ข้ามไปเนื้อหา

พูดคุย:คำศัพท์จากหนังสือปูมราชธรรม

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
เพิ่มหัวข้อ
จาก วิกิตำรา

สรุปเอกสารเรื่อง ปูมราชธรรม*


หลักฐานเอกสารไทยของชาวฝรั่งเศส
หนังสือและอธิบายเรื่องปูมราชธรรม หอสมุดวชิรญาณ


จากสารัตถะของเอกสารที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาว่าชาวฝรั่งเศสได้ให้ความสนใจต่อภาษาและวัฒนธรรมไทยก็ดี หรือคำอธิบายเกี่ยวกับเอกสารเรื่อง “ปูมราชธรรม” ก็ดี สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้

๑. ในนัยทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นความสืบเนื่องของความสนใจในวัฒนธรรมตะวันออกของเหล่านักคิด นักเขียน นักเดินทางต่างชาติในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ที่พยายามแสวงหาข้อมูลใหม่จากอีกโลกหนึ่งเพื่อเติมความรู้เดิมของตนให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันองค์ความรู้นี้จะพัฒนาต่อมาจนกระทั่งเป็นรูปธรรมในการผลิตหรือทดลองกิจการต่างๆ เช่น การสังเกตตำแหน่งดวงดาว การสังเกตการเกิดสุริยุ-จันทรุปราคา ล้วนเป็นความพยายามในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของโลกซึ่งจะยังผลให้การกำหนดเส้นรุ้ง-เส้นแวงและการเดินเรือมายังภูมิภาคอื่นๆ สะดวกง่ายดายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในศตวรรษต่อมา พื้นฐานความรู้เช่นนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดนโยบายอาณานิคมของประเทศในยุโรปต่อดินแดนในทวีปอื่นๆ ด้วย

๒. กรณีความสนใจของชาวฝรั่งเศสนั้นแสดงให้เห็นว่ามิได้สนใจเพียงการศาสนา การปกครอง การทูตและการค้าเพียงแต่อย่างเดียว หากแต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมของชนทุกชั้น ผ่านสื่อกลางที่เป็น “ภาษา” และสันนิษฐานได้ว่าแนวคิดที่ว่าภาษาเป็นรากฐานหนึ่งของสังคมนั้นได้เริ่มพัฒนาการขึ้นอย่างเป็นระบบและพัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ในศตวรรษต่อมา

๓. เอกสารไทยที่ได้รับการจัดเก็บ ณ ต่างประเทศยังกระจัดกระจายอยู่ตามห้องสมุดใหญ่ๆ เช่น ห้องสมุดเอกชนและห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอีกหลายประเทศ สำหรับที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น หอสมุดคณะมิซซังต่างประเทศ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และห้องสมุดเอกชนอื่นๆ ยังคงเก็บรักษาเอกสารไทยไว้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสมควรได้รับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป[๑]

การนำเสนอความสนใจของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อเอกสารไทย ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและการศึกษาวรรณคดีเรื่อง “ปูมราชธรรม” นี้ จึงเป็นเพียงอีกหนึ่งความพยายามที่จะกระตุ้นให้คนไทยหันกลับมารักษามรดกของตนและใส่ใจกับความเป็นไทยในทุก ๆด้าน ทั้งนี้การศึกษาแบบสหวิทยาการในเรื่องต่าง ๆ เป็นกระบวนการที่สำคัญและน่าสนใจ เพื่อการอภิวัฒน์ขององค์ความรู้เรื่องไทยศึกษาในอนาคต




เนื้อเรื่องย่อ*

เรียบเรียง โดย สยาม ภัทรานุประวัติ


เนื้อเรื่องปูมราชธรรมแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

เรื่องราชธรรม

เรื่องราชธรรมแต่งด้วยร้อยแก้ว กล่าวถึงพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ที่ตรัสรู้ในภัทรกัลป์ และพระอรหันตสาวกองค์สำคัญของพระโคตมพุทธเจ้า

เรื่องเนาวพยัตติ

เรื่องเนาวพยัตติแต่งด้วยร้อยแก้ว กล่าวถึงความฉลาดรอบรู้ 9 ประการที่พระมหากษัตริย์รู้ได้แก่ จาเรพยัตติ(การเพียรหาความรู้) โยคพยัตติ(การรักษาตนและพิทักษ์ทรัพย์) โมเจยพยัตติ (การรู้เท่าทันศัตรู) ฉายาพยัตติ(การรักษาวิชาที่มี) ธาราพยัตติ(ความรอบรู้ในการคำนวณ) สัลลวพยัตติ(การรู้จักผูกไมตรี) ลเหลหาพยัตติ(การรู้จักสะสมทรัพย์) สุจิลาพยัตติ(การรอบรู้กลอุบาย) สันนีกพยัตติ(ความรอบรู้ในศิลปะ) เรื่องเนาวพยัตตินี้มีการยกนิทานชาดกและนิทานอุทาหรณ์แทรกตลอดทั้งเรื่อง

ราชวิจารธรรม

เนื้อเรื่องตอนท้ายไม่ปรากฏชื่อในต้นฉบับ แต่กรมศิลปากรใช้ชื่อใหม่ว่า “ราชวิจารธรรม” เพราะเห็นว่าเป็นเรื่อง “ธรรมคือความใคร่ครวญของพระราชา”กล่าวถึง คุณสมบัติและวิธีการเลือกบุคคลให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ขุนวัง ขุนเมือง ขุนนา ขุนคลัง โดยเฉพาะขุนพลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่รู้กลศึกทั้ง 21 ประการ ตอนท้ายเป็นคำแนะนำสำหรับพระราชาในการแสวงหานักปราชญ์ ราชครู และอัครมเหสี


เริ่มการอภิปรายใหม่ที่เกี่ยวกับ คำศัพท์จากหนังสือปูมราชธรรม

เริ่มการอภิปรายใหม่