ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาไทย/ไวยากรณ์/ชนิดของคำ/คำกริยา

จาก วิกิตำรา

คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการของคน สัตว์ สิ่งของ และสิ่งอื่น ๆ อาจมีความหมายรวมถึงอาการที่เป็นอยู่หรือการอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่น ฝนตก แมวร้อง น้องวิ่ง คำว่า ตก ร้อง วิ่ง ถือว่าเป็นคำกริยาบอกอาการ

ชนิดของคำกริยา

[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]
  • อกรรมกริยา หรือ กริยาไม่ต้องการกรรม
ฝนตกหนัก, เขาเดิน
  • สกรรมกริยา หรือ กริยาต้องการกรรม จึงจะได้ความหมายสมบูรณ์
เขาเก็บผ้าที่ตากไว้, เธอกินข้าว
  • กริยานุเคราะห์ หรือ กริยาช่วย เป็นกริยาที่เสริมเข้าไปในประโยคให้เข้าใจกริยาหลักได้มากยิ่งขึ้น
คุณพ่อกำลังล้างรถ, ฉันต้องไปโรงเรียน
  • ทวิกรรมกริยา หรือ กริยาที่มีกรรมได้มากกว่า ๑ ตัว
ฉันให้เงินเขาไปซื้ออาหาร [เงิน เป็นกรรมตรง เขา เป็นกรรมรอง]
  • วิกตรรถกริยา หรือ กริยาที่ต้องการส่วนเติมเต็ม จึงจะได้เนื้อความที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
หล่อนเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติไทย


นอกจากนั้นคำกริยาอาจใช้ในประโยคได้อีกหลายอย่าง เช่น

  • ใช้เป็นส่วนขยายของคำนาม เช่น ฉันชอบผู้หญิงตัดผมสั้น (ตัดผมสั้น ขยายคำนาม ผู้หญิง)
  • ใช้เป็นประธานหรือกรรมของกริยาอื่น เช่น กินอาหารตามเวลาช่วยให้สุขภาพดี (กิน เป็นประธานของกริยา ช่วย)