่มแรกว่า นายหน้าจะมีความสามารถทำนิติกรรม หรือไม่มี หรือมีแต่บกพร่อง เช่น เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือคนล้มละลาย ก็ได้ทั้งนั้น เพราะปรกติแล้ว นายหน้าไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น[5][6][7][8]

2.   กลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย ว่า นายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องบังคับตามหลักทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาด้วย ดังนั้น ในเมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นเป็นพิเศษ จึงต้องนำหลักทั่วไปเรื่องความสามารถทำนิติกรรมมาใช้บังคับด้วย กลุ่มนี้เห็นว่า ถ้านายหน้ามีความสามารถดังกล่าวบกพร่อง สัญญานายหน้าจะเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. ม. 153[9][10]

วัตถุประสงค์แห่งสัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ป.พ.พ. ม. 845 แสดงว่า สัญญานายหน้ามีวัตถุประสงค์เป็นการที่นายหน้าชี้ช่องให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นจุดต่างกับสัญญาตัวแทน ที่ตัวแทนจะเข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นโดยตรงแทนตัวการเลย[11] นอกจากนี้ บุคคลจะเป็นนายหน้าให้ตนเองมิได้ ต้องเป็นให้ผู้อื่นเท่านั้น[12] และสัญญาที่จะชี้ช่องนั้น อะไรก็ได้ ไม่มีจำกัดไว้[13] โดยอาจเป็นสัญญาว่าจะทำสัญญากันในอนาคต เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย ก็ได้[14]

วัตถุแห่งสัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่า ได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

  ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่า ได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

ป.พ.พ. ม. 846

วัตถุแห่งสัญญานายหน้า คือ ค่าบำเหน็จ (commission) ที่ผู้วานนายหน้าตกลงจะให้แก่นายหน้า[12] เฉพาะคำว่า "บำเหน็จ" นั้น หมายความว่า รางวัล หรือค่าเหนื่อย[1] ส่วนในภาษาอังกฤษ "commission" หมายถึง "เงินรวมหรืออัตราส่วนที่ให้แก่ตัวแทน, ผู้แทนซื้อขาย ฯลฯ เพื่อตอบแทนการบริการของเขา"[15]

ถ้ามิได้ตกลงค่าบำเหน็จกันไว้ จะเรียกค่าบำเหน็จกันมิได้เลย[12] และนักกฎหมายบางคนเห็นว่า สัญญานายหน้าต้องมีค่าบำเหน็จเสมอไป หากตกลงกันว่า ไม่มีค่าบำเหน็จ สัญญาที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่สัญญานายหน้า แต่อาจเป็นสัญญาอื่น หรือไม่เป็นสัญญาเลยก็ได้[16]

ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันว่ามีค่าบำเหน็จ ถ้าเป็นที่รับรู้ได้อยู่แล้วว่า นายหน้ารับทำหน้าที่อย่างนั้น ๆ ก็ย่อมประสงค์ต่อค่าบำเหน็จ ป.พ.พ. ม. 846 ว. 1 ให้ถือว่า ได้ตกลงกันแล้วว่ามีค่าบำเหน็จ[12]

ค่าบำเหน็จนี้ จะกำหนดเป็นจำนวนตายตัว เช่น หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท หรือกำหนดเป็นร้อยละ เช่น ให้ได้รับค่าบำเหน็จร้อยละสามสิบจากเงินที่ผู้วานนายหน้าได้รับในการทำสัญญากับบุคคลอื่น ก็ได้ ถ้าไม่ได้ตกลงกำหนดจำนวนกันไว้ ป.พ.พ. ม. 846 ว. 2 ก็ให้ถือเอา "จำนวนตามธรรมเนียม" (usual remuneration) อันหมายความว่า จำนวนตามที่คู่สัญญาเคยให้กัน หรือจำนวนที่ผู้คนทั่วไปให้กันเป็นปรกติ[17][18]

กฎหมายไทยมิได้กำหนดแบบ (form) สำหรับสัญญานายหน้าเอาไว้ ดังนั้น สัญญานายหน้าเมื่อตกลงกันได้ ก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีตามข้อตกลงนั้น แม้เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม[11]

  ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง
ป.พ.พ. ม. 848

ความรับผิดของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนชี้ช่อง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ตาม ป.พ.พ. ม. 848 นายหน้าไม่ต้องรับผิดในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น เพราะนายหน้ามิได้เกี่ยวข้องกับสัญญานั้นโดยตรง เว้นแต่คู่สัญญาดังกล่าวไม่ทราบนามของคู่สัญญาอีกฝ่าย เพราะนายหน้าไม่ยอมบอก อันทำให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นไม่ทราบจะไปบังคับชำระหนี้กับใคร และเพื่อป้องกันนายหน้าทุจริตคิดไม่ซื่อด้วย[19] ในกรณีเช่นนั้น นายหน้าต้องรับผิดตามสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้นนั้นแทน (มิใช่รับผิดตามสัญญานายหน้า)[20]

"ชื่อ" ในถ้อยคำ "...มิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง" ("...has not communicated the name of a party to the other party.") หมายถึง ชื่อตัวและชื่อสกุลของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ตามที่ปรากฏในทะเบียนของทางราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน, ทะเบียนสำมะโนครัว หรือ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น[20] เพราะการฟ้องร้องบังคับคดีกันต้องใช้ชื่อตามทะเบียนเช่นนี้[21]

สิทธิของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนชี้ช่อง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ในสัญญาที่นายหน้าเป็นสื่อให้เกิดขึ้นระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่น หากต้องมีการรับเงินหรือชำระหนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นแทนผู้วานนายหน้า ดังที่ ป.พ.พ. ม. 849 ว่า "การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา" ทั้งนี้ เนื่องจากนายหน้ามีหน้าที่เพียงเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้ทำสัญญากับบุคคลอื่น และนายหน้าที่ก็มิใช่ตัวแทนของผู้วานนายหน้าด้วย นายหน้าจึงไม่ควรสอดเรื่องอันมิใช่ธุระตน[22]

คำว่า "สันนิษฐานไว้ก่อน" หมายความว่า สามารถพิสูจน์หักล้างได้ในภายหลัง เช่น นายหน้าอาจนำสืบว่า ที่จริงแล้ว ผู้วานนายหน้ามอบหมายให้ตนทำหน้าที่รับชำระหนี้แทนได้[22][23]

  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่า บุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จ ก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่า จะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

  นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

ป.พ.พ. ม. 845
  ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่า จะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่า นายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่
ป.พ.พ. ม. 847

สิทธิของนายหน้าตามสัญญานายหน้า

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สิทธิได้รับค่าบำเหน็จ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ตาม ป.พ.พ. ม. 845 ว. 1 ผู้วานนายหน้าต้องจ่ายค่าบำเหน็จตามจำนวนที่ตกลงไว้ให้แก่นายหน้า เมื่อนายหน้าปฏิบัติตามสัญญานายหน้าจนสำเร็จ กล่าวคือ เมื่อนายหน้าเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นจนสำเร็จแล้ว[22]

ที่ว่า "จนสำเร็จ" มิได้หมายความถึงขนาดที่สัญญาระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นจะเรียบร้อยบริบูรณ์เต็มขั้น เพียงทั้งสองตกลงผูกมัดกันว่าจะทำสัญญา แม้รายละเอียดปลีกย่อยบางเรื่องยังมิได้ตกลงกัน ก็นับได้ว่า นายหน้าบรรลุหน้าที่ของตนแล้ว เรียกค่าบำเหน็จได้ แม้ต่อมาคนทั้งสองนั้นจะไม่มาทำสัญญากันหรือผิดสัญญากันก็ตาม[24][25][26]

เมื่อสัญญาที่นายหน้าชี้ช่องให้เกิดนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน นายหน้ายังเรียกเอาค่าบำเหน็จไม่ได้ จนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสำเร็จแล้ว[27] เช่น ก รับเป็นนายหน้าที่ ข กับ ค ซื้อขายกระบือกันตัวหนึ่ง สัญญาซื้อขายระหว่าง ข กับ ค มีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในกระบือนั้นจะยังไม่โอนกันจนกว่าบุตรของ ค จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้ ดังนี้ ก ยังเรียกค่าบำเหน็จนายหน้ามิได้ ตราบที่บุตรของ ข ยังสอบเข้าไม่ได้

หากในการเป็นสื่อกลางของนายหน้า (1) ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นตกลงกันไม่ได้ หรือเปลี่ยนใจไม่ผูกนิติสัมพันธ์กันก็ดี, หรือ (2) เมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไปด้วยดีแล้ว แต่สุดท้าย ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นไม่ทำสัญญากันก็ดี, หรือ (3) นายหน้าทำหน้าที่ไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญานายหน้า ถ้าจะได้ตกลงกันไว้ก็ดี ทั้งสามกรณีนี้ นายหน้าไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จเลย[28][29] เว้นแต่ผู้วานนายหน้าตกลงกับนายหน้าว่า แม้งานไม่สำเร็จ ก็จะจ่ายค่าบำเหน็จให้เต็มจำนวนหรือเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้[17]

ในบางกรณี มีสัญญาเกิดขึ้นโดยอ้อมจากการชี้ช่องของนายหน้า เช่น ฮ เป็นนายหน้าให้ อ เช่านาผืนหนึ่งกับ ฬ เมื่อ อ กับ ฬ เจรจากันเสร็จแล้ว อ ไม่เห็นด้วยกับราคาที่ ฬ ตั้ง จึงไม่ทำสัญญาเช่าด้วย เผอิญว่า ห มาได้ยินเข้าจึงเข้าเช่านากับ ฬ แทน เช่นนี้แล้ว เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย ศาลมักพิพากษาให้ ห ต้องจ่ายค่าบำหน็จให้แก่ ฮ เพราะถือได้ว่า ห ได้ช่องทำสัญญามาจาก ฮ[30]

สิทธิได้รับคืนซึ่งค่าใช้จ่าย

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ค่าใช้จ่ายที่นายหน้าเสียไปในการทำหน้าที่ จะเรียกจากผู้วานนายหน้าได้ ก็ต่อเมื่อตกลงกันไว้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. ม. 845 ว. 2 [31] ซึ่งหากตกลงกันไว้ และนายหน้าทำหน้าทสำเร็จแล้ว แม้สัญญาที่ตนรับชี้ช่องให้นั้นยังไม่ได้ทำกันขึ้น นายหน้าก็เรียกค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้านายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จ เขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง[32]

