ปรัชญาเบื้องต้น/ต้นกำเนิดของปรัชญา
ต้นกำเนิด
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]รากศัพท์
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]คำว่าปรัชญามากจากภาษาสันสกฤตคำว่า प्रज्ञा (prajñā, ปฺรชฺญา, “ความรู้”) เกี่ยวข้องกับคำว่า ปราชญ์ และปัญญา และในภาษาอังกฤษคำว่า Philosophy มาจากคำว่า phylos ซึ่งแปลว่า "รัก" และ sophia ซึ่งแปลว่า "ปัญญา" ในภาษากรีก
ปรัชญาเบื้องต้น
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]ในเฟโด (อังกฤษ: Phaedo) โสกราตีสกล่าวว่า ปรัชญาคือการเตรียมพร้อมต่อความตายที่รอทุกคนอยู่ เมื่อจิตหมกมุ่นกับปรัชญา จิตก็จะเป็นอิสระจากความกังวลและพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งความคิด จิตของเราเข้าสู่พื้นที่แห่งจิตวิญญาณซึ่งอยู่เหนือความตายและประสบการณ์ทางกายภาพของเรา อีกมุมมองหนึ่งที่โด่งดังของโสกราติสคือ ปรัชญาคือ 'ความรักในปัญญา' ความรักนี้ค้นพบความจริง และเรามีปัญญาผ่านการนำสิ่งที่ค้นพบไปใช้ในทางปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
นิยามเหล่านี้ชี้ให้เห็นธรรมชาติของการสืบสอบทางปรัชญา นักปราชญ์ถามคำถาม คำถามเหล่านี้คือการพยายามทำความเข้าใจในจักรวาลทั้งทางกายภาพและทางอภิปรัชญาซึ่งรวมถึงมนุษย์และโลกของพวกเขา
ยุคก่อนโสกราตีส
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]ประวัติศาสตร์ของปรัชญาตะวันตกเริ่มจากชาวกรีก โดยเฉพาะกลุ่มของนักปราชญ์ที่มักถูกเรียกว่านักปราชญ์ยุคก่อนโสกราตีส ใช่ว่าไม่มีการถกเถียงในช่วงยุคก่อนปรัชญาเลยในสังคมอียิปต์หรือบาลิโลน แน่นอนว่าทั้งสองอารยธรรมนี้ย่อมมีนักคิดและนักเขียนที่ยิ่งใหญ่เป็นของตน และเรามีหลักฐานว่านักปราชญ์ชาวกรีกในยุคแรกสุดบางคนก็ได้สัมผัสกับผลผลิตทางความคิดจากอียิปต์หรือบาบิโลน
แต่ทว่านักคิดชาวกรีกในยุคแรกนั้นมีปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ความคิดของพวกเขานั้นแตกต่างจากทั้งหมดทั้งปวงที่มีมาก่อนพวกเขา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราค้นพบ ซึ่งในงานเขียนของพวกเขานั้นมีอะไรมากกว่าแค่การกล่าวยืนยันเป็นหลักเกณฑ์ออกมาอย่างดื้อ ๆ เกี่ยวกับการจัดระเบียบของโลก เราพบการกล่าวอ้างอย่างมีเหตุผลต่อความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับโลก
เธลีส
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]เธลีส (ภาษากรีก: Θαλης) แห่งมิเลทัส (ประมาณ 624 - 546 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่าเธลีสชาวมิเลเซียน (Thales the Milesian) เป็นนักปราชญ์ชาวกรีกยุคก่อนโสกราตีส หลายคนยกย่องให้เขาเป็นนักปรัชญาตามธรรมเนียมกรีกคนแรก เขายังถูกถือว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ตามดั้งเดิม ถึงแม้ว่ามีการถกเถียงกันว่าจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์นั้นสามารถย้อนกลับไปไกลถึงสมัยอียิปต์โบราณ
ชีวิต
