ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ/ภาคที่ 2/บทที่ 1/ส่วนที่ 1

จาก วิกิตำรา




2
ซื้อขายระหว่างประเทศ


2.1
หลักเกณฑ์ตาม อ.เวียนนา


2.1.1 อ.เวียนนา

ความเป็นมาของ อ.เวียนนา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
อ่ า น เ พิ่ ม

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยกร่าง 'อนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายเอกรูปว่าด้วยการซื้อขายระหว่างประเทศ'

John Honnold (1965):
The Uniform Law for the International Sale of Goods: The Hague Convention of 1964

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อสร้างเอกภาพให้แก่กฎหมายเอกชน[ก] (International Institute for the Unification of Private Law) หรือเรียกโดยย่อว่า "อูว์นีดรัว" (Unidroit) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นแผนกของสันนิบาตชาติ (League of Nations) เมื่อ พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปกฎหมายเอกชนให้เป็นหนึ่งเดียว[1] อูว์นีดรัวมีสำนักอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี[1] บางโอกาสจึงมีผู้ออกนามสถาบันนี้ว่า "สถาบันกรุงโรม" (Rome Institute)[2]

อูว์นีดรัวได้เริ่มจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930)[3]

คณะกรรมการของอูว์นีดรัวได้ร่างกฎหมายเอกรูปขึ้นฉบับหนึ่ง มีเนื้อหาเป็นการประมวลกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ เมื่อร่างกันเสร็จใน พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935) จึงส่งร่างนั้นไปให้สันนิบาตชาติส่งต่อให้รัฐบาลของรัฐสมาชิกแสดงความเห็นกลับมา เมื่อฟังความเห็นแล้วก็ปรับปรุงร่างนั้นอีกเป็นครั้งสุดท้าย สำเร็จลงเมื่อ พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939)[4]

อย่างไรก็ดี สงครามโลกครั้งที่สองทำให้กระบวนการชะงัก[4] เมื่อสิ้นสงครามแล้ว อูว์นีดรัวก็เลิกล้มไปพร้อมกับการสิ้นสุดลงของสันนิบาตชาติ แต่ได้มีการสถาปนาอูว์นีดรัวขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940)[1] และบรรดานักวิชาการที่ยังไม่ลืมเลือนโครงการข้างต้นก็รื้อฟื้นร่างกฎหมายนั้นขึ้นอีกครั้ง แล้วจัดประชุมกันที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) มีรัฐต่าง ๆ เข้าร่วมด้วยจำนวนยี่สิบเอ็ดรัฐ ที่ประชุมลงมติว่า ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดำเนินโครงการต่อ ครั้น พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) คณะกรรมาธิการก็เผยแพร่ร่างที่สังคายนาแล้วให้แก่รัฐบาลชาติต่าง ๆ เพื่อฟังความคิดเห็นชั้นสุดท้ายก่อนเตรียมประชุมทางทูตเพื่อตกลงรับตัวบทกันต่อไป[4]

แต่เมื่อได้รับความเห็นของรัฐบาลทั้งหลายแล้ว คณะกรรมาธิการได้ปรับปรุงร่างนั้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2499 จนลุล่วงเมื่อ พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) ร่างฉบับ พ.ศ 2506 นี้เองที่เผยแพร่ให้แก่รัฐบาลต่าง ๆ สำหรับใช้ในการเข้าประชุมทางทูตที่กรุงเฮกอันกำหนดกันไว้ว่าจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964)[4]

ระหว่างนั้น คณะกรรมาธิการก็ยกร่างกฎหมายเอกรูปอีกฉบับ ว่าด้วยการก่อสัญญาซื้อขายระหว่างเทศ แล้วจัดส่งไปให้รัฐบาลทั้งหลายเพื่อรับฟังความคิดเห็นพร้อมกัน[4]

ลุเดือนเมษายน พ.ศ. 2507 การประชุมทางทูตข้างต้นมีขึ้นที่กรุงเฮก เรียกกันว่า "การประชุมกรุงเฮก" (Hague Conference)[5] การประชุมจัดขึ้นสามสัปดาห์[5] ชาติที่เข้าร่วมประชุมมีจำนวนยี่สิบแปดชาติ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป[6] และที่ประชุมได้ตกลงรับร่างอนุสัญญาทั้งสองเป็นอนุสัญญามีชื่อว่า

1.   อนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายเอกรูปว่าด้วยการซื้อขายระหว่างประเทศ (Convention relating to a Uniform Law on the International Sale of Goods) หรือเรียกโดยย่อว่า "ซียูลิส" (C-ULIS) [ข] และ

2.   อนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายเอกรูปว่าด้วยการก่อสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ (Convention relating to a Uniform Law on the Formation of Contracts for the International Sale of Goods) หรือเรียกโดยย่อว่า "ซีอัลฟ์" (C-ULF) [ฃ]

อนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า อนุสัญญากรุงเฮก (Hague Conventions) [ค] อย่างไรก็ดี มีเพียงรัฐเก้ารัฐที่ให้สัตยาบันใน อ.เฮก คือ แกมเบีย ซานมารีโน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร อิตาลี และอิสราเอล[7] โดยสหราชอาณาจักรยังตั้งข้อสงวนไว้ด้วยว่า จะไม่ผูกพันกับข้อบทบางข้อของ อ.เฮก[8] ประกอบกับไม่มีประเทศกำลังพัฒนา (developing country) ได้เข้าร่วมในกระบวนการยกร่างเลย[9] เป็นเหตุให้ อ.เฮก ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร[9][10]

อ่ า น เ พิ่ ม

1.   ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 2205 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 1966 (แต่งตั้งอันซิทร็อล)

UN General Assembly
Resolution 2205 (XXI) of 17 December 1966

2.   รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยกร่าง อ.เวียนนา

Peter Schlechtriem (1986):
Uniform Sales Law - The UN-Convention on Contracts for the International Sale of Goods

3.   สถานะและรายชื่อรัฐภาคี อ.เวียนนา ในปัจจุบัน

Uncitral (2013):
Status: 1980 - United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods

เพราะจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นระเบียบเดียวกันสำหรับควบคุมการซื้อขายระหว่างประเทศ เมื่อ อ.เฮก ล้มเหลว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) จึงมีข้อมติที่ 2205 แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission om International Trade Law) หรือเรียกโดยย่อว่า "อันซิทร็อล" (Uncitral) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) เพื่อ "ส่งเสริมการประมวลและสร้างเอกภาพให้แก่กฎหมายการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง" (promote the progressive harmonization and unification of international trade law)[11]

อันซิทร็อลแต่งตั้งคณะทำงาน (Working Group) ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อร่างกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการซื้อขายขึ้นจนสำเร็จเป็น "ร่างอนุสัญญาว่าด้วยการซื้อขาย" (Draft Convention on Sales) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976)[9] ต่อมา ในการประชุมอันซิทร็อลครั้งที่สิบ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) โดยที่ประชุมได้ตกลงรับร่างอนุสัญญาดังกล่าว คณะทำงานชุดนั้นจึงกลับไปปรับปรุงร่างอนุสัญญาเพิ่ม แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมอันซิทร็อลในการประชุมครั้งที่สิบเอ็ด ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978)[9] จากนั้น เลขาธิการสหประชาชาติจึงแจกจ่ายร่างฉบับหลังให้แก่รัฐบาลของประเทศสมาชิกสหประชาชาติเพื่อรับฟังความคิดเห็น[9]

