ภาษาไพทอน/เริ่มต้น

จาก วิกิตำรา

เบื้องต้นการเขียนโปรแกรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

สำหรับการเรียนรู้การเขียนโปรแกรม จะต้องอ่านและเขียนรหัสคำสั่ง (รวมๆแล้วก็ที่เรียกกันว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ในตำรานี้จะแสดงให้เห็นโปรแกรมหลายๆตัว จากนั้นให้ลองไปพิมพ์ดู และก็สังเกตุดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลองเปลี่ยนตรงโน้นตรงนี้ดูสักนิด อย่างแย่ที่สุดก็คือ มันไม่ทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้ ตัวอย่างเช่น

## Python is easy to learn
print("Hello, World!")

เห็นได้ว่ามันมีสีแตกต่างในแต่ละส่วน (ถ้าคุณเปิดเว็บอ่าน) แต่ถ้าคุณไปพิมพ์เอง อาจจะไม่มีสีแบบนี้ ก็ไม่ใช่ปัญหา สำคัญที่คุณต้องพิมพ์ให้เหมือนอย่างที่เห็น แต่ถ้าคอมพิวเตอร์พิมพ์อะไรออกมาจะเป็น

Hello, World!

ออกมาที่หน้าจอ ไม่ได้ออกไปที่หน้ากระดาษบนเครื่องพิมพ์ (เมื่อก่อนตอนที่คอมพิวเตอร์ยังไม่มีหน้าจอ การสั่งพิมพ์ (print) ก็จะไปที่กระดาษจริงๆ)


หมายเหตุ

เนื้อหาทั้งหมดจากนี้ไป อยู่บน Python 3.0 นั่นก็หมายถึง ตัวอย่างที่เห็นอาจจะไม่ทำงานบน Python 2.6 และก่อนหน้านั้น

Python 3.0 เริ่มประกาศใช้เมื่อ 3 ธันวาคม 2551 ส่วนเพิ่มเติมของภาษา(library)ต่างๆ อาจจะดัดแปลงมายังไม่ครบถ้วน คุณอาจจะไปเรียนจาก Python 2.6 ซึ่งมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างรุ่น คุณเรียนจากรุ่นหนึ่งไปใช้อีกรุ่นหนึ่ง ก็พอทำได้ไม่ยากจนเกินไป และอีกอย่างที่คุณน่าจะรู้คือผู้พัฒนาไพธอนตั้งใจให้ Python 3.0 แตกต่างไปจากเดิม เหมือนกับเริ่มต้นออกแบบภาษาใหม่

บางครั้งการทำงานของโปรแกรม จะรอให้คุณพิมพ์บางอย่างเข้าไป ผมก็จะแสดงสิ่งที่คุณต้องพิมพ์เป็นตัวหนา ส่วนที่โปรแกรมพิมพ์ออกมาเองก็เป็นแบบธรรมดาเหมือนเดิม ดังนี้

Halt! Who Goes there? Josh You may pass, Josh

ผมจะสอดแทรกคำที่โปรแกรมเมอร์ใช้กันให้คุณได้คุ้นเคย อย่างเช่น การเขียนโปรแกรมบางทีฝรั่งก็ใช้คำว่า coding หรือ hacking ต่อไปคุณก็จะได้คุย"ภาษาเดียวกัน"กับโปรแกรมเมอร์ และยังช่วยในกระบวนการการเรียนรู้อีกด้วย

ตอนนี้ก็ถึงตอนสำคัญ ในเมื่อคุณจะเขียน ไพธอน คุณก็ต้องมี ตัวแปลภาษาไพธอน ติดตั้งอยู่ ในบรรดาไพธอนที่มีมากมาย เราใช้ Python 3.0 หรืออาจจะเป็นซับเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่าได้บ้าง แต่ที่เก่ากว่าอย่างเช่น Python 2.6 นั้นไม่เหมาะ (หา Python 3.0 ได้จาก http://www.python.org/download/ ) และก็ต้องเลือกตัวที่ทำไว้สำหรับใช้บนแพลตฟอร์มของคุณด้วย ว่าคุณใช้แพลตฟอร์มอะไร เช่น Windows หรือ Linux , Unix , OS X หรือ Mac ดาวน์โหลดมาแล้วก็ทำตามคำแนะนำในการติดตั้งได้เลย

การติดตั้งไพธอน[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การเขียนโปรแกรมไพธอน คุณต้องมีไพธอนติดตั้งเรียกใช้งานได้ และโปรแกรมแก้ไขข้อความ(Text Editor)

หน้าดาวน์โหลดของไพธอน คือ http://www.python.org/download/ เวอร์ชั่นล่าสุดเป็น 3.0.1 ซึ่งใช้ได้กับบทเรียนของเรา ส่วนเวอร์ชั่นต่ำกว่า 3.0 จะมีหลายอย่างแตกต่าง จะเป็นปัญหาให้ผู้ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อนติดขัดได้ในหลายจุด

ถึงแม้จะเป็นเวอร์ชั่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีแยกแยะสำหรับแต่ละแพลตฟอร์ม ก็ต้องเลือกตัวที่ตรงกับแพลตฟอร์มที่เราใช้งานอยู่ ต่อไปก็เป็นขั้นตอนเฉพาะของแพลตฟอร์มต่างๆ