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]เธลีสอาศัยในเมืองมิเลทัส ในไอโอเนีย ภาคตะวันตกของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ตามที่เฮอรอโดทัสกล่าว เธลีสเป็นลูกหลานของชาวฟินิเซีย
ชาวไอโอเนียนเป็นผู้คนที่ออกเดินทางไปไหนมาไหนไปทั่วซึ่งได้ติดต่อสัมพันธ์กับอียิปต์และบาบิโลนอยู่หลายครั้ง เธลีสอาจเคยได้รับการศึกษาในอียิปต์สมัยเป็นชายหนุ่ม ด้วยเหตุใดก็ตาม เธลีสต้องเคยได้สัมผัสกับเทพปกรณัมอียิปต์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์อย่างแน่นอน รวมไปถึงประเพณีอื่น ๆ ซึ่งแปลกไปจากประเพณีโฮเมอริกในกรีซ เพราะเหตุนี้กระมังที่ทำให้การสืบสอบเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งของเขานั้นไปไกลกว่าแค่เรื่องปรัมปราตามดั้งเดิม
เรื่องราวหลายเรื่องบ่งบอกว่าเธลีสไม่ได้เป็นเพียงนักคิดเท่านั้น เขายังได้เข้าไปพัวพันในธุรกิจและการเมือง เรื่องหนึ่งเล่าว่าเขาได้ซื้อเครื่องกดมะกอกทั้งหมดในมิเลทัสหลังจากที่ได้พยากรณ์ถึงสภาพอากาศและฤดูเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ เรื่องเล่าเดียวกันนี้ในอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่าเขาซื้อเครื่องกดเหล่านั้นมาเพื่อแสดงให้พวกพ้องชาวมิเลเซียนของเขาได้เห็นว่าเขาสามารถนำความเฉลียวฉลาดมาใช้ทำให้เขาร่ำรวยขึ้นได้ เฮอรอโดทัสบันทึกไว้ว่าเธลีสแนะนำให้นครรัฐต่าง ๆ แห่งไอโอเนียร่วมกันสถาปนาสหพันธรัฐขึ้นมา
กล่าวกันว่าเธลีสเสียชีวิตขณะนั่งดูการแข่งขันกีฬา
ทฤษฎีและอิทธิพล
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]ก่อนเธลีส ชาวกรีกอธิบายจุดกำเนิดและธรรมชาติของโลกผ่านนิทานปรัมปราเกี่ยวกับวีรบุรุษและเทพเจ้ารูปร่างคล้ายมนุษย์ ปรากฏการณ์เช่นฟ้าแลบหรือแผ่นดินไหวก็ถือว่าเกิดขึ้นจากการกระทำของเทพเจ้า
ในทางกลับกัน เธลีสพยายามหาคำอธิบายเชิงธรรมชาตินิยมเกี่ยวกับโลกโดยไม่อ้างอิงถึงสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เขาอธิบายแผ่นดินไหวโดยจินตนาการว่าโลกนั้นลอยอยู่ในน้ำและแผ่นดินไหวบนโลกเกิดขึ้นเมื่อถูกคลื่นซัดเข้าใส่ เฮอรอโดทัสกล่าวอ้างว่าเธลีสได้พยากรณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในปี 585 ก่อนคริสตกาลซึ่งได้ยุติการต่อสู้กันระหว่างชาวลิเดียและชาวมีเดีย
ความเชื่อของเธลีสที่โด่งดังที่สุดคือทฤษฎีจักรวาลวิทยาของเขา ซึ่งถือว่าโลกกำเนิดขึ้นจากน้ำ บางครั้งก็มีการสมมุติว่าเธลีสถือว่าสรรพสิ่งทำขึ้นมาจากน้ำ ทว่าตามคำบอกเล่าของผู้อื่นแล้ว เป็นไปได้ว่าแม้เธลีสมองว่าน้ำเป็นต้นกำเนิด เขาไม่เคยได้ครุ่นคิดว่าน้ำยังคงเป็นสาระของโลกอยู่หรือไม่
นักปราชญ์หลายคนเดินตามรอยเธลีสและค้นหาคำอธิบายในธรรมชาติแทนการพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติ คนอื่นกลับไปหาคำอธิบายที่เหนือธรรมชาติ แต่แสดงออกในภาษาของปรัชญาแทนนิทานปรัมปราหรือศาสนา
เธลีสได้ชื่อเป็นคนแรกที่ทำให้เรขาคณิตเป็นที่นิยมในวัฒนธรรมกรีกโบราณ ซึ่งเป็นในส่วนของความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เป็นหลัก