เมื่อกระบวนเสร็จสิ้นแล้ว อันซิทร็อลได้จัด "การประชุมเวียนนาว่าด้วยการซื้อขายระหว่างประเทศ" (Vienna Conference on International Sales) ขึ้น ณ วังฮอฟบูร์ก (Hofburg Palace) กรุงเวียนนา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากรัฐหกสิบสองรัฐ[9] ระหว่างวันที่ 7 ถึง 11 เมษายนอันอยู่ในสัปดาห์สุดท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้ประชุมเต็มคณะเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างอนุสัญญาข้างต้นเป็นครั้งสุดท้าย และมีการออกเสียลงคะแนน[9] ปรากฏว่า รัฐสี่สิบสองรัฐตกลงรับร่างอนุสัญญา และสิบรัฐงดออกเสียง[ฅ] ในวันที่ 11 เมษายน จึงมีการลงนามในปัจฉิมกรรมสาร (Final Act) และมีงานรื่นเริงเพื่อฉลองอนุสัญญา[9]

อนุสัญญาดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ[ฆ] (United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods) หรือเรียกโดยย่อว่า ซีไอเอสจี (CISG) แต่มักเรียกกันว่า อนุสัญญากรุงเวียนนา (Vienna Convention) เนื่องจากตกลงรับกันที่กรุงเวียนนา[ง]

อ.เวียนนา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988)[12] ปัจจุบัน มีรัฐลงนามและให้สัตยบันใน อ.เวียนนา แล้วจำนวนเจ็ดสิบแปดรัฐ รัฐเหล่านี้ อ.เวียนนา เรียกว่า รัฐผู้ทำอนุสัญญา (Contracting State)[จ] ส่วนรัฐที่ลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันมีจำนวนสิบเจ็ดรัฐ[13]

อ.เวียนนา นับเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งของอันซิทร็อล รัฐซึ่งเห็นชอบใน อ.เวียนนา มาจาก "ทุกท้องที่ในทางภูมิศาสตร์ ทุกระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และทุกระบบหลักในทางกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ"[14] อ.เวียนนา นี้ยังได้รับการพรรณนาว่า เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในวงการนิติบัญญัติ[15] และเป็น "เอกสารระหว่างประเทศที่ได้รับความสำเร็จมากที่สุดในบัดนี้"[16] ด้วย

การใช้ อ.เวียนนา บังคับ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แน่นอนอยู่แล้วว่า อ.เวียนนา ใช้บังคับแก่สัญญาซื้อขาย มิใช่สัญญาอื่นใด

แต่ในอันที่จะนำ อ.เวียนนา มาใช้นั้น มีข้อต้องพิจารณาอยู่สามประการ คือ เรื่องสถานประกอบธุรกิจของคู่สัญญา เรื่องความตกลงของคู่สัญญา และเรื่องลักษณะของสัญญา ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดแล้วก็อาจนำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับได้หรือมิได้ แล้วแต่กรณี

สถานประกอบธุรกิจของคู่สัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  (1)   อนุสัญญานี้ใช้บังคับแก่สัญญาซื้อขายระหว่างคู่สัญญาซึ่งมีสถานประกอบธุรกิจอยู่ต่างรัฐกัน

  (1)   (ก)   เมื่อรัฐนั้นเป็นรัฐผู้ทำอนุสัญญานี้ หรือ

  (1)   (ข)   เมื่อหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเปิดช่องให้นำกฎหมายของรัฐผู้ทำอนุสัญญานี้มาใช้บังคับได้

  (2)   ไม่จำต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจอยู่ต่างรัฐกัน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้จากตัวสัญญาเองก็ดี หรือจากธรรมเนียมการค้าใด ๆ ระหว่างคู่สัญญา หรือจากข้อมูลข่าวสารซึ่งเปิดเผยขึ้นโดยคู่สัญญาไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญานั้นก็ดี

  (3)   ในการวินิจฉัยว่าจะใช้อนุสัญญานี้บังคับหรือไม่นั้น ห้ามมิให้คำนึงถึงสัญชาติของคู่สัญญา และลักษณะทางแพ่งหรือพาณิชย์ของคู่สัญญาหรือของตัวสัญญา

อ.เวียนนา ข. 1[a]
  เพื่อประโยชน์แห่งอนุสัญญานี้

  (1)   ถ้าคู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจมากกว่าหนึ่งแห่ง สถานประกอบธุรกิจนี้ก็คือแห่งที่เกี่ยวพันกับสัญญาและการชำระหนี้ตามสัญญานั้นมากที่สุด โดยให้คำนึงถึงพฤติการณ์ที่คู่สัญญารับทราบหรือหยั่งทราบได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญาด้วย

  (2)   ถ้าคู่สัญญาไม่มีสถานประกอบธุรกิจ ก็ให้อ้างถึงถิ่นที่เขาอยู่เป็นหลักแหล่งแทน

อ.เวียนนา ข. 10[b]
  ปัญหาว่า จะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ ก็ได้แก่ กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

  ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ถิ่นที่ถือว่าสัญญานั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้น คือ ถิ่นที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น

  สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ม. 13

หลักเกณฑ์แรกสุดในการนำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับนั้นว่าด้วยเรื่องสถานประกอบธุรกิจ (place of business) ของคู่สัญญาดังนี้

1.   อ.เวียนนา ข. 1 ว. (1) (ก) กำหนดว่า ถ้าในการซื้อขายนั้น สถานประกอบธุรกิจของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายอยู่ต่างรัฐกัน และรัฐทั้งสองเป็นรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา ก็ให้นำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับ[17]

2.  อ.เวียนนา ข. 1 ว. (1) (ข) กำหนดอีกว่า ถ้าในการซื้อขายนั้น สถานประกอบธุรกิจของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายอยู่ต่างรัฐกัน แต่รัฐใดรัฐหนึ่งดังกล่าวนี้ไม่เป็นรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา ซึ่งทำให้ไม่เข้าเกณฑ์ตามอนุวรรค (ก) ข้างต้น และปรากฏว่า ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เช่น หลักเกณฑ์เรื่องการขัดกันของกฎหมาย (conflict of laws) แล้ว สามารถนำกฎหมายภายในของรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา รัฐใด ๆ มาใช้บังคับแก่สัญญาซื้อขายรายนี้ได้ ก็ให้นำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับแทนกฎหมายดังกล่าว[18]

เช่น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 พจมาร สว่างพวง ซึ่งเปิดร้านขายอุปกรณ์คมนาคมอยู่ ณ บ้านทรายดอง กรุงเทพมหานคร ทำสัญญาซื้อขายดาวเทียมเทยคมกับคุณชายกางซึ่งอยู่ตั้งบริษัทอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่เป็นรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา แต่ประเทศญี่ปุ่นเป็นแล้ว กรณีจึงไม่เข้าเกณฑ์ตาม อ.เวียนนา ข. 1 ว. (1) (ก) ที่จะสามารถนำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับได้

แต่ปรากฏว่า พจมารถือสัญชาติเกาหลีใต้ คุณชายกางก็ถือสัญชาติเกาหลีใต้ และประเทศเกาหลีใต้เป็นรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา แล้ว เป็นเหตุให้สามารถนำกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้มาใช้บังคับแก่สัญญาซื้อขายรายนี้ได้ เพราะพจมารอยู่ในประเทศไทย และกฎหมายไทย คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ม. 13 ว. 1 บัญญัติว่า ให้นำกฎหมายของประเทศที่คู่สัญญาถือสัญชาติร่วมกันมาใช้บังคับ ดังนี้ เมื่อสามารถนำกฎหมายเกาเหลีใต้มาใช้ได้ จึงเข้าเกณฑ์ตาม อ.เวียนนา ข. 1 ว. (1) (ข) ที่จะต้องนำ อ.เวียนนา มาใช้แทน สัญญาซื้อขายดาวเทียมเทยคมระหว่างพจมารกับคุณชายกางจึงต้องอยู่ในบังคับแห่ง อ.เวียนนา

เรื่องคู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจอยู่ต่างรัฐกันนี้ คู่สัญญาต้องรู้หรือควรรู้กันอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนทำสัญญาหรือในเวลาที่ทำสัญญา โดยอาจรู้ได้จากตัวสัญญาเองก็ดี จากธรรมเนียมการค้า (dealing) ระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเองก็ดี หรือจากข้อมูลข่าวสาร (information) ซึ่งคู่สัญญาเปิดเผยต่อกันก็ดี ตามความใน อ.เวียนนา ข. 1 ว. 2 แต่ถ้ามาทราบเรื่องดังกล่าวหลังทำสัญญาแล้ว แม้เข้าเกณฑ์ตาม ว. 1 ก็ต้องถือว่า นำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับไม่ได้[19]

ถ้าคู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจหลายแห่ง อ.เวียนนา ข. 10 (1) ว่า ให้ถือเอาแห่งที่ "เกี่ยวพันกับสัญญาและการชำระหนี้ตามสัญญานั้นมากที่สุด" (has the closest relationship to the contract and its performance) โดยให้พิจารณาจากพฤติการณทั้งหลายที่คู่สัญญาได้ทราบหรือหยั่งทราบได้ตั้งแต่ก่อนทำสัญญาหรือในขณะทำสัญญา

แต่ถ้าคู่สัญญาไม่มีสถานประกอบธุรกิจเลย อ.เวียนนา ข. 10 (2) ว่า ก็ให้หมายถึง "ถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง" (habitual residence) ของคู่สัญญาฝ่ายนั้น ๆ แทน

ความตกลงของคู่สัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  คู่สัญญาจะห้ามนำอนุสัญญานี้มาใช้บังคับก็ได้ หรือจะงดใช้หรือกำหนดให้แตกต่างออกไปซึ่งผลของข้อบทใด ๆ แห่งอนุสัญญานี้โดยอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อ 12 ก็ได้
อ.เวียนนา ข. 6[c]
  ความใด ๆ ในข้อ 11 ข้อ 29 หรือภาค 2 แห่งอนุสัญญานี้ ที่ยอมให้ทำสัญญาซื้อขาย หรือให้ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกสัญญานั้น หรือให้เสนอ สนอง หรือแสดงเจตนาอย่างอื่นในรูปแบบใด ๆ นอกเหนือไปจากการทำเป็นหนังสือได้นั้น ย่อมไม่ใช้บังคับถึงกรณีที่คู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจอยู่ในรัฐผู้ทำอนุสัญญานี้และได้ให้คำแถลงไว้ตามข้อ 96 แห่งอนุสัญญานี้แล้ว ห้ามมิให้คู่สัญญางดใช้หรือกำหนดให้แตกต่างออกไปซึ่งผลดังกล่าวหรือข้อบทข้อนี้
อ.เวียนนา ข. 12[d]
  รัฐผู้ทำอนุสัญญานี้ซึ่งกฎหมายของตนกำหนดให้สัญญาซื้อขายต้องทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จะทำคำแถลงตามข้อ 12 ณ เวลาใดก็ได้ว่า ความใด ๆ ในข้อ 11 ข้อ 29 หรือภาค 2 แห่งอนุสัญญานี้ ที่ยอมให้ทำสัญญาซื้อขาย หรือให้ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกสัญญานั้น หรือให้เสนอ สนอง หรือแสดงเจตนาอย่างอื่นในรูปแบบใด ๆ นอกเหนือไปจากการทำเป็นหนังสือได้นั้น มิให้นำมาใช้บังคับแก่คู่สัญญาซึ่งมีสถานประกอบธุรกิจอยู่ในรัฐตน
อ.เวียนนา ข. 96[e]

อ.เวียนนา นั้นร่างขึ้นเพื่อประมวลเอากฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายระหว่างประเทศเข้าไว้และปรับให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้มีกฎหมายกลางซึ่งนำมาใช้แก่กรณีต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด ไม่ว่าคู่กรณีจะอยู่ในวัฒนธรรม สังคม หรือระบบกฎหมายแบบใดก็ตาม[20]

กระนั้น อ.เวียนนา มิได้ปฏิเสธหลักเสรีภาพในการทำสัญญาอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในกฎหมายแพ่ง[20] อ.เวียนนา ข. 6 จึงอนุญาตให้คู่สัญญาสามารถตกลงกันว่า ในการซื้อขายระหว่างพวกตนนั้น (ก) มิให้นำ อ.เวียนนา นี้มาใช้บังคับ, (ข) ให้งดใช้ผลของข้อบทข้อใด ๆ แห่ง อ.เวียนนา หรือ (ค) กำหนดให้ผลของข้อบทข้อใด ๆ แห่ง อ.เวียนนา มีความแตกต่างจากที่ตราไว้แล้วก็ได้

แต่ อ.เวียนนา ข. 12 กำหนดว่า

1.   คู่สัญญาไม่อาจตกลงตามข้อ (ข) หรือ (ค) ข้างต้นได้ ถ้าคู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจอยู่ในรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา และได้ทำคำแถลงเอาไว้ตาม ข. 96

2.   ห้ามคู่สัญญาไม่นำ ข. 12 นี้มาใช้บังคับ งดใช้ ข. 12 นี้ หรือกำหนดให้ ข. 12 นี้มีผลแตกต่างออกไป