การหมดสิทธิได้รับค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่าย

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อบุคคลหนึ่งชี้ช่องให้อีกบุคคลหนึ่งได้เข้าทำสัญญาฉบับหนึ่งกับบุคคลที่สาม และยังชี้ช่องให้บุคคลที่สามทำสัญญาอย่างเดียวกันกับบุคคลที่สองนั้นด้วย กล่าวคือ เป็นนายหน้าให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเหมือนกัน โดยหวังเอาค่าบำเหน็จจากทั้งคู่ ดังนี้ กฎหมายก็อนุญาตให้นายหน้าทำได้ ถ้าไม่เป็นที่ขัดขวางต่อประโยชน์ของคู่สัญญาเหล่านั้น[33][34]

แต่หากการที่นายหน้ารับงานซ้อนเช่นนี้ ส่งผลให้คู่สัญญาต้องเสียหายทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่ง ป.พ.พ. ม. 847 ระบุว่า เป็นการที่นายหน้ารับค่าบำเหน็จที่ปรกติแล้วนายหน้าผู้สุจริตไม่รับกัน เช่นนี้ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่นายหน้าที่ดี และเป็นเหตุให้นายหน้าผู้นั้นหมดสิทธิได้รับทั้งค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายจากคู่สัญญาฝ่ายที่เสียหายนั้นโดยสิ้นเชิง[35]

เช่น ก ต้องการขายพระเครื่อง จึงติดต่อ ข ให้ช่วยหาคนมาซื้อพระเครื่องตนสักหน่อย, จังหวะเดียวกัน ข ทราบว่า ค กำลังอยากได้พระเครื่องอยู่พอดี จึงเสนอกับ ค ว่า ตนจะหาคนมาขายพระเครื่องให้, และ ข ก็ชี้ช่องให้ ก กับ ค มาทำสัญญาซื้อขายกัน โดยตกลงกันว่า ก จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข หนึ่งแสนบาท และ ค จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข เก้าหมื่นบาท, เช่นนี้แล้ว เห็นได้ว่า การที่ ข เป็นนายหน้าควบระหว่าง ก กับ ค ไม่ทำให้ประโยชน์ของ ก และ ค เสียแต่ประการใด กับทั้งไม่ฝ่าฝืนหน้าที่ของนายหน้าที่ดีด้วย, ข จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากทั้ง ก และ ค ตามที่ตกลงกันนั้น, ก หรือ ค จะปฏิเสธว่า ข เป็นนายหน้าควบ ไม่จ่ายค่าบำเหน็จให้ มิได้

ความระงับสิ้นลงแห่งสัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กฎหมายไทยมิได้กำหนดอาการที่สัญญานายหน้าจะระงับสิ้นลงไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยความระงับแห่งสัญญา ดังนั้น สัญญานายหน้าย่อมสิ้นสุดลงเมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้บรรลุแล้ว กล่าวคือ เมื่อนายหน้าได้ทำหน้าที่ของตนจนลุล่วงเรียบร้อยแล้ว[36]

นอกจากนี้ สัญญานายหน้าอาจระงับลง เพราะในสัญญากำหนดไว้ เช่น ให้สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา หรือให้สิ้นลงเมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จภายในกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา เป็นต้น หรือเพราะถูกบอกเลิกโดยคู่สัญญาที่มีสิทธิ หรือเพราะนายหน้าและผู้วานนายหน้าตกลงเลิกสัญญากันก็ได้[37]

  อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
ป.พ.พ. ม. 193/30

เมื่อนายหน้าทำหน้าที่จนลุล่วงแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ตนเสียไปตามที่ตกลงกับผู้วานนายหน้าไว้ หากผู้วานนายหน้าบิดพลิ้วไม่จ่ายให้ นายหน้ามีทางแก้ไขทางเดียว คือ ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้ผู้วานนายหน้าชำระค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายบรรดามี[38]

คดีนายหน้าฟ้องเอาค่าบำเหน็จนี้ กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ สิบปี ตาม ป.พ.พ. ม. 193/30[38]

ในประเทศไทยมีปัญหาฟ้องร้องเรื่องนายหน้าบ่อยครั้ง ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า[24]

"เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติกันเสมอจนมีการฟ้องร้องกันอยู่เนือง ๆ ก็คือ เมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องให้คู่สัญญาได้พบได้ทำสัญญากัน นายหน้ามักจะถูกคู่สัญญาบิดพลิ้วไม่ยอมชำระบำเหน็จนายหน้า โดยไปแบทำสัญญากันลับ ๆ ไม่ให้นายหน้าทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่านายหน้า และจะได้เอาเงินส่วนที่เป็นบำเหน็จนายหน้าไปเป็นส่วนลดของราคาซื้อขายเพื่อเป็นการประหยัด เพราะเห็นว่านายหน้าไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงชี้ช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยลืมไปว่าถ้าไม่มีนายหน้าแล้ว สัญญานั้น ๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น..."

