ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาไทย/ไวยากรณ์/การใช้คำ/คำสมาส

จาก วิกิตำรา
เนื้อหา: ความหมาย - ลักษณะ - ข้อสังเกต - ประโยชน์

คำสมาส คือ การสร้างคำใหม่ในภาษาบาลีสันสกฤต เช่นเดียวกับคำประสมในภาษาไทย เกิดจากการนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป มารวมกันเป็นคำเดียวกันให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน คำที่เกิดจากการสร้างคำวิธีนี้เรียกว่า คำสมาส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • คำสมาสที่ไม่มีการกลมกลืนเสียง เรียกว่า คำสมาส
  • คำสมาสที่มีการกลมกลืนเสียง เรียกว่า คำสมาสที่มีการสนธิ
1. เกิดจากการประสมคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป
2. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น
2.1. คำบาลีสมาสกับคำบาลี เช่น
บาลี + บาลี รวมเป็น อ่านว่า
อาณา + เขต อาณาเขต อา - นา - เขด
ปัญญา + ชน ปัญญาชน ปัน - ยา - ชน
อิสระ + ภาพ อิสรภาพ อิด - สะ - หระ - พาบ


2.2. คำสันสกฤตสมาสกับคำสันสกฤต เช่น
สันสกฤต + สันสกฤต รวมเป็น อ่านว่า
วิทยุ + ศึกษา วิทยุศึกษา วิด - ทะ - ยุ - สึก - สา
ธรรม + ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทำ - มะ - สาด
อักษร + ศาสตร์ อักษรศาสตร์ อัก - สอน - ระ - สาด


2.3. คำบาลีสมาสกับคำสันสกฤต หรือคำสันสกฤตสมาสกับคำบาลี เช่น
คำ รวมเป็น อ่านว่า
ยุติ + ธรรม ยุติธรรม ยุด - ติ - ทำ
อรรถ + คดี อรรถคดี อัด - ถะ - คะ - ดี
อัฒ + จันทร์ อัฒจันทร์ อัด - ทะ - จัน


3. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ไม่ใส่รูปสระอะ เช่น
คำ รวมเป็น ไม่ใช่
กาละ + เทศะ กาลเทศะ กาละเทศะ
ธุระ + กิจ ธุรกิจ ธุระกิจ


4. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ไม่ใส่ตัวการันต์ เช่น
คำ รวมเป็น ไม่ใช่
แพทย์ + ศาสตร์ แพทยศาสตร์ แพทย์ศาสตร์


5. ต้องออกเสียงสระที่พยางค์สุดท้ายของคำหน้า ถึงแม้จะไม่มีรูปสระกำกับ เช่น
คำ อ่านว่า
อุณหภูมิ อุน - หะ - พูม
เทพบุตร เทบ - พะ - บุด
ประวัติศาสตร์ ประ - หวัด - ติ - สาด


6. เรียงคำหลักไว้หลังคำขยาย เมื่อแปลจึงแปลจากหลังไปหน้า เช่น
คำสมาส คำขยาย คำหลัก ความหมาย
ราชการ ราช (พระเจ้าแผ่นดิน) การ (งาน) งานของพระเจ้าแผ่นดิน
เทวบัญชา่ เทว (เทวดา) บัญชา (คำสั่ง) คำสั่งของเทวดา
วรรณคดี วรรณ (หนังสือ) คดี (เรื่อง) เรื่องของหนังสือ
พุทธศาสนา พุทธ (พระพุทธเจ้า) ศาสนา ศาสนาของพระพุทธเจ้า
วีรบุรุษ วีร (กล้า) บุรุษ บุรุษผู้กล้า


7. คำบาลีสันสกฤต ที่มีคำว่า พระ ที่แผลงมาจาก วร (วอ - ระ) ประกอบข้างหน้า จัดเป็นคำสมาสด้วย
แม้คำว่า พระ จะประวิสรรชนีย์ เช่น
พระกรรณ พระขรรค์ พระคฑา พระฉวี พระบาท


8. คำสมาสส่วนใหญ่มักจะลงท้ายคำว่า ศาสตร์ ภัย กรรม ภาพ ศึกษา วิทยา เช่น
นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศึกษาศาสตร์
มหันตภัย วาตภัย อัคคีภัย อุทกภัย
กายกรรม กิจกรรม คหกรรม วิศวกรรม
กายภาพ ทัศนียภาพ อิสรภาพ

สุนทรียภาพ

1. การประสมคำบางคำมีลักษณะคล้ายคำสมาส คือ คำแรกมาจากคำบาลีหรือสันสกฤต คำหลังเป็นคำไทย เวลาแปลจะแปลจากหน้าไปหลัง อ่านออกเสียงเหมือนคำสมาส แต่ไม่ถือว่าเป็นคำสมาส เช่น
คำ มาจาก
กรมท่า กรม (ข.) + ท่า (ท.)
เทพเจ้า เทพ (ป.) + เจ้า (ท.)
ผลไม้ ผล (ป.) + ไม้ (ท.)
พลความ พล (ป.) + ความ (ท.)
พลเมือง พล (ป.) + เมือง (ท.)


2. การประสมคำที่มีภาษาอื่นที่ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤตปนอยู่ คำคำนั้นไม่ถือเป็นคำสมาส เช่น
คำ มาจาก
พลกำลัง พล (ป., ส.) + กำลัง (ข.)
พระเขนย พระ (ป., ข.) + เขนย (ข.)
เคมีภัณฑ์ เคมี (อ.) + ภัณฑ์ (ป., ส.)
คริสต์ศักราช คริสต์ (อ.) + ศักราช (ส.)


3. มีคำสมาสบางคำไม่ออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
คำ อ่านว่า
รสนิยม รด - นิ - ยม
สาธกโวหาร สา - ทก - โว - หาน
สามัญศึกษา สา - มัน - สึก - สา
สุพรรณบุรี สุ - พัน - บุ - รี
สุภาพบุรุษ สุ - พาบ - บุ - หรุด

ประโยชน์ของคำสมาส

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
1. เป็นความเจริญทางด้านภาษา เมื่อต้องการใช้คำให้สละสลวย ก็สร้างคำขึ้นใหม่ให้พอใช้
2. เป็นประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์ ประเภทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อให้เข้าตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ
3. เพื่อให้อ่านเขียนได้ถูกต้อง คือ อ่านต่อเนื่องกัน และเขียนได้ถูกต้องตามหลักคำสมาสที่อ่านและออกเสียงสระอะโดยไม่ต้องประวิสรรชนีย์