คำแถลงตาม อ.เวียนนา ข. 96 เป็นคำแถลงที่รัฐผู้ทำ อ.เวียนนา ทำขึ้นเพื่อประกาศว่า เมื่อกฎหมายของตนกำหนดให้สัญญาซื้อขายใด ๆ ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตนจะไม่ใช้กฎหมายดังกล่าวบังคับแก่การซื้อขายระหว่างประเทศที่คู่สัญญามีสถานประกอบธุรกิจอยู่ในดินแดนของตน (กล่าวคือ ประกาศว่า จะยอมให้คู่สัญญาซึ่งมีสถานประกอบธุรกิจอยู่ในดินแดนของตนทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศโดยไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ได้) โดย ข. 96 อนุญาตว่า คำแถลงเช่นนี้รัฐผู้ทำ อ.เวียนนา จะมีขึ้นเมื่อไรก็ได้

เพราะฉะนั้น แม้จะเข้าหลักเกณฑ์ประการแรกซึ่งว่าด้วยเรื่องสถานประกอบธุรกิจดังอธิบายมาแล้ว แต่ถ้าคู่สัญญาตกลงกันตามความใน อ.เวียนนา ข. 6 ก็อาจไม่สามารถนำ อ.เวียนนา มาใช้บังคับได้ทั้งหมดหรือบางส่วน

ลักษณะของสัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  อนุสัญญานี้มิให้ใช้บังคับแก่การซื้อขาย

  (ก)   ทรัพย์ซึ่งซื้อเพื่อใช้ไปสอยส่วนตัว ส่วนครอบครัว หรือส่วนครัวเรือน เว้นแต่ในเวลาใด ๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญานั้น ผู้ขายไม่ทราบหรือไม่ควรจะได้ทราบเลยว่า ทรัพย์เหล่านั้นซื้อไปเพื่อใช้สอยอย่างใดดังที่ว่ามานั้น

  (ข)   โดยทอดตลาด

  (ค)   เมื่อบังคับคดีหรืออาศัยอำนาจอย่างอื่นตามกฎหมาย

  (ง)   ทุน หุ้น หลักทรัพย์ในการลงทุน ตราสารเปลี่ยนมือ หรือเงินตรา

  (จ)   เรือ เครื่องเดินท้องน้ำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบก หรืออากาศยาน

  (ฉ)   ไฟฟ้า

อ.เวียนนา ข. 2[f]
  (1)   สัญญาจ้างประดิษฐ์หรือผลิตของนั้นให้ถือเป็นการซื้อขาย เว้นแต่คู่สัญญาผู้สั่งของรับจะจัดหาส่วนสำคัญของวัสดุอันจำเป็นแก่การประดิษฐ์หรือผลิตเช่นว่านั้นเอง

  (2)   อนุสัญญานี้ไม่ใช้บังคับแก่สัญญาซึ่งคู่สัญญาผู้รับทำของนั้นมีหนี้ในส่วนสำคัญเป็นการจัดหาแรงงานหรือทำงานอย่างอื่น

อ.เวียนนา ข. 3[g]
  อนุสัญญานี้ว่าด้วยการก่อสัญญาซื้อขาย กับทั้งสิทธิและหนี้ของผู้ขายและผู้ซื้อบรรดาซึ่งเกิดมีขึ้นแต่สัญญาเช่นว่านั้นเท่านั้น กล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า ถ้าอนุสัญญานี้มิได้กำหนดไว้เป็นอื่นโดยแจ้งชัดแล้ว อนุสัญญานี้ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับ

  (ก)   ความสมบูรณ์ของสัญญาก็ดี หรือของข้อบทใด ๆ แห่งสัญญานั้นก็ดี หรือของธรรมเนียมใด ๆ ก็ดี

  (ข)   ผลซึ่งสัญญาพึงมีแก่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ซึ่งซื้อขาย

อ.เวียนนา ข. 4[h]
  อนุสัญญานี้ไม่ใช้บังคับแก่ความรับผิดของผู้ขายเพื่อมรณะหรือความบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคลของผู้ใดอันเป็นผลมาจากทรัพย์
อ.เวียนนา ข. 5[i]

หลักเกณฑ์ประการสุดท้ายนั้นว่าด้วยลักษณะของสัญญาซื้อขาย มีทั้งกรณีที่ไม่ให้ใช้ อ.เวียนนา บังคับ และที่ให้นำไปใช้บังคับด้วย ดังนี้

1.   วัตถุประสงค์แห่งการใช้สอย อ.เวียนนา ข. 2 (ก) ว่า ไม่ให้ใช้ อ.เวียนนา บังคับ ถ้าทรัพย์ซึ่งซื้อขายกันนั้นซื้อไปไว้ใช้สอยส่วนตัว ส่วนครอบครัว หรือส่วนครัวเรือน (for personal, family or household use) แต่ถ้าก่อนทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ขายไม่ทราบหรือไม่ควรจะได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการใช้สอยดังกล่าว ก็ให้นำ อ.เวียนนา มาใช้ได้ เหตุที่ อ.เวียนนา กำหนดไว้ดังนี้ ก็เพื่อมิให้ขัดกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐผู้ทำ อ.เวียนนา เอง[21]

2.   วิธีซื้อขาย อ.เวียนนา ข. 2 (ข) และ (ค) ว่า ไม่ให้ใช้ อ.เวียนนา บังคับแก่การซื้อขายซึ่งกระทำโดยวิธีพิเศษสามวิธี คือ การทอดตลาด (auction), การบังคับคดี (execution) และการอาศัยอำนาจอย่างอื่นตามกฎหมาย (otherwise by authority of law)

3.   ทรัพย์ซึ่งซื้อขาย อ.เวียนนา ข. 2 (ง), (จ) และ (ฉ) ว่า ไม่ให้ใช้ อ.เวียนนา บังคับแก่การซื้อขายทรัพย์ดังต่อไปนี้

3.   ก.   ทรัพย์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ทุน (stock), หุ้น (share), หลักทรัพย์ในการลงทุน (investment security), ตราสารเปลี่ยนมือ (negotiable instrument) และเงินตรา (money)

3.   ข.   ยวดยานทางน้ำและทางอากาศ ได้แก่ เรือ (ship), เครื่องเดินท้องน้ำ (vessel),[ฉ] เรือสะเทินน้ำสะเทินบก (hovercraft) และอากาศยาน (aircraft)

3.   ค.   ไฟฟ้า (electricity)

4.   จ้างทำของและจ้างแรงงาน อ.เวียนนา ข. 3 ว่า นอกจากสัญญาซื้อขายโดยสภาพแล้ว ให้ใช้ อ.เวียนนา บังคับแก่สัญญาจ้างทำของ หรือที่ อ.เวียนนา เรียกว่า "สัญญาจ้างประดิษฐ์หรือผลิตของ" (contract for supply of goods to be manufactured or produced) ด้วย ทั้งนี้ ต้องปรากฏว่า ผู้รับจ้างเป็นฝ่ายจัดหาวัสดุสำคัญในการทำของนั้นเอง