ฎ. บางฉบับเกี่ยวกับนายหน้า

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
# เลขที่ ใจความ หมายเหตุ
คู่สัญญา
1 337/2478 ตั้งใจเป็นผู้ซื้อ แต่เอาเงินของผู้อื่นมาซื้อ แล้วให้เจ้าของเงินลงชื่อเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขาย แม้มีสัญญาเป็นหนังสือ และตกลงกันว่าให้เจ้าของเงินโอนข้าวของให้แก่ตนภายหลัง ก็ไม่นับว่าตนเป็นผู้ซื้อ บุคคลจะเป็นนายหน้าให้แก่ตัวเองไม่ได้
การตกลงเรื่องค่านายหน้า
1 705/2505 บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใด ก็ต่อเมื่อได้ตกลงไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้ง ก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทำให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กันดุจกล่าวมาแล้ว ก็ไม่จำต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้า
2 3611/2524 สัญญานายหน้าทำขึ้นสองฉบับ ฉบับที่โจทก์อ้างว่าตนยึดถือไว้มีการเพิ่มเติมและขีดฆ่าชื่อนายหน้าเป็นพิรุธ ส่วนฉบับที่อยู่กับจำเลยไม่มีรอยขีดฆ่าตกเติมแต่อย่างใด ทั้งไม่มีชื่อโจทก์เป็นคู่สัญญา จึงฟังว่า จำเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดิน แม้จะได้ความตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องจนได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน แต่เมื่อจำเลยมิได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้า โจทก์ก็ฟ้องจำเลยให้จ่ายค่านายหน้าหาได้ไม่
การกำหนดจำนวนค่านายหน้า
1 186/2510 โจทก์ให้จำเลยจัดการขายที่ดิน จำเลยจัดการขายที่ดินของโจทก์ได้สำเร็จ ย่อมเป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่า ย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาบำเหน็จ จึงถือได้ว่า ได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตาม ป.พ.พ. ม. 846 แม้จะฟังไม่ได้ว่า มีการตกลงกันว่าจะให้ค่านายหน้ามากกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาทดังที่จำเลยนำสืบ ก็มิได้หมายความว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้ค่าบำเหน็จ ดังนั้น เมื่อไม่ได้ความว่า ค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ปรากฏธรรมเนียมในการนี้ ศาลย่อมกำหนดให้เท่าที่กำหนดได้ตามสมควร วินิจฉัยโดย ทฎ. 6/2510
2 3581/2526 ค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษ จะต้องกำหนดกันไว้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้น จะต้องถือว่า ตกลงกันเป็น "จำนวนตามธรรมเนียม" ตาม ป.พ.พ. ม. 846 ว. 2 เมื่อทางพิจารณาไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่า มีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียม ซึ่งได้ความว่า จำนวนร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง
3 2512/2530 ค่านายหน้าต้องเป็นไปตามที่คู่สัญญาตกลงกัน เมื่อไม่ได้ตกลงกันว่า จะคิดจากราคาที่เสนอขายหรือราคาซื้อขายที่ตกลงกัน ดังนี้ โดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ และกิจการที่โจทก์ทำไปทำให้ขายที่พิพาทให้จำเลยได้ โจทก์จึงเรียกค่านายหน้าจากจำเลยตามราคาที่ขายได้ ไม่ใช่ราคาเสนอขาย
วัตถุประสงค์ของสัญญา
1 331/2497 รับเป็นนายหน้าจัดให้เขาได้เช่าที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยวิ่งเต้นให้เจ้าหน้าที่ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใช้ตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือผู้ขอเช่าดังนี้ ย่อมเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น ความตกลงทั้งหลายในกรณีเช่นนี้จึงเป็นโมฆกรรม ใช้บังคับไม่ได้ จึงฟ้องเรียกค่านายหน้าจากผู้เช่าไม่ได้ด้วย
2 1249/2506 การที่จำเลยมิใช่เพียงเป็นสื่อกลางให้เขาทำสัญญากัน หากแต่จำเลยยังรับสินค้าเขาไปจำหน่าย และชำระเงินค่าสินค้าคืนให้เขา โดยจำเลยได้รับบำเหน็จเป็นผลประโยชน์, และจำเลยยังมีอำนาจครอบครองสินค้า, ส่งมอบแก่ผู้ซื้อ ตลอดจนเรียกและรับเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อ ทั้งหนังสือสัญญาก็ยังระบุว่า เป็นหนังสือสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอีก ย่อมบ่งบอกว่า จำเลยปฏิบัติการในฐานะเป็นตัวแทน มิใช่เป็นนายหน้า
3 920/2523 เอกสารมีใจความสำคัญว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกัน ขอมอบที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 ไปขายในวงเงินสี่แสนบาท แต่ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง โดยหากขายได้เงินมากกว่านั้น ให้ส่วนที่เกินได้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยทั้งสองขอมอบสิทธิในการขายให้จำเลยที่ 3 มีอายุสามเดือน พ้นนี้แล้วหมดสิทธิ ศาลไต่สวนแล้วได้ความว่า ก่อนจำเลยที่ 3 จะขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำเอกสารนี้ดังกล่าวให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยติดต่อกับจำเลยที่ 3 ให้ช่วยขายที่พิพาทมาก่อนแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ขายที่พิพาทได้อย่างเต็มที่ ไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารดังกล่าวที่ส่อแสดงว่า จำเลยทั้งสองเพียงตกลงให้จำเลยที่ 3 เป็นนายหน้า แล้วจะให้ค่าบำเหน็จเพื่อการที่ชี้ช่องให้จำเลยทั้งสองได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทกับบุคคลอื่น จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หาใช่นายหาไม่
