ความรู้เรื่องประชากรและชุมชนเมือง/ประวัติศาสตร์และทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของประชากร

จาก วิกิตำรา

เมื่อประมาณ 6000 ปีก่อนคริสตกาล โลกมนุษย์มีประชากรอยู่ไม่เกิน 50 ล้านคน และมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนถึงประมาณปี ค.ศ. 1750 จำนวนประชากรของโลกได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1 พันล้านคน ต่อมาอีก 80 ปี คือ ในปี ค.ศ. 1930 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคน ต่อมาอีก 32 ปี คือ ในปี ค.ศ. 1962 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านคน ต่อมาอีก 12 ปี คือ ในปี ค.ศ. 1974 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้าน ในปี ค.ศ. 1987และจากการประมาณการของนักประชากรศาสตร์คาดว่า ในปี ค.ศ. 2025 โลกจะมีจำนวนประชากรถึง 8 พันล้านคน (Macionis 1993 : 592-593)

ผลจากการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็วทำให้ โทมัส โรเบิร์ต มัธทาส (Thomas Robert Malthus : 1766-1834) นักเศรษฐศาสตร์และพระสอนศาสนา (Clergyman) ชาวอังกฤษ ได้เสนอทฤษฎีเพื่อเตือนอันตรายที่อาจเกิดจากการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็วไว้ดังนี้

-จำนวนประชากรจะมีการเพิ่มอย่างรวดเร็วเกินกว่าการผลิตอาหาร

-ผลผลิตทางการเกษตรจะมีการเพิ่มแบบคณิตศาสตร์ (Arithmetically) คือ เพิ่มจาก1-2-3-4-5-6

-แต่จำนวนประชากรจะมีการเพิ่มแบบเรขาคณิต (Geometrically) คือ เพิ่มจาก 1-2-4-8-16-32

-สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการละเลยไม่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรและไม่ลดการคุมกำเนิด

-วิธีการลดจำนวนประชากรอาจเป็นไปได้ 2 แนวทางคือ การลดโดยธรรมชาติ จากการเกิดความอดอยาก ความแห้งแล้ง และสงคราม หรือหาทางป้องกันโดยการ ควบคุมการเกิด ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ และยึดเวลาการแต่งงานให้ช้าขึ้นเป็นต้น

แต่แนวความคิดของมัธทาสถูกคาร์ล มาร์กซ์ ตำหนิว่า เป็นแนวความคิดที่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเกิดทุพภิกขภัยตามมา โดยมาร์กซ์แสดงความคิดเกี่ยวกับการเพิ่มของประชากรไว้ดังนี้

-การเพิ่มของประชากรไม่ใช่ปัญหาที่วิกฤติ

-ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่สนับสนุนให้เกิดปัญหาต่อผู้ใช้แรงงาน

-ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับค่าจ้างต่ำและไม่สนับสนุนต่อความพึงพอใจในการทำงาน

ต่อมาได้มีการเสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงประชากร (Demographic transition theory) ที่มีข้อสมมุติฐานที่ว่า รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรจะมีความสัมพันธ์กับระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของสังคม และเสนอว่า รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงของประชากรมี 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 เป็นขั้นของสังคมเกษตรกรรมก่อนยุคอุตสาหกรรม จำนวนประชากรจะมีการเพิ่มอย่างช้า ๆ เพราะมีอัตราการเกิดสูง เนื่องมาจากสังคมต้องใช้แรงงานในการผลิตประกอบกับไม่มีการคุมกำเนิด และมีอัตราการตายสูงเช่นกัน เพราะมาตราฐานการดำรงชีพต่ำและใช้วิธีการทางการแพทย์แบบโบราณ

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นของสังคมที่กำลังกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม จำนวนประชากรจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีอัตราการเกิดสูง เนื่องจากสังคมมีความสามารถในการผลิตอาหารได้ดีและสามารถควบคุมการเกิดโรคภัยได้ดี ทำให้อัตราการตายลดลงเป็นอย่างมาก ในขั้นนี้ทำให้มัธทาสเกิดแนวความคิดและเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับประชากรเพื่อเตือนให้เห็นอัตรายจากการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว

ขั้นที่ 3 เป็นขั้นที่สังคมมีระบบเศรษฐกิจเป็นแบบสังคมอุตสาหกรรมเต็มที่ ประชากรมีการเพิ่มอย่างช้า ๆ อีกครั้ง เพราะอัตราการเกิดต่ำ อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีการควบคุมการเกิดอย่างแพร่หลาย แม้ว่าประชากรจะมีมาตราฐานในการครองชีพที่ดี แต่การมีบุตรเพิ่มขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากจนเป็นอุปสรรคในการครองชีพ และการมีบุตรน้อยทำให้สตรีสามารถออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาสนับสนุนครอบครัวได้สะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ประชากรมีอัตราการตายลดลง ดังนั้นการเพิ่มของประชากรจึงมีการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ อีกครั้ง

หน้า[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]