คำอธิบายสำหรับมุมมองของเธลีสที่ดีที่สุดมาจากบทความดังต่อไปนี้จากงานเขียนอภิปรัชญา (Metaphysics) ของแอริสติเติล (983 ก่อนคริสตกาล) บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยพร้อมกับวลีสำคัญซึ่งถูกถอดตัวอักษรจากอักษรกรีกเป็นอักษรละตินเพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน ผู้อ่านจะสามารถเห็นคำศัพท์ต่าง ๆ จากทฤษฎีของแบบและสสารที่สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ได้นำไปใช้ในความหมายใหม่ที่แตกต่างจากเดิมพอสมควรในการถอดตัวอักษรนี้ การแปลนี้จะแปลค่อนข้างตรงตัวเพื่อความแม่นยำ
- "That from which is everything that exists (ta onta) and from which it first becomes (ex hou gignetai protou) and into which it is rendered at last (eis ho phtheiretai teleutaion), its substance remaining under it (tes men ousias hypomenouses), but transforming in qualities (pathesi metaballouses), that they say is the element (stoicheion) and principle (archen) of things that are (ton onton)."
- แปล: "สิ่งนั้นซึ่งสรรพสิ่งที่มีอยู่นั้นมาจาก และสิ่งแรกที่มันกลายมาเป็น และสิ่งที่มันสลายไปเป็นตอนสุดท้าย สาระของมันซึ่งคงเหลืออยู่ภายใต้มัน แต่แปลงสภาพในคุณลักษณะ ซึ่งพวกเขากล่าวว่าเป็นธาตุและแก่นของสิ่งที่เป็น"
และอีกครั้ง:
- "For it is necessary (dei) that there be some nature (physin), either one or more than one, from which become (gignetai) the other things (t'alla) of the object being preserved (sozomenes ekeines)... Thales says that it is water (hydor)."
- แปล: "เพราะมันจำเป็นที่จะมีธรรมชาติบางอย่าง ไม่ว่าหนึ่งอย่างหรือมากกว่าหนึ่ง ซึ่งจากมันนั้นกลายเป็นสิ่งอื่น ๆ ของวัตถุซึ่งคงสภาพอยู่ เธลีสกล่าวว่ามันคือน้ำ"
การบรรยายให้เห็นถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงและการให้นิยามของสาระโดยแอริสตอเติลนั้นไม่อาจชัดเจนได้มากไปกว่านี้แล้ว เมื่อวัตถุแปลงสภาพไป มันยังคงเหมือนเดิมหรือต่างไปจากเดิม? ในทั้งสองกรณี การเปลี่ยนแปลง (metabollein) จากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งเกิดเกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบนั้นคือสาระ (ousia หรือ physis) นั้นถูกเก็บรักษาไว้ แต่ได้รับหรือสูญเสียคุณลักษณะ (pathe, สิ่งที่คุณ "รู้สึก") ต่าง ๆ ไป
การลงลึกในเรื่องทฤษฎีของแบบและสสารนั้นเก็บไว้พูดคุยในบทความอื่นเสียดีกว่า คำถามหลักของบทความนี้คือ แอริสตอเติลสะท้อนความคิดของเธลีสได้ดีเท่าไหร่? อาจไม่ได้ห่างจากความจริงมากนัก และเธลีสคงเป็นคนที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องแบบและสสารเป็นคนแรก ๆ
ไดออจะนีซ เลเออร์เชียส ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นนักปราชญ์โดยพื้นฐานกล่าวว่าเธลีสสอนดังว่า:
- "Water constituted (hypestesato, "ยืนข้างใต้") the principle of all things."