4 1142/2534 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้พาจำเลยที่ 1 มาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์จำนวนหนึ่ง และก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ 2 ก็เป็นเช่นนี้ตลอดมา จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงนายหน้าเท่านั้น หาใช่เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ไม่ การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 จะขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องแย้งไม่ได้
สิทธิรับค่าบำเหน็จนายหน้า
1 446/2473 นายหน้ายื่นคำเสนอของผู้ขายให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อถือเอาประโยชน์จากการนี้ โดยติดต่อประสานกับผู้ขาย จึงนับว่า นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำสัญญากันแล้ว ถึงแม้ผู้ขายขายทรัพย์สินได้ต่ำกว่าราคาที่เสนอไว้ แต่นายหน้าก็ยังได้ชื่อว่า มีส่วนให้การซื้อขายเป็นผลสำเร็จ และย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ เทียบ ฎ. 306/2465, 443/2461 และ 144/2467
2 704/2482 เมื่อกิจการสำเร็จเพราะนายหน้าแล้ว คู่สัญญาต้องจ่ายค่านายหน้าตามสัญญา จะยกเอาข้อที่ตัวไปตกลงให้ค่านายหน้าแก่ผู้อื่นอีกมาแก้ตัวให้พ้นความรับผิดไม่ได้
3 1430/2496 การซื้อขายที่ดินทำสำเร็จเพราะนายหน้าชี้ช่องชักนำผู้ซื้อมาพบปะเจรจากับผู้ขาย แม้จะมีผู้อื่นมาเจรจาให้ตกลงราคาโดยตัดค่านายหน้าออก ผู้ขายก็ต้องรับผิดให้ค่านายหน้า
4 1975/2500 พฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์ชี้ช่องให้จำเลยได้เข้าทำสัญญาปลูกสร้างตึกแถวเป็นผลสำเร็จโดยที่โจทก์หวังค่านายหน้านั้น แสดงว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในเรื่องนายหน้ายังมีอยู่ และเมื่อกิจการสำเร็จเพราะโจทก์เป็นนายหน้าให้แล้ว จำเลยก็ต้องจ่ายค่านายหน้าตามตกลง การที่จำเลยต้องเสียค่านายหน้าแก่ผู้อื่นอีกนั้นไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาค่านายหน้าจากจำเลยแต่ประการใด
5 575/2509 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมจะต้องรับผิดในกิจการที่ได้กระทำร่วมกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ไปติดต่อขอให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็น ยินยอม และยังยอมรับเอาผลประโยชน์เนื่องในการนั้นด้วย จนที่สุดที่ดินนั้นก็เป็นขายให้บุคคลอื่นได้ การทั้งหมดนี้ย่อมเป็นผลจากการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
6 1515/2512 จำเลยทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าไปจัดการให้จำเลยได้จำนองที่ดิน โจทก์จึงติดต่อกับธนาคาร จนธนาคารตกลงรับจำนองในราคาสองล้านหนึ่งแสนบาทแล้ว แต่จำเลยเปลี่ยนใจ เพราะต้องการจำนองให้ได้ราคาสามล้านบาท จึงให้ผู้อื่นไปติดต่อกับธนาคารแห่งนั้นอีก จนธนาคารยอมรับจำนองในราคาสามล้านบาท กระนั้นก็ดี ถือได้ว่า สัญญาจำนองสามล้านบาทที่จำเลยทำกับธนาคารนั้น เป็นผลสำเร็จสืบเนื่อมาจากการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้อยู่ดี จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
7 2610/2521 จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดิน ค่านายหน้าร้อยละห้าของราคาที่ขายได้ โจทก์เสนอขายให้ ส. ด้วยราคาตามที่จำเลยกำหนด แต่จำเลยกลับเปลี่ยนใจไม่ขาย บุตรของจำเลยจึงติดต่อกับ ส. ให้ และคราวนี้จำเลยตกลงขายในราคานั้น ดังนี้ นับได้ว่า บุตรจำเลยกับจำเลยร่วมกันถือเอาประโยชน์จากการที่โจทก์ได้ติดต่อกับ ส. ไว้ เป็นเหตุให้ขายที่ได้ดินสำเร็จ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่านายหน้าจากจำเลย
8 256/2522 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อขายรถยนต์ดัมป์ทรัก (dump truck) จำนวนสามคัน เมื่อขายได้แล้ว จะให้ค่านายหน้าร้อยละห้าของราคาที่ขายได้ โจทก์จึงติดต่อกับผู้ซื้อซึ่งเป็นหน่วยราชการให้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวด้วยวิธีประกวดราคา ในการประกวดราคา โจทก์ก็ได้ช่วยเหลือจำเลย จนในที่สุด จำเลยประมูลขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อเป็นผลสำเร็จ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้จำเลยได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้จำเลยได้ทำสัญญาแล้ว จำเลยต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์
9 2948/2525 จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลย โดยจำเลยจะให้ค่านายหน้าร้อยละห้าของราคาที่ขายได้ จำเลยได้มอบนามบัตรของจำเลย มีที่อยู่และเลขหมายโทรศัพท์ที่บ้านจำเลย กับได้มอบแผนที่หลังโฉนดให้โจทก์ไว้ด้วย ต่อมามี ต. และ บ. มาถามซื้อที่ดินบริเวณนั้น โจทก์จึงพาคนทั้งสองไปดูที่ดินของจำเลย ต่อมา คนทั้งสองดังกล่าวได้พา พ. และ ย. มาดูที่ดินจำเลย โดย พ. กับพวกตกลงจะซื้อ ต. และ บ. จึงขอนามบัตรของจำเลย และแผนที่หลังโฉนดจากโจทก์ มอบให้ พ. กับพวกไปติดต่อกับจำเลยเอง ในที่สุด พ. ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวกับจำเลย ดังนี้ ถือได้ว่า การซื้อขายที่ดินรายนี้เป็นผลสำเร็จได้ ก็เนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายหน้าได้ชี้ช่องนั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จจากจำเลย
10 1959/2526 ข้อความตามสัญญาที่ว่า ถ้าโจทก์ต้องเลิกการเช่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ได้รับล่วงหน้าให้โจทก์นั้น หมายความถึง กรณีที่ผู้ให้เช่าทำประการใด หรือกรณีที่เกิดการรอนสิทธิ จนโจทก์ไม่ได้ใช้หรือไม่ได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าคุ้มค่าเช่าและค่าบำเหน็จที่ให้แก่จำเลย เมื่อปรากฏว่า โจทก์ได้ใช้และได้รับประโยชน์ในตึกที่เช่าจนเกือบจะครบสัญญาแล้ว โจทก์จึงส่งคืนตึกที่เช่าให้แก่เจ้าของ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนอันเป็นบำเหน็จค่านายหน้าคืนจากจำเลย
