ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี/ภาคที่ 1
ในการปกครองแผ่นดินอย่างสมัยใหม่นั้น อำนาจการปกครองแบ่งออกเป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ทว่า อำนาจทั้งสามนี้มิใช่ของใหม่ หากมีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว เพราะเป็นกิจการพื้นฐานในการรักษาความสงบเรียบร้อยและพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการ (Judiciary) ซึ่งมีหน้าที่ระงับข้อพิพาทนั้นอุบัติขึ้นมายาวนานพอ ๆ กับความขัดแย้งในสังคมเอง
สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่ปรากฏอำนาจตุลาการมาแต่โบราณกาล เช่น ในอาณาจักรไทยสยาม (ไทยภาคกลางปัจจุบัน) ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ว่า ในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการโดยตรง โดยในแผ่นดินพ่อขุนรามคำแหงนั้น พระมหากษัตริย์ทรงให้ติดตั้งกระดิ่งไว้ที่ประตูวัง ราษฎรมีเรื่องมีราวก็มาลั่นกระดิ่ง พระมหากษัตริย์ทรงได้ยินก็จะเสด็จออกมาว่าความให้[1] ศิลาจารึกหลักเดียวกันยังระบุว่า ขุนศาลตุลาการในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างเป็นกลางด้วย[2]
อย่างไรก็ดี รายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการขององค์กรตุลาการไทยนั้นจะได้ศึกษากันในวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ส่วนในโอกาสนี้ จะได้ศึกษาภาพรวมเกี่ยวกับตัวองค์กรและกฎหมายจัดองค์กรตุลาการไทยในปัจจุบันเป็นเบื้องต้น ฉะนั้น ภาคแรกจึงแบ่งเนื้อหาดังนี้
บทที่ 1 บททั่วไป: ว่าด้วยระบบศาลไทย
บทที่ 2 ธรรมนูญศาล: ว่าด้วยกฎหมายสำหรับจัดองค์กรตุลาการไทย
เชิงอรรถ
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]- ↑ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 31-35 และด้านที่ 2 บรรทัดที่ 1-2 ว่า (มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ม.ป.ป.: ออนไลน์)
"ในปากประตูมีกระดึงอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ไปลั่นกระดึงอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม" (อักขรวิธีปัจจุบัน)
- ↑ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 25-27 ว่า (มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ม.ป.ป.: ออนไลน์)
"ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุนผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้จึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน" (อักขรวิธีปัจจุบัน)
ขึ้น | ภาคที่ 1 • บทที่ 1 บททั่วไป → |