Linux, BSD และ Unix[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เหมือนกับที่ตลกมีเรื่องเล่าว่า มีข่าวดีกับข่าวร้าย คุณอยากทราบอันไหนก่อน ผู้ที่ใช้ระบบปฏิบัติการในตระกูลยูนิกซ์และลีนุกซ์ จะมีไพธอนติดตั้งมาอยู่แล้ว ทีนี้ก็ขึ้นกับว่าเป็นเวอร์ชั่นอะไร ถ้าเป็นเวอร์ชั่น 3.0 หรือซับเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่าก็เป็นข่าวดี แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นก่อนหน้านั้น ก็นั่นแหละเป็นข่าวร้าย การติดตั้งไพธอนบนระบบปฏิบัติการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องสำหรับมือใหม่ และบ่อยครั้งคุณไม่มีสิทธิ ไม่ได้รับอนุญาต(grant)ในการติดตั้งโปรแกรม จะเป็นข่าวดีอีกทีก็ถ้าคุณมีคนเก่งๆติดตั้งไพธอนให้คุณ อย่าลืมบอกให้เขาหาโปรแกรมแก้ไขข้อความดีๆใช้งานง่ายๆ ติดตั้งให้คุณด้วย สำหรับผู้ที่รักอยากจะลุย ก็อ่านส่วนนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเลยครับ ถ้าจะให้แปล ก็เหมือนกับไม่แปล เพราะต้องทับศัพท์ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ อ่านยากเสียเปล่าๆ นอกจากนี้การที่คุณใช้ระบบปฏิบัติการในกลุ่มนี้ คุณต้องเรียนรู้ระบบปฎิบัติการให้เข้าใจเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิทธิของผู้ใช้


Mac[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แมคซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ OS X มาพร้อมกับไพธอน อย่างไรก็ตามเวอร์ชั่นยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเหมือนเดิม ถ้าคุณเปิดโปรแกรม terminal แล้วพิมพ์ python ไพธอนก็จะมีข้อความขึ้นมาบอกว่าเป็นเวอร์ชั่นอะไร คุณอาจจะต้องอัพเดทไพธอนถ้ายังเป็นเวอร์ชั่นเก่าอยู่ รายละเอียดหาดูได้จาก http://www.python.org/download/mac/ ซึ่งจะแจกแจงอย่างละเอียดว่าแต่ละเวอร์ชั่นของ OS X ต้องทำอย่างไร


Windows[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

น่าจะเป็นระบบที่ง่ายที่สุดที่จะใช้ไพธอน เข้าไปหน้าดาวน์โหลด ถ้าไม่รู้ว่าจะเลือกตัวไหนก็ให้เลือกตัวธรรมดาที่ใช้งานได้แน่ ส่วนผู้ที่ใช้ AMD64bits และติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows 64bits สามารถเลือกติดตั้งไพธอนสำหรับ AMD64bits แต่ก็อาจจะมีปัญหากับองค์ประกอบอื่น เช่น ฐานข้อมูล เพราะฉะนั้นเพื่อลดปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้น ขอแนะนำให้ใช้ ตัวธรรมดาจาก http://www.python.org/download/ แล้วมองหาบรรทัดข้างล่าง

Python 3.0.1 Windows installer (Windows binary -- does not include source)

เมื่อดาวน์โหลดมาเสร็จเรียบร้อย ก็ติดตั้งได้เลย โดยการรันโปรแกรมที่ดาวน์โหลดมาได้ ทำตามคำแนะนำในนั้นซึ่งก็มีขั้นตอนน้อยมาก

โหมดโต้ตอบ(Interactive Mode)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ตรงนี้คือส่วนที่คุณจะใช้ไพธอนได้อย่างง่ายๆ โดยการเรียกโปรแกรม IDLE (Python GUI) ข้างล่างก็เป็นตัวอย่างใน Red Hat และ Windows ตามลำดับ

Python 3.0 (r30:67503, Dec 29 2008, 21:31:07)
[GCC 4.3.2 20081105 (Red Hat 4.3.2-7)] on linux2
Type "copyright", "credits" or "license()" for more information.

**************************************************************** 
Personal firewall software may warn about the connection IDLE
makes to its subprocess using this computer's internal loopback
interface.  This connection is not visible on any external
interface and no data is sent to or received from the Internet.
**************************************************************** 

IDLE 3.0
>>>


Python 3.0.1 (r301:69561, Feb 13 2009, 20:04:18) [MSC v.1500 32 bit (Intel)] on win32
Type "copyright", "credits" or "license()" for more information.
>>>

เมื่อคุณเห็น >>> นั่นคือคุณอยู่ในตัวแปลภาษาของไพธอนในโหมดโต้ตอบเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างที่คุณพิมพ์เข้าไปหลังเครื่องหมาย >>> ตามด้วย Enter จะถูกประมวลผลโดย ตัวแปลภาษาไพธอนทีละบรรทัด ลองพิมพ์ 1+1 ดู (อย่าลืมตามด้วยปุ่ม Enter ทุกครั้งที่จบบรรทัด) ไพธอนจะตอบ 2 กลับมา โหมดโต้ตอบจะเป็นที่ซึ่งคุณจะใช้ทดลองคำสั่งในไพธอน และดูผลลัพท์จากไพธอน