11 794/2533 โจทก์และบิดาเป็นผู้ชี้ช่องให้จำเลยทำหนังสือขอเช่าอาคารยื่นต่อ ส. จน ส. มีหนังสือเรียกให้จำเลยไปทำสัญญาเช่า แต่เนื่องจากจำเลยแจ้งการครอบครองอาคารไม่ตรงกับความจริง ส. จึงระงับการทำสัญญา แล้วให้จำเลยเข้าประมูลสู้ราคากับผู้เช่าเดิมเพียงสองราย เมื่อผู้เช่าเดิมไม่มาประมูล จำเลยจึงเข้าประมูลแต่ฝ่ายเดียว และได้เข้าทำสัญญาเช่ากับ ส. ดังนี้ ถือได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่นายหน้าครบถ้วนแล้ว และการที่จำเลยได้เข้าประมูลสู้ราคากับผู้เช่าเดิมจนได้เข้าทำสัญญากับ ส. เป็นผลของการชี้ช่องของโจทก์ จำเลยจึงต้องชำระค่านายหน้าให้แก่โจทก์
12 4362/2545 โจทก์เริ่มต้นติดต่อขอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และเจรจาติดต่อกับญาติพี่น้องของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง รวมทั้งไปพบกันที่บ้านมารดาจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์เสนอขายที่ดินดังกล่าวต่อบริษัท ค. แล้ว เจ้าหน้าที่บริษัท ค. รวมทั้งโจทก์ต่างก็มาดูที่ดินที่จะซื้อขายกัน นอกจากนี้ โจทก์ยังนำเจ้าหน้าที่ของบริษัท ค. มาเจรจาตกลงจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยทั้งสอง และได้จดทะเบียนให้บริษัท ค. เช่าที่ดินเป็นผลสำเร็จ การทั้งปวงนี้จึงนับว่า เป็นเพราะโจทก์ชี้ช่องให้ทั้งสองฝ่ายเข้าทำสัญญากัน แม้โจทก์ดำเนินการตั้งแต่ต้นโดยไม่รู้จักบริษัท ค. และไม่รู้จักจำเลยที่ 1 กับเจ้าของที่ดินรายอื่น ๆ มาก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์จะทำให้เปล่า หากโจทก์ไม่หวังค่านายหน้าเป็นผลตอบแทนตั้งแต่ต้นแล้ว การดำเนินการใด ๆ ต่อมาคงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่บริษัท ค. กำหนดห้ามไม่ให้ ส. รับประโยชน์หรือค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 นั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างบริษัท ค. กับ ส. ไม่เกี่ยวกับโจทก์ ทั้งไม่ได้ความว่า โจทก์ตกลงยกเลิกสัญญานายหน้ากับจำเลยที่ 1 แต่ประการใด ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธไม่ชำระค่านายหน้าแก่โจทก์หาได้ไม่
13 1804-1805/2546 สัญญาร่วมกิจการนายหน้าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย เป็นข้อตกลงในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินและจะได้แบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันให้สำเร็จลุล่วงตามความประสงค์เท่านั้น ไม่มีข้อความใดพอประมาณได้ว่า หากจำเลยรู้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่นายหน้าผู้จะซื้อแล้ว จะไม่ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าอย่างแน่นอน ดังนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ชี้ช่องให้ บ. กับ ฟ. ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จ ทั้งสัญญาร่วมกิจการนายหน้าดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์ทั้งสองฉ้อฉลจำเลยอันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญา
การหมดสิทธิรับค่าบำเหน็จนายหน้า
1 225/2481 จำเลยทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดิน โดยให้ค่านายหน้าร้อยละห้าของราคาที่ขายได้ และส่วนที่ขายได้เกินตารางวาละสองบาท เจ็ดสิบสตางค์ ก็ให้เป็นของโจทก์ด้วย แต่ถ้าจำเลยขายได้เอง หรือมีผู้นำเอาไปขายให้ได้แล้ว สัญญานี้เป็นระงับ ผ่านไปแปดเดือน โจทก์ก็ยังขายไม่ได้ จำเลยจึงแบ่งที่ออกเป็นสิบแปลง แล้วมีผู้อื่นมารับเป็นนายหน้าขายที่ดินไปได้แปดแปลง โดยที่โจทก์ก็ทราบดังนี้ สัญญานายหน้าระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันระงับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่านายหน้า
2 517/2494 นายหน้าได้ชักนำผู้ซื้อมาตกลงทำสัญญาซื้อขายกับผู้ขายตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว นับว่านายหน้าได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. ม. 845 แล้ว แม้ภายหลังผู้ซื้อผิดสัญญากับผู้ขาย เพราะไม่มีเงินไปชำระแก่ผู้ขาย ก็เป็นเรื่องของผู้ขายจะว่ากล่าวแก่ผู้ซื้อเอา ไม่เกี่ยวแก่นายหน้าอย่างใด ฉะนั้น นายหน้าย่อมมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามที่ตกลงไว้กับผู้ขาย
3 326-328/2518 จำเลยตกลงขายที่ดินของจำเลยให้แก่กระทรวงการคลัง ตามที่โจทก์ผู้เป็นนายหน้าของจำเลยติดต่อให้ มิได้ขายให้แก่ ค. ตามสัญญามัดจำจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับ ค. และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบำเหน็จจาก ค. หรือกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างใด จะถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ และโจทก์ได้กระทำการให้บุคคลภายนอกอันไม่สมควรแก่หน้าที่ผู้กระทำการโดยสุจริต เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ได้รับหน้าที่ หาได้ไม่
4 2173/2519 โจทก์จะเรียกค่านายหน้าได้ ก็ต่อเมื่อจำเลยกับผู้ซื้อได้ทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จเนื่องจากผลของการที่โจทก์ชี้ช่องหรือจัดการนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อยังไม่ได้กระทำกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
5 827/2523 สัญญานายหน้าระบุให้นายหน้าจัดการขายที่ดินให้เสร็จภายใน พ.ศ. 2518 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย เจ้าของที่ดินจะผ่อนเวลาต่อไปให้อีกตามที่เห็นสมควร แสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาว่า ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนแล้วว่า จะต้องขายที่ดินให้เสร็จภายในสิ้นปี พ.ศ. 2518 หากไม่มีการผ่อนเวลา ดังนั้น ย่อมถือได้ว่า สัญญาดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว
6 1118/2533 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดิน จำเป็นต้องการขายที่ดินโดยเร็ว เพื่อนำเงินไปชำระหนี้จำนอง จึงตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินดังกล่าว ต่อมา ม. ซื้อที่ดินได้ แม้โจทก์เป็นผู้ติดต่อ ม. มาซื้อที่ดินจากจำเลยได้ก็ตาม แต่เมื่อสัญญานายหน้ามีข้อความระบุว่า "มอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนดสิบวันนับแต่วันทำสัญญานี้...ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญานายหน้านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลง" ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อโจทก์ติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว โจทก์จำต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาด้วย เป็นกรณีที่คู่สัญญามีเจตนากำหนดเวลาไว้แน่นอน กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนเวลาออกไปอีก และเมื่อครบกำหนดสิบวันตามสัญญาแล้ว โจทก์ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ จึงถือว่า สัญญานายหน้าสิ้นสุด ไม่มีผลผูกพันคู่กรณี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์แต่ประการใด
7 5335/2550 สัญญาจองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกัน ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของโจทก์ที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. ม. 845
สัญญาระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นมีเงื่อนไขบังคับก่อน
1 3777/2533 จำเลยทั้งสามตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดิน โจทก์ได้นำ ส. กับพวกมาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับจำเลยทั้งสาม สัญญาดังกล่าวมีเงื่อนไขบังคับก่อน และขณะที่เงื่อนไขตามสัญญาไม่สำเร็จ ก็เลิกสัญญาลงเสีย ดังนั้น โจทก์จะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้าจากจำเลยทั้งสามหาได้ไม่
อายุความ
1 138/2502 โจทก์ใช้เวลาว่างจากการงานประจำมาทำการเป็นนายหน้าหารายได้ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้ค้าในการนั้น การฟ้องเรียกค่านายหน้าในกรณีเช่นว่านี้มีอายุความสิบปี ไม่ใช่สองปี
2 1183/2509 ป.พ.พ. ม. 165 (1) และ (7) เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการเรียกเอาค่ากิจการต่าง ๆ เช่น ค่าที่ได้ส่งมอบของ, ค่าทำของ ฯลฯ หรือไม่ก็เรียกเอาสินจ้าง แต่ไม่ได้บัญญัติให้บุคคลเหล่านั้นเรียกเอาค่าบำเหน็จซึ่งเป็นเรื่องของนายหน้าตาม ป.พ.พ. ม. 845 ประกอบกับนายหน้ากับบุคคลที่กล่าวไว้ในมาตรา 165 (1) และ (7) ไม่เหมือนกัน การใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่เหมือนกันไปด้วย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ คดีโจทก์จึงมีอายุความสิบปี ทฎ. 24/2509 ได้เห็นชอบตามร่าง ฎ. นี้
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน; 2551, 7 กุมภาพันธ์: ออนไลน์.
  2. 2.0 2.1 ไผทชิต เอกจริยกร, 2545: 307-308.
  3. ไชยเจริญ สันติศิริ, 2513: 246.
  4. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 346.
  5. กมล สนธิเกษตริน, 2536: 165.
  6. หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ (มาโนช สุทธิวาทนฤพุฒิ), 2519: 256.
  7. สถิตย์ เล็งไธสง, 2539: 1120.
  8. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 346-347.
  9. ประสิทธิ โฆวิไลกูล, 2538: 55.
  10. สรรเสริญ ไกรจิตติ,: 120.
  11. 11.0 11.1 ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 348.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 347.
  13. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 349.
  14. หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ (มาโนช สุทธิวาทนฤพุฒิ), 2519: 264.
  15. Dictionary.com; 2009: Online.: "A sum or percentage allowed to agents, sales representatives, etc., for their services."
  16. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 365.
  17. 17.0 17.1 ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 360.
  18. หลวงสุทธิมนต์นฤนาท, 2511: 113.
  19. หลวงประพนธ์นิติสรรค์ (หม่อมหลวงประดับ สุทัศน์), 2477: 221.
  20. 20.0 20.1 ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 351.
  21. ประสิทธิ โฆวิไลกูล, 2538: 89.
  22. 22.0 22.1 22.2 ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 352.
  23. ไชยเจริญ สันติศิริ, 2513: 250.
  24. 24.0 24.1 ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 352-353.
  25. ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 356.
  26. ไชยเจริญ สันติศิริ, 2513: 250-251.
  27. ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 358.
  28. ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 353.
  29. ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 357.
  30. ผไทชิต เอกจริยกร, 2551: 364.
  31. หลวงสุทธิมนต์นฤนาท, 2511: 115.
  32. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 364-365.
  33. กมล สนธิเกษตริน, 2536: 130.
  34. สรรเสริญ ไกรจิตติ, 2520: 121-122.
  35. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 362-363.
  36. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 367
  37. ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 366
  38. 38.0 38.1 ไผทชิต เอกจริยกร, 2551: 365.