- แปล: "น้ำประกอบเป็นปฐมธาตุของสรรพสิ่ง"
เฮราคลิตุส โฮเมอริคัส (Quaestiones Homericae 22, คนละคนกับเฮราคลิตุสชาวเอเฟซัส) กล่าวว่าเธลีสได้ข้อสรุปนี้จากการได้เห็นสารที่เปียกชื้น (hygra physis) แปลงเป็นอากาศ เมือก และดิน มันจึงชัดเจนว่าทำไมเธลีสถึงมองว่าโลกนั้นเป็นสิ่งที่แข็งตัวขึ้นมาจากน้ำ ซึ่งโลกนั้นลอยอยู่บนน้ำนั้นเอง และถูกโอบล้อมในรูปของมหาสมุทร
เธลีสประยุกต์วิธีการของเขากับวัตถุซึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นวัตถุอื่น ๆ เช่นน้ำกลายเป็นเดิน (ในความคิดเขา) ว่าแต่แล้วกระบวนการเปลี่ยนแปลงเองหละ? เธลีสก็พูดถึงเรื่องนี้ โดยพิจารณาผ่านแม่เหล็กและอำพัน ซึ่งเมื่อนำมาขัดถูทำให้เกิดประจุไฟฟ้าและดึงดูดในแบบเดียวกันกับแม่เหล็ก
การที่สิ่งหนึ่งมีอำนาจเคลื่อนย้ายสิ่งอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นจะอธิบายว่าอย่างไร? เธลีสเห็นความคล้ายคลึงกับอำนาจในการกระทำของสิ่งมีชีวิต แม่เหล็กและอำพันจำต้องมีชีวิต และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิตก็อาจไม่แตกต่างกันเลย เมื่อเขาถูกถามว่าทำไมเขาไม่ตายไปเลยถ้าเกิดว่ามันไม่มีความแตกต่างอะไร เขาตอบกลับไปว่า "ก็เพราะมันไม่มีความแตกต่างไง"
แอริสตอเติลให้นิยามว่าวิญญาณเป็นแก่นของชีวิต เป็นสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปในสสารและสร้างชีวิตขึ้นมาซึ่งมอบการเคลื่อนไหวหรืออำนาจในการกระทำให้มัน แนวคิดนี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากเขา เพราะชาวกรีกทั่วไปเชื่อในการแบ่งแยกระหว่างจิตกับสสาร ซึ่งในที่สุดนอกจากระหว่างกายกับวิญญาณแล้วยังนำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างสสารและพลังงาน
หากสิ่ง ๆ หนึ่งมีชีวิต สิ่งนั้นจำต้องมีวิญญาณ ความเชื่อนี้ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่อะไร ผู้คนธรรมดาทั่วไปแถบเมดิเตอร์เรเนียนสมัยโบราณเชื่อว่าเหตุการณ์ทางธรรมชาติเป็นการกระทำของเทพ และในทางที่สอดคล้องกัน แหล่งข้อมูลต่าง ๆ กล่าวว่าเธลีสเชื่อว่าสรรพสิ่งนั้นมีความเป็นพระเจ้าในตัว และด้วยความกระตือรือร้นของแหล่งข้อมูลเหล่านั้นที่จะยกย่องให้เธลีสเป็นคนแรกในทุกอย่าง พวกเขาก็กล่าวว่าเธลีสเป็นคนแรกที่มีความเชื่อเช่นนี้ ซึ่งแม้แต่ตัวพวกเขาเองจำต้องรู้ว่ามันไม่จริง
อย่างไรก็ตาม เธลีสกำลังมองหาอะไรที่เป็นสามัญกว่านี้ ซึ่งเป็นสาระสากลซึ่งประกอบเป็นจิต ความเชื่อแบบพหุเทวนิยมในสมัยนั้นก็มีความคิดนี้เช่นเดียวกัน ซูสเป็นบุคลาธิษฐานของจิตสูงสุดซึ่งมีอำนาจเหนือจิตใต้บังคับบัญชาทั้งมวล ทว่าหลังจากยุคของเธลีส นักปราชญ์มีแนวโน้มที่จะไม่มองจิตเป็นบุคคลหรือมองอย่างเป็นรูปธรรม คล้ายกับว่ามันเป็นสาระของชีวิตเสียเอง และไม่ได้เป็นเทพเจ้าเหมือนเทพองค์อื่น ๆ ผลสุดท้ายเป็นการถอดเอาจิตแยกจากสาระโดยสิ้นเชิง และเปิดประตูนำไปสู่หลักการของการกระทำซึ่งไม่พึ่งพาคำอธิบายที่ศักดิ์สิทธิ์ ธรรมเนียมนี้ยังคงมีมาจนกระทั่งไอน์สไตน์ผู้ที่มีแนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาที่แตกต่างไปพอสมควร และไม่ได้แบ่งแยกระหว่างสสารและพลังงาน
ทว่าความคิดสมัยคลาสสสิกไม่ได้ดำเนินไปตามทางนั้นสักเท่าไหร่ แทนที่จะพูดถึงซูสที่เป็นบุคคล กลับพูดถึงจิตที่ยิ่งใหญ่
- "Thales", says Cicero, "assures that water is the principle of all things; and that God is that Mind which shaped and created all things from water." (Cicero:"De Natura Deorum,"i.,10.)
