ข้ามไปเนื้อหา

ให้/บทที่ 1/ฎ.

จาก วิกิตำรา
# เลขที่ ใจความ หมายเหตุ
คู่สัญญา
1 38/2537   การยกอสังหาริมทรัพย์ให้โดยเสน่หา อันจะตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. ม. 525 คือ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ต้องปรากฏว่ามีคู่สัญญาสองฝ่าย คือ ผู้ให้ กับผู้รับ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. ม. 521

  แต่ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยยอมให้ที่ดินจำนวนสองแปลง และบ้านอีกหนึ่งหลัง ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตาม ป.พ.พ. ม. 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. ม. 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แม้ไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

2 480/2539   มูลนิธิจะเป็นนิติบุคคลได้ต่อเมื่อจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ขณะรับการให้ มูลนิธิยังไม่เป็นนิติบุคคล ย่อมถือว่า ผู้ให้สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมการให้จึงเป็นโมฆะไปตาม ป.พ.พ. ม. 156 และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสามารถเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้นั้นได้ โดยที่ผู้ให้ไม่จำต้องฟ้องร้องขอให้เพิกถอนเสียก่อน   มีแต่บุคคลเท่านั้นที่จะเป็นคู่สัญญาได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แต่มูลนิธิในคดีนี้ยังไม่มีสภาพบุคคล ณ เวลาที่รับการให้

  เมื่อผู้ให้ให้ทรัพย์สินแก่มูลนิธิโดยเข้าใจว่ามูลนิธิเป็นบุคคลแล้ว จึงถือว่า ผู้ให้สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณี อันเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. ม. 156 และเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆะ

เจตนาและวัตถุประสงค์
1 936/2522   เมื่อโจทก์มิได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยเสน่หา แต่เป็นการยกที่ให้เพื่อตอบแทนจำเลยที่ออกเงินชำระหนี้แทนโจทก์ โจทก์ฟ้องขอถอนคืนซึ่งการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
2 4056/2533   โจทก์ฟ้องเรียกชำระหนี้จากจำเลย ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและสั่งให้บังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินของจำเลย จำเลยจึงจดทะเบียนยกที่ดินนั้นให้แก่ผู้ร้องโดยเสน่หา ดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกับผู้ร้องสมคบกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินพิพาทถูกยึดใช้หนี้โจทก์ การให้ที่ดินแก่กันระหว่างจำเลยกับผู้ร้องจึงเป็นการแสดงเจตนาลวง และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. ม. 118 (ม. 155 ปัจจุบัน)
แบบ
1 227/2532   จำเลยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ และรับรองว่า จะแบ่งแยกให้ในภายหน้า หากไม่แบ่งให้ตามสัญญา ยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญา ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่า จำเลยประสงค์จะยกที่ดินให้โจทก์โดยเสน่หา หาใช่เป็นกรณีสละการครอบครองไม่ เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

  การที่โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาท จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลย อันเป็นการยึดถือที่พิพาทไว้แทนจำเลย มิใช่ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ดังนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินสิบปี โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์

2 371/2532   ผู้ตายซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องและได้ส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องแล้ว ย่อมเป็นการยกให้ที่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. ม. 1378 ผู้ร้องย่อมได้

ไปซึ่งสิทธิครอบครอง โดยมิพักต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3 812/2533   โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชวน กฤษณวรรณ กับนางเชื้อ กฤษณวรรณ นายชวนมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอีกคน คือ นางละมัย กฤษณวรรณ

  บ้านพิพาทเป็นสินสมรสของนายชวนกับนางละมัย นายชวนยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ จึงถือได้ว่า นายชวนกับนางละมัยแบ่งบ้านนั้นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของนายชวน อีกส่วนเป็นของนางละมัย เป็นเหตุให้บ้านหมดสภาพความเป็นสินสมรสไป

  ต่อมา นางละมัยไปขอจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของตนให้แก่โจทก์ แต่ยังไม่มีการจดทะเบียน การให้ในส่วนของนางละมัยจึงไม่สมบูรณ์ กรรมสิทธิ์ในส่วนนี้ยังเป็นของนางอยู่ ครั้นนางละมัยตายลง กรรมสิทธิ์ดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาทของนาง

  ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 (ก่อน ป.พ.พ. บรรพ 5 เริ่มใช้บังคับ) ชายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้หลายคน
4 20/2534   มารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วยวาจา ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. ม. 525 ประกอบ ม. 456 โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยังเป็นของมารดาโจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์
5 663/2538   นายทองคำประสงค์จะให้ที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์โดยเสน่หา จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ม. 525 และประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 4 ทวิ กล่าวคือ นายทองคำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงจะสมบูรณ์ แต่นายทองคำถึงแก่ความตายเสียก่อนจะได้จดทะเบียน การให้รายนี้จึงยังไม่สมบูรณ์ตามบทกฎหมาย โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกของนายทองคำไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์หาได้ไม่
6 8530/2544   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมด้วยอุปกรณ์แก่โจทก์โดยเสน่หา แล้วทำสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์เป็นเวลาหนึ่งปีไปพร้อมกัน แต่จำเลยเช่าได้หนึ่งเดือนแล้วไม่ชำระค่าเช่าอีก โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเช่าและค่าเสียหายแก่โจทก์ กับทั้งคืนเครื่องวิทยุคมนาคมกับอุปกรณ์แก่โจทก์

  จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่เป็นเจ้าของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ ทั้งไม่ได้รับความเสียหาย เพราะยังไม่มีการส่งมอบหรือรับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง

  ปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยมีว่า สัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ข้างต้นสมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. ม. 523 การให้สมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ หนังสือสัญญาให้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ระบุว่า จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมตามบัญชีต่อท้ายสัญญานี้ให้แก่โจทก์นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันทำสัญญาให้นั้น จำเลยไม่ได้ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์แต่ประการใด ฉะนั้น สัญญาย่อมไม่สมบูรณ์ โจทก์ยังไม่เป็นเจ้าของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ ทั้งยังไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลย ตลอดจนไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ด้วย

7 8706/2547   ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และสามีเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์ยินยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยทำบันทึกว่าจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 แต่ยังมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ประการใด

  ศาลฎีกาเห็นว่า การให้ที่ดินนั้นต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. ม. 525 คือ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏว่า ยังไม่ได้ทำเช่นนั้น การให้รายนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

8 4377/2549   ยกทางพิพาทให้แก่สาธารณะ สมบูรณ์ทันทีที่แสดงเจตนา ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. ม. 525 อีก
สัญญาให้บางประเภท
1 586/2538   การให้หรือคำมั่นว่าจะให้ที่ดิน จะต้องได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. ม. 526

  บันทึกข้อตกลงระหว่าง ป. กับจำเลย ที่ระบุว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทยินยอมยกที่ดินดังกล่าวส่วนหนึ่งให้โจทก์ แต่มิได้จดทะเบียน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่พิพาทโดยอาศัยบันทึกดังกล่าวได้