ภาษาไทย/ไวยากรณ์/การใช้คำ/คำสมาส
หน้าตา
(เปลี่ยนทางจาก คำสมาส)
เนื้อหา: | ความหมาย - ลักษณะ - ข้อสังเกต - ประโยชน์ |
---|
ความหมาย
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]คำสมาส คือ การสร้างคำใหม่ในภาษาบาลีสันสกฤต เช่นเดียวกับคำประสมในภาษาไทย เกิดจากการนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป มารวมกันเป็นคำเดียวกันให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน คำที่เกิดจากการสร้างคำวิธีนี้เรียกว่า คำสมาส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- คำสมาสที่ไม่มีการกลมกลืนเสียง เรียกว่า คำสมาส
- คำสมาสที่มีการกลมกลืนเสียง เรียกว่า คำสมาสที่มีการสนธิ
ลักษณะ
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]- 1. เกิดจากการประสมคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป
- 2. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น
- 2.1. คำบาลีสมาสกับคำบาลี เช่น
บาลี + บาลี | รวมเป็น | อ่านว่า |
---|---|---|
อาณา + เขต | อาณาเขต | อา - นา - เขด |
ปัญญา + ชน | ปัญญาชน | ปัน - ยา - ชน |
อิสระ + ภาพ | อิสรภาพ | อิด - สะ - หระ - พาบ |
- 2.2. คำสันสกฤตสมาสกับคำสันสกฤต เช่น
สันสกฤต + สันสกฤต | รวมเป็น | อ่านว่า |
---|---|---|
วิทยุ + ศึกษา | วิทยุศึกษา | วิด - ทะ - ยุ - สึก - สา |
ธรรม + ศาสตร์ | ธรรมศาสตร์ | ทำ - มะ - สาด |
อักษร + ศาสตร์ | อักษรศาสตร์ | อัก - สอน - ระ - สาด |
- 2.3. คำบาลีสมาสกับคำสันสกฤต หรือคำสันสกฤตสมาสกับคำบาลี เช่น
คำ | รวมเป็น | อ่านว่า |
---|---|---|
ยุติ + ธรรม | ยุติธรรม | ยุด - ติ - ทำ |
อรรถ + คดี | อรรถคดี | อัด - ถะ - คะ - ดี |
อัฒ + จันทร์ | อัฒจันทร์ | อัด - ทะ - จัน |
- 3. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ไม่ใส่รูปสระอะ เช่น
คำ | รวมเป็น | ไม่ใช่ |
---|---|---|
กาละ + เทศะ | กาลเทศะ | กาละเทศะ |
ธุระ + กิจ | ธุรกิจ | ธุระกิจ |
- 4. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ไม่ใส่ตัวการันต์ เช่น
คำ | รวมเป็น | ไม่ใช่ |
---|---|---|
แพทย์ + ศาสตร์ | แพทยศาสตร์ | แพทย์ศาสตร์ |
- 5. ต้องออกเสียงสระที่พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ถึงแม้จะไม่มีรูปสระกำกับ เช่น
คำ | อ่านว่า |
---|---|
อุณหภูมิ | อุน - หะ - พูม |
เทพบุตร | เทบ - พะ - บุด |
ประวัติศาสตร์ | ประ - หวัด - ติ - สาด |
- 6. เรียงคำหลักไว้หลังคำขยาย เมื่อแปลจึงแปลจากหลังไปหน้า เช่น
คำสมาส | คำขยาย | คำหลัก | ความหมาย |
---|---|---|---|
ราชการ | ราช (พระเจ้าแผ่นดิน) | การ (งาน) | งานของพระเจ้าแผ่นดิน |
เทวบัญชา่ | เทว (เทวดา) | บัญชา (คำสั่ง) | คำสั่งของเทวดา |
วรรณคดี | วรรณ (หนังสือ) | คดี (เรื่อง) | เรื่องของหนังสือ |
พุทธศาสนา | พุทธ (พระพุทธเจ้า) | ศาสนา | ศาสนาของพระพุทธเจ้า |
วีรบุรุษ | วีร (กล้า) | บุรุษ | บุรุษผู้กล้า |
- 7. คำบาลีสันสกฤต ที่มีคำว่า พระ ที่แผลงมาจาก วร (วอ - ระ) ประกอบข้างหน้า จัดเป็นคำสมาสด้วย
- แม้คำว่า พระ จะประวิสรรชนีย์ เช่น
พระกรรณ | พระขรรค์ | พระคฑา | พระฉวี | พระบาท |
- 8. คำสมาสส่วนใหญ่มักจะลงท้ายคำว่า ศาสตร์ ภัย กรรม ภาพ ศึกษา วิทยา เช่น
นิติศาสตร์ | รัฐศาสตร์ | วิทยาศาสตร์ | ศึกษาศาสตร์ |
มหันตภัย | วาตภัย | อัคคีภัย | อุทกภัย |
กายกรรม | กิจกรรม | คหกรรม | วิศวกรรม |
กายภาพ | ทัศนียภาพ | อิสรภาพ |
ข้อสังเกต
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]- 1. การประสมคำบางคำมีลักษณะคล้ายคำสมาส คือ คำแรกมาจากคำบาลีหรือสันสกฤต คำหลังเป็นคำไทย เวลาแปลจะแปลจากหน้าไปหลัง อ่านออกเสียงเหมือนคำสมาส แต่ไม่ถือว่าเป็นคำสมาส เช่น
คำ | มาจาก |
---|---|
กรมท่า | กรม (ข.) + ท่า (ท.) |
เทพเจ้า | เทพ (ป.) + เจ้า (ท.) |
ผลไม้ | ผล (ป.) + ไม้ (ท.) |
พลความ | พล (ป.) + ความ (ท.) |
พลเมือง | พล (ป.) + เมือง (ท.) |
- 2. การประสมคำที่มีภาษาอื่นที่ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤตปนอยู่ คำคำนั้นไม่ถือเป็นคำสมาส เช่น
คำ | มาจาก |
---|---|
พลกำลัง | พล (ป., ส.) + กำลัง (ข.) |
พระเขนย | พระ (ป., ข.) + เขนย (ข.) |
เคมีภัณฑ์ | เคมี (อ.) + ภัณฑ์ (ป., ส.) |
คริสต์ศักราช | คริสต์ (อ.) + ศักราช (ส.) |
- 3. มีคำสมาสบางคำไม่ออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
คำ | อ่านว่า |
---|---|
รสนิยม | รด - นิ - ยม |
สาธกโวหาร | สา - ทก - โว - หาน |
สามัญศึกษา | สา - มัน - สึก - สา |
สุพรรณบุรี | สุ - พัน - บุ - รี |
สุภาพบุรุษ | สุ - พาบ - บุ - หรุด |
ประโยชน์ของคำสมาส
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]- 1. เป็นความเจริญทางด้านภาษา เมื่อต้องการใช้คำให้สละสลวย ก็สร้างคำขึ้นใหม่ให้พอใช้
- 2. เป็นประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์ ประเภทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อให้เข้าตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ
- 3. เพื่อให้อ่านเขียนได้ถูกต้อง คือ อ่านต่อเนื่องกัน และเขียนได้ถูกต้องตามหลักคำสมาสที่อ่านและออกเสียงสระอะโดยไม่ต้องประวิสรรชนีย์