แต่ อ.เวียนนา จะไม่ใช้บังคับแก่การจ้างทำของ ถ้าผู้จ้างเป็นฝ่ายต้องจัดหาวัสดุดังกล่าว หรือถ้าผู้รับจ้างมีหน้าที่สำคัญเป็นการจัดหาแรงงานหรือทำงานอย่างอื่น (supply of labour or other services) ซึ่งจะกลายเป็นการจ้างแรงงานไป เช่น "สัญญาซื้อขายสัตว์เลี้ยงซึ่งมีการว่าจ้างผู้เลี้ยงเพื่อให้มาช่วยดูแลสัตว์ในช่วงแรกเพื่อให้สัตว์ปรับตัวได้ หากการจ้างแรงงานดังกล่าวไม่ใช่ส่วนสำคัญของสัญญานี้ ก็ให้ถือว่า เป็นสัญญาซื้อขายตามอนุสัญญานี้"[22]

5.   ขอบเขตของ อ.เวียนนา อ.เวียนนา ข. 4 และ 5 ว่า

5.   ก.   อ.เวียนนาว่าด้วยเรื่องก่อสัญญาซื้อขาย และเรื่องสิทธิและหนี้ที่ผู้ขายกับผู้ซื้อมีอยู่ตามสัญญาซื้อขายเท่านั้น

5.   ข.   ตราบที่ไม่ได้กำหนดไว้อย่างแจ้งชัด อ.เวียนนา ย่อมไม่เกี่ยวกับ (1) เรื่องความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อขาย ของข้อความในสัญญาซื้อขาย หรือของธรรมเนียม (usage) อย่างใด ๆ และ (2) เรื่องผลซึ่งสัญญาซื้อขายพึงมีต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายกัน

5.   ค.   อ.เวียนนา ไม่ใช่บังคับแก่เรื่องความรับผิดที่ผู้ขายพึงมี เมื่อมีผู้ถึงแก่ความตายหรือได้รับความบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคลคลเนื่องมาจากทรัพย์ซึ่งซื้อขายกันนั้น

คำว่า "ความบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล" (personal injury) ข้างต้นเป็นศัพท์ในกฎหมายลักษณะละเมิด หมายถึง ความบาดเจ็บหรือเสียหายทางกาย ชื่อเสียง หรือจิตใจของบุคคล ตรงกันข้ามกับความเสียหายทางทรัพย์สิน (injury to property)[23]

สาเหตุที่ไม่ใช้ อ.เวียนนา บังคับแก่เรื่องความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพราะถือว่า ความรับผิดดังกล่าวเป็นความรับผิดเพื่อละเมิด (liability for tort) มิใช่ความรับผิดตามสัญญา (contractual liability)[22][ช] แต่ก็มีกฎหมายบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ที่จัดว่า ความรับผิดเกี่ยวกับสินค้าเป็นความรับผิดตามสัญญา อ.เวียนนา จึงต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่ให้ใช้ อ.เวียนนา บังคับแก่ความรับผิดชนิดนี้ เพราะถือเป็นความรับผิดเพื่อละเมิด[22]

หลักการสำคัญใน อ.เวียนนา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  (1)   ในการตีความอนุสัญญานี้ ให้คำนึงถึงลักษณะระหว่างประเทศของอนุสัญญา กับทั้งความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้อนุสัญญานี้เป็นที่ใช้บังคับและให้ความสุจริตในการค้าระหว่างประเทศเป็นที่ยึดถือปฏิบัติอย่างเป็นระเบียบเดียวกัน

  (2)   ปัญหาว่าด้วยเรื่องซึ่งอยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญานี้แต่มิได้ปรากฏทางแก้ไว้ในอนุสัญญานี้โดยแจ้งชัดนั้น ให้วินิจฉัยตามหลักทั่วไปอันเป็นรากฐานแห่งอนุสัญญานี้ หรือถ้าหลักเช่นว่านั้นหามิได้แล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายที่สามารถนำมาใช้บังคับได้ตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

อ.เวียนนา ข. 7[j]
  (1)   เพื่อประโยชน์แห่งอนุสัญญานี้ ถ้อยคำหรือความประพฤติอย่างอื่นของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง ให้ตีความตามเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายนั้น ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายทราบหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับทราบว่าเจตนาดังกล่าวนั้นเป็นเช่นไร

  (2)   เพื่อประโยชน์แห่งอนุสัญญานี้ ถ้อยคำหรือความประพฤติอย่างอื่นของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง ให้ตีความตามเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายนั้น ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายทราบหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับทราบว่าเจตนาดังกล่าวนั้นเป็นเช่นไร

  (3)   ในการวินิจฉัยเจตนาของคู่สัญญาก็ดี หรือความเข้าใจที่วิญญูชนพึงมีก็ดี ให้พิจารณาบรรดาพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนั้นเป็นสำคัญ อันรวมถึง การเจรจา ระเบียบแบบแผนที่คู่สัญญาก่อตั้งขึ้นใช้ในระหว่างกันเอง ธรรมเนียม และความประพฤติใด ๆ ที่คู่สัญญามีขึ้นในภายหลัง

อ.เวียนนา ข. 8[k]

การตีความ อ.เวียนนา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อ.เวียนนา วางหลักเกณฑ์สำหรับการตีความอนุสัญญาเองเอาไว้ดังนี้

1.   สัญชาติของคู่สัญญา อ.เวียนนา ข. 1 ว. (3) ว่า ในการนำ อ.เวียนนา ไปใช้บังคับ ไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติของคู่สัญญาซื้อขาย หมายความว่า ไม่ว่าคู่สัญญาซื้อขายจะมีสัญชาติต่างกันหรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ที่จะใช้ อ.เวียนนา บังคับได้ เช่น แม้สัญชาติเดียวกัน แต่มีสถานประกอบธุรกิจอยู่คนละรัฐกัน ก็เป็นอันใช้ได้

2.   ลักษณะทางแพ่งหรือพาณิชย์ อ.เวียนนา ข. 1 ว. (3) ยังกำหนดว่า ในการนำ อ.เวียนนา ไปใช้บังคับ ไม่ต้องคำนึงถึง "ลักษณะทางแพ่ง" (civil character) หรือ "ลักษณะทางพาณิชย์" (commercial character) ของสัญญาซื้อขายหรือของคู่สัญญาซื้อขาย กล่าวคือ ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นสัญญาทางแพ่งหรือพาณิชย์หรือไม่ หรือความสัมพันธ์ของคู่สัญญาเป็นไปในทางแพ่งหรือพาณิชย์หรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะเป็นการยุ่งยากและซับซ้อนอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดว่า แพ่งหรือพาณิชย์คืออะไรและมีอะไรบ้าง[19]

3.   ลักษณะระหว่างประเทศ อ.เวียนนา ข. 7 ว. (1) ว่า ในการตีความ อ.เวียนนา ให้คำนึงถึงสิ่งสองสิ่ง คือ

3.   ก.   ลักษณะระหว่างประเทศ (international character) และ

3.   ข.   ความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ อ.เวียนนา ได้รับการนำไปใช้บังคับอย่างเป็นระเบียบเดียวกัน และส่งเสริมให้ความสุจริตในการค้าระหว่างประเทศได้รับการถือปฏิบัติอย่างเป็นระเบียบเดียวกันด้วย