รายการอ้างอิง

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
กฎหมาย
คำพิพากษา
หนังสือและบทความ
  • กมล สนธิเกษตริน. (2536). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทนและนายหน้า. กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์.
  • ไชยเจริญ สันติศิริ. (2513). คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า จัดการงานนอกสั่ง. กรุงเทพฯ: ภักดีเจริญ.
  • ประสิทธิ โฆวิไลกูล. (2538). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทนค้าต่างและนายหน้า. กรุงเทพฯ: ธรรมสาร.
  • ไผทชิต เอกจริยกร.
    • (2545). ตัวแทน-นายหน้า. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: วิญญูชน. ISBN 9749506944.
    • (2551). ตัวแทน-นายหน้า. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ: วิญญูชน. ISBN 9789742887162.
  • สถิตย์ เล็งไธสง. (2539). คำอธิบายกฎหมายตัวแทนและนายหน้า (เรียงมาตรา). (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.
  • สรรเสริญ ไกรจิตติ. (2520). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
  • หลวงประพนธ์นิติสรรค์ (หม่อมหลวงประดับ สุทัศน์). (2477). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า จัดการงานนอกสั่ง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.
  • หลวงสุทธิมนต์นฤนาท. (2511). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า. กรุงเทพฯ: โรงพมิพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ (มาโนช สุทธิวาทนฤพุฒิ). (2519). บันทึกคำบรรยายวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า พร้อมด้วยภาคผนวกคำพิพากษาฎีกาและวิจารณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.
อื่น ๆ

ภาษาต่างประเทศ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  • Dictionary.com. (2009). Commission. [Online]. (Accessed: 31 July, 2012).
  • Kamol Sandhikshetrin. (2007). The Civil and Commercial Code, Books I-VI, and Glossary. (8th edition). Bangkok: Nitibannakan. ISBN 9789744473493.
  • Langenscheidt Translation Service. (2011). The German Civil Code. [Online]. (Accessed: 2013.02.01).
  • Legifrance.
  • Ministry of Justice of Japan. (2011). The Japanese Civil Code. [Online]. Available: <Parts 1-3 and Parts 4-5>. (Accessed: 2013.02.01).



ขึ้น