หมายเหตุ หากคุณสังเกตุสักนิด ก็จะเห็นว่าหน้าต่างนี้มีชิ่ออยู่ด้านบนว่า Python Shell

สร้างและรันโปรแกรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เข้าสู่โปรแกรม IDLE (Python GUI) ในเมนูด้านบน เลือก File แล้วก็ New Window จะมีหน้าต่างใหม่ปรากฏขึ้น ซึ่งไม่มีเครื่องหมาย >>> อยู่เลย และด้านบนในส่วนเมนูก็จะแตกต่างจาก Python Shell อยู่เล็กน้อย หน้าต่างใหม่นี้เราจะเรียกว่าหน้าต่างโปรแกรม ลองพิมพ์ตามข้างล่าง

print("Hello, World!")

เราจะบันทึกโปรแกรมนี้ไว้ในเครื่อง ซึ่งเราเรียกว่าการเซฟ (save) โดยเรียกเมนู File ตามด้วย Save ตั้งชื่อว่า hello.py เราจะเซฟที่ไหนก็ได้ และเฉพาะที่เซฟแล้วเท่านั้นถึงจะรันได้

ทีนี้ก็รันโปรแกรม โดยการเลือกเมนู Run ตามด้วย Run Module จะเห็นว่าไพธอนพิมพ์คำว่า Hello, World! ออกมาที่หน้าต่างตัวแปลภาษา (Python Shell) ไม่ใช่หน้าต่างโปรแกรมที่เราพิมพ์โปรแกรม

สำหรับผู้ที่ต้องการดูตัวอย่างที่มีรายละเอียดมากกว่า ให้ลองเข้าไปดูที่ http://hkn.eecs.berkeley.edu/~dyoo/python/idle_intro/index.html


การตั้งชื่อโปรแกรม[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อคุณเขียนโปรแกรมขึ้นมาแล้ว คุณก็ต้องตั้งชื่อ เพื่อเก็บมันเอาไว้ในเครื่อง(เซฟ) ก่อนที่สั่งรัน เพราะถ้าคุณไม่เซฟ ไพธอนจะไม่ยอมรันโปรแกรมจนกว่าคุณจะตั้งชื่อและเซฟ การตั้งชื่อก็มีกฏหลายข้อ หากคุณไม่ทำตามกฏ อาจจะมีสิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้น และนั่นหมายถึงเวลาที่จะสูญเสียไป

1.ตั้งชื่อให้มีนามสกุล(extension)เป็น .py เท่านั้น และจะไม่ใส่จุดลงในตำแหน่งอื่นในชื่อโปรแกรม
2.ใช้อักขระภาษาอังกฤษมาตรฐานเท่านั้นซึ่งในที่นี้หมายถึง อักษรภาษาอังกฤษ(a-z) ตัวเลข(0-9) แดช(dash (-)) และอันเดอร์สกอร์(underscore(_))
3.ไม่ใส่ช่องว่าง(" ")ไว้ในชื่อ ให้ใช้อันเดอร์สกอร์(_)แทน
4.ขึ้นต้นชื่อด้วยตัวอักษรเท่านั้น ไม่ใช้ตัวเลขและเครื่องหมายอื่น
5.ไม่ใช้ตัวอักษรภาษาอื่นในชื่อ

คำแนะนำอีกอย่างสำหรับการตั้งชื่อโปรแกรม คือ ควรตั้งชื่อที่มีความหมายตรงกับเนื้อหาของโปรแกรมที่เขียน เช่น look_for_pi หรือ pi001 เข้าใจได้ในทันทีว่าเป็นโปรแกรมหาค่าพาย อย่าใช้ชื่อทั่วไป เช่น program01, test001, somchai111 ชื่อลักษณะนี้ เมื่อคุณกลับมาดูอีกครั้ง คุณจะต้องเสียเวลาในการแยกแยะว่าโปรแกรมไหนทำอะไร

เรียกใช้ไพธอนจากคอมมานด์ไลน์[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

คุณไม่จำเป็นต้องใช้ไพธอนจากคอมมานด์ไลน์ การใช้ไพธอนในโหมดโต้ตอบจะง่ายกว่ามาก แต่ถ้าจะใช้ ก็ต้องใช้โปรแกรมแก้ไขข้อความ(Text Editor) เขียนโปรแกรมไพธอนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงรันโปรแกรมไพธอนนั้นที่คอมมานด์ไลน์โดยพิมพ์ python ตามด้วยชื่อโปรแกรมที่เราเซฟไว้ อย่างเช่น


C:\Python30>

C:\Python30>python lookforpi

  1. 1415926


หน้าแรก : ไพธอน 3.0 สำหรับผู้ไม่เคยเขียนโปรแกรม

ก่อนหน้า : เนื้อหาสาระ

ต่อไป : เฮลโลเวิลด์