4.   เจตนาของคู่สัญญา อ.เวียนนา ข. 8 ว่า

3.   ก.   ถ้อยคำ (statement) หรือความประพฤติ (conduct) ของคู่สัญญาซื้อขายนั้น ให้ตีความตามเจตนาของคู่สัญญาเอง แต่กำหนดว่า ต้องเป็นเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งซึ่งคู่สัญญาอีกฝ่ายได้ทราบหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับทราบ (knew or could not have been unaware)

3.   ข.   ถ้าเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่เป็นที่รับทราบของคู่สัญญาอีกฝ่ายดังข้างต้น ก็ให้ตีความเจตนานั้นอย่างที่วิญญูชน (reasonable person) ควรเข้าใจเมื่ออยู่ในพฤติการณ์เดียวกับคู่สัญญาฝ่ายหลัง (ฝ่ายที่ไม่ทราบเจตนา) และวิญญูชนดังกล่าวก็ต้องมีลักษณะเดียวกับคู่สัญญาฝ่ายหลังนั้นด้วย

3.   ค.   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในการกำหนดเจตนาของคู่สัญญาก็ดี หรือในการกำหนดความเข้าใจของวิญญูชนก็ดี จะต้องคำนึงถึงพฤติการณ์ทั้งหลายที่แวดล้อมกรณีนั้น ๆ เป็นหลัก พฤติการณ์เหล่านี้รวมถึง การเจรจา (negotiation), ระเบียบแบบแผนที่คู่สัญญาก่อตั้งขึ้นใช้ในระหว่างกันเอง (practices which the parties have established between themselves), ธรรมเนียม ตลอดจนความประพฤติที่คู่สัญญากระทำต่อกันในภายหลังก่อสัญญาขึ้นแล้วด้วย

5.   กฎหมายสำรอง อ.เวียนนา ข. 7 ว. (2) ว่า เมื่อไม่มีข้อบทใน อ.เวียนนา สามารถนำมาใช้บังคับแก่กรณีใดโดยเฉพาะ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตาม "หลักทั่วไปอันเป็นรากฐานแห่งอนุสัญญานี้" (general principles on which it [this Convention] is based) และถ้าหาหลักทั่วไปนั้นไม่ได้แล้วด้วย ก็ให้อาศัยกฎหมายทั้งหลายที่จะนำมาใช้บังคับได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

ข้อนี้หมายความว่า เมื่อมีช่องว่างใน อ.เวียนนา ให้อุดช่องว่างนั้นด้วยหลักกฎหมายทั่วไป ถ้าไม่มีหลักกฎหมายทั่วไป ก็ให้อาศัยหลักกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งและสอดคล้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศ[24]

การยึดถือธรรมเนียมประเพณี

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  (1)   คู่สัญญาย่อมผูกพันในธรรมเนียมใด ๆ ที่พวกตนได้ตกลงกันไว้ หรือในระเบียบแบบแผนใด ๆ ที่พวกตนได้ก่อตั้งขึ้นใช้ในระหว่างกันเอง

  (2)   อันธรรมเนียมซึ่งคู่สัญญารับทราบหรือควรรับทราบแล้ว และซึ่งบรรดาคู่กรณีในสัญญาประเภทที่เกี่ยวข้องกับการค้ารายนั้น ๆ ได้รับรู้กันอย่างกว้างขวางและยึดถือปฏิบัติกันเป็นปรกติอยู่แล้วในทางการค้าระหว่างประเทศนั้น ให้ถือว่า คู่สัญญาได้กำหนดโดยปริยายว่า ให้นำมาใช้บังคับแก่สัญญาของพวกตนหรือการก่อสัญญาของพวกตนได้ เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอื่น

อ.เวียนนา ข. 9[l]

อ.เวียนนา ยอมรับธรรมเนียมตามปรกติในทางการค้า (normal usage of trade) เช่นเดียวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อื่น ๆ โดยทั่วไปดังนี้

1.   อ.เวียนนา ข. 9 ว. (1) กำหนดให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม

1.   ก.   ธรรมเนียมทั้งหลายที่พวกตนตกลงกันไว้

1.   ข.   ระเบียบแบบแผนที่พวกตนก่อตั้งขึ้นใช้ในระหว่างกันเอง

2.   อ.เวียนนา ข. 9 ว. (2) ยังให้ถือโดยปริยายว่า คู่สัญญาได้กำหนดให้นำธรรมเนียมทางการค้าโดยทั่วไปมาใช้ในสัญญาหรือในการก่อสัญญาระหว่างพวกตนด้วย เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันไว้เป็นอื่น ทั้งนี้ ธรรมเนียมดังกล่าวต้องมีลักษณะสองประการ คือ

2.   ก.   เป็นธรรมเนียมที่คู่สัญญารับทราบหรือควรรับทราบแล้ว

2.   ข.   เป็นธรรมเนียมที่บุคคลอื่น ๆ ซึ่งทำสัญญาประเภทที่เกี่ยวข้องกับการค้าของคู่สัญญาข้างต้นได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง และเป็นธรรมเนียมที่บุคคลเหล่านี้ถือปฏิบัติกันเป็นปรกติด้วย กล่าวคือ เป็นธรรมเนียมซึ่งรับรู้และยึดถือกันในวงการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว

หลักข้างต้นนี้ต้องการคุ้มครองประเทศด้อยพัฒนาไม่ให้ตกอยู่ในบังคับของธรรมเนียมประเพณีซึ่งเป็นที่รู้กันแต่ในหมู่ประเทศอุตสาหกรรม[25]

แบบและหลักฐาน

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  สัญญาซื้อขายนั้นไม่จำต้องทำเป็นหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ และไม่อยู่ในบังคับแห่งข้อกำหนดอื่นใดอันว่าด้วยแบบ การพิสูจน์สัญญานี้จะกระทำด้วยวิธีใดก็ได้ รวมถึงการใช้พยานบุคคล
อ.เวียนนา ข. 11[m]
  เพื่อประโยชน์แห่งอนุสัญญานี้ "หนังสือ" หมายความรวมถึง โทรเลขและโทรพิมพ์
อ.เวียนนา ข. 13[n]

อ.เวียนนา ข. 11 อนุญาตว่า การซื้อขายตาม อ.เวียนนา ไม่จำต้องทำตามแบบ (form) ใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะแบบที่กำหนดให้สัญญาต้องทำเป็นหนังสือ นอกจากนี้ สัญญาก็ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ทั้งนี้ อ.เวียนนา ข. 13 ระบุว่า คำว่า "หนังสือ" ตามความ อ.เวียนนา ให้หมายความถึง โทรเลข (telegram) และโทรพิมพ์ (telex) ด้วย

เมื่อสัญญาไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว อ.เวียนนา ข. 11 ยังอนุญาตด้วยว่า การพิสูจน์สัญญาจะทำอย่างไรก็ได้ รวมถึงจะเบิกพยานบุคคลมาพิสูจน์ก็ได้