- แปล: "เธลีส" กิแกโรกล่าว "ยืนยันว่าน้ำเป็นปฐมธาตุของสรรพสิ่ง และเทพเจ้านั้นเป็นจิตที่ปั้นรูปและสรรค์สร้างสรรพสิ่งขึ้นจากน้ำ"
แนวคิดเรื่องจิตสากลปรากฏอยู่ในความเชื่อโรมันของเวอร์จิลเช่นกัน
- "In the beginning, SPIRIT within strengthens Heaven and Earth,
- The watery fields, and the lucid globe of Lina, and then --
- Titan stars; and mind infused through the limbs
- Agitates the whole mass, and mixes itself with GREAT MATTER"
- (Virgil: "Aeneid," vi., 724 ff.)
- แปล: "อย่างแรก สวรรค์และโลกและท้องน้ำ
- ดวงจันทร์ที่ส่องสว่าง และดวงดาวแห่งไททัน
- ถูกบำรุงเลี้ยงโดยเจตะภายใน จิตที่ซึมซาบไปทั่วตามแขนขา
- ปลุกให้มวลขยับ และผสานเข้ากับกายที่ยิ่งใหญ่"
โสกราตีส
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]โสกราตีส (ประมาณปี 470 – 399 ก่อนคริสตกาล) (ภาษากรีก: Σωκράτης, Sōkrátēs) เป็นนักปราชญ์ชาวกรีก (ชาวเมืองเอเธนส์)
เช่นเดียวกับเธลีสและพวกยุคก่อนโสกราตีสคนอื่น ๆ โสกราตีสเองก็มีความทะเยอทะยานในการถามคำถามเกี่ยวกับชีวิตเช่นกัน แต่ในขณะที่พวกยุคก่อนโสกราตีสนั้นสนใจในคำถามที่เกี่ยวกับจักรวาล โสกราตีสกลับสนใจในคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติดังต่อไปนี้ อะไรคือความกตัญญู? ชีวิตแบบไหนที่คุ้มค่าสำหรับมนุษย์? คุณธรรมสอนกันได้ไหม? อะไรคือความยุติธรรม? มีอะไรที่มากไปกว่าคุณธรรมของบุคคลไหม? อะไรคือความเป็นเลิศของมนุษย์?
ตามจริงแล้วโสกราตีสไม่ได้เขียนมโนทัศน์พวกนี้เอง ข้อมูลจากแหล่งลายลักษณ์อักษรเดียวเกี่ยวกับปรัชญาของเขามาจากบทสนทนาระหว่างเพลโตกับเซโนฟอน บทสนทนานี้พูดถึงคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่ดี ความเป็นเลิศของมนุษญ์ และการเก็บเกี่ยวความรู้เป็นส่วนใหญ่ งานเขียนที่สำคัญและโด่งดังที่สุดงานหนึ่งของเพลโตคือ "อุตมรัฐ" ซึ่งในนั้นเองที่เราได้พบอุปมานิทัศน์ของถ้ำ ที่อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นจริงที่รับรู้กับความเป็นจริงของจริง ซึ่งตามที่เพลโตเขียนไว้ สามารถพบได้เพียงในโลกแห่งมโนภาพ ดูเพิ่ม: ปรัชญากรีก: โสกราตีส (เก็บถาวร) (ภาษาอังกฤษ)
กลับไปหน้าแรก | | พูดคุยเกี่ยวกับบทนี้ | | บทต่อไป |