กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศ (international trade) เป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า (goods[1]) หรือบริการ (service) ระหว่างบุคคลซึ่งอยู่กันคนละประเทศ[2] เป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง เพราะปริมาณการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสินค้าของประเทศหนึ่งบ่งบอกถึงความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นได้พอสมควร[3] ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงสนใจการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงตรากฎหมายควบคุมการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือกันในระดับสากลโดยมีกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของการค้าเหล่านั้นด้วย
สำหรับประเทศไทย แม้มีบทบาททางการค้าระหว่างประเทศมาช้านานซึ่งนับย้อนไปได้ถึงโบราณกาล เช่น ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมีค้ากับต่างประเทศทางสำเภา และในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มีการขุดคอคอดกระเพื่อเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามันให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางทะเล[4] แต่การศึกษาเล่าเรียนกฎหมายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเพิ่งบุกเบิกได้ไม่นาน[5] และในวงการศาลก็เพิ่งจัดตั้งศาลชำนาญพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศขึ้นเมื่อปี 2539 คือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้นักกฎหมายซึ่งชำนิชำนาญทางการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ขณะนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทยยังมีน้อยและไม่ลงรอยกันเสมือนในต่างประเทศ จำต้องวางรากฐานอีกยาวไกล
ตำรานี้มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในแง่กฎหมาย ทั้งที่เป็นกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ตำรานี้จึงแบ่งเนื้อหาดังนี้
ภาคที่ 1 ภาคทั่วไป: ว่าด้วยลักษณะของการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และสัญญาหลักทางการค้าระหว่างประเทศ
ภาคที่ 2 ซื้อขายระหว่างประเทศ
ภาคที่ 3 รับขนของทางทะเล
ภาคที่ 4 ประกันภัยทางทะเล
ภาคที่ 5 เลตเตอร์ออฟเครดิต
คำแปลกฎหมายต่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรากฏในตำรานี้เป็นคำแปลของวิกิตำรา มิใช่คำแปลอย่างเป็นทางการ อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ตำรานี้ได้แทรก ฎ. บางฉบับไว้ด้วย แต่พึงทราบว่า ในระบบซีวิลลอว์ (civil law) ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยนั้น คำพิพากษาไม่เป็นกฎหมาย เป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายเป็นรายกรณีไปเท่านั้น
ภาคผนวก
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]เชิงอรรถ
[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]- ↑ คำว่า "goods" แปลกันหลายอย่าง โดยทั่วไปมักใช้ว่า "สินค้า" (เช่น กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 35) อนึ่ง ใช้ว่า "สังหาริมทรัพย์" โดยเห็นว่าเป็นศัพท์ทางคอมมอนลอว์ก็มี [เช่น กิตติศักดิ์ ปรกติ, ม.ป.ป. (อนุสัญญาว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศฯ): ออนไลน์.] ส่วนในกฎหมายแพ่งไทยใช้คำหลายคำสลับกันไป เป็นต้นว่า "ทรัพย์", "ของ", "สิ่งของ" และ "สินค้า" (ดู Kamol Sandhikshetrin, 2007: 130, 137 และ 157. เป็นต้น)
- ↑ กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 35
- ↑ กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 36
- ↑ เกษม เกษมสุวรรณ, 2527: 252; สุเมธ พรมพันห่าว, 2542: 1; และสุเมธ พรมพันห่าว, 2544: คำนิยม. (อ้างถึงใน กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 36.)
- ↑ กำชัย จงจักรพันธุ์ (2554: 36) ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า
"...สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้ปรับปรุงหลักสูตรเนติบัณฑิตในปีการศึกษา 2539 กำหนดให้มีการเรียนการสอนและการสอบในวิชากฎหมายการค้าระหว่างประเทศเพิ่มเติม จากเดิมที่ไม่มีการบรรจุวิชานี้ไว้ในหลักสูตร...[และ] คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท (กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ) โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2544..."
ขึ้น |