อย่างไรก็ดี อ.เวียนนา ข. 96 ยินยอมให้รัฐผู้ทำ อ.เวียนนา ตั้งข้อสงวนว่า สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ทำขึ้นในรัฐตนนั้นต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ โดยข้อสงวนเช่นนี้จะประกาศขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่แม้ไม่มีข้อสงวนดังกล่าว คู่สัญญาจะอาศัยเสรีภาพในการทำสัญญาตกลงกันเองว่า สัญญาระหว่างพวกตนต้องทำเป็นหนังสือก็ได้[25]

การรักษาสัญญา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แม้จะส่งเสริมให้การซื้อขายเป็นไปโดยสะดวก ไม่ต้องจำกัดอยู่กับแบบอย่างใด ๆ แต่ อ.เวียนนา ก็ป้องกันมิให้มีการเลิกสัญญาด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นสาระสำคัญ และยังใช้ระบบเยียวยาซึ่งทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีสิทธิเรียกให้มีการเยียวยาเมื่ออีกฝ่ายผิดสัญญา และทำให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาสามารถแก้ไขการผิดสัญญาของตนได้[26] ดังจะได้อธิบายกันในเรื่องนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญา

  1. 1.0 1.1 1.2 Unidroit, 2009: Online.
  2. John Honnold, 1965: 326.
  3. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 68.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 John Honnold, 1965: 327.
  5. 5.0 5.1 John Honnold, 1965: 328.
  6. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 69.
  7. Peter Schlechtriem and Ingeborg Schwenzer, 2005: 1; cited in Alysha Salinger, 2011: 3.
  8. Alysha Salinger, 2011: 3.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 Peter Schlechtriem, 1986: Online.
  10. Alysha Salinger, 2011: 3-4.
  11. Lex Mercatoria, 2010: Online.
  12. กิตติศักดิ์ ปรกติ, ม.ป.ป. (อนุสัญญาว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศฯ): ออนไลน์.
  13. Uncitral, 2013: Online.
  14. "Every geographical region, every stage of economic development and every major legal, social and economic system" (John Felemegas, 2000: 115).
  15. Joseph Lookofsky, 1991: 403.
  16. "Most successful international document so far" (Bruno Zeller, 2007: 94).
  17. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 71-72.
  18. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 72.
  19. 19.0 19.1 กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 73.
  20. 20.0 20.1 กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 70.
  21. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 74.
  22. 22.0 22.1 22.2 กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 75.
  23. Merriam-Webster's Dictionary ("personal injury", 2013: Online): "an injury affecting one's physical and mental person as contrasted with one causing damage to one's property"
  24. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 76.
  25. 25.0 25.1 กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 77.
  26. กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 78.

ใช้ว่า "สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการจัดทำกฎหมายเอกชนให้เป็นเอกภาพ" ก็มี (เช่น กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 68).

"ยูลิส" เฉย ๆ ก็เรียก (เช่น John Honnold, 1965: 326; และ Harry M. Flechtner, 2008: Online).

"อัลฟ์" เฉย ๆ ก็เรียก (เช่น Harry M. Flechtner, 2008: Online).

เพื่อแยกแยะ นักกฎหมายบางคนเรียก "อนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายเอกรูปว่าด้วยการซื้อขายระหว่างประเทศ" ว่า "อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยซื้อขาย" (Hague Sales Convention) และเรียก "อนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายเอกรูปว่าด้วยการก่อสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ" ว่า "อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยก่อสัญญา" (Hague Formation Convention). (กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 68).

รัฐทั้งหกสิบสองที่เข้าร่วมประชุม (ตัวเอียง คือ รัฐทั้งสิบที่งดออกเสียง) มีดังต่อไปนี้ (Peter Schlechtriem, 1986: Online)

  1. กานา
  2. กรีซ
  3. เกาหลี, สาธารณรัฐ
  4. คอสตาริกา
  5. เคนยา
  6. แคนาดา
  7. โคลัมเบีย
  8. จีน, สาธารณรัฐประชาชน
  9. ชิลี
  10. เชโกสโลวาเกีย
  11. ซาเอียร์ (Zaire)
  12. โซเวียต, สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยม (Union of Soviet Socialist Republics)
  13. โซเวียตเบียลารุส, สาธารณรัฐสังคมนิยม (Byelo-Russian Soviet Socialist Republic)
  14. โซเวียตยูเครน, สาธารณรัฐสังคมนิยม (Ukranian Soviet Socialist Republic)
  15. ไซปรัส
  16. ญี่ปุ่น
  17. เดนมาร์ก
  18. ตุรกี
  19. ตูนีเซีย
  20. ไทย
  21. นอร์เวย์
  22. เนเธอร์แลนด์
  23. ไนจีเรีย
  24. บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ, สหราชอาณาจักร
  25. บัลแกเรีย
  26. บราซิล
  27. เบลเยียม
  28. โบลิเวีย
  29. ปากีสถาน
  30. ปานามา
  31. เปรู
  32. โปแลนด์
  33. โปรตุเกส
  34. ฝรั่งเศส
  35. พม่า
  36. ฟินแลนด์
  37. ฟิลิปปินส์
  38. เม็กซิโก
  39. ยูโกสลาเวีย
  40. เยอรมนี, สหพันธสาธารณรัฐ (Germany, Federal Republic of)
  41. เยอรมนี, สาธารณรัฐประชาธิปไตย (German Democratic Republic)
  42. โรมาเนีย
  43. ลักเซมเบิร์ก
  44. ลิเบีย, จามาฮิริยาอาหรับ (Lybian Arab Jamahiriya)
  45. สเปน
  46. สวิตเซอร์แลนด์
  47. สวีเดน
  48. สิงคโปร์
  49. อเมริกา, สหรัฐ
  50. ออสเตรีย
  51. ออสเตรเลีย
  52. อาร์เจนตินา
  53. อิตาลี
  54. อินเดีย
  55. อิรัก
  56. อิสราเอล
  57. อิหร่าน
  58. อียิปต์
  59. อุรุกวัย
  60. เอกวาดอร์
  61. ไอร์แลนด์ และ
  62. ฮังการี

แปลมาอย่างอื่นก็มี เช่น "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ" (กำชัย จงจักรพันธ์, 2555: 68) และ "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศ" [กิตติศักดิ์ ปรกติ, ม.ป.ป. (อนุสัญญาว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศฯ): ออนไลน์].

ระวังสับสนกับอนุสัญญาฉบับอื่นซึ่งทำขึ้น ณ กรุงเวียนนา และก็เรียก "อนุสัญญากรุงเวียนนา" เช่นกัน ฉบับที่โดดเด่นเป็นต้นว่า

  • อนุสัญญากรุงเวียนนาเพื่อพิทักษ์ชั้นโอโซน (Vienna Convention for the Protection of the Ozone Layer)
  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of Treaties)
  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่างรับกับองค์การระหว่างประเทศหรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศ (Vienna Convention on the Law of Treaties between States and International Organizations or Between International Organizations)
  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการค้ายาเสพติดและสารทางจิตเวชโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (Vienna Convention Against Illicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances)
  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล (Vienna Convention on Consular Relations)
  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต (Vienna Convention on Diplomatic Relations)

ปรกติแล้ว "Contracting State" แปลว่า "รัฐผู้ทำสัญญา" หรือ "รัฐคู่สัญญา" แต่ในภาษาไทย ถ้าใช้เช่นนั้นอาจสร้างความสับสนว่าเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายหรือคู่สัญญาซื้อขายได้ (ทั้งที่จริงแล้วเป็นผู้ทำ อ.เวียนนา หรือเป็นคู่ อ.เวียนนา) จึงแปล "Contracting State" ว่า "รัฐผู้ทำอนุสัญญา" (ในวิกิตำรานี้บางทีเรียก "รัฐผู้ทำ อ.เวียนนา").

อ.เวียนนา ใช้ทั้งคำว่า "ship" และ "vessel" คำทั้งสองนี้ปรกติแล้วมีความหมายว่า เรือ เหมือนกัน และยังไม่ปรากฏว่ามีนักนิติศาสตร์อธิบายว่า "ship" กับ "vessel" ตาม อ.เวียนนา มีความหมายต่างกันอย่างไร ในที่นี้จึงแปล "ship" ว่า เรือ และ "vessel" ว่า เครื่องเดินท้องน้ำ เพราะในทางนาวิกศาสตร์

  • คำว่า "ship" หมายถึง เรือซึ่งมีเสา (mast) สามเสาหรือมากกว่านั้น แต่ละเสาขึงผ้าใบสี่เหลี่ยม (square-rigged) และยังมีผ้าใบเล็ก (jib) มีผ้าใบขึงระหว่างเสา (staysail) และที่เสากระโดงเสาท้ายสุดมีผ้าใบปีก (spanker) ด้วย ("ship", 2013: Online)
  • ส่วน "vessel" นั้นหมายถึง ยานพาหนะทุกประเภทสำหรับใช้เดินท้องน้ำ (a craft for traveling on water) ("vessel", 2013: Online).

ความรับผิดเพื่อละเมิดกับความรับผิดตามสัญญาต่างกันตรงที่อย่างแรกเป็นหนี้ที่เกิดจากนิติเหตุ ส่วนอย่างหลังเป็นหนี้ที่เกิดจากนิติกรรม (ดูเรื่องมูลหนี้).

ตัวบทต้นฉบับ

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

a CISG, art. 1:

"(1)   This Convention applies to contracts of sale of goods between parties whose places of business are in different States:

"(1)   "(a)   when the States are Contracting States; or

"(1)   "(b)   when the rules of private international law lead to the application of the law of a Contracting State.

"(2)   The fact that the parties have their places of business in different States is to be disregarded whenever this fact does not appear either from the contract or from any dealings between, or from information disclosed by, the parties at any time before or at the conclusion of the contract.

"(3)   Neither the nationality of the parties nor the civil or commercial character of the parties or of the contract is to be taken into consideration in determining the application of this Convention."

b CISG, art. 10:

"For the purposes of this Convention:

"(a)   if a party has more than one place of business, the place of business is that which has the closest relationship to the contract and its performance, having regard to the circumstances known to or contemplated by the parties at any time before or at the conclusion of the contract;

"(b)   if a party does not have a place of business, reference is to be made to his habitual residence."

c CISG, art. 6:

"The parties may exclude the application of this Convention or, subject to article 12, derogate from or vary the effect of any of its provisions."

d CISG, art. 12:

"Any provision of article 11, article 29 or Part II of this Convention that allows a contract of sale or its modification or termination by agreement or any offer, acceptance or other indication of intention to be made in any form other than in writing does not apply where any party has his place of business in a Contracting State which has made a declaration under article 96 of this Convention. The parties may not derogate from or vary the effect or this article."

e CISG, art. 96:

"A Contracting State whose legislation requires contracts of sale to be concluded in or evidenced by writing may at any time make a declaration in accordance with article 12 that any provision of article 11, article 29, or Part II of this Convention, that allows a contract of sale or its modification or termination by agreement or any offer, acceptance, or other indication of intention to be made in any form other than in writing, does not apply where any party has his place of business in that State."

f CISG, art. 2:

"This Convention does not apply to sales:

"(a)   of goods bought for personal, family or household use, unless the seller, at any time before or at the conclusion of the contract, neither knew nor ought to have known that the goods were bought for any such use;

"(b)   by auction;

"(c)   on execution or otherwise by authority of law;

"(d)   of stocks, shares, investment securities, negotiable instruments or money;

"(e)   of ships, vessels, hovercraft or aircraft;

"(f)   of electricity."

g CISG, art. 3:

"(1)   Contracts for the supply of goods to be manufactured or produced are to be considered sales unless the party who orders the goods undertakes to supply a substantial part of the materials necessary for such manufacture or production.

"(2)   This Convention does not apply to contracts in which the preponderant part of the obligations of the party who furnishes the goods consists in the supply of labour or other services."

h CISG, art. 4:

"This Convention governs only the formation of the contract of sale and the rights and obligations of the seller and the buyer arising from such a contract. In particular, except as otherwise expressly provided in this Convention, it is not concerned with:

"(a)   the validity of the contract or of any of its provisions or of any usage;

"(b)   the effect which the contract may have on the property in the goods sold."

i CISG, art. 5:

"This Convention does not apply to the liability of the seller for death or personal injury caused by the goods to any person."

j CISG, art. 7:

"(1)   In the interpretation of this Convention, regard is to be had to its international character and to the need to promote uniformity in its application and the observance of good faith in international trade."

"(2)   Questions concerning matters governed by this Convention which are not expressly settled in it are to be settled in conformity with the general principles on which it is based or, in the absence of such principles, in conformity with the law applicable by virtue of the rules of private international law."

k CISG, art. 8:

"(1)   For the purposes of this Convention statements made by and other conduct of a party are to be interpreted according to his intent where the other party knew or could not have been unaware what that intent was."

"(2)   If the preceding paragraph is not applicable, statements made by and other conduct of a party are to be interpreted according to the understanding that a reasonable person of the same kind as the other party would have had in the same circumstances."

"(3)   In determining the intent of a party or the understanding a reasonable person would have had, due consideration is to be given to all relevant circumstances of the case including the negotiations, any practices which the parties have established between themselves, usages and any subsequent conduct of the parties."

l CISG, art. 9:

"(1)   The parties are bound by any usage to which they have agreed and by any practices which they have established between themselves.

"(2)   The parties are considered, unless otherwise agreed, to have impliedly made applicable to their contract or its formation a usage of which the parties knew or ought to have known and which in international trade is widely known to, and regularly observed by, parties to contracts of the type involved in the particular trade concerned."



ภาคที่ 2 • บทที่ 1
หลักเกณฑ์ตาม อ.เวียนนา
ขึ้น ภาคที่ 2 • บทที่ 1 • ส่วนที่ 2
การก่อสัญญาซื้อขายตาม อ.เวียนนา